วิธีการจัดระบบงานของ Sabina ที่ทำให้องค์กรยืนระยะมาจนถึงขวบปีที่ 52 ได้
The Productivity of Sabina
นอกจากความหลากหลายและความพิถีพิถันของชุดชั้นในที่มีให้เลือกมากมาย อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ Sabina กลายเป็นองค์กรที่ยืนระยะมาได้นานกว่า 50 ปีก็คือการ ‘ลีน’ องค์กร
โดย Sabina ปักหมุดหมายในโรดแมปอีก 4 ปีข้างหน้าว่า Sabina จะเป็น ‘lean enterprise’
แม้เราจะคุ้นหูและเคยได้ยินคำว่าลีนองค์กรกันบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เห็นหลายบริษัทหลากองค์กรต่างลุกขึ้นมาลีนองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น แต่สำหรับ Sabina นั้น พวกเขาลีนองค์กรมาหลายสิบปีแล้ว
‘ลีน (lean)’ แปลว่าการกำจัดความสูญเปล่า การกำจัดความสูญเปล่าคือทำสิ่งที่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
แล้ว Sabina ลีนองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างไร
Kaizen in the workplace
ไคเซน (Kaizen) คือกลยุทธ์การบริหารงานแบบญี่ปุ่น อธิบายความหมายอย่างง่ายคือการเปลี่ยนแปลง พัฒนาปรับปรุงไปในทางที่ดี ซึ่งเมื่อเอามาใช้เป็นหลักในการบริหารโรงงาน นั่นคือการลดกระบวนการทำงานให้น้อยลง แต่ตัวผลงานที่ได้ออกมามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วิธีการที่ Sabina ทำคือการไปพูดคุยกับพนักงานที่อยู่ในขั้นตอนนั้นๆ โดยตรง พนักงานแต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะเสนอแนวทางการทำงานหรือไคเซนในแบบของตัวเอง เพราะเป็นคนที่เข้าใจและรู้ความสามารถของตัวเองได้มากที่สุด
ดวงดาว มหะนาวานนท์ CEO คนปัจจุบันของ Sabina บอกว่า “สิ่งเหล่านี้มันกระตุ้นให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองสามารถพัฒนาได้ด้วย”
“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น อย่างพนักงานฝ่ายเย็บ ในหัวของเขาก็จะรู้เลยว่าการทำงานแนวไคเซนของเขานั้นเป็นแบบไหน แล้วก็จะรู้วิธีการปรับการเย็บให้สามารถทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น เย็บแบบเดิมชั่วโมงนึงได้จำนวน 20 ชิ้น พอปรับใหม่กลายเป็นว่า 1 ชั่วโมงเขาสามารถเย็บได้ 25 ชิ้น
“หรืออย่างพนักงานคลังสินค้า ปกติเขาต้องหยิบถุงแล้วเอาสินค้ามาจัดเรียงลงถุง จากนั้นเขาก็ต้องกลับมาหยิบถุงนั้นส่งต่อเอาไปใส่ลงกล่อง พอต้องเดินกลับไปมา หรือทำหลายขั้นตอนมากๆ บางคนเลยเสนอมูฟไปทำด้านหนึ่งของโรงงานเลยดีกว่า ใกล้ๆ กับจุดที่ต้องแพ็กหยิบใส่เลย เพราะจะได้โฟลว์การทำงานไปรอบเดียวเลย เร็วขึ้น ดีขึ้น
“เหล่านี้เป็นไคเซนที่พนักงานคิดกันเองทั้งนั้น”
Made some adjustments in the workplace
จากการนั่งเย็บ เปลี่ยนเป็นการยืนเย็บ แม้จะดูเป็นจุดเล็กๆ ในกระบวนการผลิต แต่กลับส่งผลต่อองค์กรอย่างยิ่งใหญ่และน่าสนใจ
