LIFE to ECO
วิธีทำธุรกิจให้ยั่งยืนของ ECOLIFE ในวันที่เป็นมากกว่าแอพฯ สายกรีนแต่ช่วยปรับพฤติกรรมองค์กร
“ทุกคนมีสิทธิจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ว่าสิทธินั้นควรมาพร้อมกับหน้าที่ที่เราต้องช่วยกันปรับพฤติกรรมคนละเล็กคนละน้อย”
แม้ประโยคนี้จะถูกพูดในวันที่ฝุ่น PM2.5 ครองเมือง จนเราแทบไม่มีอากาศบริสุทธิ์ไว้ใช้หายใจ และผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในมุมของคนที่คลุกคลีกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอด 16 ปียังเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อว่าสักวันหนึ่งโลกของเราจะน่าอยู่ขึ้นได้
เรากำลังพูดถึง ท็อป–พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้ก่อตั้งบริษัท คิดคิด จำกัด หรือที่หลายคนรู้จักกันในฐานะนักแสดงคนแรกๆ ที่พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมออกสื่อ ไปพร้อมๆ กับการทำธุรกิจเพื่อสังคมและรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ลดละ
“บางคนก็ถามว่าผมทำมาหลายปีเพื่ออะไร ก็เพื่อที่จะทำให้เราได้ปรับพฤติกรรมกันคนละเล็กคนละน้อย ที่ผ่านมาเราสร้าง awareness กันพอสมควรแล้ว คนไทยรับรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เข้าใจเรื่องโลกร้อนแล้ว ตอนนี้เลยต้องเปลี่ยนการรับรู้ไปสู่การลงมือทำ”
ตั้งแต่ Day 1 ที่ท็อปเปิดร้าน ECOSHOP ขายสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลก ในวันที่คนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสินค้า eco คืออะไร ทำให้แม้แต่การขายสมุดเพียงเล่มเดียวก็ต้องอธิบายกันยืดยาว และเขาคิดว่าการซื้อสินค้า eco แล้วเอาไปใช้ ก็จะเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประมาณหนึ่ง แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการปรับพฤติกรรมในวงกว้าง
รวมถึงการที่เขาจะเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องทำให้กลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคมหรือ social enterprise ที่จะนำกำไรส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สังคม อีกส่วนหนึ่งนำไปหล่อเลี้ยงทีมและสร้างโซเชียลอิมแพกต์ที่วัดผลได้ต่อไป
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ท็อปก่อตั้งบริษัท คิดคิด จำกัด เพื่อทำเซอร์วิส ทำแคมเปญ และสื่อสารเรื่องความยั่งยืนที่ประกอบไปด้วย people, planet, profit และเรื่อง SDGs (sustainable development goal) ให้กับบริษัทต่างๆ และอยากสื่อสารกับกลุ่ม public เพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม
“ผมไม่ได้อยากให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมนะ เอาแค่ปรับก็พอ”
ท็อปย้ำกับเรา และนั่นทำให้เขาตัดสินใจพัฒนาแอพพลิเคชั่น ECOLIFE ที่ทำให้การรักษ์โลกเป็นเรื่องง่ายและสนุก ผ่านการทำภารกิจต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจะได้เป็นรางวัลไปใช้ในชีวิตจริง
ปัจจุบัน ECOLIFE เปิดตัวมาครบ 10 ปีพอดิบพอดี และได้ข่าวว่ามีการพัฒนาเวอร์ชั่นใหม่เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งพร้อมเปิดตัวในช่วงต้นปี 2025 เราจึงหยิบวาระนี้มาสนทนากับท็อป พร้อมอัพเดตเรื่องการทำธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับโลกที่ยั่งยืน
