Café de Paris

‘คาเฟ่ปารีส’ ต้นทางคาเฟ่ร่วมสมัย พื้นที่กิน ดื่ม คิด ฝัน และเปลี่ยนเมือง

‘ร้านกาแฟ ไม่เคยเป็นแค่ร้านกาแฟ’ 

หมายความว่าแต่ไหนแต่ไร ร้านกาแฟหรือคาเฟ่นั้น นอกจากจะเติบโตสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่สุนทรียะของมันอาจหมายถึงการดื่มเพื่อเพิ่มพลังให้ลืมตาตื่นไปทำงานได้แล้ว ร้านกาแฟ หรือคาเฟ่ ยังเป็นพื้นที่สำคัญของวัฒนธรรมกาแฟที่มักเกี่ยวข้องกับกิจกรรมอื่นๆ อยู่เสมอ 

อย่างน้อยที่สุด คาเฟ่ก็มักเป็นพื้นที่เพื่อการพบปะ เป็นพื้นที่นั่งทำงาน เป็นที่ที่เรานิยามว่าเป็น third place ที่เรามาใช้เวลานอกจากบ้านและที่ทำงาน

เมื่อร้านกาแฟไม่เคยเป็นแค่เรื่องของพื้นที่ดื่มกาแฟ และดูเหมือนว่าร้านกาแฟเองก็จะมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและซับซ้อน โดยเฉพาะร้านกาแฟแบบปารีสที่เป็นศูนย์กลางสำคัญของการเปลี่ยนแปลง เป็นจุดเริ่มของการปฏิวัติฝรั่งเศส และจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมคาเฟ่ที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมและธรรมเนียมอื่นๆ 

คำถามหนึ่งที่น่าสนใจและยังคลุมเครือคือ วัฒนธรรมคาเฟ่ของปารีสมีที่มาที่ไปยังไง บ้างก็ว่าเป็นพื้นที่ของชนชั้นสูง แต่บ้างก็ว่าประวัติศาสตร์บางช่วงเป็นเรื่องของชาวบ้าน กระทั่งเป็นเรื่องของคนบ้านนอกที่มาเติบโตในกรุงปารีสหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์ครั้งนี้จึงขอชวนกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์วัฒนธรรมคาเฟ่ของกรุงปารีส หนึ่งในพื้นที่สำคัญของวัฒนธรรมคาเฟ่ในยุโรป จากการเดินทางของทูตออตโตมันที่เลี้ยงกาแฟเหล่าชนชั้นสูงของฝรั่งเศสจนทำเอากลุ่มชนชั้นสูงหลงใหลในรสชาติ สู่การเป็นคาเฟ่ที่ดูแลโดย ‘นักทำน้ำมะนาว’ รวมถึงอีกเรื่องเล่าของคาเฟ่ที่สัมพันธ์กับรางรถไฟ คนบ้านนอก และเขม่าถ่าน

ทูตชาวออตโตมัน ผู้นำพาวัฒนธรรมกาแฟมาสู่ราชสำนักฝรั่งเศส

วัฒนธรรมกาแฟและร้านกาแฟ แพร่กระจายไปในยุโรปราวศตวรรษที่ 17 อันที่จริงลอนดอนถือเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีร้านกาแฟเฟื่องฟูขึ้นมากและมีมาก่อนปารีสเล็กน้อย 

เช่นในปี 1700 มีรายงานตัวเลขร้านกาแฟในลอนดอนราว 500 แห่ง แต่ในปี 1715 กรุงปารีสมีร้านกาแฟราว 300 ร้าน อีกทั้งร้านกาแฟในลอนดอนค่อนข้างเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะการทำธุรกิจและธุรกรรมสำคัญๆ เช่น ซื้อ-ขายหุ้น กรรมสิทธิ์ กระทั่งค้าทาสกันในร้านกาแฟ

ส่วนการหว่านเมล็ดกาแฟลงในหัวใจของคนปารีส (ซึ่งในเวลาต่อมามีการหว่านเมล็ดลงจริงๆ) มักย้อนไปในปี 1669 บ้างก็บันทึกว่าเป็นปี 1670 ในปีนั้นเป็นรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 รัชสมัยแห่งความรุ่งเรืองของฝรั่งเศส ครั้งนั้นมีทูตนามว่าสุไลมาน อากา (Suleiman Aga) จากอาณาจักรออตโตมันซึ่งคือตุรกีในปัจจุบัน เดินทางมาเข้าเฝ้ายังราชสำนักฝรั่งเศส

