Investor, It’s Heartbroken.
เพราะเป็นนักลงทุนจึงเจ็บปวด
ด้วยสถานการณ์วันนี้ เชื่อว่านักลงทุนหรือคนที่ตั้งใจเก็บออมเพื่อลงทุนในหุ้นหรือตราสารต่างๆ คงจะรับกับภาวะที่สั่นสะเทือนมาก ไม่ว่าจะด้วยบิตคอยน์หรือสิ่งที่เรียกว่าคริปโตที่ลงต่ำมาก หรือบรรยากาศตลาดหุ้นช่วง 2-3 วันนี้ก็กระชากรุนแรงมาก ถือเป็นการตกอย่างหนักที่สุดในรอบหลายๆ เดือนที่ผ่านมา คำถามคือเกิดอะไรขึ้น
ทุกครั้งที่เราพูดถึงการลงทุน เราก็ยอมรับจริงๆ ว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเรื่อยมา อย่างในตอนนี้ สิ่งที่เราเห็นกันหรือคนชอบพูดถึงภาวะเงินเฟ้อ เงินเฟ้อคืออะไร และเงินเฟ้อ 7-8% กระทบต่อชีวิตเราแค่ไหน อธิบายง่ายๆ เช่น เมื่อต้นปีใช้เงินซื้อของชิ้นนี้ 100 บาท ถ้าตอนนี้เงินเฟ้อ 8% แปลว่าต้องใช้เงิน 108 บาทถึงจะซื้อของชิ้นนี้ได้ เพราะของมันแพงขึ้น
ขณะที่เราเงินเดือนก็ยังเท่าเดิม ทำงานก็เหมือนเดิม แต่ของมันแพงขึ้น เราอยู่ได้ยังไงใช่มั้ยคะ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ เพื่อไม่ให้เงินเฟ้อรุนแรงไปมากกว่านี้ ภาครัฐทั้งหมดจะหันมาใช้นโยบายดอกเบี้ยแพง หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้สูง เพื่อดึงเงินออกจากระบบ และเมื่อสภาพคล่องที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจลดลง จะนำไปสู่การปรับลดของราคาสินค้าและบริการ ส่งผลให้เงินเฟ้อลดลง) ซึ่งเราไม่เคยเห็นเรื่องนี้มานานมากแล้ว ใช่มั้ยคะ สมัยก่อนคนเคยแต่ฝากเงินไม่สนใจลงทุนเพราะดอกเบี้ยแพงมาก สูงถึง 10-12% ตอนนี้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 10-30 สตางค์เท่านั้น
ไหนๆ ก็พูดเรื่องดอกเบี้ยแล้วขอทบทวนเรื่องดอกเบี้ยทบต้นกันสักเล็กน้อยนะคะ
จากสูตรมหัศจรรย์ตัวเลข 72
72 หาร 10 เท่ากับ 7.2
72 หาร 20 เท่ากับ 3.6
72 หาร 2 เท่ากับ 36
อย่าเพิ่งสงสัยว่ากำลังมาใบ้หวยอะไร แต่คือการลงทุนที่เรียกว่าดอกเบี้ยทบต้น หมายความว่า ถ้าเรามีเงิน 1 แสนบาทวันนี้ ลงทุนที่อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนประมาณ 10% เงินนี้จะกลายเป็น 2 แสนบาท คือเท่าตัวพอดีภายในระยะเวลา 7.2 ปี
ในขณะเดียวกัน ถ้ามีเงิน 1 แสนบาท ลงทุนในอัตราดอกเบี้ย 20% ต่อปี เงินนี้จะกลายเป็น 2 แสนภายในระยะเวลา 3.6 ปี และถ้าเราลงทุนที่อัตราดอกเบี้ย 2% เงิน 1 แสนบาทของเราเนี่ยกว่าจะทบต้นเป็น 2 แสนใช้เวลา 36 ปี ทีนี้เริ่มเข้าใจผลลัพธ์ของดอกเบี้ยที่แตกต่างกันแล้วใช่มั้ยคะ
สมมติวันนี้ผลตอบแทนลงทุนคือ 1% แปลว่าต้องใช้เวลา 72 ปี หรือถ้าลงทุนได้ 0.5% เงินฝาก 1 แสนบาท จะกลายเป็น 2 แสนบาท ในเวลา 144 ปี
นั่นคือที่มาว่าทำไมคนเราต้องขวนขวายหาที่ลงทุน หาดอกผลที่ดีกว่า
