How to Find True Love and Happiness

รักแท้…(วางแผนทางการเงิน) ยังไง

มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมนะคะ ต่อให้เรามีเพื่อนมากมายแค่ไหนก็ไม่เท่ากับการมีครอบครัวของตัวเอง โดยเฉพาะการมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นทั้งคู่ชีวิตและคู่ใจ 

หากติดตามบทความในคอลัมน์ Wealth Done มาบ้าง คงจะจำกันได้นะคะว่า การวางแผนทางการเงินเท่ากับการวางแผนชีวิต ดังนั้นการวางแผนหา ‘คู่ชีวิต’ ก็ยิ่งต้องตระเตรียมแผนการ 

หลายคนมีคำถามว่า เราและเขาคนนั้นจะหากันจนเจอได้ยังไง บางคนเจอกันแล้วโชคดีมาก ตรงใจทุกอย่าง ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อให้เขามารัก บางคนคบกันแล้วต้องเปลี่ยนตัวเองเยอะมาก ซึ่งคนเราไม่ได้มาจากครอบครัวเดียวกัน ไม่ได้ถูกเลี้ยงดูแบบเดียวกัน จังหวะชีวิตไม่เหมือนกัน ยังไงไม่มีทางที่มันจะเข้ากันได้ทุกอย่างหรอกค่ะ

คนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอาจเป็นเพราะอีกฝ่ายเขาน่ารักมาก น่ารักจนไม่บอกว่าเขาอยากให้เราเปลี่ยนอะไรด้วยความที่เขารักเรามากเหมือนกัน ในขณะเดียวกัน คนที่ต้องเปลี่ยน ก็เป็นเพราะเรารักเขามากจนเห็นอะไรที่เขาชอบ เราก็อยากจะเปลี่ยนเพื่อเขา

Wealth Done ตอนนี้จะมาชวนคุยเรื่องการวางแผนหาคู่ชีวิตที่จะเติบโตไปด้วยกัน

ในการประคับประคองให้เขาหรือเธอคนนั้นอยู่เป็นคู่ชีวิตกันนานๆ อันดับแรกสุด คนทั้งสองคนควรมีเวลาที่ได้ศึกษากันจริงจัง สมัยก่อน มีคนบอกให้ไปพิสูจน์รักแท้ด้วยการเดินขึ้นภูกระดึง ต้องไปลำบากด้วยกัน เราจะได้เห็นน้ำใจ เห็นการพึ่งพาอาศัยกัน ดูแลกัน ถ้าใครเคยไปจะรู้ว่าการขึ้นภูกระดึงต้องรับผิดชอบแบกสมบัติข้าวของตัวเองด้วย มันเหนื่อยยาก มันลำบากมากนะคะ จะโกรธกัน รักกัน เห็นใจกัน วัดผลได้จากทริปนี้เลย

ในวันนี้ เราไม่ต้องไปขึ้นภูกระดึงก็ได้ค่ะ แต่ให้ลองทำอะไรสักอย่างร่วมกัน เริ่มจากการเก็บสตางค์ร่วมกัน จะได้รู้กันไปเลยว่าต่างฝ่ายต่างเป็นคนที่ใช่ของกันและกันหรือเปล่า ซึ่งมันยากมากๆ เหมือนกัน เพราะมักจะมีคนหนึ่งที่หาได้มากกว่าอีกคนเสมอ และไม่ว่าคนที่หาได้มากกว่าจะยินดีหรือไม่ นี่คือบทพิสูจน์แรกเลยว่าพวกคุณจะดูแลกันและกัน สนับสนุนและให้กำลังใจกันและกันอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงที่คนหนึ่งประสบความสำเร็จมากกว่าอีกคนหนึ่ง

