Paris, Je t’aime

ลุยปารีสตามรอยธุรกิจร้านอาหารที่อยู่ในหนังทั้ง Emily in Paris, Midnight in Paris, Julie & Julia

เมืองใหญ่ที่ถูกเอ่ยขานตามๆ กันมาว่าเป็นมหานครของโลกใบนี้ ไม่ว่าจะนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว ปักกิ่ง ต่างก็มีมนตร์เสน่ห์ที่ชวนให้ผู้คนต้องหลงใหลต่างกันไปคนละแบบ บางเมืองโดดเด่นที่การวางผังเมือง บางเมืองโดดเด่นที่การรักษาสิ่งแวดล้อม บางเมืองโดดเด่นที่การผสมผสานคนหลากหลายเชื้อชาติ แต่ถ้าเราพูดถึงเมืองแห่งความรัก เมืองแห่งแสงไฟ เมืองที่ไม่เคยหลับใหลจากแฟชั่นแถมยังเป็นเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของอาหารหลายๆ อย่างที่เป็นที่รักที่ถูกปากของคนทั้งโลก เราคงต้องคิดถึงที่นี่

ปารีส

ความคิดขณะแรกที่รู้ตัวว่าจะได้ไปปารีส 17 วันของเราคือ เอาล่ะ ฉันจะกวาดกินครัวซองต์กับช็อกโกแลตร้อนทุกร้าน ทุกคาเฟ่ที่อยู่ในสายตา ที่ได้เดินผ่านให้เรียบเลย! ไม่ใช่ในฐานะคอลัมนิสต์และคนจัดรายการ Bon appétit ธุรกิจรอบครัวอะไรหรอก แต่แค่ในฐานะคนที่หลงรักอาหารฝรั่งเศสอย่างสุดหัวใจมาแต่ไหนแต่ไรต่างหาก

ถึงจะอยู่ปารีสนานร่วมสิบวัน แต่การจะกวาดกินขนมทุกร้าน แวะทุกคาเฟ่โดยไม่มีทิศทางดูจะเป็นอะไรที่ไร้เป้าหมายเกินไป เราเลยตั้งธีมขึ้นมาให้ตัวเองได้พอสนุกว่า เราจะไปตามรอยร้านอาหาร และคาเฟ่ต่างๆ ที่มีฉากหลังเป็นมหานครแห่งความรักแห่งนี้ดีกว่า

ว่าแล้วก็เตรียมกระเพาะอาหารแล้วตามเรามาได้เลย เราจะพาไปท่องปารีสเอง!

Emily in Paris

อาจจะมีซีรีส์และหนังหลายเรื่องที่ใช้ปารีสเป็นฉากหลัง แต่คงต้องยอมรับว่าตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ซีรีส์ที่ถ่ายทำในปารีสและถูกพูดถึงมากที่สุด และอาจยังต้องถือว่าเป็นซีรีส์ที่ทำให้คนอยากลัดฟ้าบินไปปารีสมากที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ ออริจินัลซีรีส์จาก Netflix เรื่อง Emily in Paris

Emily in Paris พูดถึงเอมิลี่ นักการตลาดสาวจากอเมริกาที่ต้องย้ายมาประจำการที่ปารีส ที่ด้วยหน้าที่การงานที่มีโอกาสได้พบเจอกับคนมากหน้าหลายตาอยู่บ่อยๆ อยู่แล้ว เพราะเธอต้องเจอกับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าระดับไฮเอนด์ ทั้งร้านอาหาร เสื้อผ้า หน้าผม งานสังคมต่างๆ ที่เอมิลี่ไป ที่เอมิลี่กิน ดูจะน่าสนใจน่าไปลองเช็กอินตามไปซะหมด

ร้านที่เราไปเยือนคือ Terra Nera ร้านอาหารอิตาเลียน ที่ตั้งอยู่ที่ถนน Rue des Fossés-Saint-Jacques โดยหนึ่งในฉากน่าประทับใจในเรื่อง Emily in Paris คงหนีไม่พ้นซีนที่นางเอกสาวชาวอเมริกันยืนกรานขอให้ทางร้านอาหารเปลี่ยนสเต๊กให้สุกแบบมีเดียมแรร์แบบที่เธอต้องการ ไม่ใช่สุกแบบตามใจเชฟ