แน่นอนว่าการเดินทางมาถึงของคณะทูตจากตะวันออก ทุกอย่างที่ทูตทำย่อมเป็นที่สนใจของผู้คน หนึ่งในนั้นคือการที่ทูตจัดงานเลี้ยงรับรองแขก สิ่งที่นำมาจัดเลี้ยงถึงปารีสคือเครื่องดื่มรสชาติมหัศจรรย์ที่เสิร์ฟอย่างอลังการ บันทึกเล่าภาพการเลี้ยงต้อนรับที่ให้ภาพความยิ่งใหญ่หรูหราแบบตะวันออก 

คนรับใช้เรียงรายและคุกเข่าเพื่อรินกาแฟสดใหม่ลงในถ้วยเคลือบใบน้อยๆ ขนาดเท่าไข่ไก่ จากนั้นจึงเทกาแฟลงในเครื่องเงิน รองด้วยผ้าลูกไม้ประดับด้วยกระดุมที่ทำจากทองคำ กาแฟทยอยเสิร์ฟให้เหล่าสตรีชั้นสูงที่สะบัดพัดหรูหราปิดบังใบหน้าไปมาอย่างน่าฉงนสงสัย

นั่นคือภาพของงานเลี้ยงกาแฟที่นอกจากจะหอมกรุ่น สดใหม่ และเข้มข้นแล้ว ไม่แปลกที่ขุนนางชาวฝรั่งเศสรวมถึงราชสำนักต่างโจษขานถึงการต้อนรับแขกและเครื่องดื่มแสนวิเศษจากโลกตะวันออก จนในที่สุดกาแฟกลายเป็นธรรมเนียมพิเศษของการต้อนรับแขก จากความนิยมในหมู่ขุนนาง ค่อยๆ ขยายมายังเหล่าพ่อค้าและผู้มีอันจะกินอื่นๆ

ตรงนี้เองที่แม้ว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปจะมีร้านกาแฟอยู่ก่อนแล้ว แต่เชื่อกันว่าวัฒนธรรมกาแฟนั้นเป็นแฟชั่นที่แพร่กระจายจากความนิยมของราชสำนักฝรั่งเศส โดยเฉพาะการต้อนรับแขกด้วยกาแฟ รวมไปถึงวัฒนธรรมกาแฟและร้านกาแฟซึ่งเกิดขึ้นในเวลาต่อมา

ข้อสำคัญหนึ่งของกาแฟในยุคแรกๆ คือ กาแฟเป็นสินค้าหรูหรา มีราคาแพง บางช่วงถึงกับมีการออกกฎหมายควบคุม มีการเก็บภาษีอย่างสูง การคั่วกาแฟต้องมีใบอนุญาตจึงจะทำได้ 

คาเฟ่แบบปารีส กับกลยุทธ์กินดื่มได้ทั้งวัน 

ประวัติศาสตร์ร้านกาแฟของกรุงปารีสในยุคแรกนั้นมีความซับซ้อน บางแหล่งระบุว่าร้านกาแฟยุคแรกของปารีสไม่ใช่เรื่องของชนชั้นสูง แต่เป็นร้านกาแฟแบบตะวันออก คือขายความแปลกประหลาดและเน้นขายให้กับแรงงานและช่างฝีมือของเมือง ในยุคต่อมาร้านกาแฟปารีสเริ่มเข้าสู่ความชิค เมื่อพ่อค้าเริ่มเปิดพื้นที่ห้องดื่มกาแฟ ประดับด้วยกระจกเงา โต๊ะหินอ่อน โคมไฟ ในร้านเริ่มเสิร์ฟทั้งชา กาแฟ ช็อกโกแลต และเครื่องดื่มอื่นๆ 

ประเด็นเรื่องใครคือลูกค้าร้านกาแฟในยุคแรกนั้นไม่มีหลักฐานชัดเจน บันทึกค่อนข้างให้ภาพที่ผสมปนเปกัน บางหลักฐานให้ภาพว่าครึ่งหนึ่งของลูกค้าร้านกาแฟในปารีสยุคแรกเป็นทั้งช่างฝีมือระดับสูง เจ้าของร้านค้าต่างๆ รวมถึงขุนนาง และส่วนน้อยคือราว 10% เป็นแรงงานรายวันและทหาร

จากหลักฐานร้านกาแฟที่คลุมเครือ ราวปลายศตวรรษที่ 17 ความหมายของร้านกาแฟในปารีสค่อยๆ กลายเป็นวัฒนธรรมที่หยั่งราก ข้อสำคัญของวัฒนธรรมคือเหล่าผู้ที่มาใช้เวลาหรือมาดื่มกาแฟค่อยๆ ใช้เวลานานขึ้นเรื่อยๆ ในร้านกาแฟ ทางร้านกาแฟหรือคาเฟ่เองก็เริ่มหาวิธีให้ผู้คนอยู่ในร้านตัวเองนานขึ้น หรือมีจุดดึงดูดให้กลับมาที่ร้านบ่อยๆ 

กลยุทธ์คาเฟ่ในยุคปลายศตวรรษที่ 17 คล้ายกับกลยุทธ์ของคาเฟ่ร่วมสมัย คือร้านเริ่มเสิร์ฟอาหารต่างๆ มากไปกว่านั้นคือเริ่มเสิร์ฟเหล้า วิสกี้ ไปจนถึงเบียร์ ในฤดูหนาว คาเฟ่กลายเป็นที่ที่ตั้งใจออกแบบให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่ได้ทั้งวัน ทั้งดื่ม ทั้งกิน

จุดสำคัญที่สุดของกิจการคาเฟ่ในปารีสคือการที่ร้านเริ่มมีสิ่งบันเทิง หรือมีการแสดงเรียกว่า cafés-concert คือการแสดงดนตรี การร่ายกลอน การเต้นรำ กระทั่งการแสดงละครบทสั้นๆ และละครตลกชวนหัว สะท้อนว่าเริ่มมีชนชั้นกลางเข้ามาเป็นลูกค้าสำคัญแล้ว 

การแสดงในร้านมักจะฟรีแต่ลูกค้าก็ต้องสั่งอาหาร โมเดลคาเฟ่ที่มีการแสดงและกิจกรรมเป็นที่นิยมมาก ในปี 1850 ปารีสมีคาเฟ่พร้อมการแสดงและกิจกรรมอื่นๆ มากถึง 300 แห่ง จำนวนมากเป็นร้านเปิดโล่งที่เรียงรายอยู่บนถนนช็องเซลีเซ 

ดังนั้น การดื่มกาแฟ การนั่งพักผ่อน ไปจนถึงการพูดคุย เคล้ากิจกรรมทางสุนทรียะในคาเฟ่ที่กลับมาสัมพันธ์กับบรรยากาศโดยรวมของปารีส จึงทำให้คาเฟ่เป็นอีกสุดยอดตัวตนของเมืองแห่งความโรแมนติก และดินแดนของศิลปะและความรู้ ซึ่งจะต้องพูดถึงคาเฟ่สำคัญต่อไปอีกหนึ่งแห่งคือ Café Procope

Café Procope คาเฟ่แห่งศิลปวิทยาการ

ร้านกาแฟที่กลายเป็นต้นแบบและตำนาน รวมถึงเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือร้านกาแฟที่ชื่อว่า Café Procope ซึ่งเปิดร้านอย่างเป็นทางการในปี 1689 แถมปัจจุบันยังเปิดทำการอยู่ นับว่าเป็นร้านกาแฟแห่งแรกของปารีส และยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบันด้วย

หากย้อนกลับไป เจ้าของร้าน Café Procope เป็นขุนนางอิตาเลียนชื่อ Procopio dei Coltelli และใช้ชื่อฝรั่งเศสว่าฟร็องซัว โปรโคป (François Procope) แรกเริ่มแกมาปารีสและมาขายเมล็ดกาแฟในงานที่แซ็ง-แฌร์แม็ง (Saint-Germain fair) ซึ่งขายดี เพราะกาแฟดีเลยเปิดเป็นร้านขายวัตถุดิบก่อน

ด้วยการประกอบกิจการ รวมถึงตัวแกเองก็ลงหลักปักฐานแต่งงานกลายเป็นคนฝรั่งเศส ตรงนี้เองที่น่าสนใจมากเพราะการประกอบกิจการมีการขึ้นทะเบียนด้วย ซึ่งคุณโปรโคปขึ้นทะเบียนเป็น–ฟังดีๆ ครับ 

เป็นตำแหน่งช่างทำน้ำมะนาว (limonadier) ที่ไม่ได้คั้นและขายแค่น้ำมะนาว แต่ทำเครื่องดื่มอื่นๆ ด้วย 

แกมีสิทธิ์ที่ได้รับการรับรองจากราชสำนักในการจำหน่ายสิ่งอื่นๆ ประกอบด้วยคือเครื่องเทศ และที่สำคัญคือไอศครีม ขอบข่ายความเชี่ยวชาญของแกเป็นหัวใจหนึ่งที่ทำให้คาเฟ่กลายเป็นร้านยอดฮิต นอกจากการขายเหล้า ไวน์ กาแฟ นั่นคือการทำ ‘ไอติม’ ขายร่วมกับการขายกาแฟ

สิ่งที่คาเฟ่โปรโคปเสิร์ฟและมีชื่อเสียงมากๆ คือไอศครีมที่ทำจากทั้งผลไม้และดอกไม้ต่างๆ ทำให้คาเฟ่แห่งนี้เป็นที่นิยมของสุภาพสตรีชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นชนชั้นนายทุนที่มั่งคั่งมีอันจะกินในขณะนั้น และเกิดเป็นคาเฟ่ไอศครีม (café glacier) ซึ่งสุภาพสตรีจะรับกาแฟอย่างหรูหราบนถาดและเครื่องเงินต่างๆ

ในความหรูหรา คาเฟ่แบบปารีสขึ้นชื่อในการเป็นพื้นที่ของศิลปิน เป็นที่ที่นักวาด นักเขียน รวมถึงนักคิดต่างๆ มารวมตัวแลกเปลี่ยนทั้งในเชิงวิชาการและความคิดทางการเมือง หัวใจหนึ่งของคาเฟ่โปรโคปคือร้านตั้งอยู่ตรงข้ามกับโรงละคร Comédie Française ทำให้ลูกค้าของร้านมักจะเป็นทั้งนักคิด นักแสดง นักเขียน นักเขียนบทละคร นักดนตรี และบุคคลสำคัญๆ 

ไม่ว่าจะวอลแตร์ (Voltaire), รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ไปจนถึงบาลซัก (Honoré de Balzac) นักเขียนนวนิยาย และวิกเตอร์ อูโก (Victor-Marie Hugo) สุดยอดนักเขียนเจ้าของผลงาน Les Misérables หรือเหยื่ออธรรม หนึ่งในวรรณกรรมสำคัญของฝรั่งเศส

คาเฟ่ของปารีสจึงไม่ใช่แค่คาเฟ่ แต่เป็นพื้นที่ของการสร้างเครือข่าย ของการกระจายความคิด การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และแน่นอนว่าประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ คือการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เกิดขึ้นโดยมีโต๊ะกาแฟและถ้วยกาแฟเป็นสักขีพยาน และพื้นที่สำคัญที่ทำให้เกิดการรวมตัวขึ้นจนทำการปฏิวัติได้สำเร็จ

คาเฟ่ชาวบ้าน ส่วนผสมพิเศษของ ‘กาแฟชาร์โคล’

ภาพของคาเฟ่แบบปารีสที่เรามักนึกถึงคือคาเฟ่คนเก๋ พื้นที่ของนักคิด คาเฟ่เปิดโล่ง เป็นที่ไว้ถกเถียง ไปจนถึงเป็นพื้นที่ของสุภาพสตรีที่ทั้งดื่มกาแฟและรับประทานของว่างอย่างหรูหรา หรือเป็นพื้นที่ทางศิลปะในชีวิตประจำวัน

