Career Past

เรื่องเล่าผ่านนามบัตร 8 ใบ ที่หล่อหลอมจนกลายมาเป็น ‘บุณย์ญานุช’ แห่ง Bar B Q Plaza

หลายคนอาจคิดว่าผู้บริหารระดับ C Level ที่มีตำแหน่งขึ้นต้นด้วยตัว C ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น CEO, CFO, CMO หรือ C อะไรก็ตามที่มีหน้าที่กำหนดกลยุทธ์และทิศทางขององค์กร ล้วนแต่จะต้องเรียนจบปริญญาโทเป็นอย่างน้อยหรือไม่ก็มีดีกรีเรียนจบจากเมืองนอกอยู่ในเรซูเม่

ทว่าไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป เมื่อได้พบกับเรื่องราวของ บุณย์ญานุช บุญบํารุงทรัพย์ CMO หรือ Cheif Possible Marketing Office ของ Food passion บริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์ร้านอาหารที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีอย่าง Bar B Q Plaza 

โปร์ไฟล์ของเธอนั้นไม่ได้แตกต่างหรือโดดเด่นจากคนทั่วไปมากนัก เธอเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง ไม่มีเส้นสาย เข้าไปเรียนโรงเรียนมัธยมแถวบ้านได้ด้วยการจับฉลาก เข้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ด้วยเหตุผลที่ว่าเอ็นทรานซ์ไม่ติดและเป็นมหาวิทยาลัยที่มีดาราเรียนเยอะ เลือกเรียนในเอกประชาสัมพันธ์จากการตัดชอยส์ที่คิดว่าคงเรียนวารสารไม่ได้เพราะเขียนไม่เก่ง ไม่เรียนโฆษณาพราะคิดว่าเป็นคนไม่ครีเอทีฟ จบปี 4 ก็เข้าทำงานในบริษัททันที ไม่ได้ต่อปริญญาโท ไม่เคยไปเรียนต่างประเทศ แต่ใช้ประสบการณ์และความรักในทุกงานที่ทำเป็นบันไดในการไต่ขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กร และกลายมาเป็นอีกหนึ่งคนสำคัญที่ทำให้แบรนด์ Bar B Q Plaza กลับมาผงาดในตลาดปิ้งย่างในบ้านเราอีกครั้งได้

00

ก่อนจะมีนามบัตรใบแรก

เราเรียน ม.กรุงเทพ แต่มีทั้งเข็ม ม.รังสิต ทั้งเข็ม ABAC ไม่ใช่ว่าเรียนเยอะนะ แต่ไปเที่ยวกับเพื่อนบ่อย เพื่อนที่มาจากมัธยมก็จะไปเรียน ม.รังสิตบ้าง ABAC บ้าง ก็ไปหา (หัวเราะ) จำได้ที่พีคสุดคือวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ต้องสอบ เพื่อนคนนึงก็พูดว่า เราไปอ่านหนังสือที่ RCA กัน แน่นอนว่าลงเอยด้วยการไม่ได้อ่าน 

“จนปี 1 เทอม 1 ได้เกรด 1.65 ใบเกรดก็ส่งมาที่บ้าน เลยบอกป๊าว่าได้เกรดเท่านี้นะ ป๊าเขาก็ไม่ได้ว่าอะไรก็หันมาพูดแค่ว่า ชีวิตตัวเองก็ต้องรักตัวเอง พ่อแม่ก็มีหน้าที่แค่ส่งเรียนให้ดีที่สุด มันก็เป็นคำพูดที่ทำให้เราคิดนะ แต่ก็ยังไม่ถึงกับคิดได้