แต่เมื่อลงวิ่งในสนามลงทุนแล้ว ปรากฏว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดคริปโต หรือตลาดหุ้นกู้ ตอนนี้สั่นสะเทือนกันไปหมดเพราะว่าเรากำลังเจอภาวะเงินเฟ้อและภาวะดอกเบี้ยแพง ซึ่งไม่เคยเจอเลยในรอบ 10 ปี เอาล่ะ วันนี้เราจะไม่พูดถึงเศรษฐกิจ แต่จะพูดถึงเรื่อง ถ้าการลงทุนไม่ประสบความสำเร็จเราทำอะไรได้บ้าง
หนึ่ง–ทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องการลงทุน จะขอเน้นย้ำเรื่องการมีวินัย ซึ่งก็คือความพยายามมอนิเตอร์อัตราผลตอบแทนให้ได้ 10% ต่อปี แต่สมมติปีนี้เราลงทุนไปแล้วปรากฏว่ามันไม่ได้ประสบความสำเร็จ สมมติว่าไม่ได้ผลตอบแทนเลย เท่ากับหายไป 10% เราจะทำยังไงถ้าอยู่ในหุ้น เราจะ recommend ให้เอาพอร์ตฯ มาดู ซึ่งวิธีแก้ไขพอร์ตฯ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ดูว่าหุ้นตัวไหนที่ลงไปลึก ต้องบอกว่า บ่อยครั้งก็มีเหตุการณ์ที่ตลาดตกใจจนบางทีหุ้นที่ต่างชาติถือหรือหุ้นที่กองทุนถือราคาลงไปลึกมาก เช่น เป็นหุ้นพวก utility ต่างๆ หรือหุ้นธนาคาร เราก็ลองคิดดูว่าวันที่เราซื้อหุ้นตัวนี้มาเราใช้ logic ในการคิดยังไง ซึ่งวันนี้ราคาถูกกว่าวันที่เราซื้อมาอีก สิ่งที่ทำได้คือซื้อหุ้นตัวเดิมในราคาต่ำกว่าเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน อันนี้คือวิธีการแรกเลยนะคะ ทีนี้การถัวเฉลี่ยต้นทุน เราก็ต้องมี target หรือเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งมีบทความ มีรีเสิร์ช ให้ศึกษามากมาย
สอง–ต้องดูว่าการเปลี่ยนแปลงของราคานั้น หากเกิดจากความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเศรษฐกิจส่งผลให้ตัวบริษัทนั้นเปลี่ยนแปลง อย่างนี้ก็อาจจะต้องยอม หรือที่เรียกว่า cut loss คือขายก่อนเพื่อไม่ให้กระเทือนหรือลงไปลึกกว่านี้
สาม–ปรับทั้งพอร์ตฯ หมายถึงอะไร สมมติมีหุ้นอยู่ 5 ตัว ไม่มีเงินใหม่เข้ามาหรือไม่อยากถมเงินเข้าไป ให้ใช้วิธีการขาย 2 ตัวที่เราคิดว่าโอกาสราคาขึ้นน้อยกว่า และเราเอาเงินจากการขาย 2 ตัวนั้นมาซื้อ 3 ตัวที่เหลือในพอร์ตฯ เป็นการทำ complimentary ทั้งหมดในการแก้พอร์ตฯ
นี่คือโครงสร้าง 3 เรื่องหลักๆ ในการที่จะมีพอร์ตลงทุนและแก้ไขพอร์ตลงทุน
แต่สิ่งที่เรามักเจอคืออะไรคะ หนึ่ง–พอราคาหุ้นตก ก็ไม่กล้าขาย ด้วยความรู้สึกว่าไม่ขายไม่ขาดทุน สอง–พอตกลงไปเยอะกว่าเดิมก็ยิ่งใจไม่ดี และสาม–บางท่านใช้เงินร้อนมาลงทุน พอมีความจำเป็นต้องใช้เงินก็ต้องขายแล้วเอาเงินออกไป พอ exit ปั๊บเราไม่ได้ลงทุนต่อ มันก็เหมือน hit loss ทันที
ต้องบอกว่าเวลาที่ลงทุนมันมีทั้งภาพโฟกัสตรงหน้าที่เขาเรียกว่า zoom in กับภาพระยะยาวคือ zoom out เศรษฐกิจของเราตอนนี้ต้องถามว่าหลังจากเริ่มเปิดประเทศแล้วมันจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ในช่วงปีนี้หรือปีหน้ามันจะวิกฤตแน่ๆ ดังนั้นในเรื่องการลงทุนถ้าเราเจอแบบนี้ก็ต้องหันกลับมาดูตัวเราด้วยว่า ตัวเราหน้าที่การงานเป็นยังไง กระแสเงินสดหรือเขาเรียกว่า cash flow เป็นยังไง เงินเก็บเราเป็นยังไง เพื่อจะวางตัวเราให้เหมาะสมกับการลงทุน