ทว่าในกระแสการพัฒนาคาเฟ่ในปารีสและวัฒนธรรมกาแฟแบบปารีส ยังมีกลุ่มคาเฟ่สำคัญที่สัมพันธ์กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม การก่อตัวขึ้นของคนชั้นแรงงานในเมือง ซึ่งทะลักเข้าสู่กรุงปารีสเพื่อทำงานและเอาตัวรอดจากภาคการเกษตรที่ถดถอยลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 – ต้นศตวรรษที่ 20

ปรากฏการณ์สำคัญในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 คือ เมื่อฝรั่งเศสเริ่มสร้างโครงข่ายรถไฟ ชาวนาก็เริ่มตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ใกล้ๆ รางรถไฟ เพื่อทั้งรับเอาวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยและเครื่องมือมากมาย รวมถึงส่งผลิตผลของตนเข้าไปในเมืองต่างๆ ผ่านโครงข่ายรถไฟ 

ภูมิภาคสำคัญที่มีประชากรทั้งชาวนาและแรงงานหนาแน่นคือภูมิภาคโอแวร์ญ (Auvergne) แต่เมื่อสินค้าเกษตรเริ่มไม่ได้ราคา กิจการต่างๆ เช่น การทอผ้าแบบดั้งเดิมล้มหายตายจากเพราะอุตสาหกรรม สิ่งที่เกิดขึ้นคือแรงงานจากชุมชนที่เชื่อมต่อเข้าปารีสได้โดยตรงทะลักเข้าไปในปารีสเพื่อหางานทำ

การทะลักของแรงงานครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1880-1890 รูปแบบการหลั่งไหลเข้าสู่เมืองสัมพันธ์กับภูมิศาสตร์และเส้นทางรถไฟ จากรถไฟของเขตโอแวร์ญ (Auvergnats) พุ่งตรงไปยังเขต 11 และ 12 ของกรุงปารีส แรงงานจึงไปกระจุกตัวอยู่ในสองเขตหลักนี้ สาเหตุหนึ่งคือในช่วงฤดูร้อน ชาวเมืองโอแวร์ญจะสามารถเดินทางกลับบ้านได้

ชะตากรรมของชาวโอแวร์ญถือว่าพลิกผันและเกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของคาเฟ่ในเวลาต่อมา แรกสุดชาวบ้านเหล่านี้เข้าทำงานที่คนปารีสไม่ทำ นั่นคือการหาบน้ำอาบไปยังบ้านคนมีเงินหรือโรงอาบน้ำ ต้องหาบทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็นเพราะยังไม่มีระบบประปา แต่ความเกือบซวยคือเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ไม่ต้องหาบน้ำแล้ว คนเหล่านี้ต้องเข้าสู่การเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่เป็นงานหนักต่างๆ เช่น พวกช่างโลหะ แยกเศษเหล็ก ไปจนถึงโรงแยกขยะ

ในความโชคร้ายกลับมีความโชคดีคือภูมิภาคบ้านเกิดเป็นเขตภูเขา และการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ช่วงศตวรรษที่ 19 เกิดกิจการและความต้องการสำคัญซึ่งก็คือถ่านหิน ทีนี้ชาวบ้านนอก เดิมจากที่หาบน้ำร้อนไปให้ตามบ้าน ก็เปลี่ยนมาทำกิจการส่งถ่านหินมาขายในปารีสซึ่งจะขายดีในช่วงฤดูหนาว เพราะใช้ในการสร้างความอบอุ่นให้กับบ้านเรือน

ความฉลาดของชาวโอแวร์ญคือพอฤดูร้อนถ่านหินขายได้ไม่ดีเท่าไหร่ เจ้าของร้านก็เลยขายเครื่องดื่มเย็นๆ แทน หมายความว่าร้านที่ปกติขายถ่านหินซึ่งผู้คนจะต้องเดินทางมาซื้อบ่อยๆ อยู่แล้ว ก็จะขายของที่ขายได้ทั้งฤดูหนาวและฤดูร้อน 

การขายทั้งถ่านและเครื่องดื่มเย็นจึงทำให้ร้านกลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คน มีบริการเครื่องดื่มและพื้นที่สันทนาการให้กับชนชั้นแรงงานของเมือง ร้านของชาวโอแวร์ญได้ชื่อเล่นว่า Bougnats ซึ่งเป็นคำผสมของ ‘ช่างเผาถ่าน’ (charbonnier) กับชื่อเมืองที่พวกเขาจากมาคือ Auvergnats 

