In Good Hands
Flower in hand by P. ร้านดอกไม้ที่เปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจและสิ่งแวดล้อม
Flower in hand by P. เป็นร้านดอกไม้
ขึ้นชื่อว่าร้านดอกไม้แปลว่าดาวเด่นของร้านคือ ‘ดอก’ ขณะที่ส่วนประกอบอื่นนอกจากดอกมักกลายเป็น ‘ขยะ’
ถ้าไปดูหลังร้านดอกไม้แทบทุกร้านเราจะเจอถังขยะที่เต็มไปด้วยกิ่ง ก้าน ใบ และขยะอีกหลายชนิดจากกระบวนการผลิตดอกไม้หนึ่งช่อ ไม่ว่าจะเป็นเศษกระดาษ เศษโอเอซิส เศษสำลี ไปจนถึงเศษพลาสติกจำนวนมาก
เมื่อเห็นขยะกองโตขึ้นทุกวัน ร้านดอกไม้เล็กๆ แห่งนี้เลยเริ่มตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและตั้งใจว่าจะต้องลดขยะที่เกิดจากมือของพวกเขาให้ได้ ตาม motto ของร้านที่กล่าวว่า Flower for a better life and community.
ร้านดอกไม้ทำให้ชีวิตของคนรอบๆ ตัวดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในธรรมชาติ ชีวิตของแม่บ้าน ชีวิตของเกษตรกร หรือแม้แต่ชีวิตของคนใน Flower in hand by P. ที่ดีขึ้นตามธุรกิจที่เบ่งบาน
ร้านดอกไม้หนึ่งร้านทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ยังไงและทำไมการปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งแวดล้อมถึงทำให้ธุรกิจเติบโต เพียงเปิดประตูร้านเข้ามาดูก็จะรู้ทันที
Flower in the bin
แพร พานิชกุล และ นิว–กิตติคุณ ชัยวัฒนธรรม สองผู้ก่อตั้งนั่งรอเราอยู่ที่โต๊ะกลางร้าน บนโต๊ะมีแจกันดอกไม้นับสิบ ทุกอันดูออกว่าเคยเป็นขวดน้ำ ขวดโหล หรือบรรจุภัณฑ์อะไรสักอย่างมาก่อน
“เราทำเป็นตัวอย่างให้ลูกค้าเห็นว่าแม้แต่แจกันเขาก็ reuse เอาสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วมาใช้ได้นะ” แพรบอกแล้วชวนนั่งลงคุยกันที่โต๊ะนั้นเอง
ก่อนหน้านี้เรารู้จัก Flower in hand by P. ในฐานะร้านที่ทำให้ดอกไม้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะนอกจากบริการจัดช่อดอกไม้ที่คนมักซื้อให้กันในวันพิเศษ พวกเขายังมีบริการ flower subscription และเปิดเวิร์กช็อปสอนจัดดอกไม้อยู่เสมอ สนับสนุนให้คนซื้อดอกไม้ไปตกแต่งบ้านเพิ่มความสดชื่นในทุกๆ วัน
แม้แต่ช่วงโควิดที่หน้าร้านต้องปิด พวกเขาก็ออกโปรดักต์แจกันพร้อมช่อดอกไม้ให้คนได้ซื้อไปเพิ่มความสดใสในช่วงกักตัวและกลายเป็นสินค้าขายดีทันที
แน่นอนว่าปริมาณดอกไม้ที่เพิ่มขึ้นหมายถึงขยะที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
