รายการต่อไปนี้

ชวนดูรายการที่ ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Workpoint เลือกดู

หากให้นึกถึงคนทำรายการทีวีสนุกๆ ในไทย Workpoint น่าจะเป็นชื่อที่ผุดขึ้นมาในใจของใครหลายคน ทั้งรายการในอดีตไม่ว่าจะเป็น ชิงร้อยชิงล้าน, แฟนพันธุ์แท้, เกมทศกัณฐ์, อัจฉริยะข้ามคืน, The Mask Singer หรือรายการที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบันอย่าง ร้องข้ามกำแพง

พูดชื่อรายการเหล่านี้ขึ้นมา ไม่เพียงแค่จำได้ว่ามันคือรายการเกี่ยวกับอะไร แต่ยังจำ ‘ความรู้สึกร่วม’ ที่มีต่อรายการได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสนุก ความลุ้น ความอยากรู้ว่าภายใต้หน้ากาก หรือเบื้องหลังกำแพงนั้นเป็นใคร

หนึ่งในเบื้องหลังคนสำคัญของ Workpoint คือ ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ที่ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัล โดยก่อนหน้านี้เขารับหน้าที่ดูแลงานดิจิทัลทีวี สถานีโทรทัศน์ Workpoint มาก่อน แม้เขาจะออกตัวว่าสองปีให้หลังมานี้เขาจะดูทีวีน้อยลง ทว่าการดูน้อยลงของเขาก็ยังเป็นนับว่ามากอยู่ดีเมื่อเทียบกับใครหลายคน

เราจึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาดูรายการทีวีในแบบที่ชลากรณ์เลือกดู ซึ่งการชวนดูในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ดูว่ารายการเหล่านี้สนุกยังไงหรือใครคือพิธีกร แต่คือการพาไปดูผ่านแว่นตาของผู้ที่คลุกคลีอยู่กับวงการมาอย่างลงลึก ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้รายการเหล่านี้ได้รับความนิยม และแต่ละรายการมีแง่มุมใดน่าสนใจบ้าง

ถ้าพร้อมแล้วเชิญรับชมได้ในบรรทัดถัดไป

1. Reality Show

รายการ : Survivor 
รูปแบบ : เรียลลิตี้ที่ให้ผู้เข้าแข่งขันไปอยู่ด้วยกันบนเกาะเพื่อทำภารกิจต่างๆ ร่วมกัน โดยในแต่ละตอนจะมีผู้ที่ถูกคัดออกไปเรื่อยๆ จนเหลือผู้ชนะคนสุดท้าย

“ตอนนั้น Survivor มันเป็นของใหม่มาก มันดูจริง เขาคิดกติกาเก่ง เอาคนไปอยู่บนเกาะด้วยกันทำภารกิจด้วยกัน แล้วก็คัดคนออกไปเรื่อยๆ จนเมื่อถึงโค้งสุดท้าย รายการก็จะให้คนที่ถูกคัดออกไปกลับมาเลือกว่าจะให้คนที่เหลืออยู่คนไหนเป็นผู้ชนะ 

“ผมรู้สึกว่ามันเป็นรายการที่มีความเป็นมนุษย์ผสมอยู่เยอะ แล้วส่วนตัวเวลาดูอะไรพวกนี้ผมก็มักจะไปดูว่าโปรดิวเซอร์หรือครีเอทีฟของรายการเป็นใคร ตามไปดูงานอื่นๆ ของเขา ดูไปถึงว่าเขาทำมาหากินอะไรด้วยซ้ำ 

“ซึ่ง Mark Burnett คนที่ทำรายการ Survivor ในอดีตเขาเคยเป็นทหารมาก่อน เลยรู้สึกว่าประสบการณ์ตอนเขาเป็นทหารน่าจะส่งผลต่อแนวคิดของการทำรายการด้วยเหมือนกัน”

รายการ : The Apprentice
รูปแบบ : เรียลลิตี้แข่งขันชิงไหวชิงพริบทางธุรกิจ เพื่อหาคนเก่งมาร่วมทำงานในบริษัทของ Donald Trump ตั้งแต่ Trump ยังไม่เป็นประธานาธิบดี 