จุดเด่นของคาเฟ่ปารีสในประวัติศาสตร์แรงงานและการปฏิวัติอุตสาหกรรม คือการที่หน้าร้านจะเขียนว่า ไวน์และถ่าน (wine and coal) เป็นการบริการสินค้าสองประเภทที่แสนจะไม่เข้ากัน แต่ขายด้วยกันและกลายเป็นวัฒนธรรมคาเฟ่อีกรูปแบบหนึ่ง

ร้านคาเฟ่ชาวบ้านไม่ได้ดูยากจน แต่เป็นอีกรูปแบบของการให้บริการที่เน้นความอบอุ่น การบริการทั้งอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงการเติบโตขึ้นจากกิจการของความจำเป็นคือถ่านหิน ตรงนี้เองที่น่าจะเป็นจุดถกเถียงที่มักถูกมองข้ามว่า คาเฟ่จากคนบ้านนอกเหล่านี้เป็นอีกส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารเครื่องดื่มและการพักผ่อนหย่อนใจในชีวิตประจำวัน และเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์และวัฒนธรรมประจำวันของปารีส

ตัวคาเฟ่แบบ Bougnats ถือว่าเฟื่องฟูและเป็นวัฒนธรรมคาเฟ่สำคัญของปารีส ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะทศวรรษ 1930 มีตัวเลขคาเฟ่ชาวบ้านมากถึง 2,500 แห่ง วัฒนธรรมของคาเฟ่บางส่วนยังรักษาความเหนียวแน่นของวัฒนธรรมจากการเป็นชาวนา มีการแต่งกาย เต้นรำ หรือช่วยเหลือกันในหมู่ชุมชน 

บางร้านของคาเฟ่ที่มีเจ้าของเป็นชาวโอแวร์ญก็เป็นร้านสำคัญที่มีชื่อเสียงเช่น Café de Flore คาเฟ่ที่ไม่ได้หรูหรา เก๋ไก๋ แต่เป็นคาเฟ่ที่มีเก้าอี้ตัวเล็กๆ นั่งเรียงรายอยู่ริมถนน และเป็นคาเฟ่ที่มีนักเขียนสำคัญตั้งแต่อัลแบร์ กามู (Albert Camus) ไปจนถึงเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) และเจมส์ จอยส์ (James Joyce) เข้ามาใช้เวลา ดื่มกาแฟที่ราคาไม่แพงนัก ซึ่งคาเฟ่แห่งนี้ช่วงหนึ่งดำเนินการโดย Paul Boubal หนึ่งในคนบ้านนอกซึ่งกลายเป็นเจ้าของคาเฟ่ที่เป็นคนโอแวร์ญโดยกำเนิด แต่ถึงอย่างนั้นคาเฟ่ชาวบ้านก็ค่อยๆ หายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งหมดนี้คือบางส่วนของประวัติศาสตร์คาเฟ่ในปารีสซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมคาเฟ่จากสองพื้นที่ จากราชสำนัก สู่การเป็นพื้นที่กินดื่มของแรงงานที่บังเอิญเข้ามาดิ้นรนและได้เติบโตกลายเป็นเจ้าของกิจการร้านกาแฟซึ่งขายส่วนผสมน่าประหลาดคือกาแฟและถ่านหิน

กิจการร้านกาแฟที่ไม่เคยเป็นแค่เรื่องของการดื่มกาแฟ แต่สัมพันธ์อย่างซับซ้อนกับบริบท กับการเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่มีกิจกรรมและกิจการอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะพื้นที่สำคัญของการใช้เวลาหรือการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของโลกสมัยใหม่

อ้างอิงข้อมูลจาก

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

ชื่อกล้วยค่ะ banana blah blah เป็นนักวาด บางวันจับเม้าส์ปากกา บางวันจับลูกกลิ้งทำภาพพิมพ์ สนใจ Art therapy และการวาดภาพเพื่อ Healing เชื่อว่าการทำงานที่ดีต้องทำให้เราอิ่มทั้งกายและใจ ได้มองเห็นตัวเองเติบโตภายใน

You Might Also Like