“พอแจกันดอกไม้ได้รับผลตอบรับดีมากกลายเป็นว่าร้านมีออร์เดอร์เพิ่มขึ้น ขยะต่อวันก็เยอะขึ้นกลายเป็น 1-2 ถุงขยะของถังขยะ กทม. ส่วนหนึ่งคือขยะจากบรรจุภัณฑ์พวกกระดาษห่อ อีกส่วนเป็นขยะจากดอกไม้ซึ่งเหลือค่อนข้างเยอะจนเพื่อนมาที่ร้านแล้วเพื่อนถามว่า ‘แกทิ้งอันนี้ทำไม’ หรือลูกค้ามองดอกไม้ในถังขยะแล้วก็พูดว่า ‘สงสารน้อง’” แพรเล่า
“คนมองว่ามันยังมีคุณค่า ยังสวยอยู่ แต่เราไม่สามารถเอาดอกไม้เหล่านั้นมาทำช่อได้จริงๆ แค่กลีบมีรอยสีน้ำตาล รอยเฉา หรือก้านดอกไม้หักหรือสั้นก็นำมาจัดเป็นช่อไม่ได้แล้วเพราะลูกค้าเขาคาดหวังว่าช่อดอกไม้จะต้องสมบูรณ์
“พอถึงช่วงวาเลนไทน์ เราเห็นคนมาเก็บขยะร้านเราไปประมาณ 10 ถุงแล้วรู้สึกแย่มากเพราะมันส่งผลให้คนอื่นต้องมาแบกภาระกับร้านเรา เรารู้สึกว่าถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไปเราจะรู้สึกแย่ในการทำธุรกิจ กำไรไม่ใช่ผลตอบแทนที่ทำให้เรารู้สึกดีเพียงอย่างเดียว แต่การได้ทำประโยชน์ให้คนอื่นมันตอบโจทย์ใจเรามากกว่า”
Waste in hand
ความตั้งใจจริงทำให้แพรและนิวเริ่มหยิบขยะดอกไม้ในร้านมาทดลองแปรรูป แล้วกิ่ง ก้าน ใบ และดอกไม้มีตำหนิก็ค่อยๆ กลายเป็นโปรดักต์ชิ้นแล้วชิ้นเล่าที่วางขายจริงทุกวันนี้
นิวผู้เป็นกำลังหลักฝ่าย upcycling เล่าให้เราฟังถึงวิธีคิดอย่างละเอียดลออ
“เมื่อก่อน พวกดอกไม้มีตำหนิหรือก้านสั้นเราจะนำมาห้อยไว้เฉยๆ ให้เป็นดอกไม้แห้ง แต่พอเริ่มคิดว่าจะลดขยะ เราก็รีเสิร์ช ทดลองหลายๆ วิธีจนได้วิธีคิดโปรดักต์ออกมา ดังนั้นเวลาเจอดอกไม้ที่มีตำหนิเราก็มีขั้นตอนจัดการแล้ว”
นิวเล่าว่าขั้นแรก ถ้ารูปทรงและก้านของดอกไม้ยังสวย เขาจะนำไปห้อยทำเป็นช่อดอกไม้แห้งซึ่งคนนิยม
ขั้นที่สอง ถ้ารูปทรงดอกไม้ยังสวยแต่ก้านหักสั้นจะนำไปเก็บในซิลิก้าเจลทำเป็นดอกไม้แห้งซึ่งแพรจะนำมาจัดเรียง เข้ากรอบอย่างสวยงามให้คนซื้อไปแต่งบ้าน หรือบางดอกอาจนำไปทับกลายเป็นดอกไม้แห้งแบบสองมิติให้อารมณ์นอสทัลเจีย ก่อนถูกนำมาจัดเรียงเป็นโปสต์การ์ดดอกไม้
ในช่วงวาเลนไทน์ที่ผ่านมาพวกเขายังทดลองบริการใหม่ให้ลูกค้าที่ซื้อดอกไม้ไปสามารถส่งดอกไม้กลับมาให้ทางร้านเข้ากรอบเก็บความทรงจำ และหากทดลองแล้วว่าภายในช่วง 6 เดือนดอกไม้ยังคงสภาพดีนี่อาจจะเป็นบริการหลักของร้านในอนาคต
ขั้นที่สาม ถ้าดอกไม้นั้นร่วงโรยจนแทบไม่เป็นทรง พวกเขาจะเก็บไว้เฉพาะกลีบ รวบรวมนำไปทำเป็นสีย้อมผ้าหรือสีระบายจากดอกไม้
เอาแค่สามขั้นตอนนี้ก็ได้โปรดักต์ขายดีมาแล้วหลายชิ้น (อย่างกรอบรูปและโปสต์การ์ดนั้นขายดีมากชนิดที่ทำออกมาเท่าไหร่ก็หมด) ถึงอย่างนั้นกระบวนการเหล่านี้ก็แทบจะเป็นการจัดการกับตัวดอกอย่างเดียว นิวจึงต้องคิดต่อว่าส่วนอื่นล่ะจะนำไปทำเป็นอะไรดี