“กติกาของรายการคือจะแบ่งผู้เข้าแข่งขันออกเป็น 2 ทีม แต่ละทีมก็จะมีโปรเจกต์เมเนเจอร์ของตัวเอง แล้วรายการจะให้ทั้ง 2 ทีมมาแข่งขันกันทำธุรกิจจริงๆ ทีมไหนแพ้คนที่อยู่ในทีมนั้นก็จะถูกคัดออก 

“วิธีการคัดออกก็คือให้คนในทีมที่แพ้มาเถียงกันมาโหวตกันว่าใครทำงานเป็นยังไง ใครคือคนที่ควรถูกไล่ออกจากทีม เสร็จแล้วโปรเจกต์เมเนเจอร์ก็จะมาเป็นคนตัดสินใจเลือกคนที่ต้องออกจากทีมไป โดยจะมีวลีเด็ดในรายการว่า ‘You’re Fired!’

“จนเมื่อใกล้จบ รายการก็จะมีกติกาให้คนที่เคยถูกไล่ออกไปกลับมาโหวตว่าจะให้คนที่อยู่คนไหนเป็นผู้ชนะดี ซึ่งดูเหมือนว่าวิธีการคัดคนออกในแต่ละตอนแล้วสุดท้ายให้คนที่โดนออกไปได้กลับมาเป็นผู้เลือกจะเป็นทางที่คุณ Mark Burnett เขาถนัดเสียเหลือเกิน 

“ความน่าสนใจอีกอย่างของ The Apprentice คือมันเป็นรายกาที่ครบเครื่องในแง่มาร์เก็ตติ้งอย่างมาก ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้แสดงแสนยานุภาพความรวยของตัวเองให้คนได้เห็น อยู่ๆ ก็ไปปิดตึกเพื่อให้คนมาแข่งขันแล้วบอกว่าจริงๆ แล้วนี่เป็นกิจการของฉันเอง อีกอย่างคือเป็นรายการที่ดูแล้วก็ได้ความรู้เรื่องธุรกิจไปด้วย อย่างมีตอนนึงที่ให้ไปขายน้ำส้ม คอนเทนต์ในรายการก็จะสอดแทรกให้เห็นเรื่องวิธีเลือกทำเลในการขายของ อะไรแบบนี้เป็นต้น” 

รายการ : อัจฉริยะข้ามคืน
รูปแบบ : เอาคนเก่งมาแข่งกัน เช้ามามีคนได้เงิน 1 ล้านบาท 

“ถ้าเป็นรายการของบ้านเราก็ต้องเลือก อัจฉริยะข้ามคืน อันนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับทีมงานที่เป็นคนคิดจริงๆ 

“ทีแรกคอนเซปต์ของมันคือ ‘ร้อยคนหนึ่งคืนหนึ่งล้านบาท’ แต่ด้วยความเก่งกาจของครีเอทีฟในบริษัท เขาก็มานั่งคิดว่าร้อยคนมันไม่ได้หรอกพี่ มันเยอะไป ตัดลงมาให้เหลือ 7-8 คนดีกว่า แล้วเอาคนเก่งที่คาแร็กเตอร์ชัดจริงๆ มาแข่งกันเพื่อให้คนดูจดจำได้แล้วจะทำให้รายการดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น 

“ณ ตอนนั้นมันเลยเป็นรายการที่ค่อนข้างฮือฮาพอสมควร ทั้งในแง่ของเงินรางวัลที่ใหญ่และโปรไฟล์ของผู้เข้าแข่งขันที่มีแต่คนเก่ง อีกอย่างที่ต้องให้เครดิตทีมงานอีกเช่นกันคือมันจะมีช่วงสุดท้ายของรายการที่เรียกว่ารหัสปริศนา จะเป็นช่วงที่ทำให้คนทางบ้านนั่งไขรหัสหน้าจอทีวีไปกับผู้เข้าแข่งขันได้ ทำให้คนดูรู้สึกว่าฉันก็คิดออกเหมือนกันนะ แล้วความรู้สึกนี้แหละคือสิ่งที่ทำให้คนดูมีส่วนร่วมกับรายการด้วย”

2. Talk Show

รายการ : The Big Give
รูปแบบ : รายการทอล์กโชว์ของ Oprah Winfrey ที่จะมาสร้างความสุขแบบไม่หยุดไม่หย่อนให้กับแขกรับเชิญในรายการ 