เพราะนี่คือการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเพื่อให้เกิดการไหลลื่นของงานอย่างต่อเนื่อง (continuous flow) การเปลี่ยนจากการนั่งเย็บเป็นการยืนเย็บเป็น turning point สำคัญที่ช่วยให้ Sabina ลีนองค์กรได้เป็นอย่างดีหลังจากที่เจอวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554
การเปลี่ยนระบบผลิตจากนั่งเป็นยืนช่วยให้ Sabina ลดระยะเวลาการส่งมอบสินค้า และใช้ทรัพยากรลดลงถึงครึ่งหนึ่ง โดยก่อนจะมีการปรับให้พนักงานยืนเย็บ 1 ไลน์การผลิตสินค้าจะใช้พนักงานเย็บประมาณ 40 คน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 20 คนเท่านั้น
“เมื่อเปลี่ยนจากนั่งเย็บมาเป็นยืนเย็บ ก็ทำให้โพรเซสในการทำงานลดน้อยลง เพราะเวลานั่งเย็บเมื่อจะหยิบของทีเราก็ต้องเสียเวลาลุกจากเก้าอี้ทีนึง แต่ถ้าเปลี่ยนมายืนปุ๊ป หากเย็บที่จักรแรกเสร็จก็สามารถหันข้างมาเย็บที่จักรข้างๆ ได้ต่อ เมื่อพนักงานคนนึงสามารถทำงานได้มากกว่าหนึ่งจักร ก็ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของผลลัพธ์การทำงาน จากเดิมหนึ่งไลน์ผลิตใช้คน 40 คน ปัจจุบันก็เหลือ 20 คน ส่วนคนที่เหลือก็เทรดไปทำไลน์ผลิตอื่นๆ แทน แล้วบริษัทก็ได้ชิ้นงานจากหลายไลน์ผลิตในจำนวนคนเท่าเดิม”
Team-based incentive in the workplace
หนึ่งกระบวนการที่ Sabina ใช้คือการปรับโมเดลการคิดค่าจ้าง จากงานโหลที่แข่งกันทำ พนักงานคนไหนทำได้มากชิ้น ก็จะได้เงินมาก มาเป็น team-based incentive ที่ในกระบวนการผลิตพนักงานในฝ่ายจะได้ incentive ที่เท่ากันเพื่อให้เกิดการช่วยกันทำงาน
“ย้อนไปในช่วงการปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 บาท แน่นอนว่าตอนนั้นส่งผลกับเรามาก เพราะต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมีผลกระทบโดยตรงทันทีเราจึงต้องปรับโครงสร้างการคิดค่าจ้างใหม่ เราจะมีคำว่าการเย็บงานที่เป็นเหมือนงานโหล โดยพนักงานจะเย็บงานเป็นคูปองร้อยชิ้น ครบร้อยชิ้นถึงได้ค่า incentive 5 บาท เพราะฉะนั้นหากเขาอยากได้ 50 บาท เขาจะเย็บให้ได้ 1,000 ชิ้น โดยเขาไม่สนใจว่า 1,000 ชิ้น ที่เขาทำได้นั้นส่วนที่เหลือจะสามารถส่งต่อให้พนักงานคนต่อไปทำได้กี่ชิ้น
“ซึ่งนี่เป็นข้อเสียของระบบคูปอง สิ่งที่เราเปลี่ยนคือ เปลี่ยนจากการได้ incentive รายบุคคล เป็นการให้แบบ team-based incentive ทุกคนในทีมจะได้ incentive เท่ากันหมด กลายเป็นว่าพนักงานจะเกิดการช่วยกันทำทันที”
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆ องค์ประกอบทั้งในรูปแบบ cross-functional team ที่พนักงานคนหนึ่งสามารถทำได้หลายตำแหน่ง หรือ agile thinking ที่ทำให้เกิดความหลากหลายและสามารถพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
จากการ lean manufacturing ที่ทำมานานนับสิบๆ ปี ตอนนี้ Sabina กำลังทรานฟอร์มปรับสู่ความเป็น lean enterprise ที่มีจุดมุ่งหมายในการกำจัดความสูญเปล่าของทุกกระบวนการในห่วงโซอุปทาน
เพื่อเป็น From Supplier to Customer ตามพันธกิจที่ Sabina ได้วางเป้าหมายไว้