ก่อนที่จะไปเข้าเรื่องกัน ท็อปแอบกระซิบว่า Capital เป็นสื่อแรกที่เขามาพูดคุยหลังจากมีการพัฒนา ECOLIFE เวอร์ชั่นใหม่อีกด้วย
ทุกธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและเติบโต
ชายตรงหน้าเท้าความให้เราฟังว่า ECOLIFE เวอร์ชั่นแรกเปิดตัวเมื่อปี 2015 เพราะเขาเห็นว่าคนใช้สมาร์ตโฟนกันเยอะ การทำแอพพลิเคชั่นน่าจะเข้าถึงคนได้มากและปรับพฤติกรรมคนได้จริง ซึ่งตอนนั้นยังทำแค่เรื่องเดียว คือเรื่องการเดินทางให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปั่นจักรยาน ใช้ขนส่งสาธารณะ แล้วจะได้เป็นรีวอร์ดไปแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่น่าเสียดายคนใช้งานไม่มากนัก
“ผมว่า UX/UI เวอร์ชั่นแรกไม่เฟรนด์ลี่ คนเลยรู้สึกว่าใช้งานยาก เวอร์ชั่นที่ 2 เราเริ่มต้นดีไซน์ตัวละคร ก็คือพี่หมีและผองเพื่อน ทำให้เฟรนด์ลี่ขึ้น ปูสตอรีว่าพี่หมีและเพื่อนๆ มาจากขั้วโลก เพราะน้ำแข็งละลายจนน้ำท่วมแล้วอยู่ไม่ได้ ต้องย้ายมาอยู่เมืองไทย และมาเจอสัตว์ต่างๆ ช่วยทำภารกิจส่งพี่หมีกลับบ้าน”
ภารกิจที่ท็อปหมายถึงจะเป็นเหมือนเกมให้เราไปทำตามทั้งหมด 3 โจทย์ คือปฎิเสธการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง แยกขยะ และถ่ายรูปต้นไม้ โดยแต่ละจุดที่ให้ไปทำภารกิจจะมี QR code ของ ECOLIFE ให้สแกนสะสมแต้ม
“เวอร์ชั่น 2 กระแสตอบรับดีขึ้นมาก มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมใช้งานกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ โรงเรียนที่เข้ามาใช้งาน 200 แห่ง บริษัทเข้ามาทดลองใช้ประมาณ 150 บริษัท กับอีกเกือบ 20 แบรนด์ แต่จะมีช่วงที่คนใช้น้อยลงคือช่วงโควิด-19 ล่าสุดก่อนจะยุติการใช้งานเวอร์ชั่น 2 สิ้นปี 2024 มียอดดาวน์โหลดเกือบ 1 แสนคน และมีกิจกรรมที่คนเข้าร่วมในแอพฯ กว่า 2 ล้านกิจกรรม และช่วยลดคาร์บอนไปได้ถึง 2 ล้านกิโลคาร์บอน”
คุยมาถึงตรงนี้เราก็คิดว่า ECOLIFE เวอร์ชั่น 2 ดูไปได้สวย จนอดที่จะถามไม่ได้ว่าแล้วอะไรที่ทำให้เขามาพัฒนาเวอร์ชั่นใหม่อีก
“ผมว่าธุรกิจจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงและเติบโต ที่ผ่านมาเราเห็นการเติบโตจากผู้ใช้งานที่เป็นเด็กนักเรียน เด็กมหาวิทยาลัย ขยายไปที่บริษัทกับแบรนด์ ต่อไปเราอยากขยายไปถึงคุณหมอในโรงพยาบาล พระที่อยู่ในวัด ตำรวจตาม สน. ทหารที่อยู่ตามค่ายต่างๆ ซึ่งแต่ละที่มีการกำหนดเรื่องความยั่งยืนที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้ชัดเจน เหมาะสมกับองค์กรและสถานที่นั้นๆ”
ท็อปเล่าว่าถ้าพูดถึงการทำ CSR บางองค์กรก็ชอบไปปลูกต้นไม้ ในมุมของเขาคิดว่าทำได้ แต่หากไม่มีการดูแลต่อ สุดท้ายต้นไม้ก็ตาย จึงอยากสนับสนุนให้องค์กรทำ CSV หรือ creating shared value ที่องค์กรสามารถต่อยอดในสิ่งที่ตนเองถนัด เพื่อสร้างคุณค่ากลับคืนสู่สังคมทางใดทางหนึ่งก็ได้