The Big Give เป็นรายการทอล์กโชว์พิเศษอันลือลั่นของโอปราห์ วินฟรีย์ มีทั้งหมด 13 ตอน ถึงรูปแบบรายการจะไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมาก คือเป็นรายการเปลี่ยนชีวิตคนลำบากให้มีความสุขแบบสาสม แต่เอาจริงๆ ผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าเขาทำแบบนั้นได้ยังไง

“ยกตัวอย่างตอนนึงของรายการที่ไปมอบความสุขอย่างสาสมให้กับพนักงานสตาร์บัคส์คนหนึ่งที่ผู้คนบอกว่าเธอเป็นคนน่ารัก รู้ว่าลูกค้าคนไหนชอบกินเมนูอะไร ขยันขันแข็งและไม่เคยหยุดงาน ซึ่งเหตุผลที่ไม่เคยหยุดงานนั่นเป็นเพราะว่าเธอคือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องคอยหาเงินมาให้ลูกๆ หลายคน ทีนี้โอปราห์ วินฟรีย์ ก็เลยไปเซอร์ไพรส์พนักงานคนนี้ที่ร้าน พร้อมให้หยุดงาน 1 วัน หยุดงานเสร็จยังไม่พอ มอบของให้อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นโซฟา ตู้เย็น เตียงนอน เครื่องครัว และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง แต่ทีนี้เจอปัญหา เพราะของที่ซื้อมามันเยอะมาก แล้วห้องของเธอก็เป็นอะไรที่เล็กมากเลย เก็บของเหล่านี้ไม่พอ

“ให้ทายสุดท้ายของเหล่านี้ไปอยู่ไหน

“รายการซื้อบ้านให้หลังนึงเลย เล่นใหญ่มาก คือเข้าใจวิธีการทำรายการแบบนี้นะ แต่พอมันเป็นอะไรที่ไปสุดที่สุดทางก็ต้องยอม

“หรืออีกตอนนึงที่เป็นที่ลือลั่นเหมือนกัน คือรายการเอาแม่บ้านหลายๆ คนมานั่งในสตูดิโอ แล้วก็เล่นใหญ่ตามสเตปเหมือนเดิมว่าเดี๋ยววันนี้จะมีรางวัลพิเศษมามอบให้กับคนที่อยู่ในสตูดิโอนี้ จากนั้นทีมงานก็เดินแจกกล่องของขวัญให้กับทุกคน พร้อมเปิดประตูฉากหลัง จากนั้นก็มีรถเก๋งขับออกมา โอปราห์ วินฟรีย์ ก็บอกว่าเห็นรถคันนั้นไหม เดี๋ยวจะมีคนได้รถกลับบ้านไป ลองเปิดกล่องของขวัญที่ทุกคนมีอยู่ในมือสิ กล่องไหนมีกุญแจก็ได้รถขับกลับบ้านไปเลย

“ปรากฏว่าพอเปิดกล่องออกมา ทุกคนเจอกุญแจกันหมดเลย กรี๊ดกันทั้งสตูดิโอ เจอกุญแจเสร็จเล่นไม่เลิก รายการพาไปดูรถที่จอดอยู่เป็นร้อยๆ คัน ถามว่าเห็นไหม ที่จอดอยู่นี่คือรถของพวกเธอ เห็นแล้วยอมเลย

“คนอื่นอาจบอกว่าก็เพราะรายการรวยนี่เลยทำได้ ถ้าเป็นครีเอทีฟงบน้อยก็ทำไม่ได้หรอก แต่ผมว่ามันเป็นอะไรที่ข้ามเส้นความรวยไปแล้ว ลองคิดภาพสิ คือเขาไปดีลกับสปอนเซอร์ยังไง ไปบอกว่าช่วยมาแจกรถให้คนดูฉันหน่อยสิ แบบนี้เหรอ นั่นแปลว่าคนต้องรักรายการของเขามากสปอนเซอร์ก็เลยเอาด้วย

“อีกอย่างนึงเราว่ารายการทอล์กโชว์ทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จคือคาแร็กเตอร์ของโฮสต์ โฮสต์นี่แทบจะเป็นโปรดิวเซอร์ของรายการเลย ซึ่งในยุคนึง โอปราห์ วินฟรีย์ เขาก็เป็นขวัญใจคนอเมริกันเหมือนกัน”