คำตอบสุดเซอร์ไพรส์ ส่วนหนึ่งกลายร่างเป็นกระดาษห่อดอกไม้อีกที
“เท่าที่เราทดลองมามีดอกไม้ไม่กี่ชนิดที่สามารถดึงสีออกมาย้อมได้ เราเลยต้องคิดต่อว่าจะจัดการกลีบดอกไม้ที่ไม่ให้สีหรือใบที่ต้องลิดทิ้งยังไง สุดท้ายก็ลองนำไปพัฒนากับกลุ่มที่ทำกระดาษสาที่เชียงใหม่ทำเป็นกระดาษเยื่อ กระดาษสาเอากลับมาห่อดอกไม้ที่ร้าน”
ทั้งสองคนหยิบกระดาษสาที่พัฒนาแล้วมาให้ดู ไม่บอกก็ไม่รู้ว่าในนั้นมีส่วนผสมของเศษดอกไม้ ใบไม้อยู่เป็นจำนวนมาก ถึงอย่างนั้นเมื่อรู้แล้วกระดาษตรงหน้ายิ่งดูสวยขึ้นอีกเท่าตัว
Flower in package
อย่างที่แพรเล่าให้เราฟังตั้งแต่ต้น ขยะของร้านดอกไม้แบ่งได้เป็นสองหมวดใหญ่ๆ หมวดแรกคือขยะดอกไม้ที่พวกเขานำไป upcycling เป็นโปรดักต์สร้างสรรค์ อีกส่วนคือขยะจากแพ็กเกจจิ้งไม่ว่าจะเป็นกระดาษห่อดอกไม้ โอเอซิส เทปกาว และสิ่งอื่นๆ ที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ยากเย็น
เมื่อจะลดขยะภายในร้าน บรรจุภัณฑ์จึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องปรับเปลี่ยน
“ร้านเราสร้างขยะส่วนหนึ่งแล้ว ลูกค้ารับแพ็กเกจจิ้งไปก็สร้างขยะเหมือนกัน เราเลยอยากเปลี่ยนมาใช้แพ็กเกจจิ้งที่นำไปใช้ซ้ำได้ ช่วงวาเลนไทน์ปี 2019 เราเริ่มหาผ้าลายน่ารักๆ เอามาห่อดอกไม้แล้วก็บอกลูกค้าว่ามันเอาไปใช้ห่ออย่างอื่นได้อีกหรือผูกผมได้นะ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแพ็กเกจ ปัจจุบันช่อผ้าก็ยังมีขายที่ร้านแต่เราพัฒนามันมาเรื่อยๆ ต่อไปก็จะเพิ่มการใช้ผ้าที่ย้อมจากสีดอกไม้เหลือทิ้งด้วย” แพรอธิบาย
ถ้าเคยเป็นลูกค้าของ Flower in hand by P. จะรู้ว่าเอกลักษณ์ของพวกเขาคือการใช้โทนสีละมุนตาและประเภทกระดาษห่อที่มีให้เลือกสารพัด ตั้งแต่กระดาษขาว กระดาษสี ไปจนถึงพลาสติก เมื่อจะปรับให้ eco ขึ้นแพรเล่าต่อว่าพวกเขายังต้องคงเอกลักษณ์เอาไว้ทั้งเรื่องห่อผ้าคุม โทนสี และความหลากหลายของวัสดุ
ดังนั้นนอกจากใช้ผ้าห่อ แพรและนิวยังครีเอทีฟหยิบเอาถุงผ้ามาใส่ช่อดอกไม้ให้รียูสง่ายขึ้น ซึ่งขายดิบขายดี โดยผ้าที่นำมาทำถุงเป็นเศษผ้าจากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่พวกเขาได้จากองค์กร moreloop ช่วยลดขยะในแวดวงอื่นไปพร้อมกัน