“สิ่งที่ทำให้คิดได้และเปลี่ยนตัวเองจริงๆ คือวันนึงนั่งอยู่ในโรงอาหาร มีเพื่อนคนนึงเดินมาแล้วถามว่าบุ๋มๆ เธอได้เกรดเท่าไหร่ เราก็ไม่ได้คิดอะไรก็บอกไปว่า 1.65 สิ่งที่เพื่อนคนนั้นตอบกลับมาก็คือ อ้าว แล้วเธอยังนั่งอยู่ตรงนี้อยู่อีกเหรอ อีกคนที่ได้ 1.78 มันลาออกไปแล้วนะ ฟังแล้วรู้สึกเหมือนโดนหยาม แล้วด้วยความที่ตอนนั้นเป็นคนชอบเอาชนะ ก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนเป็นคนใหม่  ตัดสินใจย้ายออกจากคอนโดที่เคยอยู่กับเพื่อนที่ไปเที่ยวด้วยกันบ่อยๆ มาอยู่คนเดียว ก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือ จนเวลาผ่านไปเราเกรดก็ดีขึ้นเรื่อยๆ คราวนี้มีแต่ A กับ B จากเป็นคนที่เพื่อนชวนไปเที่ยว เลยกลายมาเป็นคนที่เพื่อนชวนไปติวหนังสือให้แทน 

“จนตอนปี 4 มันมีวิชานึงที่ต้องจัดสัมมนา เรารับหน้าที่เป็นคนเชิญสปีกเกอร์มาพูดในห้อง ก็ไปเชิญพี่ที่ทำงานอยู่ Leo Burnett มาพูด ตอนแรกพี่เขาตอบตกลง แต่ระหว่างทางมันก็มีความขลุกขลัก พอถึงเวลาจริงๆ พี่เขาเหมือนจะเทจะไม่มา เราก็เลยบอกเขาไปว่า พี่มีสิทธิที่จะไม่มานะคะ พวกเราเคารพในการตัดสินใจของพี่ แต่รู้เอาไว้เลยนะคะว่าเด็กอีกสิบกว่าคนจะเรียนไม่จบถ้าพี่ไม่มา

“สุดท้ายเขาก็มาให้ แล้วก็เขียนกระดาษทิ้งไว้แผ่นนึง บอกว่าเรียนจบเมื่อไหร่ให้โทรไปหาเขา แล้วก็ทำให้เราได้ทำงานที่ Leo Burnett เป็นครั้งแรก”

01

พนักงานชั่วคราว 
บริษัทเอเจนซีโฆษณา Leo Burnett

“เมื่อก่อนคนจะคิดว่าคนทำงานเอเจนซีโฆษณาจะต้องเฟียร์ซๆ แต่งตัวเก๋ๆ แต่เราคือไม่เลย เส้นทางที่เราไปอยู่ Leo Burnett มันไม่ได้สวยงาม เราเป็นโนบอดี้สุดๆ ไม่ได้เป็นพนักงานประจำด้วยซ้ำ เป็นแค่พนักงานชั่วคราว หน้าที่ก็คือเป็นผู้ช่วยเลขาของพี่คนนั้นที่เราเคยเชิญมาในงานสัมมนาอีกที เหมือนไปทำงานเอกสาร ดูว่าเอาเอกสารเข้าแฟ้มยังไงให้กระดาษเท่ากัน เวลาเสียบกระดาษต้องทำยังไงให้มันเป็นระเบียบ

อีกงานที่ได้ทำที่ Leo Burnett คือการเป็นสตาฟฟ์ตามอีเวนต์ต่างๆ ของลูกค้า มีลูกค้าอยู่เจ้านึงเป็นแบรนด์ปุ๋ยแล้วเขาไปจัดต่างจังหวัด เราก็เลยต้องออกไปด้วย เป็นงานอีเวนต์ที่มีดนตรีลูกทุ่ง แล้วเราก็เป็นเด็กเฝ้าบูทกิจกรรมให้ชาวบ้านเอาถุงปุ๋ยมาแลกเพื่อเล่นเกมยิงจุกน้ำปลา คนก็เล่นเกมยิงปืนไป เราก็นับถุงไป แต่นับอยู่ดีๆ ก็มีเสียงดัง

“ปรากฎคราวนี้เป็นเสียงปืนจริง  มีคนตีกันในงาน ตอนนั้นคือตกใจสุดขีด มุดเข้าไปหลบใต้โต๊ะ แล้วจุกน้ำปลาที่วางอยู่บนโต๊ะมันก็ค่อยๆ เทลงมาใส่หัว มีคนวิ่งวุ่นหลบกระสุนไปมา ถ้านึกภาพคือเหมือนในหนังตลกเลย

“อีกงานที่จำได้ตอนอยู่ Leo Burnett คือเป็นอีเวนต์ของยาสระผมแบรนด์หนึ่ง คราวนี้ได้เลื่อนขั้น จากคนเฝ้าบูทมาเป็นหัวหน้าคนเฝ้าบูทอีกที ก็ไปคอยดูแลพนักงานตามจุดต่างๆ กิจกรรมของแบรนด์คือให้ลูกค้ามาสระผมฟรี เอาคนมาสระผมในห้าง แต่ทีนี้ท่อตันเราเลยต้องไปนั่งทะลวงท่อเพื่อให้น้ำมันไหลได้ 

“ตอนนั้นก็เป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ ต้องนั่งรถตู้ไปในหลายจังหวัด นอนโรงแรมบรรยากาศชวนขนลุก แล้วพอพี่ๆ ทีมงานที่เขาอยู่ต่างจังหวัดเห็นหน้าตาเราดูเด็กๆ หมวยๆ แต่เราลุย เขาก็บอกกับเราว่า ‘อีหมวยๆ มึงนี่แจ๋วว่ะ’, ‘อีหมวยพ่อแม่มึงกล้าส่งมาได้ไงวะ’

“นึกย้อนกลับไปแล้วก็สนุกดี แต่ทำไปได้ปีกว่าเราก็ตัดสินใจลาออกมา เพราะเราอยากเป็นพนักงานประจำ อยากได้บัตรแข็งแบบคนอื่นเขาบ้าง ส่วนที่  Leo Burnett ถึงจะไม่ได้ทำงานที่ชอบ แต่พอวันนี้ลองมองย้อนกลับไปก็รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ที่พี่เลขาคนนั้นสอนมันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเป็นคนใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของงานด้วยเหมือนกัน อีกอย่างที่ได้คือมันทำให้เรามองเห็นและเข้าใจความรู้สึกของพนักงานตำแหน่งเล็กๆ ที่หลายคนอาจไม่เห็นได้ชัดเจนขึ้น”

02

Account Executive
บริษัทเอเจนซีโฆษณา McCann 

“มาอยู่ที่นี่ได้บัตรแข็ง ได้เป็นพนักงานสมใจแล้ว แต่ก็อยู่แค่ 7 เดือน เป็น 7 เดือนที่ค่อนข้างทรมาน เพราะเราได้ไปทำ global account เจ้าหนึ่ง ด้วยความเป็นแบรนด์ global เราเลยแทบไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะเขามีแพตเทิร์นมาให้อยู่แล้ว หน้าที่เราก็คือแปล ซึ่งเราเป็นคนที่ภาษาอังกฤษห่วยมากๆ  

“อีกอย่างคือดันไปเจอการเมืองในที่ทำงาน เราดันไปสนิทกับพี่คนนึงมากๆ แต่พี่คนที่สนิทไม่ถูกกับหัวหน้าเราก็เลยโดนหางเลขไปด้วย โดนเรียกเข้าไปในห้องหัวหน้าแล้วบอกว่าเราทำตัวไม่ดีเพราะเราดันไปสนิทกับคนที่เขาไม่ชอบ ก็เลยรู้สึกว่า เฮ่ย นี่มันอะไรกัน

“แต่ถึงจะอยู่ไม่นานมาก มันก็มีสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้เหมือนกัน หนึ่งคือได้รู้ว่าเราไม่ได้ชอบงานที่เป็นแพตเทิร์น ชอบอะไรที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองมากกว่า ส่วนสองคือได้รู้ว่าถ้าวันนึงเราได้เป็นหัวหน้าเราจะไม่ทำแบบนี้กับน้องๆ คนไหน”

03

 Account Executive, Account Manager
บริษัทเอเจนซีโฆษณา SC Matchbox

“ย้ายมาที่นี่ คราวนี้ได้ทำงานที่เป็น AE จริงๆ แล้ว ดีใจสุดๆ ตอนนั้นแอ็กเคานต์ที่เราดูคือ GSM เป็นยุคที่มือถือเฟื่องฟูมาก ธุรกิจค่ายมือถือแข่งขันกันหนักมาก 

โรงเรียน SC Matchbox สอนให้เราได้รู้จักการทำงานโฆษณาจริงๆ ทำให้เราได้มีโอกาสทำชิ้นงานบนสื่อทุกรูปแบบ ทั้งทีวี วิทยุ บิลบอร์ด ได้รู้ว่าในเมสเซจเดียวกัน เราจะเอาไปปรับให้เข้ากับสื่อต่างๆ ได้ยังไง ถ้าเราจะขายเค้กแต่ขายบนวิทยุซึ่งคนไม่เห็นภาพ เราต้องทำยังไงให้คนเหมือนเห็นภาพรู้สึกอยากกิน 

“แล้วก็เป็นที่ที่ทำให้รู้ว่า อ๋อ วงการโฆษณาคือแบบนี้ เริ่มมีความเข้าใจว่าเราต้องตีโจทย์ยังไง จับประเด็นยังไง จุดขายคืออะไร เพื่อที่จะเอามาเล่าให้ครีเอทีฟฟังให้เขารู้สึกอินสไปร์กับโจทย์เหมือนที่เรารู้สึก 

“การจะทำให้เขารู้สึกอินสไปร์เราเองก็ต้องทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เราจะไม่ทำตัวเป็น AE ที่เป็นแค่เมสเซนเจอร์ก๊อปแปะแล้วส่งเลย ไม่อยากให้คนที่มารับงานต่อจากเราไปบอกว่าเราทำงานเหมือนเอาเท้าเขี่ย เพราะเราเป็นคนรักทุกงานที่ตัวเองทำ

“นอกจากนี้แล้วเราก็ยังได้ฝึกการสร้างทีมด้วย แม้ตำแหน่งเราจะไม่ใช่หัวหน้า แต่บางครั้งการทำงานที่นี่ก็ทำให้เราได้เป็นหัวหน้าตามสถานการณ์ เวลาโดนลูกค้าด่าก็จะโดนด้วยกัน เวลาสู้ก็จะสู้ให้กับคนในทีมไม่ใช่สู้เพื่อตัวเราเองคนเดียว”

04

Account Manager, Senior Account Manager
บริษัทเอเจนซีโฆษณา DY&R

“เราเป็นคนมีเป้าหมาย เป็นคนคิดว่าทุกสองปีต้องขึ้นตำแหน่ง ไม่อยากจะปล่อยชีวิตให้อยู่เฉยๆ บวกกับตอนนั้น DY&R เปิดรับพอดีก็เลยตัดสินใจไปสมัคร แล้วเขาก็รับเพราะเห็นว่าเด็กคนนี้ต้องอึดถึกทนแน่ๆ เพราะทำมาทุกอย่างแล้ว 