3. Singing Competition TV Series 

รายการ : The Voice
รูปแบบ : รายการประกวดร้องเพลงที่โค้ชในรายการจะเลือกนักร้องที่ชอบจากเสียงก่อนหน้าตา

“ที่จริงแล้ว The Voice เป็นรายการที่เกิดขึ้นในฮอลแลนด์โดย John De Mol แต่มาร์ก เบอร์เนตต์ คือคนที่เอามาทำให้เป็นที่รู้จักในอเมริกา แล้วต่อจากนั้นมันก็กลายเป็นรายการที่ดังไปทั่วโลก แม้ก่อนหน้าจะมีรายการร้องเพลงอยู่แล้วมากมาย แต่สิ่งที่ทำให้ The Voice ดังก็เพราะมันเป็นรายการที่มีคอนเซปต์ที่แข็งแรงมากๆ มาจับ 

“เพราะปกติคนที่เข้ามาในรอบลึกๆ ได้ ยังไงแล้วก็ต้องเป็นคนที่ร้องเพลงเก่งเหมือนกันหมดแหละ สุดท้ายก็ต้องมาตัดสินกันที่การโหวต ซึ่งในแง่ของการแข่งขันก็ถือว่าแฟร์นะ แต่ทีนี้การโหวตมันก็จะมีปัจจัยเรื่องอื่นที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการร้องเพลงเข้ามาประกอบการตัดสินใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นความชอบ เสน่ห์ หรือหน้าตาของนักร้อง ก็เลยเกิดเป็นคำถามในใจของคนดูหลายๆ คนว่าแบบนี้แล้วคนมีเสน่ห์ก็จะชนะตลอดเลยสิ

“เราคิดว่าสิ่งที่ทำให้ The Voice ประสบความสำเร็จ คือการที่มันมาตอบคำถามในใจของหลายๆ คน ว่าขอคนที่ร้องเพราะพอไม่ต้องเห็นหน้าก็ได้

“แล้วการที่พูดว่าคนคนนี้ร้องเพลงเพราะโดยที่ยังไม่เห็นหน้าตาของคนร้อง มันเป็นประโยคที่เอกฉันท์มาเลยนะ ความเอกฉันท์นี้ก็เลยทำให้รายการน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก” 

รายการ : I Can See Your Voice
รูปแบบ : ค้นหานักร้องเสียงเพราะ มาร้องคู่กับแขกรับเชิญในแต่ละสัปดาห์

I Can See Your Voice เป็นรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากเกาหลี ตอนเห็นครั้งแรกก็ไม่ได้รู้สึกว่าฮือฮาอะไร แต่พอได้มานั่งคุยกับโปรดิวเซอร์ของรายการเท่านั้นแหละ เชื่อเขาเลย!

“คือโปรดิวเซอร์เล่าให้ฟังว่ารายการประกวดร้องเพลงส่วนใหญ่คนที่ร้องเพราะถึงจะดัง แต่สำหรับ I Can See Your Voice ไม่ต้องร้องเพลงเพราะอาจจะดังก็ได้ มันอาจไม่ใช่เหตุผลที่ดีนะ แต่พอเขาพูดประโยคนี้มา มันเหมือนมาช่วยคอนเฟิร์มความเชื่อของเราเลยว่าต้องสนุกแน่ๆ ก็เลยตัดสินใจว่ามาลองดูกัน

“ซึ่งก็จริงแบบที่เขาว่านะ ตอนเอามาทำแรกๆ คนร้องไม่เพราะดังกว่าคนร้องเพราะอีก อีกอย่างความสนุกสนานเวลาดูรายการมันเหมือนเวลาเราไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อน ต่อให้เพื่อนร้องไม่เพราะแต่เราก็จะนั่งดูนั่งขำทุกที แล้วก็เพิ่งมารู้ทีหลังด้วยนะว่ารายการเขาแข็งแรงถึงกับขนาดเคยเข้าชิงรางวัล Emmy Awards เลย”