ถึงแม้ว่าพนักงานเสิร์ฟจะยืนกรานเสียงแข็งว่า นี่คือระดับความสุกที่เชฟการันตีแล้วว่าอร่อยที่สุดและดีที่สุดสำหรับสเต๊กจานนี้ แต่เอมิลี่ก็ยังคงยืนกรานว่า “Customer is always right” (ลูกค้าต้องถูกเสมอสิ!) พนักงานเสิร์ฟจึงหมดหนทางจะเถียงต่อ ต้องไปตามเชฟออกมาอธิบายด้วยตัวเองว่าสเต๊กจานนี้ตกลงมันควรสุกระดับไหนกันแน่

แต่เอมิลี่ อเมริกันเกิร์ลที่สดใสและแสนมั่นใจก็ต้องอ่อนระทวยลงในทันใด เมื่อเชฟรูปหล่อนัยน์ตาฟ้าปนเทา ผมสีบลอนด์เข้มเดินออกมาจากครัวแล้วถามว่า 

“ได้ข่าวว่าสเต๊กของคุณมีปัญหาหรอครับเอมิลี่”

ใช่น่ะสิ เชฟรูปงามคนนั้น คือแกเบรียล เพื่อนบ้านแสนดีของเอมิลี่ และร้านอาหารร้านนั้นในซีรีส์ คือร้านอาหารที่เชฟแกเบรียลสุดหล่อทำงานอยู่

ในเรื่อง Emily in Paris ร้านอาหารร้านนี้ชื่อว่า Les Deux Compères ขายอาหารฝรั่งเศสและต่อมาได้ถูกเปลี่ยนชื่อให้เป็น L’Esprit de Gigi เมื่อแกเบรียลได้ขยับขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนของร้าน แต่ก็ยังคงเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสอยู่แต่ใส่ความเป็นนอร์มังดีเข้าไปตามพื้นเพเดิมของแกเบรียล

การตกแต่งในร้านทั้งจานชาม โต๊ะ เก้าอี้ จากในเรื่องสู่ความจริงดูเหมือนกันทุกอย่างไม่มีผิดเพี้ยน ต่างกันเพียงตรงที่ว่า ในความเป็นจริงแล้วร้านร้านนี้ ไม่ได้ชื่อว่า Les Deux Compères หรือ L’Esprit de Gigi แต่ชื่อว่า Terra Nera แถมไม่ได้ขายอาหารฝรั่งเศสแต่อย่างใด แต่ขายอาหารอิตาเลียนและเมดิเตอร์เรเนียนต่างหาก

Midnight in Paris

บางครั้งแค่เห็นชื่อผู้กำกับเราก็พอจะเดามู้ดแอนด์โทนของหนังเรื่องนั้นๆ ออกตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าไปดูตัวอย่างหนังด้วยซ้ำ และสำหรับ Woody Allen ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งผู้กำกับที่ใครๆ พอจะเดาทางได้เมื่อเห็นชื่อของเขาคนนี้ว่าน่าจะต้องเป็นหนังที่มีโทนในการเล่าเรื่องที่ฉลาดคมคาย

วู้ดดี้ อัลเลน เติบโตมาจากย่านบรูกลินที่คุณพ่อเป็นคนทำหนังสือ คุณแม่ทำงานที่ร้านขายดอกไม้ ส่วนตัวเขาเองก็เป็นป๊อปปูลาร์บอยตั้งแต่เด็ก เพราะชอบทำกิจกรรมในโรงเรียน จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นวู้ดดี้ทำหนังเกี่ยวกับนิวยอร์กอยู่บ่อยๆ เช่นแมนแฮตตัน ใน A Rainy Day in New York (2019)