สมมติว่าตัวเรายังมีหน้าที่การงาน มีรายได้ประจำ ไม่แน่คุณอาจจะทิ้งพอร์ตไว้เฉยๆ ได้โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ก็เหมือนว่ารอไป เดี๋ยวอีก 2 ปีค่อยมาดูใหม่ หรืออีกทางหนึ่งถ้าลงทุนเองแล้วรู้สึกเหนื่อยก็มาโฟกัสลงทุนในหน่วยลงทุนที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้
เวลาที่เราเจอเหตุการณ์แบบนี้ หนึ่ง–มีสติ สอง–ตั้งรับ สาม –ก็ต้องลองดูว่าแผนที่เราเลือกได้มีกี่แผน สี่–ดูว่า consequence ของแต่ละแผนเป็นยังไง และห้าก็คือการ take action ตรงนี้คือสิ่งที่เป็นธรรมชาติมากนะคะ
แล้วก็ต้องบอกว่าในบรรดานักลงทุนทั้งหมดที่อยู่บนโลกนี้ไม่เคยมีใครไม่ขาดทุน ไม่เคยมีใครที่ประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา ทุกคนที่เป็นนักลงทุนล้วนเจอทั้งสุขและทุกข์ มีทั้งการลงทุนที่ได้มากและการลงทุนที่เสียหาย เมื่อเราเห็นดังนี้แล้ว ก็อย่าทุ่มจนเกินไปนะคะ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกกดดันจนเกินไป มันไม่มีอะไรที่เป็นความล้มเหลวหรอก มันก็แค่บทเรียนอีกบทหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้และก้าวผ่านไปให้ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่เป็นนักลงทุนในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนแบบนี้ แต่ความไม่แน่นอนมันก็มีโอกาส บางท่านที่ไม่เคยเข้าลงทุนเลย วันนี้ท่านก็ซื้อหุ้นถูกกว่าเพื่อนสักประมาณ 20% แล้วเมื่อเทียบกับ 3 อาทิตย์ที่แล้ว นี่ก็เป็นโอกาสเหมือนกัน แต่โอกาสนี้หลายคนก็ต้องระมัดระวังว่าคุณเข้าใจบริษัทนั้นๆ ดีมั้ย คุณรู้เรื่องของเขาจริงๆ หรือเปล่า
ส่วนเรื่องคริปโต สำหรับเราถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีอะไรเป็นตัวแบ็กเลย เป็นความเชื่อล้วนๆ ซึ่งใน ecosystem ยังไม่สามารถใช้เป็นตราสารทางการเงินหรือ currency ได้นะคะ ถึงแม้จะมีการยอมรับในบางส่วนแต่ก็ยังยากอยู่ มันส่งผลให้เวลาที่ตลาดโดน attack มันถึงได้เปราะบางมาก
สิ่งที่จะแนะนำได้ก็คือต้นทุนแต่ละคนไม่เท่ากัน บางท่านความจำเป็นในการใช้เงินไม่เท่ากัน บางท่านอาจจะบอกว่ายินดีแบ่งเงินแสนบาทมาลงทุน เขาพร้อมจะขาดทุนกับแสนบาทนี้ ไม่เป็นไร เขาก็อยู่เฉยๆ ได้ แต่สำหรับบางคน เงินแสนบาทนั้นคือเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต
เมื่อไหร่ก็ตามที่ลงทุนอยากให้คิดถึงจุด cut loss อยู่ประมาณ 20% สมมติลงทุนไปแสนบาท วันนี้ราคาตกมา 8 หมื่นบาท เรา recommend ให้ขายก่อน เพราะอีก 20% คุณหากลับมาได้ แต่ถ้าคุณไม่ทำ คุณมีโอกาสที่จากแสนจะกลายเป็น 5 หมื่น กลายเป็น 3 หมื่น กลายเป็น 1 หมื่น เหมือนบางตัวตอนนี้