“ละเอียดไปกว่านั้น เราพยายามปรับทุกวัสดุที่ใช้ เช่น ตอนแรกเราใช้สำลีในการหุ้มน้ำให้ดอกไม้แต่มันสร้างขยะเยอะเราเลยเปลี่ยนมาใช้เศษผ้าที่เหลือทิ้ง เปลี่ยนสกอตเทปและเชือกเป็นเกรดย่อยสลายได้ หรือปกติเวลาจัดกระเช้าจะต้องใช้โอเอซิสซึ่งย่อยสลายไม่ได้ เราก็เปลี่ยนเป็นการจัดดอกไม้ใส่แจกันแทน” แพรชี้ให้ดูตัวอย่างกระเช้าสานที่มีแจกันซ่อนอยู่ในนั้นดูน่ารัก เป็นครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้ที่เราประทับใจไอเดียของพวกเขาซึ่งทั้งแก้ปัญหาได้ดีแต่ไม่ทำให้รู้สึกว่าคุณภาพด้อยลง กลับกันยิ่งทำให้โปรดักต์น่ารัก แตกต่างกว่าเดิม
Sustainability in communication
ถ้าเป็นแบรนด์เปิดใหม่การสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจจุดยืนคงไม่ยาก แต่เพราะ Flower in hand by P. มีอายุถึง 7 ปีและมีแฟนๆ เหนียวแน่น การเปลี่ยนจึงไม่ได้ทำได้ทันที โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ที่กระทบต่อภาพจำที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์
ต้นไม้ยังต้องใช้เวลาเติบโต แพรบอกว่าพวกเขาก็ต้องใช้เวลาค่อยๆ สื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจเช่นกัน
“เราทำธุรกิจ เวลาปรับเปลี่ยนจะให้เปลี่ยนในวันเดียวลูกค้าจะตกใจ เช่น เรื่องกระดาษห่อดอกไม้ ลูกค้าบางคนจะยังติดกับภาพเดิมๆ ว่าช่อดอกไม้ก็ต้องห่อกระดาษสิ เราเลยยังเหลือตัวเลือกกระดาษไว้ แต่ไม่มีกระดาษพลาสติกแล้ว และเพิ่มตัวเลือกอย่างเช่นโท้ตแบ็ก ต่อไปเราอาจจะเปลี่ยนเป็นกระดาษสาทั้งหมดเพื่อให้ย่อยสลายง่าย เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกสนุกในการเลือกแล้วค่อยๆ ทำคอนเทนต์ความรู้ในช่องทางของเราว่าทำไมเราถึงมีทางเลือกเหล่านี้”
“เวลาสื่อสารกับลูกค้าเราต้องค่อยๆ ทำให้เขาเห็น แทรกซึมเข้าไปทีละนิด” นิวช่วยเสริม “เราไม่ได้เปลี่ยนตู้มเดียวแต่วางวิชชั่นไว้ว่าปีไหนเราจะไปถึงจุดไหน เช่น แน่นอนเราก็ยังมีสต็อกวัสดุอยู่เราก็ไม่ได้ตัดทิ้ง เพราะถ้าตัดทิ้งก็เหมือนกับเราก็สร้างขยะอยู่ดี ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สื่อสาร” แพรเสริมอีกนิดว่าช่วงเวลาในการสื่อสารก็สำคัญ ลองเลื่อนกลับไปอ่านบทความนี้อีกครั้งแล้วจะเห็นว่าทุกครั้งเธอจะเปิดตัวโปรดักต์หรือบริการใหม่ในวันวาเลนไทน์
“แพรเลือกเปลี่ยนทุกๆ วาเลนไทน์เพราะเป็นช่วงที่คนเสิร์ชหาร้านดอกไม้” แพรเฉลย “มันเป็นช่วงที่มีคนเข้ามาดูเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมของเราเยอะ อะไรที่เราสื่อสารในช่วงนี้คนก็จะเห็นเยอะที่สุด อย่างตอนเริ่มทำช่อผ้าก็ทำในช่วงวาเลนไทน์ เพิ่มกระดาษห่อจากกระดาษสาก็ช่วงนี้ หรือที่ลองทำบริการส่งดอกไม้มาเก็บเข้ากรอบก็วาเลนไทน์เหมือนกัน ผลตอบรับที่ได้ก็ค่อนข้างดีเลย”