แต่นอกจากนิวยอร์กแล้ว เมืองที่ดูจะรักวู้ดดี้มากเป็นพิเศษ เพราะหนังของวู้ดดี้ได้รับฟีดแบ็กที่ดีเสมอเมื่อเข้าฉายที่นั่น และวู้ดดี้เองก็รักเมืองนี้เช่นกัน และเมืองๆ นั้นคือ ปารีส

หากความรู้สึกที่ดีที่สุดในโลกคือ การที่เรารักใครสักคนแล้วเขาก็รักเราตอบ หัวใจที่เขามอบให้แก่เรามีขนาดคลับคล้ายคลับคลาว่าจะพอดีกันกับขนาดของหัวใจที่เรามอบให้แก่เขา ความสัมพันธ์ระหว่างวู้ดดี้ อัลเลน กับปารีส คงถือว่าเป็นความรักที่ดีที่สุดในโลกอย่างแน่นอน 

วู้ดดี้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า 3 เมืองในโลกนี้ที่เขาชอบที่สุดคือ นิวยอร์ก เวนิส และปารีส ไหนๆ เราก็อยู่ที่ปารีสแล้ว และหนังเรื่อง Midnight in Paris (2011) ของวู้ดดี้ที่เล่าถึงการย้อนเวลากลับไปในอดีตของพระเอก Gil Pender โดยมีฉากหลังเป็นปารีส

เรื่องราวแบบเหนือจริงที่ตัวเอกสามารถย้อนเวลาทะลุมิติแบบนี้เราคงได้เห็นกันอยู่บ่อยครั้งแล้ว แต่ความฉลาดในการเล่าเรื่องของหนังวู้ดดี้เรื่องนี้อยู่ที่การผูกโยงภาพของปารีสในอดีตและปัจจุบันได้อย่างแนบเนียน แถมเล่ามันออกมาได้อย่างดงามทั้งในด้านฉากหลังที่มีภาพทัศน์เป็นปารีส และเรื่องราวต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่เมืองแห่งนี้เคยเป็นแหล่งรวมตัวของนักประพันธ์ นักเขียนก้องโลกมากมาย

กิล พระเอกของเรื่องสามารถย้อนเวลากลับไปได้ในยุค 1920s โดยเขาได้ไปพบกับเหล่าศิลปิน นักคิด นักเขียน ผู้มีชื่อเสียงมากมายที่อาศัยอยู่ในปารีสในยุคนั้น เช่น F. Scott Fitzgerald, Ernest Hemingway และ Jean Cocteau

The Crémerie-Restaurant Polidor คือสถานที่ที่กิลได้พบกับเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ บทสนทนาที่เขาทั้งสองในฐานะนักเขียนที่ถึงแม้จะอยู่กันคนละช่วงยุค แต่ใจก็ใฝ่ไปในทางเดียวกันดูเป็นบทสนทนาที่น่าสนใจ ซื่อสัตย์ จริงใจ ที่นักเขียนสองคนจะแลกเปลี่ยนความคิดต่ออาชีพของตัวเองให้แก่กันและกันได้ 

กิลเองมาจากยุคปัจจุบันที่คนต่างยกย่องว่างานเขียนของเฮมิงเวย์นั้นยิ่งใหญ่ ส่วนเฮมิงเวย์เองอาศัยอยู่ในยุคของตัวเองซึ่งเขาไม่สามารถหยั่งรู้ได้เลยว่า งานเขียนของเขาจะเป็นสิ่งที่คนต่างเล่าขานถึงและถูกตีพิมพ์ซ้ำๆ เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วหลังจากเขาเสียชีวิตลงในปี 1961

 ร้าน The Crémerie-Restaurant Polidor เป็นร้านอาหารเก่าแก่ของปารีสที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1845 ในร้านขายอาหารฝรั่งเศสและเป็นร้านที่เหล่านักเขียน และปัญญาชนชอบมารวมตัวกันตั้งแต่สมัยไหนๆ ชื่อที่เราน่าจะคุ้นหูกันดีน่าจะมี James Joyce, Boris Vian และเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ปัจจุบันนี้ร้าน Polidor ยังคงเปิดให้บริการและเสิร์ฟความอร่อยให้คนปารีสอยู่ทุกวัน 