รายการ : The Rapper
รูปแบบ : จับคัลเจอร์ฮิปฮอปมาทำเป็นรายการแข่งร้องเพลงแรป

“ไม่น่าเชื่อว่ารายการเพลงมันจะเปลี่ยนคัลเจอร์ดนตรีได้ ตอนที่รายการ The Rapper ดังหลายคนก็หันมาแรปกันหมด

“ส่วนตัวแล้วคิดว่าสิ่งที่ทำให้ The Rapper สามารถเปลี่ยนคัลเจอร์ได้คือมันเป็นการห่อหุ้มใหม่ให้กับสิ่งที่มีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว และนำมาเสนออย่างเป็นมิตร หัวใจของมันคือมันมีท่อนเพลงที่ฟังคุ้นหูอยู่ง่ายๆ ก่อน จากนั้นค่อยเพิ่มท่อนที่เป็นแรปไปจนค่อยๆ ซึมซับไปเรื่อย

“ปกติแล้วคนส่วนมากถ้าไม่คุ้นชินกับเพลงแรปจะหนีก่อนเพราะรู้สึกไม่มีส่วนร่วม รู้สึกว่าฮิปฮอปหรือแรปเป็นสิ่งที่ฟังยาก ซึ่งช่วงแรกๆ ที่รายการออน มันทำให้คนฟังฟังได้ง่ายก่อน แล้วค่อยเอาสิ่งที่ฟังยากเข้ามาใส่เพิ่มทีหลัง จนเมื่อคนเริ่มพูดถึงกันในคอมมิวนิตี้เล็กๆ ที่มีจำนวนเยอะมากเลยพร้อมใจกันนำเสนอในหลายๆ รูปแบบต่อเนื่องมาเรื่อยๆ และมันก็กลายเป็นคัลเจอร์วงกว้างในที่สุด ที่สำคัญคือพอมันอยู่ในหน้าจอทีวีที่มีผู้ใหญ่ดูด้วย พอผู้ใหญ่รับได้ด้วยมันก็เลยขยายผลออกไป”

4. Dating Show

รายการ : Terrace House 
รูปแบบ : ให้ผู้ชาย 3 คน และผู้หญิงอีก 3 คนมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน แล้วหาคู่เดทของตัวเอง

“ปกติแล้วรายการ dating show มักจะเล่นท่าที่คล้ายๆ กัน คือเอากล้องมาตั้งถ่ายไว้แบบทั้งวันทั้งคืน ให้ผู้เข้าร่วมรายการมาอยู่ด้วยกัน มีกิจกรรมด้วยกัน 

“แต่ Terrace House ทำให้ดูรู้สึกจริงขึ้นไปอีก เพราะกติกาของรายการไม่ได้บังคับให้ผู้ร่วมรายการต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลาก็ได้ บางวันอยากจะกลับไปนอนบ้านตัวเองก็ได้ ออกไปทำงานได้ด้วย บางวันมีธุระไม่ต้องมาก็ได้นะ พอได้เห็นมุมอื่นของชีวิตแต่ละคนก็เลยทำให้รู้สึกว่ามันจริงมากขึ้น แล้วถึงจะออกไปข้างนอกได้ แต่รายการก็จะสร้างเงื่อนไขบางอย่างให้เรื่องราวสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วย

“ซึ่ง Terrace House น่าจะเป็น dating show รายการแรกๆ เลยที่ผมเห็นว่ามีการเอาคนมานั่งดูในห้องรับแขก มานั่งพูดคุยเมาท์มอยกัน เหมือนเป็นการเมาท์แทนคนดูว่าคนโน้นคนนี้เป็นยังไง

“อีกอย่างที่ชอบคือมีฉากนึงใน Terrace House ผู้หญิงวางแผนว่าอยากจะชวนผู้ชายพูดคุยทำความรู้จักให้มากขึ้น ซึ่งตัวผู้หญิงรู้ว่าผู้ชายชอบเล่นบาส ทีนี้พอตอนที่คุยกันผู้ชายบอกว่าเขาชอบผู้หญิงอีกคนนึง ต้องทำยังไงดี พอคุยกันจบผู้กำกับก็เก่งมาก ถ่ายภาพที่ทำให้เห็นว่าผู้หญิงเขี่ยลูกบาสที่วางอยู่ที่โต๊ะออกไปจาก เป็นภาพที่สื่อถึงความหมายได้ดี เหมือนผู้หญิงอกหัก”

