copycat layoffs

เมื่อบริษัทเพื่อนบ้านไล่คนออกมหาศาล หรือเราต้องทำตามบ้าง (แต่มันคุ้มค่าจริงไหม? ใครบอกได้บ้าง?)

พอมีบริษัทยักษ์ใหญ่เลย์ออฟคนมหาศาล ทำไมอีกหลายบริษัทถึงแห่ไล่คนออกอีกจำนวนมาก? จริงไหมที่เศรษฐกิจส่งผลให้ผู้บริหารอยากประหยัดงบ?

หรือที่จริงแล้วมันคือปรากฏการณ์​ copycat layoffs ที่ Jeffrey Pfeffer ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรของ Thomas D. Dee II แห่ง Stanford Graduate School of Business อธิบายว่าเป็นการลอกเลียนแบบมากกว่า คำพูดเหล่านี้สรุปจากการศึกษาเรื่องการจ้างและเลิกจ้างมานานกว่า 40 ปี

ความหมายของ copycat layoffs

copycat layoffs หรือการเลิกจ้างพนักงานจากการเลียนแบบ คือการเลิกจ้างคนจำนวนมากเพียงเพราะเห็นบริษัทในแวดวงเดียวกันเลิกจ้างคนโดยที่ไม่ได้ดูคุณหรือโทษของการเลิกจ้างจริงๆ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับแวดวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสื่อในช่วงปี 2022-2023 หลังจากที่บริษัทเหล่านี้จ้างคนจำนวนมหาศาลในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา

สาเหตุที่ต้องเลิกจ้างตามคนอื่นเขา

  1. บางบริษัทต้องการลดสเกลองค์กร เลยเลือกเลิกจ้างคนเพื่อเป็นฉากบังหน้า ซึ่ง Annie Lowrey ระบุใน The Atlantic ว่าถ้ารีบเลิกจ้างคนในช่วงที่คนอื่นเลิกจ้างติดต่อกัน ผู้คนก็อาจจะไม่ได้สังเกตหรือมองว่าข่าวการเลิกจ้างของตัวเองเป็นเรื่องใหญ่อะไร
  2. การเลิกจ้างในช่วงที่บริษัทอื่นๆ ก็ทำกัน ยังทำให้ผู้บริหารเลือกตัดพนักงานบางคนที่ไม่ถูกใจได้โดยไม่ถูกผู้ถือหุ้นหรือคนทั่วไปมองว่าเลือกปฏิบัติ เพราะใครๆ ก็เลิกจ้างคนในช่วงเวลานี้

เศรษฐกิจตกต่ำเกี่ยวข้องมากแค่ไหน?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพเศรษฐกิจมีผลต่อการเลิกจ้างพนักงาน แต่ Pfeffer เชื่อว่าการจ้างงานจำนวนมากในช่วงขาขึ้นของวงการ และการเลิกจ้างงานในข่วงขาลงถือเป็นการลอกเลียนแบบที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ เขายังบอกกับ Stanford News ว่า Meta มีเงินมหาศาล เพราะบริษัทเหล่านี้ล้วนทำเงิน ดังนั้นการที่บริษัทเหล่านี้แห่กันเลิกจ้างคนนั้นอาจมาจากการที่เห็นว่าบริษัทอื่นทำ

copycat layoffs ดีหรือโทษ?

Jeffrey Pfeffer มองว่าการเลย์ออฟไม่ส่งผลดีกับใครทั้งสิ้น แม้บริษัทจะได้ประหยัดต้นทุนในระยะสั้น แต่การเลิกจ้างเมื่อเศรษฐกิจผันผวน และกลับมาจ้างงานใหม่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวนั้นเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น

เพราะบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานจำนวนมหาศาล ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ จากการเทรนพนักงานใหม่อยู่เสมอด้วย และหลายๆ ครั้งบริษัทเหล่านี้ก็ยังหันกลับมาจ้างพนักงานที่เคยถูกเลิกจ้างด้วยซ้ำ นอกจากนั้นประสิทธิภาพของพนักงานที่ยังอยู่ก็จะถดถอย เพราะเงินชดเชยจำนวนหนึ่งอาจทำให้คนที่ยังอยู่รู้สึกว่าทำไมฉันไม่ถูกเลือก