อาจจะเป็นที่ตำแหน่งที่ตั้งของร้านที่ตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษาอย่าง University of Paris และ The Collège de France ทำให้เราได้เห็นนักศึกษาแวะเวียนมาเป็นลูกค้าร้านนี้อยู่จำนวนไม่น้อย แถมอีกสาเหตุที่ทำให้ร้านนี้เป็นขวัญใจนักศึกษารวมถึงชาวปารีส นั่นคือ นอกจากอาหารฝรั่งเศสของร้านนี้จะเสิร์ฟด้วยความอร่อยและใส่ใจในการทำ ราคาที่ร้าน Polidor ตั้งเอาไว้เมื่อเทียบกับทั้งบรรยากาศ คุณภาพ และความอร่อยของอาหาร ถือว่าเป็นราคาที่เป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์มากโขอยู่ทีเดียว

 Julie & Julia

เต๋อ นวพล เคยเขียนบทเอาไว้ว่า “ถ้าเรารักอะไรสักอย่าง มันจะพาเราไปสักที่” 

ถ้าอย่างนั้นแล้วสิ่งที่พาให้ผู้หญิงสองคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่เคยเห็นหน้ากัน แต่กลับมีเรื่องราวที่ผูกโยงเขาทั้งสองต่อกันไว้ได้อย่างสวยงามแถมพามาอยู่จุดที่เกือบจะรู้จักกันได้ คงจะหนีไม่พ้นความรักในอาหารของหญิงทั้งคู่

Julia Child หญิงที่ติดตามสามีนักการทูตมาอาศัยอยู่ในปารีส เธอจึงไปเรียนทำอาหารที่โรงเรียนสอนทำอาหาร Le Cordon Bleu จนต่อมาเธอได้ตีพิมพ์หนังสือสอนทำอาหารร่วมกับเพื่อนอีกสองคน โดยหนังสือเล่มนั้นคือ Mastering the Art of French Cooking แถมเธอยังมีรายการทีวีทำอาหารเป็นของตัวเองที่เป็นระดับตำนานอีกต่างหาก

ไม่ว่าเธอจะหยิบจับ เคลื่อนไหวไปมายังไงในห้องครัว มันช่างพลิ้วไหวดูเป็นธรรมชาติ เธอสามารถโรยเกลือใส่ลงไปในออมเลตแบบรวดเร็วจนคุณไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำ ไม่ใช่เพราะเธอมือไวหรือเคลื่อนไหวราวกับพายุ แต่เพราะทุกอิริยาบถของเธอในห้องครัวดูเต็มไปด้วยความรื่นรมย์และรอยยิ้ม จนคุณเพลิดเพลินไปกับการมองมวลรวมทุกบรรยากาศที่เธอสร้างขึ้นมาโอบล้อมครัวนั้นไว้

Julie Powell หญิงที่ติดอยู่กับงานรูทีนแบบเดิมๆ ที่เธอไม่ได้รัก แต่จำต้องทำเพราะชีวิตบางครั้งก็ไม่ได้อนุญาตให้เราได้มีทางเลือกมากมายนัก เธอคิดจะหาบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเป้าหมายของชีวิต เพื่อให้ตัวเองได้ตื่นขึ้นมาในแต่ละวัน และเป้าที่เธอตั้งไว้คือการทำอาหารทุกวันทั้ง 524 เมนู จากหนังสือ Mastering the Art of French Cooking ของจูเลีย ไชลด์ เป็นเวลา 1 ปี และเธอจะบันทึกการทำอาหารผ่านบล็อกของเธอทุกวัน เมื่อเขียนบล็อกทุกวันๆ เข้า ก็เริ่มมีคนสนใจตามอ่านเรื่องราวการทำอาหารของจูเลียมากขึ้นทุกวัน จนสุดท้ายเธอก็ได้ทำอาหารต้อนรับคอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์ The New York Times เรื่องราวการทำอาหารของเธอถูกตีพิมพ์และถูกกล่าวถึงในสื่อต่างๆ มากมาย