“แอ็กเคานต์ที่เราไปทำคือ Dtac Dprompt ตอนเราเข้าไปคือแคมเปญเขารันแล้ว ยิ่งใหญ่เลย มีแปะป้ายคำว่า ดีดีดี ทั้งเมือง เราเข้าไปทำขาที่เป็น prepaid ของเขา เป็นช่วงที่เขากำลังจะรีแบรนด์ดิ้ง ความโชคดีก็คือเราเจอลูกค้าเก่ง แล้วมันก็เลยทำให้เราเก่งตาม ตอนเราทำ พี่โจ้–ธนา เธียรอัจฉริยะ เป็น Head ของงานนี้ ก็ได้เรียนรู้สกิลต่างๆ จากเขามากมาย  

สกิลแรกคือการรีแบรนด์ดิ้ง ตอนอยู่ SC Matchbox เราได้เรียนรู้เรื่องการทำโฆษณา แต่ไม่เข้าใจความเป็นแบรนด์ดิ้งว่ามันคืออะไร

ที่นี่ทำให้เรารู้ว่าการสร้างแบรนด์มันไม่ใช่แค่การทำหนังโฆษณาหนึ่งเรื่องแล้วก็จบ แต่มันคือทุกย่างก้าวของแบรนด์ที่เดินไปสัมผัสกับลูกค้า สมัยก่อนมันไม่มีคำว่า touch point สมัยก่อนเขาก็จะพูดว่าทุกสื่อทุกชิ้นงานที่ออกไปนั่นแหละคือการสร้างแบรนด์ 

“เราได้รู้เรื่องการรีแบรนด์ดิ้งว่ามันคือการดีไซน์ transition ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย แต่ต้องทำให้สิ่งนี้มันไม่ขาดตอน เปรียบเทียบง่ายๆ  การรีแบรนด์ดิ้งก็เหมือนกับการไปทำศัลยกรรมที่เกาหลีแบบยกเครื่อง กลับมาเราสวยไหม สวยนะ แต่คนจะจำไม่ได้ว่านี่คือเราและไม่ได้มีอะไรรีเลตกลับมาที่ตัวเราเลย ดังนั้นการรีแบรนด์ดิ้งที่เจ๋งคือยังเป็นเรานี่แหละแต่มันสวยขึ้น มีเสน่ห์ขึ้น โดยที่คนไม่รู้ว่าเราทำอะไร ต้องค่อยๆ เปลี่ยนแบบไต่ระดับไป

“ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็อย่างโลโก้ ถ้าลองย้อนไปดูการเปลี่ยนโลโก้ของเขามันจะมีการไต่ระดับเรื่อยๆ เริ่มจากตอนแรกจะเป็นโลโก้ Dprompt ก่อน จากนั้นก็จะกลายเป็นโลโก้ Dprompt เดิมที่เติมคำว่า Happy เข้าไป ต่อมาโลโก้ Happy ก็จะใหญ่ขึ้นส่วนโลโก้ Dprompt ก็ค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ สุดท้ายก็เล็กจนตัดคำว่า Dprompt ออกไป เหลือแค่เพียงคำว่า Happy ในโลโก้เท่านั้น

“ถ้าจำกันได้มันจะมีเพลงที่ร้องว่า เติมอมยิ้มให้แดดเมื่อยามเช้า เติมเพลงรักให้เมืองที่เงียบเหงา เราคือ AE ของงานนั้น ทุกวันนี้มองย้อนกลับไปคือโคตรดีใจเลยที่เคยทำมัน”

05 

Account Director 
บริษัทเอเจนซีโฆษณา TBWA

อย่างที่บอก เราเป็นคนมีเป้าหมาย อยากไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น  Account Manager แล้ว แต่ความฝันขั้นสูงสุดของเราในตอนนั้นคือ Account Director ตอนนั้นเราดูลูกค้า TRUE เราอยู่มาหมดแล้ว โอเปอร์เรเตอร์ทั้ง 3 เจ้า 

“ช่วงนั้นเขากำลังจะยุติจาก Orange มาเป็น TRUE แล้วจะเริ่มทำอินเตอร์เน็ตออนไลน์ ซึ่งต้องบอกว่าคำนี้มันเป็นอะไรที่ใหม่มากๆ เลยนะสำหรับ 19 ปีที่แล้ว การทำงานตอนนั้นมันเหมือนเป็นอะไรที่เปิดโลกให้เรามากๆ แล้วก็ทำให้เราต้องเรียนรู้ศัพท์ทางเทคนิคเยอะมากๆ ด้วยเช่นกัน ยังไม่ถึงกับต้อง educate ผู้บริโภคนะ แค่ educate ตัวเองเวลาไปรับบรีฟลูกค้าก็เป็นอะไรที่ยากมากแล้ว

“แล้วพอได้เป็น Account Director แบบที่ฝันแล้ว พอทำไปอีกสักพักมันก็เริ่มรู้สึกเต็มอิ่มกับสิ่งที่ทำมาตลอดหลายปี บวกกับตอนนั้น KTC เขาเปิดรับ Marketing Manager อยู่พอดี ยุคนั้น KTC เป็นองค์กรที่มีความ creative marketing มากๆ ดูเปิดโอกาสให้คิดนอกกรอบมากมาย ก็เลยตัดสินใจไป”

06 

Marketing Manager, Senoir Marketing Manager
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

จากคนโฆษณา ข้ามสายมาบัตรเครดิตมันไม่ง่ายเลยนะ คนละเรื่องเลย จะมาทำบัตรเครดิตแต่บวกเลขยังผิดเลยตอนนั้น แต่สุดท้ายเราก็อยู่ที่ KTC มาได้ 7 ปี 

“ช่วงแรกเราไปทำในหน่วยที่เรียกว่า Card Usage ที่นี่เขาจะแบ่งคนดูแลการใช้บัตรตามประเภทสินค้า เช่นมีคนดูน้ำมันรถยนต์, โรงพยาบาล, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต อะไรต่างๆ ก็แบ่งไป ส่วนหน้าที่เราคือดูแล consumer product (สินค้าที่ผู้บริโภคใช้กันทั่วไป) และ hypermarket (ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่) ซึ่งเป็นประเภทที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากน้ำมันรถยนต์ 

“สิ่งที่เราได้จากการทำงานที่ KTC คือสกิลการต่อรอง ซึ่งเป็นการต่อรองที่ต่างจากตอนทำเอเจนซีนะ อย่างเอเจนซีคือเราต้องต่อรองแบบทรีตลูกค้า แต่การต่อรองที่ KTC เป็นสกิลต่อรองแบบ win-win situation ต่อรองแบบพาร์ตเนอร์ เราได้เขาก็ได้ 

“อีกจุดนึงคือได้เรียนรู้การทำ loyalty program แบบใหม่ คือสมัยก่อนเวลาคนเขาแลกคะแนนบัตรเครดิตกันจะต้องใช้วิธีการส่งแฟกซ์ แล้วก็ส่งของตามมาที่บ้าน ตอนนั้นเขาก็เลยคิดกันว่าแค่แค็ตตาล็อกที่ต้องพิมพ์ส่งให้ลูกค้าก็หลายล้านบาทแล้ว ถ้างั้นน่าจะเปลี่ยนจากการพิมพ์แค็ตตาล็อกมาเป็นการแลกคะแนน ณ จุดขายจะดีกว่า ผลักต้นทุนจากกระดาษมาเป็นเครื่อง EDC แทน ซึ่งอีกมุมนึงการที่มีเครื่อง EDC ของแบรนด์ตั้งอยู่ ณ จุดชำระเงิน ก็ทำให้คนได้เห็น KTC มากขึ้นด้วยเช่นกัน

“พอเขาจะทำโปรเจกต์นี้กัน เรายกมือขอทำเลย แล้วเราก็ได้ดูแลงานที่เรียกว่า KTC Forever Reward มันเป็นงานที่ทำให้เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาทำเป็นข้อเสนอต่างๆ เอาพอยต์เล็กๆ มาแลกเป็นของกินเล็กๆ อย่างโดนัท ไอศครีม หรือขนมต่างๆ ได้ เพื่อให้ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าคะแนนที่อยู่ในบัตรเครดิตมันเอื้อมถึงง่าย มันไม่ใช่ต้องสะสมคะแนนแบบ 50,000 หรือ 100,000 คะแนนแลกตู้เย็น

“แต่สุดท้ายก็ลาออกมาจาก KTC ออกมาด้วยความรู้สึกอกหัก เราทำงานหนักแต่กลับไม่ได้รับการโปรโมตเท่าคนอื่น ก็เลยรู้สึกว่าต้องมูฟออนต่อไป”

07

General Manager
บริษัท เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ทรี จำกัด

หลายคนไม่รู้ว่าเราเคยทำที่นี่ด้วย หลังออกจาก KTC พอดีหัวหน้าเก่าเขาชวนไปทำด้วย เป็นโปรเจกต์ที่คุณหรีดจะทำกับช่อง 3 หรือที่หลายคนรู้จักในนามครัวคุณหรีดนั่นแหละ มันทำให้เราได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำเยอะมาก ได้คิดหาทางต่อยอดธุรกิจจากคอนเทนต์ของช่อง 3 อย่างละครเรื่อง กี่เพ้า ก็จะมีอีเวนต์จากละครที่ใช้ชื่องานว่ากี่เพ้าไนต์ เราเป็นคนทำงานนี้เอง

“ส่วนอีกเรื่องคือละคร รักคุณเท่าฟ้า ที่เคน ธีรเดช เล่นเป็นนักบิน เราต่อยอดออกมาจากละครจัดทัวร์ไปญี่ปุ่นที่มีเคน–ธีรเดช และ หน่อย–บุษกร ไปร่วมทริปด้วย เราเคยเป็นหัวหน้าทัวร์ด้วยนะ ย้อนเล่าเราก็ทำอะไรมาหลากหลายเหมือนกันนะ (หัวเราะ)

“หรืออย่างท่าอร่อยเลิศในรายการครัวคุณหรีด เราก็คิดกับน้องในทีมว่าอยากจะให้รายการมีซิกเนเจอร์ที่จำได้ อยากทำให้คุณหรีดดูเข้าถึงง่ายขึ้น เฟรนด์ลี่ขึ้น ท่ามือจับจีบอีกมุมนึงมันก็เป็นเหมือนการทำมือสัญลักษณ์โอเค ก็เลยกลายมาเป็นท่ากับสโลแกนอร่อยเลิศกับคุณหรีดอย่างที่หลายคนคุ้นกัน เป็นเหมือน summary shot ปิดท้าย เพราะมนุษย์เราจะจำจากภาพได้มากกว่า 

“ทำที่นี่อยู่ได้ 9 เดือน สุดท้ายก็ลาออกมา เพราะเราโทรไปหารุ่นพี่คนนึง อารมณ์จะโทรไปขายสินค้า-ขายโฆษณาให้บริษัท แต่พี่เขาพูดกับเราว่า บุ๋มแกไม่ต้องมาขายฉันหรอก ฉันขายแกกลับดีกว่า ตอนนี้ Bar B Q Plaza เขาหา Marketing Director อยู่”

08

Marketing Director, CMO 
บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด 

“เหตุผลจริงๆ ที่ตอนนั้นตัดสินใจมาทำ Bar B Q Plaza คืออย่างแรกเลยมันใกล้บ้านไม่ต้องขับรถติดๆ เข้าเมือง กับสองมันเป็นแบรนด์ที่เราชอบกินมากๆ อยู่แล้ว ฟังดูเป็นเหตุผลธรรมดา แต่เอาจริงๆ ได้ทำงานใกล้บ้านกับแบรนด์ที่ชอบมากๆ เราคิดว่าเป็นบุญของชีวิตเลยนะ

