Happy Go Lucky's Hungry

จากแพสชั่นของคนชอบทำอาหาร สู่ Lucky’s Hungry ร้าน specialty ที่ทั้งร้านขายแค่ข้าวผัดอเมริกัน

หน้าร้านที่เป็นอาคารสีน้ำตาลอิฐ ด้านหน้าเป็นกระจกบานใหญ่สามารถมองทะลุไปถึงด้านในที่อยู่ตรงหน้าเรานี้ เชื้อเชิญให้เราผลักประตูเข้าไปด้านใน Lucky’s Hungry ร้านขายข้าวผัดอเมริกันที่โด่งดังในโลกออนไลน์ มีจุดเด่นที่คุณภาพและความคิดสร้างสรรค์ และขายแบบเดลิเวอรีมาโดยตลอด แต่ตอนนี้พวกเขากำลังจะมีหน้าร้านครั้งแรก

ในวันที่เราไปเยือนร้านทั้ง เบสท์–ณัฐธนนท์ สิทธิปัญญพัฒน์ และ นิว–ยุทธดนัย พิมพ์โสภา สองผู้ก่อตั้งกำลังขะมักเขม้นจัดร้านให้เข้าที่เข้าทางและแจกยูนิฟอร์มให้พนักงาน เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดหน้าร้านขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม

ความพิเศษของ Lucky’s Hungry AFR คือทั้งเบสท์และนิว ได้แปลงร่างข้าวผัดอเมริกัน (American fried rice) เมนูข้าวผัดซอสมะเขือเทศที่คลุกเคล้าด้วยลูกเกดเป็นเบสหลักธรรมดาๆ ให้กลายมาเป็นเมนูพิเศษที่มีท็อปปิ้งให้ลูกค้าเลือกมากกว่าแค่แฮม เบคอน ไข่ดาว ไส้กรอก ซึ่งเป็นองค์ประกอบทั่วไป

และทำร้านแบบ specialty ที่ทั้งร้านมีขายแค่ข้าวผัดอเมริกันเป็น main dish อย่างเดียวเท่านั้น

หลังร้านเปิดเราอยากชวนลัดเลาะซอยอารีย์มาหลังครัวดูหลักการการทำธุรกิจผ่านกลยุทธ์ 4P+1 ของ Lucky’s Hungry ที่แค่ตอนอยู่ในครัวได้ยินเสียงจี่ของกระทะ และความหอมของวัตถุดิบที่กำลังปรุงอยู่นี้ทำให้น้ำลายสอ และกระตุ้นต่อมความหิวได้ไม่ยาก

Product

“แพสชั่นล้วนๆ” 

ข้างต้นคือสิ่งที่เบสท์และนิวตอบทันทีเมื่อเราถามถึงจุดเริ่มต้นของการเลือกทำร้านขายข้าวผัดอเมริกัน

เพราะคนหนึ่งไม่ได้เรียนจบจากที่ใด ส่วนอีกคนจบนิติศาสตร์ แต่ความชอบที่ทั้งสองมีเหมือนกันคือรักในการกินและชอบทำอาหาร และอยากให้ทุกคนได้กินของอร่อย

จุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาเป็น Lucky’s Hungry อย่างทุกวันนี้อาจจะต้องย้อนกลับไปหลายปีก่อน เบสท์หลงรักความครีเอทีฟของเชียงใหม่จึงดั้นด้นไปเปิดร้านอาหารอยู่ที่นั่นแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเจอสารพัดปัญหาที่ถาโถมเข้ามา เปิดร้านได้แค่ 5 เดือนโควิด-19 ก็มาพอดี

หลังจากอดทนอยู่นานจนตัดสินใจกลับมาบ้านที่กรุงเทพฯ  และเริ่มทำธุรกิจอีกครั้ง ธุรกิจที่เริ่มใหม่ที่ว่านี้คือ Lucky’s Hungry

“เราเป็นพ่อค้าคนหนึ่งเลย ไม่ได้คิดเยอะ คิดแค่ว่าซื้อมาขายไป คิดแค่อาหารที่ดีมันคืออาหารอร่อยเท่านั้น แต่พอผ่านโควิดมา มันทำให้เราต้องคิดหลายรอบ คิดง่ายๆ มันไม่ใช่เลย เราตัดสินใจยอมแพ้แล้วกลับมากรุงเทพฯ