“คุณอาจจะเป็นบริษัทจำกัด คุณอาจจะเป็นบริษัทมหาชน คุณอาจจะเริ่มต้นทำร้านเล็กๆ เป็นของตัวเอง คุณอาจจะขายของออนไลน์ คุณจะเป็นคนทำธุรกิจไหนก็ได้ จะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ได้ ผมว่าทุกคนสามารถที่จะช่วยกันในการทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้”
เขายกตัวอย่างให้เราเห็นภาพมากขึ้น ว่าถ้านำพนักงานบัญชีที่นั่งอยู่ในออฟฟิศไปปลูกป่า สุดท้ายก็อาจจะมีคนไป แต่น่าจะเป็นคนเดิมๆ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดนัก แต่ถ้านำพนักงานบัญชีไปสอนชาวบ้านเรื่องการทำรายรับ-รายจ่าย การออมเงิน ให้ความรู้เรื่องหนี้ครัวเรือน ก็จะตรงกับความถนัดและยั่งยืนมากกว่า
ไม่ใช่แค่ระดับองค์กรเท่านั้น ภาคส่วนอื่นๆ ก็ทำ CSV ได้เช่นกัน ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในภาคเหนืออาจจะทำเรื่องหมอกควัน เรื่องฝุ่นเยอะหน่อย ภาคใต้อาจจะทำเรื่องการอนุรักษ์ทะเล คุณหมออาจจะทำเรื่องขยะอันตราย โรงแรมอาจจะทำในเรื่องของการลด food waste
ด้วยเหตุผลนี้ การเซตภารกิจให้ทำตามแบบเดิมจึงไม่เวิร์กอีกต่อไป เวอร์ชั่นใหม่จึงเกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนากิจกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละธุรกิจ แต่ละภาคส่วน และแต่ละสถานที่มากยิ่งขึ้น
เจาะกลุ่มองค์กรในวันที่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นไฟลต์บังคับ
ECOLIFE เวอร์ชั่น 3 ท็อปปักธงให้เป็นดั่งเครื่องมือสะท้อนภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนขององค์กรและของแบรนด์ โดยในปี 2025 นี้จะโฟกัสที่ 2 กลุ่มหลักคือพนักงานในองค์กรและลูกค้าของแบรนด์
“ณ วันนี้ที่เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ว่าทำก็ดีไม่ทำก็ได้ แต่เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ เราเติบโตมากับยุคที่ต้องพยายามทำกำไรให้สูงที่สุด vision ขององค์กรคือการเป็นที่หนึ่ง แต่ในทุกวันนี้ vision ขององค์กรต้องมีเรื่องความยั่งยืนอยู่ด้วย ถามว่าทำไมเขาจำเป็นต้องทำ ก็เพราะว่าทุกปีเขาต้องรายงานเรื่องความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า 56-1 One Report
“จะแบ่งเป็นสโคปหนึ่ง สอง และสาม ในนั้นก็มีหลายเรื่อง เช่น โลจิสติกส์คุณต้องปรับเรื่องการขนส่งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรื่องพลังงานคุณต้องทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในเรื่องความยั่งยืนของพนักงานและลูกค้า ถึงแม้วันนี้อาจจะยังไม่บังคับใช้ แต่อีกไม่นานบังคับแน่นอน และสุดท้ายมันคือการวัดผลที่ต้องวัดผลได้ ต้องส่งรีพอร์ตได้”
ในมุมของท็อป การทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกับการปิดทองหลังพระ แต่ทุกวันนี้ต้องปิดให้ล้นออกมาข้างหน้าเพื่อให้คนอื่นได้เห็นด้วย เพราะพอบริษัทใหญ่ทำ บริษัทเล็กจะได้เอาไปทำเป็นตัวอย่าง และถ้าบริษัทเล็กทำ บริษัทใหญ่เห็นเขาจะได้เลือกในการที่จะเป็นซัพพลายเออร์หรือทำธุรกิจร่วมกัน ในมุมลูกค้าพอเห็นบริษัทไหนทำเรื่องนี้ก็อยากสนับสนุน รวมถึงแบรนด์สามารถสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้ามาทำเรื่องความยั่งยืนด้วยกันได้อีก
“ตอนนี้ผู้บริโภคก็อยากสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือว่าทำเพื่อสังคมมากขึ้น สมมติว่าเรามีของอยู่ 2 สิ่ง เหมือนกันทุกอย่างเลย อันหนึ่ง 100 บาท ไม่ได้สนใจอะไร ก็คือสวยอย่างเดียว อีกอันก็สวย แต่อันนี้เขาไปพัฒนามาจากชุมชน เขาไม่ได้ไปทำความเดือดร้อนให้กับชุมชน สร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะไม่เหลือ waste ไม่เหลือเศษขยะที่มันเกิดขึ้น แต่ราคา 120 บาท
“เป็นคุณจะซื้ออันไหนถ้ามันเหมือนกันเลย ผมว่าผู้บริโภค 70% เลือกซื้ออัน 120 เพราะสนับสนุนชุมชนและรักษ์โลก”
เปิดทิศทางใหม่ของ ECOLIFE เวอร์ชั่น 3
เมื่อก่อน ECOLIFE จะต้องดาวน์โหลดผ่าน App Store และ Google Play แต่หลังจากที่ท็อปรีเสิร์ชก็พบว่าสมัยนี้คนไม่ชอบการดาวน์โหลดแอพฯ ใหม่ๆ เพราะหนักเครื่อง เขาจึงเปลี่ยนเป็นให้เข้าใช้งานผ่าน LINE @ECOLIFEapp และลงทะเบียนใช้งานได้ทันที
ในนั้นจะมีกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถึง 9 แบบ คือแยกขยะ, ลดการใช้พลาสติก, เดินทางให้เป็นมิตรต่อโลก, การบริจาค, การประหยัด, ซื้อสินค้าและบริการที่เป็น eco, ปลูกต้นไม้, ทำกิจกรรมรักษ์โลก และลดมลพิษด้วยวิธีต่างๆ ในแต่ละกิจกรรมจะมีหัวข้อแยกย่อยให้ร่วมสนุกอีกที
“แต่ละบริษัทสามารถเลือกได้เลยว่าจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง และแยกเป็นการทำกิจกรรมของพนักงาน และการทำกิจกรรมของลูกค้า อย่างพนักงานสมมติว่าโจทย์คือให้แยกขยะในองค์กร เขาจะถ่ายรูปตอนที่แยกขยะ และปักโลเคชั่นว่าทำที่ไหน
“หลังจากนั้นรูปนี้จะถูกส่งไปที่เพื่อน 3 คนให้ approve ว่าเขาทำจริงไหม ซึ่งเพื่อน 3 คนนี้จะแรนด้อมไปเรื่อยๆ บางทีรูปเขาอาจจะไปขึ้นให้ผู้บริหาร approve หรือพนักงานเองก็สามารถ approve รูปที่ผู้บริหารทำกิจกรรมได้เหมือนกัน พอทำแบบนี้ก็จะเกิดเอนเกจในองค์กรและสร้างแรงจูงใจให้พนักงานร่วมกิจกรรมเป็นรีวอร์ดไปแลกของรางวัล
“บริษัทก็สามารถมาซื้อของรางวัลกับทาง ECOLIFE ได้ เช่น e-voucher ส่วนลดร้านกาแฟ ร้านอาหาร โรงแรม หรือบางบริษัทก็แบ่งคะแนนประเมินประจำปี มาใช้กิจกรรมนี้ร่วมประเมินด้วยก็มี ซึ่งผมว่าอันนี้เวิร์กมากๆ เพราะจะทำให้พนักงานอยากมีส่วนร่วมสนับสนุน vision เรื่องสิ่งแวดล้อมขององค์กรด้วย”
ส่วนในฝั่งที่แบรนด์ทำกิจกรรมร่วมกับลูกค้า ท็อปเล่าว่าแบรนด์สามารถกำหนดภารกิจให้ลูกค้าทำได้ เช่น ร้านอาหารอาจกำหนดให้ทานหมดจาน ร้านกาแฟให้ลูกค้านำแก้วมาเอง ห้างให้ลูกค้านำถุงผ้ามาซื้อของ โรงแรมให้ลูกค้าเลือกไม่ซักผ้าเช็ดตัวได้หากพักมากกว่า 1 คืน แล้วลูกค้าถ่ายรูปตอนทำกิจกรรมเหล่านี้ ปักโลเคชั่นที่ทำ รูปก็จะถูกเก็บเข้าไปในเซิร์ฟเวอร์ ให้แบรนด์สามารถตรวจสอบได้ แล้วลูกค้าก็จะได้พอยต์ไปแลกตามที่แบรนด์กำหนด ระยะเวลาแต่ละกิจกรรมทางแบรนด์ก็สามารถกำหนดได้ และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกิจกรรมให้ลูกค้ากลับมาทำแล้วรู้สึกไม่เบื่อได้เช่นกัน