การลงทุนที่ไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นบทเรียนบทหนึ่งให้เราเข้าใจว่า ต่อไปนี้ถ้าเราจะลงทุนอะไรต้องมีความเข้าใจ รู้เรื่องการเข้า-ออกหรือเรื่องราวของมันให้ชัดเจน อะไรที่คนอื่นว่าดีอาจจะไม่ได้ดีกับเรา แต่ในขณะเดียวกันอะไรที่เป็นจังหวะที่ไม่ดี อย่างใครที่จะรอซื้อบิตคอยน์ที่ตอนนี้ต่ำกว่า 2 หมื่นแล้ว เป็นครั้งแรก คุณอาจจะซื้อสะสมไว้เพื่อเรียนรู้ก็อาจจะเป็นทางของคุณเหมือนกัน บอกไม่ได้จริงๆ ค่ะ มันไม่มีใครคอนเฟิร์มได้ ถามว่าทำไม ไม่เหมือนกับหุ้น ซึ่งโอเคเรายังมีสิทธิ์เป็นเจ้าของธุรกิจ แล้วก็ไม่เหมือนหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ที่อย่างน้อยก็ยังมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ แต่คริปโตนั้นไม่ได้ทำให้เรามีความเป็นเจ้าของใน asset อะไร เพียงแต่ว่ามันมี right บนคริปโตนั้นๆ right อันนี้ถูกเปลี่ยนมือได้ และการเปลี่ยนมือก็คือคนที่เปลี่ยนมือยอมรับในราคา
เพราะฉะนั้นมันก็มีถ้าคนเข้ามาเยอะๆ เป็นกฎ demand-supply ถ้าคนอยากได้อยากขาย ราคาก็ขยับขึ้น ในขณะเดียวกันถ้าเมื่อไหร่ที่มันไม่อยู่ใน demand-supply คนต้องการจะขายมากกว่าคนต้องการจะซื้อ ราคาก็ตก แล้วเป็นการตกแบบที่ไม่มีอะไรมารองรับเลย ถ้าชอบชีวิตแบบโรลเลอร์โคสเตอร์คริปโตสนุกแน่นอน
ท้ายที่สุดแล้วการลงทุนที่ไม่ประสบความสำเร็จ เราหาทางแก้ไขได้ ปรับปรุงได้ หาจังหวะอื่นได้ แต่กับเรื่องความรู้สึก เราจัดการอย่างไร
เมื่อผิดหวัง ย่อมเกิดความรู้สึกเสียใจหรือไม่สบายใจได้ แต่อย่าโทษตัวเอง
เชื่อเถอะค่ะ การตัดสินใจแต่ละครั้งเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดแล้วนะคะ จากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น เราคงกลับไปแก้ไขการตัดสินใจนั้นไม่ได้ แต่เรายังมีวันนี้อยู่นะ เพราะฉะนั้นถ้ามีวันนี้เราก็ทำวันนี้ให้ดีที่สุดใช่มั้ยคะ ผิดพลาดแล้วก็ผิดพลาดไปเป็นบทเรียน เราก็ทำงานใหม่ เก็บเงินใหม่ หาช่องทางในการลงทุนใหม่ อย่าได้ลงโทษตัวเอง อย่าให้จิตใจเศร้าหมอง พอจิตใจเศร้าหมองก็ส่งผลให้ร่างกายหมดแรง ไม่มีแรงคิดทำอะไร กินข้าวก็ไม่อร่อย เจอใครก็ไม่อยากคุย ยิ่งทำให้แสงรอบตัวมืดๆ ยังไงบอกไม่ถูก
สิ่งที่อยากจะบอกทุกคนก็คือ ไม่ว่าคุณจะเรียงร้อยอะไร ความสุขที่แท้จริงก็คือคนรอบข้างมีความสุข และเราจะมีความสุข ในขณะเดียวกันเราก็เป็นคนรอบข้างของคนอื่น ถ้าเราไม่มีความสุขเราจะทำให้คนรอบข้างเราไม่มีความสุข แล้วมันก็จะกลับมาเป็นเราไม่มีความสุขหนักเข้าไปอีก
ความสุขของเรา เราสร้างได้นะคะ ความทุกข์ของเรา เราก็จัดการได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเอาความทุกข์ออกมากระจายให้คนรอบข้าง ไม่จำเป็นจะต้องโทษตัวเองจนเกินไป สิ่งที่เราเจอ ทุกคนก็เจอ มันคือเรื่องราวที่ทุกคนเจอร่วมกัน เมื่อเวลาผ่านไปหากได้มีโอกาสแชร์ความผิดพลาดอาจจะกลายเป็นเรื่องที่คุยกันเฮฮาด้วยซ้ำ เธอขาดทุนเท่าไหร่ ฉันขาดทุนเท่านี้นะ อย่างน้อยเราก็ยังได้ลองได้สัมผัส
เมื่อเวลาผ่านไปและหันกลับมามอง จะเห็นว่า ไม่น่านั่งกลุ้ม นั่งคิดอะไรอยู่ได้เลย เห็นเงินหายไปก็ทำงานมากขึ้น เก็บเงินมากขึ้น คุยกับคนมากขึ้น มูฟออน วันนี้ไม่สบายใจก็ไปออกกำลังกายให้เหงื่อออก สดชื่น วันนี้มันกินอะไรไม่อร่อย ก็ลองเปลี่ยนของกินไปหาอะไรแซ่บๆ หาน้ำซุปร้อนๆ ซดให้รู้สึกผ่อนคลาย คิดเสียว่านี่คือวันหนึ่งในชีวิตและมันก็จะผ่านไป
ว่าแล้วก็คิดถึงประสบการณ์ครั้งแรกที่เจอความผิดหวังจากการลงทุน
ตอนนั้นเด็กมาก อายุน่าจะประมาณ 25-26 เงินลงทุนคือ เงินเก็บทั้งหมดเลย เราก็รู้สึกว่าขมขื่นมาก รอตั้งนานแล้ว ราคาก็ไม่ขึ้น มีแต่ตกลงทุกวัน เราทนรอไม่ไหว ก็ตัดสินใจขายหุ้นทิ้ง ยอมขายที่ขาดทุน ขายเสร็จราคาหุ้นมันก็ขึ้น เราได้แต่วนเวียนโทษตัวเองตลอด
มองย้อนกลับไปก็พบว่า หนึ่ง–เราไม่หนักแน่นพอ สอง–คำว่าวินัยไปไหน สาม–พอเรียนรู้ปั๊บก็กลายเป็นว่าชิลล์มาก พูดตรงๆ ราคาตก 20-30% ไม่เป็นไรหรอก ถ้ามันเป็นบริษัทที่ดีเดี๋ยวมันก็กลับมา แถมใช้จังหวะนี้ซื้อและสะสม จากประสบการณ์พบว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์เคยขึ้นไปสูงสุดในปี 2537 ประมาณ 1,700 จุดนะคะ ถ้าเอาตามดัชนีวันนี้ขึ้นไป 1,800 แล้ววันนี้อยู่ประมาณ 1,600 วันนี้ลงเหลือ 1,500 จุดแล้ว แสดงว่าถ้าเทรดดัชนีตั้งแต่ปี 2537 นับจนถึงปีนี้ก็จะประมาณเกือบ 30 ปี เหมือนว่าจะไม่ไปไหนเลย แต่ระหว่างทางมีบางบริษัทที่กำไรหรือราคาหุ้นสูงกว่าเมื่อปี 37 มหาศาล แสดงว่ามันมีเรื่องราวที่ศึกษาได้
ขอใช้คำนี้เลยนะคะ วันนั้นเราอาจจะสะบักสะบอม แต่พอผ่านตรงนี้มาได้ อยากบอกทุกท่านในฐานะนักลงทุนว่าลองให้กำลังใจตัวเอง ลองดูแลตัวเอง แล้วก็อย่าโทษตัวเองจนเกินไปนะคะ วิ่งหกล้มก็ลุกขึ้น ปัดขาวิ่งใหม่ ไม่ใช่วิ่งหกล้มแล้วเลิกเลย สมมติวันนั้นไม่ไปไหนแล้ว เลิกลงทุนเลย แล้ววันนี้ต้องติดอยู่กับดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งต่อให้ขึ้นมา 2% อย่างที่เล่าไปตอนต้น จากสูตรตัวเลข 72 ดอกเบี้ยทบต้น 2% แปลว่าคุณต้องรอ 36 ปีกว่าเงินที่เก็บจะทบต้น มันยากมาก เป็นเหตุผลว่าทำไมคนทำธุรกิจถึงรวยเร็ว เพราะว่าเขาเนี่ยส่วนต่างหรือ margin อยู่ที่ประมาณ 20% ทำธุรกิจ 3 ปีเขาก็ทบต้นแล้ว ขณะที่คนทำงานตลอดเวลา ฝากเงินมาตลอด 36 ปียังไม่ทบต้นเลย
เริ่มต้นเราเหมือนจะเท่ากัน แต่สักพักช่วงว่างมันจะเริ่มฉีกกว้างขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลจากวิธีคิดล้วนๆ เรามักจะพูดเสมอว่าเงินไม่ทำให้เกิดความคิด แต่ความคิดได้ต่างหากที่ทำให้เกิดเงิน
WEALTH DONE คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้นรอบตัวและสงสัยใคร่รู้เป็นพิเศษ ส่งมาบอกพวกเราได้ที่ [email protected] หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Capital แล้วรออ่านคำตอบพร้อมกันทุกวันพฤหัสบดี เว้นวันพฤหัสบดี ที่ capitalread.co