“สิ่งที่เราเอากลับมาด้วยคือการขายข้าวเหนียวมะม่วง เราทำข้าวเหนียวมะม่วงขายผ่านออนไลน์ ไปออกบูท และเริ่มมีหน้าร้านที่ปากซอยอารีย์เป็นล็อกเล็กๆ ระหว่างนั้นมันก็มีสิ่งที่มาซัฟเฟอร์เราอีกในช่วงที่เริ่มกลับมาเปิดประเทศ แม้ข้าวเหนียวมะม่วงของเรายังขายดี แต่อาหารที่เราขายไปด้วยนั้นกลับยอดตกลงๆ

“ประกอบกับผมกับนิวชอบกินข้าวผัดอเมริกันมากๆ อยู่แล้ว เลยลองทำให้น้องในออฟฟิศที่รู้จักลองกิน น้องในออฟฟิศตั้งคำถามกับเราว่า รสชาติอร่อยทำไมเราไม่ทำขาย ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังไม่มีใครทำร้านข้าวผัดอเมริกันเป็นร้านแบบ specialty เลย แล้วก็มีกระแสจากแจ็คสัน หวัง ที่กินข้าวผัดอเมริกันพอดี  มันเลยทำให้เราเห็นช่องทางและโอกาสขึ้น”

 Lucky’s Hungry ร้านข้าวผัดอเมริกันเล็กๆ ของเบสท์และนิวจึงเริ่มต้นขึ้นขายแบบเดลิเวอรีที่บ้านย่านเจริญกรุงเป็นครั้งแรก

ความน่าสนใจไม่ได้มีแค่สตอรีก่อนจะมาเป็นร้านขายข้าวผัดอเมริกันเท่านั้น แต่ที่ทำให้เราสนใจไม่น้อยคือ การที่เบสท์และนิวเลือกที่จะขายข้าวผัดอเมริกันเป็น main dish เมนูเดียวในร้านโดยไม่ขายเมนูอื่นเลย จะเรียกว่าพวกเขาคือร้านข้าวผัดอเมริกัน specialty ก็คงไม่ผิดนัก

ซึ่งมันมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส

“ถามว่าทำไมถึงเลือกข้าวผัด เพราะเราเคยเป็นคนจับฉ่ายมากๆ มาก่อน มันทำให้เรารู้ว่า เราทำทุกอย่างไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะขายอะไร มันก็จะมีแค่บางเมนูเท่านั้นที่คนจำได้ เราเลยโอเค เราจะขายข้าวผัดอเมริกันอย่างเดียว อื่นๆ จะเป็น side dish เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น และมีขนมหวานขายเป็นเมนูข้าวเหนียวมะม่วงที่เราขายมาตั้งแต่แรก”

ความพิเศษของข้าวผัดอเมริกันของ Lucky’s Hungry คือความครีเอทีฟ แม้จะเติบโตมากับข้าวผัดอเมริกันฝีมือของแม่แบบคลาสสิกดั้งเดิม แต่เมื่อตัดสินใจทำร้านข้าวผัดอเมริกันอย่างเดียวแล้ว สิ่งที่เบสท์และนิวทำคือใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป เพิ่มมูลค่าด้วยความแปลกใหม่ หยิบจับวัตถุดิบ element อื่นๆ มาใส่ในข้าวผัดอเมริกันของที่ร้าน

“เราอยากเห็นความแปลกใหม่ ทำไมเราไม่สามารถกินข้าวผัดอเมริกันกับไก่กงฟีได้ ทำไมถึงไม่สามารถกินกับปลากระพงทอดได้ เราเจอแต่ข้าวผัดอเมริกันแบบเดิมๆ คือมีไข่ดาว ไส้กรอก แฮม เมื่อโจทย์เราคือความ specialty เราเลยเอา element ใหม่ๆ ผสมกับความคลาสสิกมาทำใหม่ให้ไม่เหมือนเดิม เพิ่มท็อปปิ้งให้ลูกค้าสามารถเลือก add-on ได้ และสนุกไปกับการกินได้” 

“Lucky’s Hungry ยังคงคอนเซปต์คือเมนูข้าวผัดอเมริกันที่แม่ทำให้กิน
ดังนั้นเราไม่ได้ขายความเป็นคาเฟ่ แต่ขายความสนุก และประสบการณ์ใหม่ในการกินข้าวผัดอเมริกัน”

เมนูแรกที่ Lucky’s Hungry ครีเอตขึ้นมาใหม่คือ Chic n Cream AFR เมนูข้าวผัดอเมริกันที่ท็อปปิ้งด้วยไก่กงฟีแบบ juicy เสิร์ฟพร้อมซอสบัตเตอร์สุพรีมสไตล์ฝรั่งเศส

อีกเมนูที่หลายๆ คนชอบคือ Surf n Turf AFR ปลากะพงสดๆ จากสะพานปลา ชุบเกล็ดขนมปังทอดสไตล์ทงคัตสึ กินคู่กับแฮมรมควันและไส้กรอกชีสอิตาเลียน เสิร์ฟบนข้าวผัดอเมริกัน และซอสทาร์ทาร์สูตรเด็ดประจำร้าน และมีเมนูอื่นให้เลือกราวๆ 10 เมนู โดยเมนูที่ลูกค้าสั่งเยอะที่สุดคือ Chic n Cream AFR

Place

พอ Lucky’s Hungry เปิดขายแบบเดลิเวอรีมาได้ 1  ปี ลูกค้าเกินครึ่งที่มากิน มาสั่งข้าวผัดอเมริกันคือลูกค้าประจำ นั่นเท่ากับว่าเบสท์และนิวมาถูกทางโดยเฉพาะเรื่องคุณภาพ และน่าจะถึงเวลาที่จะต้องออกไปหาลูกค้าจริงๆ บ้าง ไม่ได้เจอกันผ่านแค่แพลตฟอร์มหน้าโซเชียลเท่านั้น 

เบสท์และนิวตัดสินใจปิดหน้าร้านที่เจริญกรุงมาเปิดหน้าร้านจริงจังครั้งแรกที่อารีย์ พร้อมๆ กับยังขายแบบเดลิเวอรีด้วย

“เหตุผลที่เราย้ายโลเคชั่นใหม่มาอยู่ที่อารีย์ต้องย้อนไปจุดเริ่มต้นตอนที่เราขายข้าวเหนียวมะม่วง แต่ก่อนเราไม่ได้มองยูสเซอร์เป็นหลักเลยนะ อยากได้กำไรเยอะๆ แต่พอผ่านเหตุการณ์ในอดีตก็รู้สึกว่าแบบนั้นไม่ยั่งยืน เดี๋ยวมันก็กลับไปสู่จุดเดิมต้องเริ่มใหม่อยู่ดี เราเลยคิดกลับกันไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวมะม่วงหรือข้าวผัดอเมริกัน เราต้องหาย่านที่เข้าใจตัวตนของเราจริงๆ จากที่เราขายแบบเดลิเวอรีมาเราเห็นดาต้าแล้วรู้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของเราคือแถวพญาไท อารีย์ 

“เราตัดสินใจเลือกที่อารีย์ซอย 3 ซึ่งเป็นความโชคดีและประจวบเหมาะที่เรามาเจอกับเจ้าของที่พอดี เรารู้สึกว่าอารีย์เป็นย่านที่คอนเซอร์เวทีฟ มีความเป็นตัวตนสูงมาก และยังมีประชากรแฝงสูง พนักงานออฟฟิศก็เยอะมาก ซึ่งคิดว่าคนกลุ่มนี้แหละเข้าใจตัวตนของเราดี เลยเลือกมาที่นี่”

ข้าวผัดอเมริกันของ Lucky’s Hungry เปิดให้ลิ้มลองตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงบ่าย 3 แต่คำเตือนที่เราอยากบอกทุกคนคือยังไม่ถึงช่วงเวลาปิดร้าน บางเมนูก็ไม่เหลือให้เราได้ชิมเสียแล้ว

Price

จากวัตถุดิบที่เราเห็นตรงหน้า ทั้งให้เยอะและใหญ่ขนาดนี้ รวมถึงความพิถีพิถันจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมข้าวผัดอเมริกันของที่ร้านจะขายในราคาเริ่มต้น 129 บาท ไปจน 300 กว่าบาท และมีลูกค้าเคยสั่งแบบ add-on ท็อปปิ้งเพิ่มเป็นจานละ 6 ร้อยกว่าบาทมาแล้ว

โดยทั้งเบสท์และนิวยืนยันว่าราคาเมนูของที่ร้านนั้นสมเหตุสมผล ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องมีราคาถูกที่สุด แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน

“จริงๆ ตอนตั้งราคาไม่ได้มองว่าลูกค้าเป็นใครหรอก แต่ก่อนเรามีช่องทางการขายทางเดียวคือ เดลิเวอรี แล้วโดนหักจีพีเยอะมาก เรามองกลับไปถ้าเราทำราคาถูก เราโดนหักไม่เหลืออะไรเลย ลูกค้าได้กินของไม่อร่อยเพราะเราต้องลดคุณภาพ เราเลยคิดใหม่ว่าจะทำยังไงให้สามารถอยู่ในออนไลน์ได้ ได้กำไร และลูกค้าได้กินของมีคุณภาพ แล้วมองว่าใครจะซื้อของกลุ่มนี้

“เราก็เลยสตาร์ทถูกสุด เมนูคลาสสิกที่ 129 บาท เป็นราคาที่เราไม่ต้องลดคุณภาพวัตถุดิบ เป็นราคาที่เราคิดว่าลูกค้าของเราจ่ายได้ เรามองความเป็น specialty ของมัน ลูกค้าอยากมากินเพราะอยากกินซึ่ง value มากกว่ากินเพื่อประทังชีวิต

“เคยมีลูกค้ามาคอมเมนต์ว่าข้าวผัดอเมริกันอะไรจานละสามร้อยกว่าบาท จากนั้นเขาก็หายไปและกลับมาคอมเมนต์อีกครั้งว่า เข้าใจแล้ว เพราะเราให้เยอะมากจริงๆ” 

Promotion

Lucky’s Hungry ไม่มีการทำโปรโมชั่นแบบลดแลกแจกแถมอะไรให้กับลูกค้า แต่หลักคิดในการทำร้านของเบสท์และนิวคือการพรีเซนต์เรื่องมาตรฐาน เอกลักษณ์เฉพาะตัว และคุณภาพที่ส่งต่อไปยังลูกค้าต่างหาก

“เราถ่ายรูปเมนูลงโปรโมตแบบไหน ลูกค้าที่สั่งข้าวผัดอเมริกันของเราไปก็จะได้หน้าตาแบบนั้นจริงๆ สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดในการทำร้านอาหารคือไม่ได้กลัวว่าทำไม่อร่อย เพราะเรามีรสชาติแบบเราและคิดมาดีแล้ว  แต่สิ่งที่กลัวคือเรื่องความคาดหวังของลูกค้า เพราะถ้าเขาไม่ประทับใจครั้งแรกแล้วเขาก็จะไม่กลับมาหาเราอีก

“สมัยนี้เห็นด้วยเรื่องอาหารอร่อย แล้วหน้าตาร้านก็ต้องดี แต่เราต้องเวตน้ำหนักว่าลูกค้าเราเป็นกลุ่มฟู้ดดี้หรือฮอปเปอร์กันแน่ สิ่งแรกเลยคือต้องอร่อยและคุณภาพดี ต่อให้มายากอยู่ในหลืบก็ขายได้”

หนึ่งสิ่งที่สัมผัสได้ตลอดช่วงบทสนทนาของ Lucky’s hungry คือเรื่องของการปรับตัว เบสท์ยกตัวอย่างหลายๆ สิ่งให้ฟังว่าแต่ก่อนตัวเขาเองคิดน้อยเกินไป แต่ต้องขอบคุณลูกค้าที่ฟีดแบ็กกลับมาตรงๆ ทำให้เรามองเห็นช่องโหว่ เห็นจุดบกพร่อง บางเรื่องคิดน้อยเกินไป ทำให้ Lucky’s Hungry ปรับตัวมาโดยตลอด

“อย่างเช่นข้าวผัดอเมริกัน ปกติต้องใส่ลูกเกดอยู่แล้ว แต่ถ้าลูกค้าไม่ใส่เราก็คิดว่าไม่ต้องจ่ายเงินก็ได้นี่ เราให้ลูกค้าเลือกได้ ถ้าใส่ลูกเกดค่อยคิดเงินเพิ่ม 5 บาท ปรากฏว่ามีลูกค้ามาคอมเมนต์ว่าทางร้านไม่ใจกับลูกค้าเลย คือเขาจ่ายได้นะ แต่ทำไมเขาต้องใจในเมื่อมันต้องมีอยู่ในนั้นอยู่แล้ว เราก็คิดว่า เออว่ะ เพราะเราคิดแค่ไม่กินก็ไม่ต้องจ่ายอย่างเดียวเลยในตอนนั้น

“หรืออย่างเรื่องปริมาณข้าว ที่ร้านเราให้ข้าวในปริมาณปกติ แต่ที่เพิ่มคือเราให้กับบึ้มๆ ไปเลย ปรากฏลูกค้าคอมเมนต์กลับมาให้เรา 3 ดาว เขาไม่ได้บอกว่าไม่อร่อย แต่บอกร้านคุณให้ข้าวน้อยมาก ตอนแรกเราก็เถียงไปนะว่าเราอยากให้กับเยอะๆ สุดท้ายเราก็ตัดสินใจเพิ่มข้าวเข้าไปอีก จาก 1 จานที่เคยเสิร์ฟ 150 กรัม ก็เพิ่มเป็น 200 กรัม”

ใครเคยได้ลิ้มลองข้าวผัดอเมริกันของ Lucky’s Hungry มาแล้ว หนึ่งสิ่งที่ลูกค้าฟีดแบ็กกลับมาคือ ‘ข้าวค่อนข้างจืด’ ซึ่งเบสท์และนิวไม่ได้ปรุงสูตรผิดแต่อย่างใด แต่ที่จริงแล้วทั้งเบสท์และนิวตั้งใจทำให้ข้าวออกมารสชาตินี้อยู่แล้ว เพราะเมื่อกินรวมกันทุกองค์ประกอบในจานจะทำให้รสชาติกลมกล่อม ลงตัวพอดี

“ซอสที่เราใส่ในข้าวนั้นเป็นสูตรที่เราคิดค้นเองจึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เราตั้งใจทำรสชาติออกมาแบบนี้ เพราะหากทำรสชาติเข้ม และทุกองค์ประกอบในจานที่เสิร์ฟก็มีรสชาติเข้มด้วย มันจะทำให้ทั้งจานเข้มไป สุดท้ายมันจะเลี่ยนมากกว่าอร่อย” 

เคล็ดลับความอร่อยอีกอย่างของ Lucky’s Hungry คือเครื่องปรุงที่อยู่บนโต๊ะ เป็นเรื่องยากมากๆ ในการเลือกเครื่องปรุงที่เวลาเมื่อเหยาะซอสหรือปรุงรสเพิ่มแล้ว เครื่องปรุงนั้นๆ จะส่งเสริมกันพอดีกับเมนูที่ทำออกมา

“มันไม่ใช่การเลือกซื้อเครื่องปรุงมาหยิบจัดใส่ตะกร้าใส่กล่องวางบนโต๊ะแล้วจบไป แต่ต้องเลือกที่มันพอดีกับรสชาติ เราลองหลายยี่ห้อ หลายแบรนด์มากกว่าจะออกมาเป็นเครื่องปรุงที่ลงตัว

“อย่างแค่ซอสแม็กกี้ของแต่ละประเทศรสชาติยังต่างกันเลยนะ อย่างที่ร้านเราใช้แม็กกี้ของฮ่องกง”

People and Professional

P สุดท้ายของ Lucky’s Hungry มีด้วยกัน 2 เรื่อง

เบสท์ เลือกคำว่า  People ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ลูกค้าที่เราต้องรู้จักเท่านั้น แต่ยังหมายถึงพนักงานในร้านที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการต่อจิ๊กซอว์ให้ร้านเป็นรูปเป็นร่าง เพราะเมื่อพนักงานในร้านแฮปปี้ คนที่มากินข้าวผัดอเมริกันของเราก็แฮปปี้ด้วย

ส่วนนิว เลือกคำว่า Professional ที่ต้องทำให้เป็นตามมาตรฐาน และไม่สามารถใช้คำว่า ‘ทำทุกจานให้เหมือนเรากิน’ เพราะทุกคนกินไม่เหมือนกัน สิ่งที่ต้องทำคือการควบคุมคุณภาพของทุกองค์ประกอบให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด

“ทุกสิ่งที่เราทำคือ ต้องการให้ลูกค้ากินข้าวผัดอเมริกันแล้วเกิดความรู้สึก fulfill มากกว่าเดิม”

ข้อมูลติดต่อ
Facebook : Lucky’s Hungry AFR ข้าวผัดอเมริกัน
Location : อารีย์ ซอย 3 goo.gl/maps/F2rdiFY4HLDeh811A
Open : เปิดทุกวัน 07:00-15:00 น. (Last Order 14:00 น.)

Writer

กองบรรณาธิการธุรกิจ

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like