Stephen McMurtry วิศวกรซอฟต์แวร์และประธานฝ่ายสื่อสารของสหภาพพนักงาน Google ที่ชื่อ Alphabet

  1. บอกว่า “การเลิกจ้างทำให้เกิดความวุ่นวายในที่ทำงาน คนที่เหลือยังมีภาระงานเพิ่มขึ้น และทีมที่เหลือยังรู้สึกวิตกกังวลว่าทีมไหนจะเป็นรายต่อไป”
  2. การเลิกจ้างยังอาจทำให้หุ้นบริษัทตกลงด้วยซ้ำ เพราะนั่นคือสัญญาณบางอย่างว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหา
  3. การเลิกจ้างยังทำให้ประชากรจำนวนมากไม่มีงานแบบกะทันหัน แน่นอนว่าเงินชดเชยที่ได้ก็อาจไม่สามารถนำมาใช้จ่ายได้เพียงพอในชีวิตประจำวันหรือหนี้ที่มีอยู่ หมายความว่ากำลังซื้อในตลาดก็จะลดลง และนั่นคือหนทางสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งกว่าเดิม
  4. The Week ยังอ้างอิงว่า Sandra Sucher และ Marilyn Morgan Westner กล่าวใน Harvard Business Review ว่าคนที่ถูกเลย์ออฟเหล่านี้ต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ย 2 ปีจึงจะฟื้นตัวจากบาดแผลทางจิตใจ ทำให้ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 1.3-3 เท่า ความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า และความเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดเพิ่มขึ้น 4 เท่าทีเดียว

ถ้าไม่เลย์ออฟ มีทางเลือกอื่นสำหรับบริษัทบ้างไหม

  1. แทนที่จะจ้างและเลิกจ้างวนไปเหมือนกับวงโคจรของหนอนผีเสื้อ บริษัทควรวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อดูว่าในตลาดของตนเองนั้น ต้องการพนักงานแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าไหร่เพื่อประหยัดต้นทุนในระยะยาว
  2. แทนที่จะเลิกจ้างคน ให้เลือกรับพนักงานที่จะสามารถพลิกเกมบริษัทได้ นอกจากจะไม่ทำร้ายใจใคร ก็ยังอาจได้กลยุทธ์ใหม่สำหรับองค์กร
  3. Pfeffer ยังยกตัวอย่างกับ Stanford ว่าหลังเหตุโจมตีของผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 สายการบินต่างๆ ได้เลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ยกเว้นสายการบิน Southwest Airlines และนั่นทำให้ Southwest Airlines ได้รับส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น
  4. Pfeffer ยังบอกความลับของอดีต CEO ของ Procter & Gamble (P&G) อย่าง A.G. Lafley ว่าเวลาที่ดีที่สุดในการเอาชนะคู่แข่งคือตอนที่พวกเขากำลังถอย ส่วน James Goodnight ซีอีโอของ SAS Institute บริษัทซอฟต์แวร์ก็ไม่เคยเลิกจ้างใครเลยเพราะเขาบอกว่าช่วงที่ยากลำบากนี้ถือเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการคัดเลือกคนเก่งและคนที่มีความสามารถ
  5. แต่ถ้าต้องการลดต้นทุนจริงๆ Lincoln Electric ผู้ผลิตอุปกรณ์เชื่อมโลหะแนะนำว่าแทนที่จะเลิกจ้างพนักงาน 10% ให้เลือกลดค่าจ้าง 10% พูดให้เห็นภาพคือแทนที่จะมอบความเจ็บปวด 100% ให้กับคนเพียง 10% พวกเขามอบความเจ็บปวด 10% ให้กับคนกว่า 100%

น่าสนใจว่าสถานการณ์การเลย์ออฟคนอย่างต่อเนื่องที่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้มีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจตกต่ำมากแค่ไหน และพนักงานอีกกี่เปอร์เซ็นต์ที่ถูกไล่ออกไปจะเป็นเหยื่อของปรากฏการณ์ copycat layoffs กัน

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Illustrator

แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ

You Might Also Like