มิจลักนางพยาบาล

หลงเชื่อแอพฯ ช้อปปิ้งปลอมหลอกเอาเงินปันผลไปลงทุนหุ้น สูญเงินกว่า 6 แสนบาท

ปัจจุบันโลกออนไลน์กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเรา การลงทุนออนไลน์ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับความนิยม อย่างไรก็ตาม มิจฉาชีพก็ฉวยโอกาสนี้สร้างกลโกงหลากหลายรูปแบบเพื่อหลอกลวงเงินจากนักลงทุน

โดยกลโกงส่วนใหญ่ที่พบมักมีความเกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่หรือหลอกให้ลงทุนโดยอ้างผลตอบแทนสูง จ่ายเงินจริงในช่วงแรกเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่สุดท้ายเงินจะหยุดหมุนและนักลงทุนสูญเงินไปในที่สุด

แม้จะมีการออกคำเตือนจากหน่วยงานต่างๆ ให้ประชาชนได้ระมัดระวังมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของการชักชวนให้ลงทุน แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ตกหลุมพรางของมิจฉาชีพ จากเพจหรือแอพฯ ที่ดูน่าเชื่อถือ โดยเอาตัวเลขผลกำไรมาเป็นเหยื่อล่อ

เริ่มต้นที่หลักหมื่น ก่อนจบด้วยการสูญเงินหลักแสน

เรื่องเล่านี้เป็นเรื่องราวของแพรว หญิงสาวอายุ 27 ประกอบอาชีพพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ที่เจอโฆษณาชวนลงทุนจากเพจเพจหนึ่ง โดยอ้างถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังที่หลายคนคุ้นเคย และอ้างว่าจะทำกำไรได้ตามเรตการลงทุนอยู่ที่ 15-20% ภายใน 7 วัน และเงินลงทุนหรือปันผลบางส่วนจะถูกส่งต่อไปในรูปแบบของการลงทุนเทรดหุ้น หรือกองทุนต่างๆ ซึ่งก็หมายถึง ยิ่งลงทุนมาก กำไรก็ยิ่งมากตามไปด้วย

ทั้งนี้ มิจฉาชีพได้ชวนลงทุน โดยแอบอ้างแพลตฟอร์มลาซาด้า และบริษัท โอเคไทยช้อป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือ เมื่อผู้เสียหายสนใจจึงติดต่อขอข้อมูล ทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวผู้เสียหายด้วยการส่งข้อความเชิญชวนในเฟซบุ๊ก และให้แอดไลน์เพื่อลงทุน พร้อมการันตีว่าจะทำกำไรได้สูงภายในระยะเวลาอันสั้น โดยให้ผู้เสียหายได้สมัครเข้าเว็บไซต์ okthaishop.com (ขณะนี้เว็บไซต์ดังกล่าวได้ถูกปิดไปแล้ว) และเข้าไลน์กลุ่มที่มิจฉาชีพจัดเตรียมไว้

“ที่ผ่านมาเคยลงทุนหุ้นสหกรณ์กับที่ทำงาน และเคยลงทุนแบบเล่นแชร์มาก่อน แต่เป็นแค่แชร์ภายในครอบครัวญาติพี่น้อง ซึ่งเราก็ได้เงินตามปกติ จนล่าสุดเห็นเพื่อนลงทุนกับแอพฯ อีคอมเมิร์ซอันหนึ่งแล้วได้ผลตอบแทนดี เลยอยากลงทุนบ้าง ซึ่งเขาก็แนะนำว่าเป็นแอพฯ ลาซาด้า และให้ลิงก์มาลงทะเบียนขายของออนไลน์ และต้องเติมเงินเข้าระบบในหลักหมื่นบาท ถ้าขายได้เราก็จะได้ส่วนแบ่ง (affiliate) ทีมงานของแอพฯ ก็จะให้เราทำภารกิจต่างๆ จนครบแล้วถึงจะถอนเงินออกมาได้ เมื่อลงทุนในครั้งแรกๆ ก็ยังถอนเงินออกมาได้ แต่ในครั้งต่อไปก็ไม่สามารถถอนเงินได้ ทำให้เสียหายไปเกือบล้าน”

ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นไม้เด็ดของมิจฉาชีพที่จะหลอกนักลงทุนให้ตายใจ ในการสร้างความน่าเชื่อถือ โดยในครั้งแรกจะหลอกให้ลงทุนเพื่อพิสูจน์ว่าได้เงินจริงๆ พอได้เงินคืนแล้ว ผู้เสียหายจะเริ่มเชื่อและเพิ่มเงินลงทุนในครั้งต่อไป

