พาดูการผลิตในโรงงาน Sabina หลากหลายขั้นตอนที่ไม่ง่าย กว่าจะกลายมาเป็นชุดชั้นในแต่ละตัว

The Making of Sabina

โรงงาน นอกจากจะเป็นพื้นที่เอาไว้ผลิตสินค้า นี่ยังเป็นพื้นที่รวบรวมความลับสำคัญทางธุรกิจเอาไว้มากมาย

ดังนั้นนอกจากป้ายปลอดภัยไว้ก่อนที่ติดอยู่ภายในโรงงาน ก็น่าจะเป็นป้ายพื้นที่หวงห้ามนี่แหละที่เราจะพบเห็นได้บ่อยไม่น้อยไปกว่ากัน

ทว่าวันนี้ Sabina กลับเปิดประตูต้อนรับคนนอกอย่างเราให้เข้าไปสำรวจภายในโรงงานแบบไม่หวงและไม่ห้าม ตั้งแต่ต้นทางอย่างจุดรับวัตถุดิบมาจากซัพพลายเออร์ แล็บตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ โซนปั๊มฟองน้ำชุดชั้นใน โซนตัดแพตเทิร์นชุดชั้นใน โซนเย็บชุดชั้นใน มาจนถึงปลายทางคือโซนติดป้าย นำใส่กล่อง และจัดส่งสินค้า

เมื่อเดินสำรวจจึงได้เห็นว่าการผลิตชุดชั้นในนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เสื้อชั้นในตัวเล็กๆ นั้นเต็มไปด้วยรายละเอียดและขั้นตอนมากมาย ชนิดที่ว่าแม้จะเห็นทุกซอกทุกมุมของโรงงานก็ยากจะทำตามได้

ส่วนรายละเอียดของการทำชุดชั้นในตัวหนึ่งจะมีขั้นตอนอะไร ก้าวเท้าตามเราเข้ามาในโรงงานของ Sabina ได้เลย

เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบวัตถุดิบที่รับมาจากซัพพลายเออร์ โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเสื้อชั้นในของ Sabina ประกอบไปด้วยวัตถุดิบ 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน คือส่วนที่เป็นวัตถุดิบหลักซึ่งก็คือผ้า ลูกไม้ ฟองน้ำ และส่วนที่เป็นแอ็กเซสเซอรี เช่น ยางยืด ตะขอ ห่วง จี้เพชร โบว์ หรืออุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ 

สำหรับวัตถุดิบหลักอย่างผ้าก็จะนำมาไว้ที่จุดนี้ก่อน เพื่อตรวจสอบหน้าผ้าว่ามีตำหนิหรือรอยขาดตรงไหนไหม หากผ้าม้วนนั้นมีคะแนนตำหนิมากกว่า 20 คะแนนก็จะส่งผ้าชิ้นนั้นกลับไปเคลมกับซัพพลายเออร์ 

แต่หากมีคะแนนตำหนิน้อยกว่า 20 คะแนนก็จะติดมาร์กเอาไว้ว่าผ้ามีตำหนิตรงไหนบ้าง เพื่อให้แผนกที่รับผ้าไปทำต่อจะได้หลีกเลี่ยง ไม่ใช้ผ้าบริเวณที่มีจุดตำหนินั้น

ในส่วนของวัตถุดิบที่เป็นแอ็กเซสเซอรีก็มีขั้นตอนการตรวจสอบที่เข้มงวดไม่แพ้กัน 

หากเป็นยางยืดก็จะถูกนำไปตรวจสอบเข้าเครื่องวัดความยืดหยุ่นว่าสามารถยืดได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ 

หากเป็นฟองโมลด์ก็จะเอาที่ครอบมาวัดรอบเต้าว่าได้สเปกตามที่กำหนดหรือเปล่า

หากเป็นโบว์ก็จะนำมาตรวจสอบดูความเท่ากันของหางโบว์สองข้าง

ส่วนในภาพคือการตรวจสอบลูกไม้ว่ามีรอยขาดหรือรอยเปื้อนตรงไหนหรือไม่ รวมไปถึงดูความเคิร์ฟของตัวลูกไม้ด้วยว่ามีความโค้งมนที่สม่ำเสมอเท่ากันหรือเปล่า เพราะหากเคิร์ฟของลูกไม้ไม่เท่ากันก็อาจส่งผลให้ชุดชั้นในตรงอกซ้ายและอกขวามีความไม่เท่ากันได้

หลังตรวจสอบวัตถุดิบด้วยตาเปล่าไปแล้ว วัตถุดิบต่างๆ ก็จะถูกส่งมาตรวจสอบที่แล็บอีกครั้ง โดยในภาพคือการทดสอบความทนทานของวัตถุดิบ ทั้งในแง่ความคงทนต่อการซัก และความคงทนต่อเหงื่อ ว่ามีความคงทนเป็นไปตามมาตรฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ 

อีกขั้นตอนการทดสอบความทนทาน

เมื่อวัตถุดิบตัวอย่างผ่านการทดสอบเรียบร้อย ก็จะนำมาเทียบกับผ้าตัวที่ก่อนจะถูกทดสอบ 

หากสีของผ้าไม่เปลี่ยนไปก็จะสามารถส่งผ้าไปผลิตต่อได้

หลังตรวจวัตถุดิบต่างๆ จนเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนต่อมาจะเป็นการตัดผ้าเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ก่อนนำไปเย็บประกอบเข้าด้วยกัน โดยการตัดผ้าจะมีการคำนวณพื้นที่ที่ใช้บนผืนผ้าได้อย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อลด waste ของเศษผ้าให้ได้มากที่สุด

การตัดชิ้นผ้า นอกจากตัดด้วยเครื่องแล้ว ก็ยังมีการตัดด้วยคนเช่นกัน ซึ่งมีกฎเหล็กว่าคนที่ทำงานตำแหน่งนี้จะต้องใส่ถุงมือเหล็กทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน

ภาพรวมของหน่วยงานตัด

นอกจากผ้า อีกส่วนประกอบสำคัญของชุดชั้นในก็คือฟองน้ำ โดยก่อนจะเป็นฟองน้ำที่เป็นทรวดทรงในชุดชั้นใน ตัวฟองน้ำก็มีหน้าตาเป็นแผ่นๆ อย่างที่เราเห็นตามภาพมาก่อน

วางบนเครื่อง ใช้ความร้อนปั๊ม จนทำให้ฟองน้ำเกิดเป็นทรวดทรงขึ้นมา

หน้าตาของฟองน้ำที่ปั๊มเสร็จ 

เมื่อวัตถุดิบพร้อม ต่อมาก็จะเข้าสู่กระบวนการเย็บ ซึ่งโซนเย็บนั้นมีพื้นที่ขนาดใหญ่มาก

เย็บเสร็จก็จะนำมารีดให้เป็นทรง 

เก็บรายละเอียดต่างๆ อีกที

ตรวจสอบความเรียบร้อยอย่างละเอียดด้วยมือและตาอีกครั้ง

ก่อนนำไปติดป้ายและจัดใส่กล่อง

เพื่อจัดส่งชุดชั้นในไปขายทั่วประเทศ 

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst