Bar B Q Plaza
35 ปี ‘บาร์บีคิว พลาซ่า’ และ 35 เรื่องน่ารู้ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และการทำให้ธุรกิจเติบโตในปีถัดไป
“35 ปี ถ้าเปรียบเป็นคน นี่ก็คงเป็นคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ผ่านวิกฤตต่างๆ มามากมาย”
ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์อย่างบาร์บีคิว พลาซ่า เรดซัน และฌานา กล่าวประโยคนี้กับสื่อมวลชนในงานแถลงข่าวครั้งล่าสุด
โดยนี่ถือเป็นการแถลงข่าวครั้งใหญ่ของบริษัท เพราะนอกจากจะเป็นการออกมาพบปะสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของชาตยาครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปีนับตั้งแต่มีโควิดมา เธอยังพาทีมผู้บริหารทั้งที่เป็น COO, CMO, CFO มาร่วมล้อมวงเพื่อพูดคุยเรื่องภาพรวมของธุรกิจฟู้ดแพชชั่นในปัจจุบันและแผนการเติบโตในขวบปีถัดไป
และต่อไปนี้คือ 35 เรื่องน่าสนใจที่สรุปจากสิ่งที่ชาตยาบอกเล่าในงานแถลงข่าวครั้งนี้
1. ก่อนจะเล่าถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ชาตยาเล่าเรื่องของอดีตและปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นในธุรกิจให้ฟังว่า “ในปี 2565 ที่ผ่านมาถือว่าฟู้ดแพชชั่นได้ผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดอย่างโควิดมาแล้ว”
2.โดย 3 ไตรมาสที่ผ่านมาฟู้ดแพชชั่นสามารถทำรายได้ไปได้ 2,700 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตจากปี 2564 มากถึง 60% ซึ่งถือเป็นรายได้ที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่จะเกิดโควิด
3. รายได้จำนวน 2,700 ล้านบาทนี้มาจาก บาร์บีคิว พลาซ่า 2,606 ล้านบาท ฌานา 9 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจอื่นๆ อีก 85 ล้านบาท (เช่นธุรกิจร้านรูปแบบใหม่, ธุรกิจต่างประเทศ, ธุรกิจสินค้าสำเร็จรูป, ธุรกิจศูนย์การอบรมและศูนย์การเรียนรู้)
4. นอกจากการกลับมาใช้ชีวิตปกติของผู้คน อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้รายได้ของบาร์บีคิว พลาซ่าพลิกฟื้นกลับมาจนใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดคือการเอาเทคโนโลยีและดาต้ามาช่วยตัดสินใจในการวางกลยุทธ์ต่างๆ
5. ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น จากการใช้เทคโนโลยีทำให้บาร์บีคิว พลาซ่าสามารถแบ่งกลุ่มลูกค้าออกมาได้เป็น 11 กลุ่มหลักๆ ด้วยกัน ไล่เรียงตามระดับความรอยัลตี้ลดหลั่นกันลงไปได้แก่กลุ่มลูกค้าที่เป็น champion, loyal, potential loyalist, promising, need attention, new customer, about to sleep, at risk, cannot lost them, hibernating customer, lost customer เมื่อกลุ่มเป้าหมายชัด การทำกลยุทธ์ต่างๆ ก็ย่อมชัดเจนและแม่นยำมากขึ้นไปด้วย
6. เทคโนโลยียังทำให้ในปีที่ผ่านมา บาร์บีคิว พลาซ่าสามารถออกโปรโมชั่นได้มากกว่า 50 โปรโมชั่น ซึ่งแต่ละโปรโมชั่นจะมีไดนามิก คือออกในช่วงสั้นๆ 7 วัน 14 วัน และ 30 วัน
7. เมื่อโปรโมชั่นมีไดนามิก นั่นหมายความว่าทันทีที่รัฐผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ของโควิด ก็ทำให้บาร์บีคิว พลาซ่าสามารถกลับมาทำมาร์เก็ตติ้งกระตุ้นการขายได้อย่างทันท่วงที คว้าโอกาสในการอยากกลับมานั่งกินที่ร้านของผู้คนเอาไว้ทัน
8. มาถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ในไทยมีบาร์บีคิว พลาซ่าอยู่ 148 สาขา เรดซัน 15 สาขา GON Express 8 สาขา และฌานาอีก 1 สาขา
9. โดยบาร์บีคิว พลาซ่ามีจำนวนสมาชิกมากถึง 1,915,376 ราย
10. นอกจากในไทยแล้ว บาร์บีคิว พลาซ่าก็ยังมีร้านอยู่ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา ด้วยเช่นกัน
11. การไปเปิดสาขาที่ต่างประเทศนั้นจะเน้นการทำ localize ทำให้แบรนด์สามารถเข้ากับคนในประเทศต่างๆ ได้ เช่นการนำเอาเมนูท้องถิ่นของแต่ละประเทศมาอยู่ในบาร์บีคิว พลาซ่า
12. ในปีหน้าเป็นครั้งแรกที่บาร์บีคิว พลาซ่าจะไปเปิดที่ลาว ซึ่งจะเป็นร้านแบบสแตนด์อโลนขนาดใหญ่
13. การเปิดสาขาในต่างประเทศ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาของปี 2565 ฟู้ดแพชชั่นมีรายได้จากธุรกิจต่างประเทศราว 425 ล้านบาท
14. นอกจากนี้ก็ยังมีแผนขยายสาขาไปยังฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนามด้วยเช่นกัน
15. ส่วนในอนาคต–เริ่มที่อนาคตอันใกล้กันก่อน ฟู้ดแพชชั่นตั้งเป้าเอาไว้ว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีรายได้รวมทั้งหมด 3,500 ล้านบาท
16. คาดว่ารายได้จะขยับขึ้นเป็น 3,800 ล้านบาทในปี 2023
17. ส่วนในปี 2025 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า รายได้ของฟู้ดแพชชั่นก็จะขยับมาเป็น 4,500 บาท
18. การจะไปถึง 4,500 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องขยายช่องทางในการหารายได้ ตั้งแต่การปรับปรุงร้านเดิม ขยายสาขาใหม่ และขยายโอกาสที่ทำให้ลูกค้ามาเจอกับแบรนด์ได้บ่อยมากขึ้น แม้จะไม่ได้ไปนั่งปิ้งกินที่ร้านก็ตาม
19. นี่เลยเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฟู้ดแพชชั่นขยายแบรนด์ออกมาทำแบรนด์ GON EXPRESS และออกมาทำน้ำจิ้มที่อยู่ในรูปแบบขวดออกมาขายเป็นครั้งแรก ซึ่งจะเริ่มขายในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันแรกบน Lazada
20. จากการชิมลางทดลองขายน้ำจิ้มตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ น้ำจิ้มบาร์บีคิว พลาซ่าสามารถสร้างรายได้ไปได้ทั้งหมด 11.2 ล้านบาท
21. คาดว่าการเอาน้ำจิ้มมาบรรจุขวดขายจะสามารถทำให้รายได้ที่มาจากน้ำจิ้มเพิ่มขึ้นมาเป็น 12-15 ล้านบาทในสิ้นปีนี้
22. ส่วนในแง่ของสาขาหน้าร้านก็จะมีการเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ในร้านมากขึ้น ทั้งการเพิ่มพนักงานที่เป็นหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเสิร์ฟภายในร้าน หรือการทดลองเปิดร้านที่เป็นดิจิทัลสโตร์สาขาแรกที่สีลม คอมเพล็กซ์
23. บาร์บีคิว พลาซ่าตั้งเป้าว่าจะเปิดสาขาที่เป็นดิจิทัลสโตร์ให้มีจำนวนทั้งหมด 40 สาขาภายในปี 2566
24. ความต่างของดิจิทัลสโตร์กับสาขาแบบดั้งเดิมที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป คือจะมีการเอาความเป็นดิจิทัลมาใช้ตั้งแต่ลูกค้ายังไม่ก้าวเข้ามาในร้าน เริ่มตั้งแต่การจองคิว ดูเมนู สั่งอาหาร จ่ายเงิน ซึ่งทุกอย่างจะทำบนช่องทางดิจิทัลทั้งหมด
25. นอกจากจะเป็นการปรับธุรกิจให้เข้ากับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป การเอาดิจิทัลเข้ามาใช้ก็ยังช่วยทำให้การจัดการในธุรกิจง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องเงินสด ที่ต้องอาศัยต้นทุนในการจัดการเป็นอย่างมาก ทั้งคนที่ต้องมานับเงิน คนที่ต้องเอาเงินไปเข้าธนาคาร ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของบาร์บีคิว พลาซ่า ก็พบว่าแต่ละสาขาต้องเสียกำลังคน 50 ชั่วโมง / เดือน ไปกับการจัดการเรื่องเงินสดเพียงอย่างเดียว
26. ในแง่ของดิจิทัลก็ยังมีการพัฒนา LINE OA เป็นของตัวเองที่ให้ลูกค้าสั่งบาร์บีคิว พลาซ่าบนไลน์ได้ แบบไม่ต้องโหลดแอพฯ เข้ามาเพิ่มในมือถือ
27. ความพิเศษของช่องทางไลน์คือ มีบริการให้ยืมเตา ปิ้งเสร็จก็ไม่ต้องล้าง เพียงใส่ถุงวางไว้หน้าบ้าน เดี๋ยวมีพนักงานมาเก็บกลับไปให้ ซึ่งถ้าสั่งทาง Grab, LineMan หรือแอพฯ สั่งอาหารอื่นๆ จะไม่มีบริการให้ยืมเตา
28. นอกจากแบรนด์ที่เป็นเรือธงอย่างบาร์บีคิว พลาซ่าแล้วนั้น ‘เรดซัน’ แบรนด์ร้านอาหารสไตล์เกาหลีก็มีมูฟเมนต์ในการปรับตัวที่น่าสนใจเช่นกัน โดยปีนี้เรดซันจะขยายโมเดลร้านในรูปแบบใหม่ เป็นป๊อปอัพสโตร์ที่มีสไตล์เป็นเหมือนร้านอาหารเต็นท์แบบในเกาหลี และจะทดลองเปิดสาขาแรกที่สยามสแควร์ ในวันที่ 16 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
29. ไม่เพียงแค่ธุรกิจอาหาร แต่ฟู้ดแพชชั่นยังทำศูนย์การอบรมและศูนย์การเรียนรู้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันมีนักเรียนอยู่ 310 คน
30. ทั้งยังมีศูนย์ฝึกอบรมฟู้ดแพชชั่น เปิดสอนหลักสูตรการสุขภิบาลอาหาร สำหรับคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารมาตั้งแต่ปี 2564 โดยจากตัวเลขในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้แล้วกว่า 10,000 คน
31. ในพาร์ตธุรกิจการศึกษา ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าภายในปี 2025 จะมีนักเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเป็นจำนวน 1,000 คน และจำนวนผู้เข้ามาในศูนย์ฝึกอบรมฟู้ดแพชชั่นเป็นจำนวน 25,000 คน
32. ไม่เพียงแต่เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ หรือเพื่อพัฒนาคนในองค์กรเท่านั้น แต่การเปิดหลักสูตรหรือศูนย์อบรมนี้ ก็เป็นส่วนสำคัญในการทำให้อุตสาหกรรมมีบุคคลากรเก่งๆ มากขึ้น และย่อมส่งผลให้อุตสาหกรรมร้านอาหารเติบโตขึ้นไปด้วย
33. นอกจากธุรกิจ คน ‘สิ่งแวดล้อม’ ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ชาตยาหยิบยกมาเล่าในครั้งนี้ โดยเธอได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าฟู้ดแพชชั่นจะเป็นองค์กรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2030
34. และตั้งเป้าไว้อีกว่าภายในปี 2050 ฟู้ดแพชชั่นจะเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือหมายถึง Net Zero ที่หลายๆ องค์กรทั่วโลกกำลังพูดถึงนั่นเอง
35. อย่างที่เล่าไปในตอนต้น ชาตยาบอกว่า “35 ปี ถ้าเปรียบเป็นคน นี่ก็คงเป็นคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ผ่านวิกฤตต่างๆ มามากมาย”