In Art, She Trusts
นามบัตร 6 ใบของ กฤติยา กาวีวงศ์ ผอ.หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันที่คลุกคลีกับวงการศิลปะมากว่า 30 ปี
อาจเรียกตัวเองไม่ได้เต็มปากว่าเป็นคนชอบเสพงานศิลปะ แต่ในฐานะคนที่ชอบสอดส่องหามุมสงบๆ ในกรุงเทพฯ ไว้พักใจ The Jim Thompson Art Center คือหนึ่งในที่ที่เราแวะเวียนไปบ่อยๆ
คนที่เคยไปอาจจะเดาออก–ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันไม่ได้มีแค่ส่วนแกลเลอรีจัดแสดงงานศิลปะ แต่ยังมีห้องสำหรับทำเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต ร้านกาแฟ ห้องสมุด ข้างบนดาดฟ้ายังมีร้านลาบเสียบให้ฝากท้อง
ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือความตั้งใจของ กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการที่ใครหลายคนเรียกว่า ‘พี่เจี๊ยบ’ ‘อาจารย์เจี๊ยบ’ กับน้องๆ ในทีมที่ช่วยกันผลักดัน เปลี่ยนภาพจำของหอศิลป์จัดแสดงสิ่งทอและงานศิลปะที่ดูเข้าถึงยาก กลายเป็นสถานที่เช็กอินของทั้งคนที่สนใจงานศิลป์มาก และคนที่สนใจน้อย
ในแวดวงศิลปะ ชื่อของกฤติยาไม่ใช่คนแปลกหน้า ย้อนกลับไปหลายปีก่อน กฤติยาคือผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการ 304 Space พื้นที่ศิลปะทางเลือกที่เธอกับเพื่อนๆ ในแวดวงสร้างขึ้นมาเพื่อผลักดันงานศิลปะแนวทดลอง เป็นจุดริเริ่มของศิลปินหน้าใหม่ และให้แรงบันดาลใจแก่คนทำงานครีเอทีฟมากมาย
กฤติยายังเป็นภัณฑารักษ์มือทอง แวะเวียนไปคัดสรรและจัดแสดงงานมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก และบทบาทที่คนรู้จักมากที่สุดคือผู้อำนวยการของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ที่เธอทำมานานเกือบ 20 ปี
อะไรทำให้เธอเชื่อในพลังของศิลปะจนยึดมั่นในเส้นทางนี้มาได้อย่างยาวนาน ณ บัตรนั้น ตอนนี้ขอชวนคุณแวะไปหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน แล้วนั่งจับเข่าคุยกับกฤติยาพร้อมกัน
Teacher – Phanat Nikhom Refugee Camp
“เราเกิดที่เชียงแสน มาโตที่เชียงใหม่ ด้วยความที่เกิดในเมืองที่มีของเก่าเยอะ หมู่บ้านที่เราอยู่เขาทำงานแฮนด์เมดกันหมด พอเราวิ่งไปรอบๆ มันก็เหมือนเราวิ่งในพิพิธภัณฑ์ เราจึงได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เรื่องงานคราฟต์จากตรงนั้น
“ตอนเด็กๆ เรายังไม่ได้ชื่นชมมันหรอกแต่พอเราไปเมืองอื่นที่ไม่มีแบบบ้านเรา เรารู้สึกว่าทำไมเมืองนี้แห้งจังเลย อีกส่วนหนึ่งคือครอบครัวเราหลายคนเป็นสล่า (ช่าง) คุณพ่อเรียนก่อสร้างเลยสร้างบ้านเอง ทางฝั่งผู้หญิงก็ทอผ้า มีญาติ 2-3 คนที่เรียนศิลปะ
“เราอยากทำงานในแวดวงศิลปะแต่รู้ตัวเลยว่าไม่อยากเป็นศิลปิน จุดหักเหคือตอนเรียนมัธยม อาจารย์สอนประวัติศาสตร์แนะนำเราว่ามีอาชีพหนึ่งชื่อภัณฑารักษ์ เรารู้สึกอยากเรียนแต่สุดท้ายด้วยความเป็นวัยรุ่นที่สับสน พอขึ้น ม.ปลายเราก็เลือกเรียนภาษาเยอรมัน หลังจากนั้นเราแอนตี้เรื่องเอนทรานซ์ คิดว่าทำไมเราต้องสอบด้วย ทั้งๆ ที่เราเรียนดี เอาเกรดยื่นไม่ได้เหรอ เลยเลือกเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง
“เราสมัครเรียนนิติศาสตร์ แต่ยาก สุดท้ายก็ไม่อิน เลยกลับมาเรียนคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ โทสื่อสารมวลชน พอจบมาก็สอนภาษาในโรงเรียนสอนภาษา สอนได้ปีเดียวก็ไปอยู่ค่ายผู้อพยพที่แถวพนัสนิคม เป็นโครงการของ UN ที่รับผู้อพยพจากอินโดจีน เด็กเอกอังกฤษทุกคนไปอยู่ที่นั่นหมดเลย เพราะเขารับคนที่พูดภาษาอังกฤษได้
“เราไปสอนหนังสือผู้อพยพในโครงการ Consortium งานนั้นเงินดี ทำให้ได้เจอคนทั่วโลก และได้เจอประเด็นปัญหาสังคมจริงๆ ในยุคหลังสงคราม เราได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานตรงนั้น แต่ใจยังชอบศิลปะอยู่ เพียงแค่ไม่มีโอกาสเข้าไปทำงานในวงการ ช่วงนั้นเราบังเอิญได้รู้จักศิลปินและเจ้าของแกลเลอรี ได้ข่าวมาว่าจะมีแกลเลอรีเปิดใหม่ในปี 1991 และเขาต้องการคนที่พูดอังกฤษได้และสนใจศิลปะ เราเลยลองไปสมัคร”
Assistant Manager – Dialogue Gallery
“งาน Assistant Manager หลักๆ คือต้องดูแลแกลเลอรี เป็นแกลเลอรีที่พี่นำทอง แซ่ตั้ง เป็นผู้จัดการ แล้วเราก็เป็นผู้ช่วยเขา
“สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากแคมป์คือการทำงานที่เป็นระบบ เราเลยเอามาปรับใช้กับแกลเลอรี ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเอกสารหรือการจัดการศิลปิน ด้วยความที่ทุกอย่างมันใหม่หมด เราเองก็ด้วย เราพยายามเรียนรู้ไปพร้อมกัน ช่วงนั้นพยายามหาศิลปินมาจัดแสดงและขายงาน ซึ่งเราได้ขายงานยากๆ ให้กับนักสะสมรุ่นใหม่ เป็นงานศิลปะที่ไม่ใช่งานตลาด ไม่ใช่งานดั้งเดิมแต่เป็นงานคอนเซปชวล นั่นเป็นช่วงที่ได้รู้จักศิลปินเยอะมาก
“งานนี้ทำให้เราได้เปิดโลกศิลปะ ทำให้เห็นว่าวงการนี้มีข้อดี-ข้อเสียยังไง และทำให้รู้ว่าเราไม่ชอบความเป็นคอมเมอร์เชียล เราไม่ชอบการขายของ แต่ชอบอยู่กับศิลปะ จุดเปลี่ยนที่พีคมากสำหรับเราคือยุคนั้นเป็นยุคที่คนรวย มีอินทีเรียร์ดีไซน์หลายคนจะสร้างบ้านแล้วมาขอให้ช่วยเลือกงานให้เข้ากับบ้านให้หน่อย จุดนั้นทำให้เรารู้สึกว่าจบข่าว ไม่ไหวแล้ว เราไม่อยากเป็นแม่ค้าแบบนี้”
Co-founder and Director – 304 Space
“ช่วงที่ทำ Assistant Manager เป็นช่วงที่ไปเมืองนอกบ่อย มีครั้งหนึ่งได้เคยไปอเมริกาแล้วเข้าพิพิธภัณฑ์ PS1 ที่นิวยอร์ก มันเป็น alternative space ที่เอาโรงเรียนเก่ามาทำเป็นพิพิธภัณฑ์และมีศิลปินในพำนักของเขา เราเดินไปชมแล้วรู้สึกว่าอยากทำงานแบบนี้จังเลย อยากให้มีสเปซแบบนี้ในเมืองไทย
“แต่เราไม่ได้มีแบ็กกราวนด์และความรู้ที่จะทำตรงนั้นได้ เลยตัดสินใจไปเรียนต่อด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและภัณฑารักษ์ พอดีมีโรงเรียนที่ชิคาโกเปิดวิชาชื่อ Art Administration and Policy และเน้นเรื่ององค์กรไม่แสวงหากำไรด้วย เราเลยสมัครเรียนดู
“เราเรียนอยู่ 2 ปี แล้วทำทีสิสเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรในประเทศไทย แล้วเอาทีสิสมาคุยกับศิลปินที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นพี่มณเฑียร บุญมา, อาจารย์กมล เผ่าสวัสดิ์, ชาติชาย ปุยเปีย ปรากฏว่าเขาเอาด้วย เราเลยชวนเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่เรียนที่ชิคาโกด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือเจ้ย อภิชาติพงศ์ มาเปิดพื้นที่ศิลปะทางเลือกด้วยกัน เพราะตอนนั้นแกลเลอรีในไทยมีแต่ commercial gallery หรือแกลเลอรีในมหาวิทยาลัยที่จัดแสดงแต่ผลงานของอาจารย์ แต่ไม่มีพื้นที่ให้ศิลปินที่อยากทดลอง หรือศิลปินจากเมืองนอกที่อยากมาจัดแสดงงานแต่ไม่มีพื้นที่ ในไทยตอนนั้นยังไม่มีมิวเซียมศิลปะเลย
“เพราะไม่มีเงินเช่าที่ใหม่ เราเลยใช้อพาร์ตเมนต์ของตัวเองห้อง 304 พื้นที่ของเราจึงตั้งชื่อว่า Project 304 (หัวเราะ) เจ้ยดูโปรแกรมหนัง ไมเคิลดูเรื่องเพอร์ฟอร์แมนซ์ ส่วนเราดูวิชวลอาร์ต โปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ที่สร้างคนเยอะมาก เราอยากซัพพอร์ตศิลปิน ทั้งศิลปินรุ่นใหม่และตัวอภิชาติพงศ์เอง สิ่งหนึ่งที่เราสร้างให้กับวงการศิลปะคือการสอนให้เขียนโครงการ เพราะแต่ก่อนคนไทยไม่รู้ว่าจะจัดงานหนึ่งต้องสเกตช์ไอเดีย ต้องคิดว่าใช้เงินเท่าไหร่ก่อนขอทุน อยากให้ศิลปินรู้ว่าถ้าคุณอยากทำงานศิลปะที่มันไม่ขาย แต่คุณต้องอยู่ให้ได้ คุณจะต้องทำยังไง
“อภิชาติพงศ์เองก็สร้างชื่อที่นี่ เขาทำโปรเจกต์ฉายหนังทดลองชื่อ Kick The Machine ซึ่งคนที่มาดูคือเต๋อ นวพล ตอนยังเป็นวัยรุ่น หรือเข้ จุฬญาณนนท์ ตั้งแต่ตอนเขาเรียนประถม นี่คือผลพวงที่พิสูจน์ว่าคนที่มาดูงานที่พวกเราจัด ตอนนี้กลายเป็นผู้กำกับและศิลปินชื่อดัง หลายคนที่เคยทำงานกับเราเขาก็ไปโด่งดังเมืองนอก เราทำอยู่ราว 7 ปีแล้วก็ปิดตัว ขณะเดียวกันก็เริ่มมีสถานทูตและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ติดต่อเข้ามา เราได้ทุนมากมาย จนในที่สุดก็กลายเป็นภัณฑารักษ์อิสระ”
Independent Curator
“ก่อนเป็นภัณฑารักษ์อิสระ พี่มณเฑียรเขาเสีย สิ่งหนึ่งที่เขาอยากทำมากคืองาน Biennale และเขาบอกว่าเจี๊ยบ ฝากทำด้วย สิ่งนี้ติดอยู่ในหัวเรา เราเลยทำโครงการขอไปรีเสิร์ชใน 7 ประเทศลุ่มน้ำโขง ปรากฏว่าได้ทุนจาก Japan Foundation เราเลยไปเบสอยู่เชียงใหม่ ระหว่างนั้นก็ไปช่วยเพื่อนที่เชียงใหม่ทำหอศิลป์ มช. ทำให้อาร์ตเซนเตอร์เป็นที่รู้จัก ชาวบ้านเข้ามาใช้ รถแดงรู้ว่าอยู่ที่ไหน เพราะบางครั้งก็ทำตลาดหรือเฟสติวัล
“3 ปีที่ทำรีเสิร์ชและต้องทำโชว์ เราอยู่ในโครงการชื่อ Under Construction ซึ่งรวบรวมภัณฑารักษ์ 8 คนจากทั่วเอเชียมารีเสิร์ชและทำโชว์ที่ประเทศของตัวเอง แล้วนำทุกงานมารวมที่ญี่ปุ่น จากงานนี้มีคนเห็นผลงานแล้วชวนเราไปทำงานที่เบอร์ลินต่อ
“เวลามีคนถามว่าเราได้อะไรจากงานที่ผ่านมา เราคิดว่าทุกอย่างที่เราทำมันจะมาเสริมสกิลเราเอง พอเราทำงานมานานๆ ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็ตาม เราจะสามารถพลิกแพลงและหาทางแก้ได้เร็วมาก เพราะเราเจอมาหมดแล้ว เมื่อก่อนเราอาจจะปรี๊ดแตก ทำลูกน้องร้องไห้ แต่พอโตขึ้นมา เราก็เก๋าเกม นิ่งขึ้น ใจเย็นขึ้น เพราะเราเชื่อว่าทุกอย่างมันมีทางแก้
“หลังจากเบอร์ลิน เรามีเพื่อนที่เวียดนามเขาชอบโปรเจกต์ของเรามาก เขาจะทำงาน Saigon Biennale เลยชวนเราไปทำด้วย แต่ความยากของการทำโปรเจกต์นี้คือ เราไม่รู้ว่าการทำงานทุกอย่างต้องไปขออนุญาตรัฐบาล ด้วยความที่เขาเป็นคอมมิวนิสต์ สรุปว่างานนั้นคนมา 300-400 คนแต่เราจัดแสดงไม่ได้
“เรารู้สึกเฟลและเหนื่อยมาก ตอนนั้นก็ได้ยินว่า คุณเอริก บูท ที่เขาเป็นบอร์ดบริหารจิม ทอมป์สัน อยากหาคนมารันอาร์ตเซนเตอร์”
Artistic Director – The Jim Thompson Art Center
“หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สันอยากทำบางอย่างที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ตอนแรกเขาจะทำแกลเลอรีเกี่ยวกับสิ่งทอ แต่เราเชียร์ให้ทำเรื่องศิลปะด้วย เพราะตอนช่วงปี 2000 ต้นๆ BACC ก็ยังไม่เปิด เรายังไม่มีแกลเลอรีใหญ่สำหรับศิลปะ เขาจึงทำเรื่องศิลปะด้วย
“จากที่เคยทำแต่เรื่องสิ่งทอ จิมทอมป์สันก็หันมาจับงาน contemporary art มากขึ้น หลังจากนั้นเราก็เอาทีมเข้ามาเพื่อทำโปรแกรมเพื่อการศึกษา เพราะเรายังอยากเชื่อมต่อกับคนไทยและแวดวงศิลปะอยู่
“จริงๆ กลุ่มเป้าหมายของเราคือชุมชนคนรักและสนใจศิลปะ แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้คนที่ไม่ได้สนใจศิลปะเข้ามาเช่นกัน เราจึงมีห้องสมุด ร้านกาแฟ ร้านลาบเสียบ ให้มันเป็นพื้นที่ให้คนมาเจอกันโดยไม่ต้องซื้อของก็ได้ คุณมานั่งชิลล์มาพักผ่อนก็ได้ เราอยากให้จิม ทอมป์สันเป็นที่รู้จัก เป็นที่พักใจ เป็นเหมือนโอเอซิสกลางกรุงเทพฯ นั่นคือเป้าหมายที่เราตั้งไว้กับตัวเอง
“เราคิดว่างานศิลปะต้องอยู่ได้ทุกที่ เข้าถึงได้ทุกคน เมื่อก่อนศิลปะอาจดูเป็นของสูง ของไกล ของแพง แต่จริงๆ งานศิลปะร่วมสมัยเปลี่ยนไปตั้งนานแล้ว เพราะมันพูดถึงเรื่องในชีวิตประจำวัน สมัยเราเปิดใหม่ๆ คนที่ชอบเสพศิลปะมีแต่คนในแวดวงและคนมีเงิน แต่มันเปลี่ยนไปในช่วงก่อนโควิด มีเด็กวัยรุ่นเยอะมาก จำได้ไหมก่อนหน้านี้เด็กๆ เคยออกไปประท้วง แต่หลังๆ มาประท้วงไม่ได้ เขาเลยมาดูงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อีกกลุ่มคือคนที่มาถ่ายรูปและรู้จักเราจาก TikTok ซี่งต่างจากกลุ่มลูกค้าก่อนที่เราจะเข้ามาทำโดยสิ้นเชิง
“ความท้าทายมากที่สุดสำหรับเราคือการกำกับทิศทางของอาร์ตเซนเตอร์ให้ไปในทิศทางที่ควร ถ้าคุณมององค์กรศิลปะในบ้านเรา คนจะคิดถึงการโกอินเตอร์ แต่จิม ทอมป์สันเป็น international มาตั้งแต่แรก โจทย์ของเราคือต่างจากชาวบ้าน คือเราจะ localize มันยังไง เราจะอยู่ร่วมกับภูมิภาคและโลกได้ยังไงโดยที่เราไม่ด้อยไปกว่าเขา เป็นเพื่อนกับองค์กรอื่นๆ ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
“เราเป็นผู้อำนวยการจิม ทอมป์สัน แต่เราไม่ได้คิดแต่เรื่องศิลปะตลอดเวลา วันๆ ต้องคิดเรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับศิลปะเลย เวลาเราเจอเพื่อนๆ ข้างนอก เราจะคุยกันเรื่องปัญหาว่าคุณเจออะไร กลุ่มเป้าหมายเป็นประมาณไหน เรื่องที่ยากที่สุดคือเรื่องเงินทุนเพราะเราเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เราจะไปหาเงินทุนให้ศิลปินทำงานจากไหน เพราะทุกอย่างในขั้นตอนการผลิตงานมันแพง และเราไม่สามารถซัพพอร์ตได้หมด ไม่ได้พูดกันหลักหมื่นหรือแสนแต่เป็นล้านๆ ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ มันคือการรับใช้สังคม
“ยุคนี้คนสนใจศิลปะเยอะขึ้น แต่เราว่าคนจะจ่ายเงินให้งานศิลปะเยอะกว่านี้ ถ้าสังคมเรามีผลประโยชน์ (benefit) ตอบแทนคนจ่ายเงินให้ศิลปะ เช่น ถ้าคุณบริจาคให้เราหนึ่งล้านแล้วมีนโยบายว่าหักลดหย่อนภาษีได้ครึ่งหนึ่ง เขาอาจจะบริจาคให้เราแทนที่จะไปบริจาคให้ที่อื่น เราว่าตรงนี้รัฐบาลต้องแก้ ไม่ต้องมาออกตังค์ให้แต่แค่คุณลดภาษีหรือหักภาษีได้
“ในฝั่งศิลปะ เราคิดว่าคนที่จะอยู่รอดเป็นศิลปินได้ต้องมีความดื้อ ต้องอดทนมากๆ เพราะมันไม่มีทางลัด ไม่ว่าจะเป็นคิวเรเตอร์หรือศิลปิน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีถึงจะประสบความสำเร็จ อย่างเราทำงาน เราก็ไม่ต้องคิดว่ามันต้องประสบความสำเร็จหรืออะไร แต่เราทำสิ่งที่เราเชื่อว่ามันจะต้องน่าสนใจ มันจะช่วยใครได้ จะทำให้ชีวิตใครดีขึ้น และจะทำให้วงการไปต่อได้ยังไง สิ่งเหล่านี้ไม่มีสูตรสำเร็จ มันต้องใช้เวลาล้วนๆ เลย”
Artistic Director – Thailand Biennale 2023