แต่ไม่ใช่ว่าสื่อสารแล้วจบ แพรและนิวยังเก็บเอาฟีดแบ็กไปพัฒนาต่อ ทั้งการทดลองเข้ากรอบดอกไม้ที่รอฟีดแบ็กถึง 6 เดือน หรือการค่อยๆ ปรับภาพลักษณ์ของ ‘กระดาษสา’ ซึ่งพวกเขาค้นพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่ชอบมันแค่เพราะ ‘ขอบกระดาษ’
“ตอนแรกเรามี pain point ว่าคนไทยไม่ค่อยชอบกระดาษสาเพราะรู้สึกว่าเห็นได้ทั่วไป ไม่ค่อยมีมูลค่า ลูกค้าบางคนก็บอกว่าไม่ชอบเพราะขอบมันรุ่ย เราก็ให้คนทำเขาตัดขอบมาเรียบๆ (หัวเราะ) กลายเป็นว่าลูกค้าโอเคมากขึ้น เหมือนเขารับไม่ได้แค่ที่ขอบมันดูรุ่ยๆ ไม่ได้รับไม่ได้ที่มันเป็นกระดาษสา” แพรเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
แค่โซเชียลมีเดียยังสื่อสารได้ไม่กว้างพอ ในงาน Bangkok Design Week 2022 ที่ผ่านมา พวกเขาเลยเอาการทดลอง upcycling ดอกไม้รูปแบบต่างๆ ไปจัดแสดง
“จุดประสงค์คือเราอยากให้คนเห็นว่าดอกไม้สามารถอยู่ต่อไปได้นะ เพราะว่าส่วนใหญ่ลูกค้าคนไทยจะชอบดอกไม้สดแต่ชอบดอกไม้ที่อยู่ได้นาน มันขัดแย้งกัน (หัวเราะ) เราเลยทำ mini exhibition ให้ลูกค้าดูเลยว่าการเก็บดอกไม้แห้งหรือเอาไป upcycling มันไม่ยาก คนก็เข้าใจมากขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่ก็สนใจอยากรู้ว่าเขาจะเก็บดอกไม้ยังไงซึ่งตรงตามจุดประสงค์ของเราที่อยากลดขยะและอยากให้ลูกค้าลดด้วย”
Flower in business
“เดี๋ยวนี้วันหนึ่งเหลือขยะไม่ถึงครึ่งถุงครับ” นิวตอบทันทีที่เราถามว่าปัจจุบันผลประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมของร้านเป็นยังไง ส่วนผลประกอบการด้านกำไร ทั้งนิวและแพรเห็นตรงกันว่าตั้งแต่ปรับทิศทางให้ดีต่อโลก ธุรกิจก็ดียิ่งขึ้นไปอีก
“รายได้เพิ่มเกิดจากโปรดักต์ที่เรา upcycling นี่แหละ อย่างกรอบรูปดอกไม้ก็ขายดี แล้วก็มีการ์ดดอกไม้ที่ขายค่อนข้างง่ายเพราะราคาไม่สูง บางทีก็ขายออกคู่กับช่อดอกไม้ บางทีลูกค้าไลน์มาขอซื้อการ์ดอันเดียวไปติดที่บ้านก็มี หรือโท้ตแบ็กก็ขายดีเพราะเอาไปใช้ต่อได้
“ลูกค้าใหม่ก็มีเข้ามาเพิ่มด้วย อย่างช่วงที่ผ่านมาแบรนด์ H&M Home เขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน พอเขาเห็นว่าร้านเราพยายามปรับตรงจุดนี้เขาก็ชวนไปทำเวิร์กช็อปดอกไม้” แพรบอก