รายการ : The Future Diary
รูปแบบ : รายการเดตติ้งโชว์ ที่เอาคนมาเดตให้ดูแค่ 1 คู่ถ้วน

The Future Diary คือทั้งรายการเอาคนมาเดตให้ดูแค่ 1 คู่ถ้วนเท่านั้น ให้ทั้งสองทำความรู้จักกัน แล้วให้คนดูลุ้นว่าสุดท้ายทั้งคู่จะคบกันจริงๆ ไหม 

“สำหรับรายการนี้ชอบในความกล้าของคนทำมากๆ คิดดูสิว่าทั้งรายการให้ดูแค่สองคนนั้น นั่นแปลว่าแคสติ้งเขาต้องแม่นมากๆ

“พอแคสติ้งแม่นรายการก็จะสามารถทำให้คนดูรู้สึกว่าไม่รักก็ต้องเกลียดใครสักคน แล้วเวลาเรารักหรือเกลียดใครสักคนมันจะทำให้เราอยากตามดูเขาไปเรื่อยๆ ”

5. Game Show

รายการ : เกมทศกัณฑ์
รูปแบบ : ให้ผู้เข้าแข่งขันมาทายว่าหน้าตาในแผ่นป้ายเป็นใคร

“ความยากของรายการเกมโชว์คือต้องทำสิ่งที่มันซ้ำๆ ให้คนดูรู้สึกว่าไม่ซ้ำอยู่ตลอดเวลา อย่างละครเรื่องนึงมันเดินไปเรื่อยๆ แล้วก็จบ ถ้าเป็นวาไรตี้โชว์หรือข่าว เรื่องราวมันก็เปลี่ยนทุกวัน 

“แต่เกมโชว์ด้วยความที่บริบทของมันไม่ได้เปลี่ยนเยอะ หลักๆ ก็มีแค่ตัวผู้เล่นที่เปลี่ยน 3-5 เดือนแรกอาจจะยังเป็นเรื่องที่ใหม่อยู่ แต่หลังจากนั้นมันเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะทำให้คนดูไปได้เรื่อยๆ อย่างยาวนาน กับ เกมทศกัณฑ์ ที่ให้ทายหน้าคนไปเรื่อยๆ นี่เราดูภาพนี้กันมาเป็นปีนะ ยาวนานมาก พอ เกมทศกัณฑ์ ผู้ใหญ่จบก็มี ทศกัณฑ์เด็ก อีก ซึ่งเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าทีมครีเอทีฟเก่งมากที่สามารถลากสิ่งนี้ไปได้ตั้งยาวนาน ทำให้เรื่องเดิมๆ เดินได้อยู่ตลอดเวลา เป็นการทำงานที่อาศัยการหาข้อมูลที่หนักมากเพราะทีมงานต้องไปทำการบ้านมาเพื่อให้พิธีกรมีเรื่องเล่า 

“แต่ผมก็ไม่ค่อยแปลกใจหรอกว่าทำไมเขาทำกันได้ เพราะเป็นทีมเดียวกับที่ทำ แฟนพันธุ์แท้ รายการ แฟนพันธุ์แท้ เป็นรายการที่คนแข่งเก่งกว่าคนทำ คนทำเลยต้องหาข้อมูลเยอะมากๆ

“จากรายการทั้งหมดที่ว่ามา โดยพื้นฐานแล้วรายการที่จะประสบความสำเร็จคือต้องดูสนุกและมีอารมณ์ อารมณ์ไหนก็ได้ ดูแล้วขำ ดูแล้วร้องไห้ ดูแล้วซาบซึ้งก็ได้ ดูไปด่าไปก็นับ เพราะยังดูอยู่ แต่ไม่ได้หมายถึงด่ารุนแรงนะ อาจแค่แบบว่าทำไมกรรมการให้คนนี้ชนะ ฉันชอบคนนี้มากกว่า

“รายการไหนถ้าคนดูมีอารมณ์ร่วมด้วยถือว่ารายการทำสำเร็จแล้ว”

Tagged:

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม ที่ชอบกินกาแฟดำเป็นชีวิตจิตใจ

You Might Also Like