“ผมว่าวิธีนี้จะสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าในแง่ของความยั่งยืน คือไม่ใช่แค่ให้เขาซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลกนะ แต่ดึงเขาให้มา action กับสิ่งที่แบรนด์ทำได้เลย ในฝั่งแบรนด์ก็สามารถนำสิ่งนี้ไปใช้ PR ทำการตลาดได้ หรือจะเก็บเป็นข้อมูลนำไปวิเคราะห์ปรับปรุงแบรนด์ต่อไปก็ได้ อีกเรื่องที่สำคัญคือกำลังจะมีกฎหมายตัวหนึ่งออกมา ชื่อว่า EPR หรือ Extended Producer Responsibility เป็นการรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ที่เราจำหน่ายออกไป ให้กลับมาจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างถูกต้องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
ท็อปยกตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้แพลตฟอร์ม ECOLIFE ไปร่วมกิจกรรมกับลูกค้า เช่น Yves Rocher และ Central ที่ให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์ของเครื่องสำอางที่ใช้หมดแล้วมาคืนที่ Central หรือว่าที่ร้าน Yves Rocher ก็ได้ แล้วแบรนด์ก็นำไปจัดการต่อไป
หรืออย่างแคมเปญของเลย์ ที่จับกลุ่มทาร์เก็ตเดิมที่เคยทำงานด้วยอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัย 3 ที่คือ มศว, จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ให้นำซองเลย์เปล่าที่ทานหมดแล้วมาส่งคืนฟรีที่ไปรษณีย์ในมหาวิทยาลัย ไปรษณีย์ก็จะบันทึกข้อมูลว่าน้ำหนักซองที่เข้ามาทั้งหมดเท่าไหร่แล้ว มหาวิทยาลัยไหนที่รวบรวมได้เยอะและเร็วสุดภายใน 2 เดือนจะได้รางวัลเป็นพานักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม 100 คนไปกินบาร์บีคิวพลาซ่าฟรี
แคมเปญนี้มหาวิทยาลัยก็ได้ข้อมูลในเรื่องการมีส่วนร่วมของนิสิตนักศึกษา ไปรษณีย์เองก็ช่วยเรื่องโลจิสติกส์ ส่งซองกลับมาให้เลย์นำมาวิจัยและจัดการขยะต่ออย่างถูกต้อง พอพานักศึกษาไปทานอาหารก็จะมีการสอนเรื่อง food waste อีกด้วย
ECOLIFE เวอร์ชั่นนี้จึงปรับพฤติกรรมคนได้ทั้งจากพนักงานในองค์กร ไปจนถึงลูกค้า ซึ่งเป็นกลุ่ม public ตามที่ท็อปจะให้เกิดการปรับพฤติกรรมในวงกว้างนั่นเอง
ธุรกิจเพื่อสังคมต้องยืนหยัดไปพร้อมกับโลกที่ยั่งยืน
ท็อปเน้นย้ำว่าการทำธุรกิจเพื่อสังคม พอมีคำว่าธุรกิจ ก็ต้องอย่าลืมเรื่องรายได้หรือเรื่องเงิน จะต้องคิด business model มีการวางระบบ และ strategy ว่าจะทำยังไงเพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนโดยที่มีรายได้เข้ามาจริงๆ
ต้องมีการคิดต้นทุนที่ถูกต้อง ทั้งต้นทุนค่าแรงของตัวเอง ต้นทุนเวลา ต้นทุนการจ้างแรงงาน เพื่อทำให้มันกลายเป็นคำว่าธุรกิจให้ได้ แบบนี้ถึงจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืน
“ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดเข้าข้างตัวเองเหมือนกันนะว่าทำเรื่องดีๆ ต้องมีคนชอบ ต้องมีคนสนับสนุนสิ แต่โลกความเป็นจริงไม่ได้สวยงามขนาดนั้น คนที่มาสนับสนุนคอยช่วยเหลือเรา ถ้าเขาไม่ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม วันหนึ่งเขาอาจจะหมดกำลังใจ แล้วไม่สนับสนุนกันอีก พอเป็นแบบนั้นมันน่าเสียดาย
“สุดท้ายแล้วธุรกิจเพื่อสังคมก็ต้องอยู่ได้ด้วยผลกำไรที่เหมาะสม เราอาจจะไม่ได้มองตัวเงินเป็นที่ตั้งสูงสุดแล้วทำอะไรก็ได้ แต่ว่าการมองรายได้และการสร้างอิมแพกต์ ผมว่ามันควรจะไปด้วยกัน”
นอกเหนือจากกำไรที่เป็นเม็ดเงินแล้ว ท็อปรู้สึกว่ากำไรที่เขาได้คือความรู้สึกใจฟูที่คนมาใช้แพลตฟอร์ม ECOLIFE แล้วค่อยๆ ปรับพฤติกรรมกันคนละเล็กละน้อย แต่ถ้าเกิดการบอกต่อในวงกว้างมากขึ้น