จนแล้วจนรอดในที่สุดในตอนจบหญิงสองคนนี้ไม่ได้รู้จักกัน แต่เราเชื่อว่าเรื่องราวของทั้งสองเป็นทั้งไฟเป็นทั้งน้ำให้กับคนทุกคนที่ดูหนังเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้น่าจะช่วยเติมไฟให้กับคนหลายคนที่กำลังท้อและเหนื่อยกับชีวิต แต่การลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างที่เราเห็นว่ามันช่างเล็กน้อย แต่มันก็อาจจะยิ่งใหญ่ได้ แล้วไม่ใช่เพราะมันจะทำให้เราได้ตีพิมพ์หนังสือ หรือทำให้เราได้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ชื่อดัง แต่มันทำให้เราได้ตื่นมาพร้อมกับเป้าประสงค์อะไรสักอย่างในชีวิต เป็นไฟที่ผลักให้เราต้องตื่นขึ้นมาทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ

ในขณะเดียวกันหนังเรื่องนี้ก็คงจะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้คนดูได้ชุ่มชื่นหัวใจ ไหนจะการทำอาหารแต่ละเมนูที่ทั้งจูเลียและจูลี่ทำ ใครมันจะอดใจไม่น้ำลายไหลตามไหวบ้าง!

Shakespeare and Company Café–คือคาเฟ่ที่เราเลือกไปตามรอยสำหรับหนังเรื่องนี้ ภายในร้านบรรยากาศน่ารัก มีโต๊ะที่ทำเป็นบาร์ไม้ยาวๆ ริมหน้าต่างสามารถนั่งไปด้วยมองออกนอกกระจกชมผู้คนที่เดินผ่านไปมาได้ด้วย ขนมอบ ขนมปัง ชา กาแฟ ในร้านค่อนข้างหลากหลาย ร้านนี้เป็นคาเฟ่แบบบริการตัวเอง นั่นคือคุณเดินไปสั่งอาหาร จ่ายเงิน และยกของกินเครื่องดื่มทั้งหมดมานั่งที่โต๊ะเอง

ถ้าถามเราว่าคาเฟ่นี้ปรากฏในฉากหนังเรื่องนี้ในซีนไหน เราคงตอบคุณแบบเกรงใจๆ ว่า จริงๆ แล้วไม่ได้ปรากฏในฉากไหนเลย

อ้าว!

แต่ที่เราเรียกว่าตามรอย Julie & Julia มาที่ร้านคาเฟ่แห่งนี้ เพราะร้านหนังสือข้างๆ คาเฟ่ร้านนี้ที่มีชื่อร้านว่า Shakespeare and Company เป็นร้านหนังสือที่จูเลีย ไชลด์ ไปยืนค้นหนังสือในตอนต้นๆ ของเรื่อง ตอนเพิ่งย้ายมาอยู่ที่ปารีสใหม่ๆ

ร้านหนังสือ Shakespeare and Company เป็นร้านหนังสือเก่าแก่ของปารีสที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1951 โดย George Whitman แถมเป็นร้านหนังสือที่เป็นแหล่งรวมพลคนรักการอ่านการเขียนมาตั้งแต่ยุคไหนๆ เดิมทีร้านนี้ชื่อว่า Le Mistral ต่อมาร้านนี้ได้ถูกเปลี่ยนให้ชื่อว่า  Shakespeare and Company ในปี 1964 ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1.ในฐานะครบรอบ 400 ปีเกิดของวิลเลียม เชกสเปียร์ 2. เป็นเกียรติให้กับนักทำร้านหนังสือที่จอร์จศรัทธา นั่นคือ Sylvia Beach (ซึ่งซิลเวียเปิดร้านหนังสือชื่อ Shakespeare and Company เช่นกันแต่เปิดในช่วงปี 1919-1941)