ในภาพยนตร์เรื่อง La La Land (2016) เล่าเรื่องราวความรักของคนคู่หนึ่ง ซึ่งทั้งพระเอกและนางเอกต่างมีความฝันของตัวเองที่ต้องฝ่าฟัน แม้ว่าจะรักกันแต่พวกเขาก็ตัดสินใจแยกทาง ไม่ได้อยู่ด้วยกันในตอนจบ ซึ่งถ้าย้อนดูเส้นทางชีวิตเราจะเห็นว่า ในวันที่พระเอกกำลังรุ่งโรจน์ถึงที่สุดนั้น นางเอกกำลังเผชิญชะตาชีวิตที่ตกอับที่สุด และเมื่อถึงวันที่กราฟชีวิตพระเอกตกลงมา นางเอกก็ได้เลือกที่จะไปรุ่งโรจน์ในทางเดินของตัวเองหลังจากที่อยู่ซัพพอร์ตความฝันกันและกันมาจนสุดทาง เป็นหนึ่งในตัวอย่างของเรื่องราวความรักที่ต่อให้รักกันมากบางทีอาจจะไม่ใช่คู่ชีวิตกันก็ได้

แล้วถ้าเราอยากให้คนคนนั้น เป็นคู่ชีวิต บางทีมันต้องวางแผนนะ เพราะไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คนเราจะเจอเรื่องที่ถูกใจกันได้หมดใช่มั้ยคะ

ข้อแรก จริงจังกับการใช้เวลาหาคนที่ถูกใจ บางคนมัวแต่ทำงาน หรือใช้เวลากับเพื่อนจนลืมช่วงเวลาที่สำคัญช่วงนี้ไป และมันไม่ง่ายเลยนะที่จะเจอคนรู้ใจถ้ายังอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่ทำงานเดิม กิจกรรมที่ทำเดิม งานอดิเรกเดิม แล้วจะไปเจอได้ยังไง ถ้างั้นลองสมัครเรียนคอร์สสั้นๆ ไปสัมมนา ไปเล่นกีฬาที่แตกต่าง ไปอยู่ในชมรมเพื่อนของเพื่อนมั้ย นี่แหละเป็นช่วงที่เราจะได้พบเจอ ไม่ใช่แค่การตั้งใจหาคนรักนะ แต่คือไปเจอคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจ 

และเมื่อเจอคนที่น่าสนใจ ข้อสองคือ เอาตัวไปใกล้ๆ เขา ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อจะได้เห็นนิสัยใจคอ แน่นอนว่าในช่วงแรกๆ ของการเจอกันนั้นทุกคนก็น่ารักกันหมด วิธีที่เราชอบใช้ก็คือ สังเกตว่าเขาเป็นคนที่รักครอบครัวแค่ไหน เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากถ้าต่างฝ่ายต่างดูแลครอบครัว เมื่อถึงเวลาที่ต้องสร้างครอบครัวเขามักจะทำได้ดี แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่มีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์จะมีครอบครัวที่สมบูรณ์ไม่ได้นะคะ เพราะหลายครั้งเราก็พบว่าเขาต่างได้รับบทเรียนชีวิตมากพอที่จะรักษาหรือดูแลใครให้ดีได้เช่นกัน

เมื่อเจอคนที่ใช่ ขยับไปทำตัวใกล้ชิด และศึกษานิสัยใจคอ ถ้าพบว่านี่คือคนที่ใช่แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือบททดสอบที่เราพูดในตอนต้น นั่นคือ งั้นเรามาเก็บสตางค์ร่วมกัน

เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ก่อนก็ได้ เช่น ไปทริปร่วมกัน แล้วดูการใช้จ่ายเงิน ดูการเก็บหอมรอบริบ ก่อนไปถึงเรื่องใหญ่มากๆ เช่น ซื้อบ้านด้วยกัน เนื่องจากบางทีอาจจะยังไม่ได้ถึงขั้นแต่ง แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมในการซื้อบ้านหรือเพื่อการลงทุน หรือดูวิธีการที่ใช้ในแต่ละแผนการ แต่ละคนรับผิดชอบอะไร ซื้อของยังไง จริงๆ บ้านก็เป็นหลักประกันเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเมื่อลงเอยแต่งงานกันแล้วเรามีบ้าน อย่างน้อยภาระที่ใหญ่ที่สุดก็จะหลุดไปแล้ว ซึ่งจะไปทำเรื่องอื่นๆ ต่อได้ง่ายขึ้นมาก