“จริงๆ แล้วหากจะบอกว่าโดนมิจฉาชีพหลอกก็ไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะเขาไม่ได้เกลี้ยกล่อมหรือเชิญชวนให้ลงทุนตั้งแต่แรก เพราะเราเห็นเพื่อนที่เป็นพยาบาลด้วยกันเขาทำได้ ได้เงินจริง เราเลยดูว่าเขาทำยังไง และลองทำตาม ซึ่งในรอบแรกลงทุนไป 60,000 บาท ก็ได้ปันผลกลับมาจริง”

กลลวงการลงทุน โอนเข้าได้ แต่ถอนออกไม่ได้

แต่ถึงคราวที่จำเป็นต้องใช้เงินทั้งหมดที่ลงทุนไป กลับไม่สามารถถอนเงินได้ และโบรกเกอร์แจ้งว่าต้องทำยอดให้ถึง และต้องเพิ่มเงินลงทุนให้ครบจำนวนตามที่ระบบกำหนด เช่น มีเงินในระบบ 10,000 บาท ถ้าจะถอนเงินได้ต้องมีในระบบขั้นต่ำ 15,000 บาท นั่นหมายความว่าต้องโอนเงินเพิ่มอีก 5,000 บาท แต่พอโอนไปแล้วเงื่อนไขการถอนจะเปลี่ยนเป็นต้องมีขั้นต่ำ 20,000 บาท เพื่อหลอกให้โอนเงินไปเรื่อยๆ

“หลังผ่านไป 2 สัปดาห์ เริ่มถอนเงินไม่ได้ เราก็เริ่มเอะใจแล้วว่าผิดปกติแน่นอน แถมยังบอกให้โอนเพิ่มอีก จุดที่รู้สึกว่าต้องไปแจ้งความคือ ตอนโอนรอบสุดท้าย เพราะทำตามเงื่อนไขของระบบทุกอย่าง แต่สุดท้ายแล้วก็ถอนไม่ได้ แล้วระบบยังบอกอีกว่าเราทำผิดเงื่อนไข ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่คนที่อยู่ในกลุ่มแผนงานพิเศษ มีกันประมาณ 5 คน ซึ่งเป็นกรุ๊ปไลน์รวมคนที่ลงทุนแบบเดียวกัน ซึ่งมีคุณ A ทักเรามา ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเขาเป็นคนที่ลงทุนเหมือนกัน แล้วเจอเหตุการณ์เดียวกัน เลยมีการติดต่อพูดคุยนอกกรุ๊ปไลน์

“ความพีคอยู่ที่ คุณ A คนนี้เป็นหนึ่งในมิจฉาชีพ เนื่องจากเบอร์โทรเจ้าหน้าที่ที่ได้รับจากเขาก็คือเบอร์โทรของคุณ A เองนั่นแหละ เลยทำให้รู้ว่าคุณ A เป็นเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาหลอก”

เมื่อรู้ว่าโดนโกงแล้ว ผู้เสียหายจึงนำชื่อและนามสกุลของเจ้าของบัญชีที่โอนเงินไปค้นหาในเว็บไซต์รวมคนโกง ก็พบว่าคนเหล่านี้มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลคนโกง

อย่าลบข้อความที่พูดคุย เพราะเป็นหลักฐานสำคัญ

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมดูไม่ออกว่าเป็นมิจฉาชีพ

“ไม่ใช่ว่าเราจะเชื่อสนิทใจตั้งแต่แรก เพราะทางมิจฉาชีพมีเอกสารทางการ มีชื่อบริษัทชัดเจน เจ้าหน้าที่มีบัตรพนักงานสามารถตรวจสอบได้ ทุกอย่างดูน่าเชื่อถือไปหมด เหมือนบริษัทธรรมดาๆ และที่สำคัญบริษัทมีหนังสือรับรองจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ด้วย

“พอรู้ว่าโดนโกงแล้วแน่ๆ เราก็รวบรวมหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โทรไปธนาคารเพื่ออายัติบัญชีธนาคารที่เคยโอนเงินเข้าไป ตำรวจก็ให้คำแนะนำดี บอกให้ปรินต์หลักฐาน เอกสารที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญเลยคือ อย่าลบแชตไลน์ อย่าลบข้อความที่พูดคุย เพราะเป็นหลักฐานสำคัญ”

ผู้เสียหายได้ฝากทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน อะไรก็ตาม ไม่ควรลงทุนอะไรที่หวังผลมาง่ายๆ 

ท้ายที่สุด หากนักลงทุนมีความสนใจเรื่องการลงทุน ควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนเสียก่อน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นบริษัทที่มีตัวตนจริง และอย่าลืมตรวจสอบใบอนุญาตของผู้ให้บริการนั้นๆ ได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) sec.or.th/TH/Pages/Home.aspx หรือแอพพลิเคชั่น SEC Check First

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]