What’s next in Money & Investment

การเงินปี 2566 แม้ยังมีความเสี่ยง แต่โอกาสลงทุนยังมี เทคโนโลยีมีบทบาทในโลกการเงินมากขึ้น

ปี 2565 ที่เพิ่งผ่านไป หลายคนบอกว่าเป็นหนึ่งในปีที่แย่ที่สุดของโลกของเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งจากสถานการณ์ที่เราเห็นมาตลอดปีคำพูดนี้ก็คงไม่ผิดนัก

ไล่เรียงให้ดูคร่าวๆ ปีที่ผ่านมาเราเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างการเกิดสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าทั่วโลก การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สถานการณ์เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินของหลายประเทศอ่อนค่าในรอบหลายสิบปี

ไทยเองก็เจอกับสถานการณ์เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 14 ปี  และค่าเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในรอบ 16 ปี ทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งสารพัดค่าครองชีพ ค่าน้ำมัน ค่าไฟ ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ก็พุ่งสูงขึ้น

หรือแม้แต่ตลาดคริปโตฯ ที่เคยร้อนแรง ก็เจอกับปรากฏการณ์ฟองสบู่สินทรัพย์ดิจิทัล นักลงทุนไทยและทั่วโลกเจ็บตัวไม่น้อย 

มองไปทางไหนก็ไม่มีที่ไหนเศรษฐกิจดี เจอสารพัดปัจจัยลบรุมเร้า โลกการเงินเจอความผันผวนและดูจะลากยาวมาถึงปีนี้ ก่อนจะเริ่มปี 2023 เราจึงชวน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ รองหัวหน้าสายงานวิจัย ฝ่าย KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) มาพูดคุยกันถึงทิศทางภาพรวมของภาคการเงิน การลงทุน และการธนาคารปี 2566 จะเป็นไปในทิศทางใด และโอกาสในการลงทุนมีมากน้อยแค่ไหน 

3 Shock ที่ยังต้องเจอต่อในปีหน้า

ภาคการเงิน การธนาคารมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นหากเศรษฐกิจแย่ภาคธนาคารก็เหนื่อยไปด้วย

ดร.พิพัฒน์บอกว่าสิ่งที่เห็นคือ ภาคการเงินเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างรวดเร็ว เพิ่งผ่านพ้นจากสถานการณ์โควิด-19  มา ซึ่งหากย้อนกลับไปตอนโควิด-19 มาใหม่ๆ เราบอกว่าแย่แล้ว แต่พอตอนดอกเบี้ยลด กลายเป็นว่าการลงทุน ตลาดหุ้น ดีหมดเลย พอมาปีที่ผ่านมาเราเจอ Shock 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ เงินเฟ้อสูงมาก (inflation shock) ส่งผลให้ประเทศขนาดใหญ่ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็ว (rate shock) และการเติบโตทางเศรษฐกิจ และกำไรของบริษัทได้รับผลกระทบด้วย (growth shock) 

ทั้งสามสิ่งเป็นเหตุการณ์ที่จะต่อเนื่องไปในปี 2566 ซึ่งเป็นแรงต้าน (headwind) ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลก และอาจมีความเสี่ยงตามมาถึงเศรษฐกิจไทยด้วย

  “สิ่งที่ต้องเจอแน่ๆ คือ สถานการณ์เงินเฟ้อยังคงสูงอยู่แม้จะปรับตัวลดลงก็ตาม ภาคครัวเรือนก็จะเหนื่อยหน่อย เพราะฐานะทางการเงินยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ”

 เศรษฐกิจเหมือนโรเลอร์โคสเตอร์ 

“เรียกว่าปีที่ผ่านมาเป็นหนึ่งปีที่การลงทุนแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในรอบ 100 ปี ปกติการจัดพอร์ตแบบ asset allocation หรือการกระจายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์หลายรูปแบบ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น เงินสด เพื่อลดความเสี่ยงเป็นการลงทุนที่ดีและความเสี่ยงต่ำ เพราะปกติปีไหนหุ้นไม่ดีตราสารหนี้จะดีและช่วยลดความเสี่ยงโดยรวม แต่ปี 2565 กลับตาลปัตรสินทรัพย์ส่วนใหญ่ติดลบเกือบหมด ใครกระจายการลงทุนปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่แย่ที่สุดปีนึงเลย ถ้าไม่ได้ซื้อหุ้นน้ำมัน ถือเงินสดเยอะหน่อยนี่เหนื่อยมาก”

ส่วนหนึ่งเพราะภาพที่เราเห็นก่อนหน้านี้อาจบอกได้ว่าดีเกินจริง เศรษฐกิจเหมือนโรเลอร์โคสเตอร์ 

ปี 2563 เจอโควิด-19 หนักมาก สิ่งที่เกิดขึ้นคือธนาคารทั่วโลกลดดอกเบี้ยเป็นศูนย์ ทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของนโยบายทางการเงินที่ใช้รับมือกับปัญหาการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ

ปี 2564 เป็นปีที่ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจหนักมากเพื่อบรรเทา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เกิดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19

“ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นตลาดหุ้นขึ้นโดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน หลายบริษัทมีมูลค่าบริษัท (market cap) เพิ่มขึ้นมหาศาล เกิดการสร้างดีมานด์เทียมขึ้นมาและเชื่อว่าสิ่งที่เคยเป็นอยู่ก่อนหน้าจะยังเติบโตต่อ แต่พอโลกแห่งความเป็นจริงกลับมาไม่ได้เป็นเช่นนั้น”

ปี 2565 จนถึงตอนนี้เหมือนการกลับจากภาวะดีเกินจริงสู่ภาวะปกติ

“ตอนเงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยเป็นศูนย์ ก็มีคำถามว่าจะทำยังไงให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้ พอโลกหลังโควิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาจริงๆ ก็เกิดปัญหาว่า จะทำอย่างไรให้เงินเฟ้อลงให้ได้”

Crypto Bubble

จากที่ 2 ปีก่อนนับเป็นปีทองของตลาดคริปโตฯ แต่พอมาตอนนี้ก็นับเป็นขาลงแบบสุดๆ และยังคงลากยาวต่อ ราคาของสินทรัพย์ลงทุนเฟ้อเกินปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์ลงทุนนั้นไปมากจนเริ่มไม่สมเหตุสมผล พอสภาพคล่องหดเลยทำให้เกิดภาวะฟองสบู่แตกในตลาดคริปโตฯ

ดร.พิพัฒน์ อธิบายว่าเพราะดอกเบี้ยต่ำและราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคำที่เขาใช้กัน 2 คำคือ TINA ที่ย่อมาจาก There Is No Alternative ที่แปลว่า การไม่มีทางเลือกเพราะดอกเบี้ยถูกมากต้องยอมไล่ซื้อสินทรัพย์เสี่ยง และ FOMO หรือ Fear of Missing Out คือเห็นคนอื่นได้กำไร กลัวที่จะพลาดโอกาสไป กลัวที่จะไม่รู้เหมือนที่คนอื่นรู้ กลัวตกกระแสหรือตกเทรนด์  

“เพราะหากย้อนกลับไปคนพูดถึงคริปโตฯ มากมาย หลายคนกลายเป็นเศรษฐีจากการเทรดคริปโตฯ เมื่อภาพเป็นแบบนั้นหลายคนก็เข้าไปในตลาดแบบไม่รู้ข้อมูล ไม่ได้ศึกษาเพราะกลัวตกเทรนด์ เพราะราคาสินค้าขึ้นเร็วมาก เกินปัจจัยพื้นฐาน ส่วนใหญ่ก็คาดว่าจะมีคนมาซื้อต่อในราคาที่สูงขึ้น แต่พอสภาพคล่องหด ฟองสบู่ก็เลยแตก”

“การเกิดฟองสบู่มันคือการดึงทรัพยากรเจ๋งๆ ดีๆ ของโลกเข้าไปในอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน  ข้อดีคืออาจเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน digital asset อะไรบางอย่างในอนาคต แต่ digital asset  สิ่งที่ต้องพิสูจน์นั้นไม่ใช่แค่เรื่องของราคา แต่ต้องมองว่าสิ่งที่สร้างขึ้นมาสามารถเพิ่มมูลค่าอะไรกับเศรษฐกิจจริงๆ บ้าง”

เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในโลกการเงินมากขึ้น

นอกจากพร้อมเพย์ที่มาช่วยขับเคลื่อนศักยภาพด้านการชำระเงินของประเทศในช่วงที่ผ่านมา  ตอนนี้เราก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยบริการการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (NDID) ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน เทรนด์ที่จะเห็นในภาคการเงิน การธนาคารยังคงเป็นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมาซัพพอร์ตให้เราสามารถทำธุรกรรมทางดิจิทัล ธุรกรรมบนมือถือได้ดียิ่งขึ้น บริการอะไรต่างๆ ในอดีตที่มีตัวกลาง ต้องเจอหน้ากันจะลดน้อยลง ธนาคารอาจจะมีบริการใหม่ๆ ที่สามารถทำบนมือถือได้ง่ายขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่นการกู้เงินบนมือถือ ที่ปกติการกู้เงินต้องใช้หลักฐานพิสูจน์รายได้ หรือการให้กู้โดยมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ตอนนี้เราจะเห็นการใช้ข้อมูลอื่นๆ เช่น รายการเดินบัญชี หรือพฤติกรรมอื่นในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งก็อยู่ในขั้นทดลองเพราะยังมีอีกหลายปัจจัยให้พิจารณาประกอบกัน