คำแนะนำเรื่องการซื้อบ้านด้วยกัน สูตรคำนวณวงเงินในการซื้อบ้านที่เราใช้ประจำคือ เงินเดือนของทั้งสองคนบวกกันแล้วคูณ 100 เช่น ถ้าคนหนึ่งเงินเดือน 50,000 อีกคนเงินเดือน 60,000 รวมกันทั้งหมด 110,000 บาท คูณ 100 เท่ากับ 11,000,000 เชื่อเถอะค่ะว่า คุณมีบ้านราคา 11 ล้านบาทได้จริงๆ อันนี้เป็นสูตรของเราเลย จากตรงนี้ก็ลองมาดูว่าแล้วเราเลือกบ้านแบบไหน ซึ่งระหว่างที่คิดเราก็จะเริ่มรู้จักนิสัยใจคอ บางคนอยากได้บ้านที่มีบริเวณ มีพื้นที่ให้ทำสวน อีกคนบอกว่าอยากได้คอนโดในเมือง เราก็ต้องมาจูนกันว่าบ้านที่อยู่เป็นยังไง ลักษณะแบบไหน

เมื่อคิดและทำอะไรร่วมกันจนเกิดความผูกพัน ที่นี้เราจะดูว่าต่างฝ่ายต่างมีความมุ่งมั่นแค่ไหน มีเงื่อนไขอะไร มีความรับผิดชอบมั้ย

กลับมาที่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่ออีกฝ่าย เราเชื่อว่าทุกคนรู้ว่าอะไรดีกับตัวเรา เช่น เราควรจะกินข้าวเท่านี้ ใช้เวลาเท่านี้ สิ่งที่สำคัญคือ การที่อีกฝ่ายพยายามเปลี่ยนแปลงเรานั้น เป็นการเปลี่ยนเพื่อให้เราดีขึ้นหรือเปล่า ถ้าเป็นการเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น เราจะต่อต้านทำไม เขาอาจจะเป็นคนที่ใช่ที่สุดสำหรับเรา ถูกสร้างสรรค์เนรมิตให้มาเจอกันตรงหน้า ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ก็ไม่จำเป็นว่าคุณต้องเป็นแบบนี้ตลอดไป คุณอาจจะลองสังเกตดูว่าอีกฝ่ายเขาชอบอะไรและแบบไหน เราพอจะทำอะไรที่เขาชอบได้มั้ย คนรักกัน อยู่ด้วยกัน อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่าอีกฝ่ายชอบกินอะไร ชอบไปเที่ยวที่ไหน ชอบอ่านหนังสือแบบไหน ชอบกินกาแฟแบบไหน ถ้าเรื่องแค่นี้ยังตอบไม่ได้เราว่านี่ไม่ใช่คนที่รักกัน ถ้าเป็นรัก ก็คงเป็นคนรักที่เอาเปรียบมาก คือไม่พร้อมที่จะดูแลอีกฝ่ายเลย

และการดูแลเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นี่จับใจมากกว่าเรื่องใหญ่ๆ บางเรื่องอีก เช่น บางทีเขาไม่ต้องการแหวนเพชรเยอะๆ แค่จำได้ว่าวันนี้วันเกิด ชวนไปกินข้าว มื้อนั้นอาจจะเป็นหมูกระทะแต่แค่สองคนก็มีความสุขได้ นี่เป็น soft skill ซึ่งไม่มีสอนในตำราความสัมพันธ์เล่มไหน มีแต่ความรักของคนสองคนทำให้เกิดเรื่องนี้ได้ เราขอแนะนำว่า เมื่อคุณทั้งคู่เก็บสตางค์ร่วมกัน ก็ลองตั้งเป้าหมายและถ้ามันดีเพียงพอ ระหว่างนั้นไม่ต้องถึงเป้าหมายก็ได้ 