“ผมเชื่อว่าคนที่พกกระบอกน้ำ พกกล่องข้าว ถุงผ้า ลดพลาสติก เขาน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับหลายๆ คนได้ และเกิดการบอกต่อว่าฉันก็ใช้แพลตฟอร์มนี้ช่วยโลก และนี่คือปริมาณที่เราช่วยกัน และสุดท้ายแล้วถ้าเกิดปริมาณที่มีมากพอ แน่นอนว่าเราก็จะเอาปริมาณพวกนี้ไปแชร์กับภาครัฐ ซึ่งภาครัฐเขาก็ดูอยู่ด้วยแหละว่าประชาชนสนใจเรื่องอะไร
“เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่เราชอบปั่นจักรยานกันมากเลย ภาครัฐก็ทำเลนจักรยานให้ หรือว่าตอนนี้เราชอบวิ่งก็จะมีการจัดงานวิ่ง ต่อไปเรื่องการแยกขยะ การลดพลาสติก หรืออะไรที่มันสามารถทำได้ เดี๋ยวภาครัฐเขาก็จะลงมา แต่วันนี้เราก็ช่วยเก็บ data ตรงนี้ ผมก็เลยมองว่าแพลตฟอร์มนี้น่าจะเป็นแพลตฟอร์มกลาง คือช่วยทำให้ทุกคนได้เห็นว่าเราปรับพฤติกรรมได้ เก็บข้อมูลได้ และมันก็จะทำให้คนอื่นได้เห็นและทำตาม ผมอยากให้เป็นอย่างนั้น”
บทเรียนสำคัญที่ทำให้ยืนระยะมาได้เป็น 10 ปี
บทเรียนข้อแรกของท็อปคือ ‘ชัดเจนในสิ่งที่ทำ’ เขาชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าอยากจะปรับพฤติกรรมของผู้คนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำทั้งในมิติของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์สนับสนุนเรื่องนี้ การพูดออกสื่อ การทำเป็นธุรกิจ และไม่ว่าจะทำในมิติไหน เขาทำเพื่อให้ปลายทางไปบรรจบที่เส้นทางเดียวคือให้เกิดการปรับพฤติกรรม
บทเรียนที่ 2 คือ ‘ตั้งใจทำอย่างต่อเนื่อง’ ที่ผ่านมาท็อปยังคงพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เขาย้ำว่าเขาไม่ได้เก่งเรื่องนี้ไปกว่าใครๆ บางทีเด็กรุ่นใหม่ที่มาขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมอาจเก่งกว่าเขาด้วยซ้ำ แต่จุดแข็งที่ทำให้เขาอยู่จนถึงทุกวันนี้คือความต่อเนื่อง ที่ถึงแม้ว่าบางทีจะมีสะดุดจากอุปสรรคต่างๆ แต่เขาก็ไม่ได้ล้มหัวทิ่มแล้วก็เลิกไป ยังฮึดๆ สู้ขึ้นมาได้
“ผมว่าข้อสุดท้ายคือการที่เราจะต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ ความชัดเจนในตอนแรกไม่ได้แปลว่าเราจะไม่เปลี่ยนเลย ผมต้องปรับวิธีการสื่อสาร การพูด วิธีคิด ต้องปรับทั้งตัวเอง ทั้งธุรกิจที่ทำ ผ่านการมองข้างนอกว่าเทรนด์ ณ วันนี้ ความสนใจของโลกใบนี้ หรือว่าเทคโนโลยีมันปรับเป็นยังไงบ้าง ผมว่าการปรับตัวอยู่เสมอจะทำให้เรายังคงอยู่ในโลกที่มันหมุนเร็ว
“ผมว่าเราไม่ได้ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ ท็อปตอนปี 2008 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้วที่เริ่มมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม กับท็อปในวันนี้ เราก็วิ่งตามโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน บางทีเป็นความสำเร็จในช่วงเวลานั้น เราก็อาจจะดีใจตอนนั้น แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว หรือวันนี้ที่เราดีใจว่าสำเร็จ พรุ่งนี้ต้องหาความสำเร็จใหม่ คือมันก็ต้องปรับ ผมก็เลยมองว่า 3 อย่างนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่เรายึดถือ เลยทำให้วันนี้เรามีโอกาสได้มาเจอและได้มาพูดคุยกัน”