“เราคิดว่าเราสามารถขยายกลุ่มลูกค้าได้ด้วย” นิวอธิบายเพิ่มเติม “ที่ผ่านมาจะมีคนบางกลุ่มที่มองว่าดอกไม้ให้ไปแล้วก็รอวันทิ้ง พอเราสามารถ upcycling มันได้ก็เหมือนได้เจาะตลาดลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่ม รวมถึงเรามองว่าในอนาคต ทั้งลูกค้าที่เป็น end user เองหรือภาคธุรกิจจะให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันก็เป็นจุดแข็งหนึ่งที่เราสามารถเสนอได้ว่าร้านของเราให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน”
มากกว่าโปรดักต์ที่เพิ่มขึ้น ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมยังพาให้แพรและนิวคิดต่อยอดธุรกิจร้านดอกไม้สู่ธุรกิจฟาร์ม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจดอกไม้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
เพราะ pain point ของร้านดอกไม้ไม่ได้มีแค่เรื่องขยะซึ่งแทบจะอยู่สุดกระบวนการ นิวเล่าว่ายังมีเรื่องของสารเคมีที่ใช้ปลูกดอกไม้ และ carbon footprint ที่เกิดจากการนำเข้าดอกไม้ด้วย
“pain point หลักตอนนี้คือเรื่องขยะซึ่งเราเริ่มแก้ได้แล้ว ส่วน pain point อีกสองข้อของเราคือเรื่องการนำเข้าดอกไม้จากต่างประเทศ แต่ก่อนเราใช้ดอกไม้นำเข้าถึง 80% ทั้งจากจีน ยุโรป เคนยา เอกวาดอร์ ซึ่งสร้าง carbon footprint มากมายและไม่สร้างรายได้ให้คนไทย รวมไปถึงเราไม่รู้ว่าดอกไม้ที่เราเอาเข้ามามีสารเคมีปนเปื้อนมากน้อยแค่ไหน
“พอเราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลยคิดว่าทำไมไม่ทำให้มันครบกระบวนการไปเลยล่ะ เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคือมีฟาร์มปลูก เราเข้าใจว่าดอกไม้ที่ปลูกแบบแมสอาจต้องใช้สารเคมี ใช้ยาฆ่าแมลงค่อนข้างเยอะ เราอยากเริ่มเล็กๆ ทดลองใช้สารเคมีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้หรือไม่ใช้เลย ถ้ามันเวิร์กก็อยากขยายไปสร้างเครือข่ายเกษตรกรให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น การทำแบบนี้ทำให้เราแทร็กได้ว่าดอกไม้มีที่มายังไงและได้ช่วยลด carbon footprint เพราะว่าเราไม่ต้องนำเข้าแล้ว ร้านเราก็ได้ซัพพลายดอกไม้ ส่วนขยะที่เหลือตอนนี้ก็สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์เอากลับมาใช้ที่ฟาร์มได้เลย”
แต่ไม่ว่าวิธีการหรือธุรกิจจะเปลี่ยนหน้าตาไปแค่ไหน สุดท้ายแล้วหัวใจของร้านก็ยังเป็นเรื่องเดิม นั่นคือการทำให้ชีวิตประจำวันของคนชุ่มชื่นด้วยดอกไม้และมีดอกไม้เป็นธรรมชาติใกล้ๆ ตัว
เพียงแต่วันนี้ธรรมชาติที่ดอกไม้นั้นเติบโตมากำลังจะดีขึ้นอีกนิดด้วยสองมือของ Flower in hand by P.