ส่วนเรื่องการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ซึ่งทุกวันนี้เป็นไปได้ทุกรูปแบบ จะเพศเดียวกันหรือเพศไหนแค่มีความรู้สึกอยากใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน เพื่อไปเที่ยวด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน จากนั้นก็เริ่มมีการดูแลเงินร่วมกัน คือใช้เงินร่วมกัน ส่วนตัวแล้วไม่คิดว่าต้องเอาเงินทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์มารวมกัน ทุกคนควรจะมีสเปซของตัวเองเพื่อซื้อของที่อยากได้จะได้ไม่ต้องพึ่งพากันมากเกินไป

แต่ถ้าให้แนะนำ เราอยากให้ทั้งสองคนยังคงทำงานทั้งคู่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน หลายคนจะคิดว่าควรมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดลาออกมาเพื่อดูแลลูกหรืออื่นๆ ในอนาคต แต่เราคิดว่าทุกวันนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่มาช่วยให้จัดการบริหารชีวิตได้ง่ายมากขึ้น เราเลยอยากให้ทำงานทั้งคู่แล้วแบ่งเงินมาไว้ในกองกลางเพื่อใช้ร่วมกัน ไม่ควรมีใครต้องดูแลคนอีกคนจนเกินไป แล้วมันจะเป็นภาระ ซึ่งเขาจะเหนื่อยมาก แล้วเมื่ออีกคนทำตัวเป็นภาระเขาก็จะขาดอิสระในความคิดและการตัดสินใจซึ่งตามมาด้วยความเกรงใจ

ข้อดีใหญ่ๆ ของการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันช่วยลดค่าใช้จ่ายหลายเรื่องมากๆ เช่น แทนที่จะต้องเช่าบ้านสองหลังก็เช่าบ้านหลังเดียว แทนที่จะต้องไปรับไปส่งกันก็ไม่ต้องแล้ว แทนที่จะกินข้าวแพงๆ ก็ทำกับข้าวกินเอง แถมวันเสาร์-อาทิตย์ก็มีสเปซ ทำให้ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่น่าเก็บสตางค์ร่วมกัน 

หลายคนจะเข้าใจผิดคิดว่าแต่งงานเป็นช่วงใช้เงิน จริงๆ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเก็บเงิน โดยเฉพาะ 3-4 ปีแรกของการแต่งงานเพื่อเตรียมเลี้ยงดูตัวเล็ก ซึ่งการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดคือบ้าน แล้วหลายคนวันนี้อาจจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีบ้านของตัวเองก็ได้ เขาเลือกที่จะไปเช่าคอนโดหรือบ้านเช่าก่อน นั่นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หรือบางคู่ยังอยู่บ้านพ่อแม่ซึ่งสำหรับสังคมไทยไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ การมีห้องในบ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิง และห้องในบ้านพ่อแม่ฝ่ายชาย ขณะเดียวกันก็อาจจะมีคอนโดเล็กๆ กลางเมือง เราว่าเป็นเรื่องที่น่าสนุกมากๆ อาทิตย์นี้ไปอยู่บ้านนั้น อาทิตย์นู้นมาอยู่บ้านนี้ แล้วใช้ชีวิตให้มีความสุข อยู่กับพ่อแม่วันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ต้องเสียค่ากินอยู่อะไร ถือเป็นแผนการที่ดีแผนหนึ่ง

ถึงกระนั้นการเก็บเงินร่วมกันก็มีข้อควรระวัง นั่นคือ เราต้องเก็บเงินส่วนของเราไว้ด้วย และเราก็ควรบริหารจัดการเงินของเรา มีหลายคนเลยที่ซื้อของแล้วซุกเก็บไว้ประมาณ 2-3 อาทิตย์ แล้วค่อยเอาขึ้นมาเพื่อบอกว่าของเก่า ไม่ได้ซื้อใหม่อะไรประมาณนี้นะคะ คำแนะนำที่ตั้งใจมอบให้คือ จงมีความสุขในสเปซนั้นค่ะ อย่างผู้ชายที่ชอบโหลดเกม เล่นเกมใหม่อยู่เรื่อย ก็ทำได้หากเป็นเงินในส่วนที่เก็บไว้เพื่อทำเรื่องส่วนตัว

จะเห็นว่าการเก็บเงินด้วยกันเป็นบททดสอบที่ดีมากๆ ทั้งในเรื่องการตั้งเป้าหมาย การวางแผน เรียนรู้ลักษณะนิสัยกันจริงจัง ถ้ามันจะรอดไม่รอดก็อยู่กันตรงนี้แหละ บางทีทุกเรื่องโอเคหมด แต่เรื่องเงินไม่โอเค การใช้ชีวิตกันสองคนถ้าเรื่องเงินไม่โอเค ทั้งสองคนจะเหนื่อยมากๆ แล้วมันจะเป็นภาระแก่กันมากๆ เพราะฉะนั้น สำหรับมิชชั่นนี้ เราคิดว่าใช้เวลา 1-2 ปี ก็คงไม่มากหรือน้อยเกินไปที่จะรู้จักกัน

สังเกตมั้ยว่าทำไมเป้าหมายของการเก็บเงินร่วมกันถึงเป็นการซื้อบ้าน เพราะว่ายังไงบ้านก็เป็นทรัพย์สิน ถึงเวลาถ้าความสัมพันธ์นี้ไม่โอเค บ้านก็สามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นเงินได้ 

หลายคนจะถามว่าพอเป็นคู่ชีวิตแล้วจะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนดีกว่า ซึ่งหากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั้งสองคนเห็นตรงกันว่าสำคัญ ทั้งคู่ก็ต้องคุยกัน จะจดหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ เพราะในความเป็นจริง ชีวิตที่ไม่จดทะเบียนสมรสก็จะเป็นชีวิตที่อิสระมากๆ การมาอยู่ร่วมกันแล้วใช้ชีวิตร่วมกันมันสำคัญมากกว่ากระดาษใบเดียวด้วยซ้ำไป 

เพราะฉะนั้นเลือกในสิ่งที่เราชอบและมีความสุข สิ่งสำคัญที่อยากฝากทุกคนคือ ถ้าเจอคนที่ใช่แล้วห้ามปล่อยให้หลุดมือ และอะไรที่หนักนิดเบาหน่อย สำหรับคนที่เรารักยอมได้ก็ยอม อภัยได้ก็อภัย อยู่กันแบบเพื่อน อยู่กันแบบคู่ชีวิต อยู่กันแบบพี่สาวน้องสาว พี่ชายน้องชาย เชื่อเถอะค่ะว่า คุณจะเป็นคู่ชีวิตที่หลายคนอิจฉาเลยทีเดียว


Wealth Done คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้นรอบตัวและสงสัยใคร่รู้เป็นพิเศษ ส่งมาบอกพวกเราได้ที่ [email protected] หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Capital แล้วรออ่านคำตอบพร้อมกันทุกวันพฤหัสบดี เว้นวันพฤหัสบดี ที่ capitalread.co

Tagged:

Writer

อุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย กรรมการอิสระ และที่ปรึกษาทางการเงินผู้อยากให้คนไทยหันมาวางแผนทางการเงิน ขณะเดียวกันเธอก็เชี่ยวชาญในการวางแผนอ่านหนังสือและดูซีรีส์อย่างไรให้จบภายในหนึ่งคืน

You Might Also Like