จำได้ว่าตอนมาอยู่ที่นี่เราบอกคุณเป้ (ชาตยา สุพรรณพงศ์ ทายาทรุ่น 2 ของแบรนด์ Bar B Q Plaza) ตั้งแต่ปีแรกเลยว่าเรามีความฝันของเรานะ เราอาจจะอยู่ที่นี่ไม่นาน

 “แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่ากะพริบตาหนึ่งที สองที สามที จนตอนนี้มันก็ 10 ปีแล้ว หลังจากประโยคนั้นที่พูดกับเขา ที่อยู่ได้นานก็คงเป็นเพราะว่าที่นี่เขาเปิดโอกาสให้เราได้แสดงในสิ่งที่อยากทำ มีพื้นที่ให้เราตัดสินใจ แล้วก็ได้ทดลองทำ มีผสมกันไป ทั้งประสบความสำเร็จ ล้มเหลว แต่เขาให้โอกาสและใจกว้างกับเรา

“จนมาถึงวันนี้ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนมาแล้วหลายตำแหน่ง ถ้าจะให้ถอดบทเรียนของแต่ละช่วงการทำงาน เราว่าหัวใจสำคัญของแต่ละช่วงมันแตกต่างกันออกไป

“เริ่มตั้งแต่หัวใจสำคัญตอนยังเป็นเด็กจิ๋ว คือการคว้าทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา หัวหน้าสั่งให้ทำอะไรให้เซย์เยสเอาไว้ เพราะมันคือช่วงที่จะทำให้เราได้ทดลองอะไรใหม่ๆ แล้วจะทำให้สั่งสมประสบการณ์ได้มากขึ้น อีกอย่างคือให้เลือกอยู่กับหัวหน้าที่เก่ง แต่ถ้าเลือกไม่ได้จริงๆ ก็จงคิดว่าการที่เราอยู่กับคนไม่เก่งบางทีก็อาจจะทำให้เราเก่งขึ้นก็ได้

“ขยับมาตอนที่เริ่มเป็นหัวหน้า หัวใจสำคัญคือห้ามลืมเด็ดขาดว่าเราเคยเป็นใครมาก่อน เพราะถ้าไม่ลืมมันก็จะทำให้เราเข้าใจในความยากที่ลูกน้องต้องเจอ ส่วนในฐานะที่ได้เลื่อนขั้นมาก็ต้องดูว่าการขยับขึ้นมานี้ทำให้คุณช่วยอะไรหัวหน้าได้บ้าง ที่สำคัญนอกจากบริหารลูกน้องแล้ว ต้องบริหารหัวหน้าให้เป็นด้วย ไม่งั้นชีวิตจะป่วนมาก

“สเตปนี้พอมันเป็นบริหารทั้งหัวหน้าและลูกน้อง หลายคนเลยเรียกตำแหน่งตรงนี้ว่าผู้บริหารระดับกลาง เป็นเหมือนช่วงที่ฝึกให้เราได้บริหารทีม บริหารอะไรที่กลางๆ ไม่ต้องใหญ่มากก่อน ก่อนที่จะก้าวไปบริหารองค์กรได้ 

“แล้วพอมาถึงตำแหน่งที่เป็นผู้บริหารองค์กร หัวใจสำคัญมันคือการให้โอกาสคน บางคนทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดีแต่ไม่เคยให้โอกาสใครเลย แล้วจะเก่งอยู่คนเดียว เราว่ามันไม่ใช่

“อีกส่วนสุดท้าย ไม่ว่าคุณจะเป็นมนุษย์เงินเดือนตำแหน่งไหน ถ้าอยากเติบโต หัวใจสำคัญคือต้องทำงานให้มากกว่าเงินเดือนที่ได้รับมา”

ขอบคุณสถานที่ : ร้าน Wandeedee Cafe x Restaurant

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like