ร้านหนังสือ Shakespeare and Company ของจอร์จจึงถูกมองว่าเป็นร้านหนังสือที่เป็นทายาทของซิลเวีย เพราะเหมือนจะสืบทอดเจตนารมณ์ต่างๆ เฉกเช่นเดียวกันกับร้านหนังสือของซิลเวีย ร้าน Shakespeare and Company ของซิลเวีย เป็นร้านหนังสือภาษาอังกฤษที่รวบเอาคอนเซปต์ร้านหนังสือและห้องสมุดเข้าไว้ด้วยกันเป็นแห่งแรกของปารีส

พูดง่ายๆ คือ ถ้าใครไม่มีเงินพอจะซื้อหนังสือ ก็สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของร้านแล้วมายืมหนังสือกลับไปอ่านได้ที่บ้าน เมื่ออ่านจบแล้วก็เอาหนังสือมาคืน หรือจะสมัครเป็นสมาชิกแล้วเข้ามานั่งอ่านหนังสือในร้านเฉยๆ ก็ยังได้ ไม่ต้องซื้อหนังสือเลยสักเล่ม

หรือหากจะมากไปกว่านั้นคือ เหล่านักเขียนบางคนอาจจะไม่มีเงินแม้กระทั่งจะสมัครเป็นสมาชิกของร้าน (เช่นเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ก็เคยมียุคที่ไม่มีเงินสมัครเป็นสมาชิกของร้าน) ซิลเวียก็อนุญาตให้เข้ามาอ่านหนังสือที่ร้านได้โดยไม่คิดเงินอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้เอง ร้าน Shakespeare and Company จึงเป็นแหล่งรวมพลคนรักการอ่านการเขียนมาตั้งแต่ยุค 100 กว่าปีที่แล้ว หรือแม้กระทั่งเจมส์ จอยซ์ เองก็เป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีความสัมพันธ์อันดีที่สุดกับร้านหนังสือแห่งนี้

จอร์จตั้งใจว่าจะให้ร้าน Shakespeare and Company เป็นเมกกะรวมคนที่รักการอ่านการเขียนไว้ด้วยกัน จนถึงปัจจุบันเหล่าคนรักการอ่านจากทั่วทุกมุมโลกยังคงแวะเวียนมาที่ร้านหนังสือแห่งนี้อยู่อย่างเนืองแน่นจนถึงกับต้องเข้าคิวเพื่อเข้าร้านหนังสือ! 

จูเลีย ไชลด์ ก็คือหนึ่งในคนรักการอ่านหนังสือ (ครัว) ที่โชคชะตาพาเธอมาถึงปารีสจนเธอได้มายืนหาหนังสือที่หน้าร้าน Shakespeare and Company เช่นกัน ดังนั้นหากคุณได้มีโอกาสแวะไปซื้อหนังสือสักเล่มที่ร้านนี้ เดินไปอีกสัก 10 ก้าว คุณก็สามารถนั่งอ่านหนังสือที่เพิ่งซื้อไป จิบกาแฟไป ชมวิวเมืองปารีสไป เหมือนกับที่เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, เจมส์ จอยซ์ หรือจะเป็นจูเลีย ไชลด์ เคยทำได้ที่นี่

หวังว่าการมาท่องปารีสด้วยกันในคราวนี้พร้อมกับธีมหนังทั้งสามเรื่องจะทำให้คุณเพลิดเพลินและลึกซึ้งกับมหานครแห่งนี้มากขึ้น นอกจากครัวซองต์ร้อนๆ และบาแกตต์อุ่นๆ คราวต่อไปหากคุณได้ไปปารีส ถ้าโชคชะตาและทุกอย่างถูกจัดสรรไว้อย่างลงตัว เราอยากให้คุณได้ลองไปตามรอยร้านเหล่านี้ เผื่อว่าคุณจะตกหลุมรักปารีสแบบที่ปารีสทำให้เราตื่นขึ้นมาทุกเช้าที่อยู่ที่นั่นพร้อมกับคำคำนี้ที่ดังในใจว่า

Paris, Je t’aime.  

ที่มา

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

You Might Also Like