“เราเคยทำงานในทีมคิวเรเตอร์ในงาน Biennale ที่ต่างประเทศ ทำมาหลาย Biennale ก่อนจะมาทำของไทย ซึ่งที่นี่เราเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ หน้าที่คือคุยกับรัฐ จัดหาเงินเพิ่ม คัดเลือกศิลปิน เลือกพื้นที่ จริงๆ หน้าที่คือเป็นคนตรงกลางที่ดีลกับสารพัดทิศ ด้วยเป้าหมายคือการเอางานศิลปะไปแสดงให้คนดู แต่กว่ารัฐบาลจะคิดว่า Thailand Biennale สำคัญแล้วอนุมัติเงินมาให้ กว่าจะเชิญศิลปินจากทั่วโลกมาทำงานที่เมืองไทย กว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้เนี่ยมันยาก
“ปกติการไปคิวเรตงานสักงาน ต้องคำนึงถึงปัจจัยเยอะมาก ก่อนจะคิวเรตโชว์เราต้องตอบให้ได้ว่าทำไมเราถึงต้องทำตอนนี้ เพราะ contemporary art มันคือเรื่อง Here & Now เรารอได้ไหมกับงานนี้ มีอะไรด่วนกว่านี้ไหม งานนี้เกี่ยวกับพื้นที่และชีวิตพวกเรายังไง
“พอไปจัดแต่ละที่ โจทย์แรกที่เราถามคือแล้วชาวบ้านจะได้อะไร เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ใช่แค่ศิลปะแล้ว มันคือคนทั่วไป (เมื่อเป็นเชียงราย) คนเชียงรายจะได้อะไร ในขณะที่ตัวเราเองก็เหมือนได้ตั้งต้นเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเชียงรายใหม่ ศิลปินเขาก็ช่วยเราด้วยการถามคำถามแปลกๆ เราก็ต้องไปรีเสิร์ชให้เขา สำหรับเรา เราได้เรียนรู้เยอะมาก เพราะโจทย์ของงานคือเราจะทำยังไงให้เมืองเก่า 700 ปีรีเลตกับปัจจุบัน มันค่อนข้างท้าทาย
“ตอนศิลปินทำงานเสร็จแล้ว เราต้องการคนมาอธิบายงานที่เรียกว่า docent ปรากฏว่าพอเรารับสมัคร docent ส่วนใหญ่เป็นคนเกษียณอายุซึ่งอินกับประวัติศาสตร์มาก นอกจากนั้นยังมีเด็กวัยรุ่น ทุกคนเล่างานศิลปะได้อย่างอินมากจนคนไปเบียนนาเล่กรี๊ดกับ docent ของเรามาก และตลอด 4-5 เดือนที่ทำงานกับเรา งานนี้ก็สร้างรายได้ให้กับชุมชน นี่เป็นอีกคีย์เวิร์ดหนึ่งที่เราอยากให้มันเกิด ซึ่งสำหรับเรา มันก็รู้สึกเหมือนได้รางวัล (rewarding) เหมือนกันนะ
“ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ สิ่งที่เรายึดถือไว้ตลอดคือความเชื่อมั่นในงานศิลปะ เพราะบางทีเวลามีปัญหาเยอะๆ มันทำให้เราตั้งคำถามว่าทำทำไม ทำอะไรอยู่ตอนนี้ เรา stand for อะไร คุณค่าจริงๆ อยู่ตรงไหน อย่างตอนที่ทำ Thailand Biennale ที่เชียงราย หลายคนไม่เชื่อว่าเราจะทำงานกับรัฐบาลได้ และไม่คิดว่าเราจะอยู่ได้จนจบ แต่เราบอกว่ามี 2 คำที่ทำให้เราอยู่ตรงนั้นได้ หนึ่งคือคำว่าศิลปะ อีกคำคือเชียงราย ถ้าไม่มีสองคำนี้เราอาจจะลาออกตั้งแต่แรกแล้วก็ได้ ซึ่งสุดท้ายคำว่าศิลปะมันก็พาเราไปที่ไหนก็ไม่รู้ สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากคือมันนิยามไม่ได้ และมันทำให้เราไปสู่ดินแดนที่เราไม่รู้จัก ซึ่งเราพร้อมที่จะเผชิญกับมัน
“เคยมีคนมาถามเราเหมือนกันว่า เราทำยังไง ทำไมพี่ถึงไม่หายไปจากวงการ เราบอกว่าเราต้องรู้จักทำให้ตัวเองแฮปปี้ คิวเรเตอร์แปลว่าแคร์ แล้วใครจะแคร์ตัวเอง เราเองก็ต้องรู้สึกเซฟตัวเองและดูแลตัวเองด้วย ไม่ใช่ดูแลแค่คนอื่น”