“Buy Now, Pay Later ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่จะมา ซึ่งเอาจริงๆ ใครมีบัตรเครดิตก็ทำโมเดลช้อปก่อนจ่ายทีหลังมานานแล้ว แต่ Buy Now, Pay Later ที่กำลังมานี้เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มาตอบโจทย์คนที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์รายได้ ไม่มีบัตรเครดิต ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วงว่าบริษัทที่ทำจะบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดตามมาได้ยังไง เพราะไม่มีอะไรการันตีเรื่องรายได้ และความสามารถในการใช้จ่าย แต่ใช้แค่ Alternative Credit Scoring หรือแค่ทรานแซ็กชั่นต่างๆ ข้อมูลการใช้แอพพลิเคชั่นมาพิจารณา”

มองในแง่ดีคือเป็นช่องทางให้คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น แต่ในอีกมุมหากใช้จ่ายเกินกว่ากำลังที่มีสิ่งที่จะตามคือความเสียหายต่อทั้งตัวผู้ประกอบการและผู้บริโภคเอง และอาจจะส่งผลให้หนี้ครัวเรือนมากขึ้น

ปี 2566 โอกาสการลงทุนยังมี

ความเสี่ยงที่เราเจอในปีที่ผ่านมาอาจจะยังไม่หมดไป ทั้งในแง่ภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะสั้น เงินเฟ้อที่แม้จะปรับลดลงบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แน่นอนว่าธนาคารกลางจะยังคงขึ้นดอกเบี้ย และคงอัตราดอกเบี้ยที่สูงไว้ 

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังผงกหัวขึ้น การฟื้นตัวของภาคบริการจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา แต่เราก็มีปัญหาใหญ่คือเศรษฐกิจโลกอาจจะกำลังชะลอตัว ที่จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย ปี 2566 ท่องเที่ยวอาจจะเป็นเครื่องจักรเครื่องเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว แม้ความเสี่ยงจะยังมี แต่โอกาสในการลงทุนก็มีเช่นกัน”

ดร.พิพัฒน์เชื่อว่าขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นปีแห่งโอกาสก็ได้ เพราะหากเราดูย้อนหลังกลับไปถ้าในปีก่อนหน้าราคาสินทรัพย์ปรับตัวลงเยอะๆ มันอาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอีกปีที่ฟื้นตัว ก็เป็นโอกาสที่เราจะเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีในราคาที่ถูกลงมากเช่นกัน

สิ่งสำคัญคือต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องปัจจัยพื้นฐาน และเรื่องที่ว่าลงทุนแล้วได้อะไร และความรู้เกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานในการจัดพอร์ต ในแง่ของการระมัดระวังความเสี่ยง ไม่ว่าจะความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อ เรื่องอัตราดอกเบี้ย เรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็เป็นสิ่งที่ต้องนำกลับมาพิจารณามากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้นการกระจายการลงทุนในแง่ asset allocation ต่อจากนี้ไปต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยสำคัญ 4 ข้อ ต่อไปนี้

1. Back to the old normal – focus on fundamentals and valuation : การวางแผนการลงทุนต้องดูแลปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น กลับไปดูราคาหุ้น กลับไปดูว่าซื้อแล้วได้อะไร อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเป็นอย่างไร P/E เป็นยังไง 

2. Risk-aware but not risk-averse – inflation, rates, growth : นักลงทุนต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยง โดยรับรู้ว่าความเสี่ยงในการลงทุนคืออะไร แต่ไม่ใช่ว่าต้องหลบเลี่ยงความเสี่ยงโดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อาจจะกลายเป็นโอกาสที่สำคัญหากเรารับรู้ความเสี่ยง และบริหารความเสี่ยงในแง่ของการลงทุนได้ดี

3. The return of asset allocation : แม้ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ค่อนข้างแย่ของการลงทุนในแง่ของการทำ asset allocation และการลงทุนในระยะยาว แต่เชื่อว่าปีหน้าด้วยผลตอบแทนของการลงทุนในพันธบัตร ในตราสารหนี้ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นการวางแผนทางการเงิน การใช้ asset allocation น่าจะกลับมามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

4. Opportunity to buy. Start buying bonds then equity : เชื่อว่าปีหน้าจะเป็นโอกาสในการลงทุน อาจจะเริ่มง่ายๆ ถ้าเราเห็นผลตอบแทนของพวกตราสารหนี้ดีขึ้น ก็อาจจะเริ่มซื้อตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาของพันธบัตรระยะไม่ยาวมากนัก และถ้าเราเริ่มกังวลว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัว หรือ recession เราก็ค่อยๆ ไปซื้อพันธบัตรที่มีอายุยาวขึ้น เพราะส่วนใหญ่เวลาที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว พันธบัตรที่มีอายุค่อนข้างยาวมักจะให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี และเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นด้วย

จากสิ่งที่ ดร.พิพัฒน์ได้เล่ามา น่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาเย้ายวนใจชวนให้เข้าไปลงทุนมากเพียงใด ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่เราควรดูไม่น้อยไปกว่าผลตอบแทนปลายทาง คือการดูพื้นฐาน มองความเป็นจริง ซึ่งยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่เสมอ