Sunny side up
สนทนากับ NEPS ธุรกิจติดตั้งโซลาร์กับภารกิจผลักดันพลังงานสะอาดแบบครบวงจรเพื่อคนไทย
“ผมไม่ได้ทำโซลาร์เพราะอยากรวย”
หลายคนที่อ่านประโยคข้างต้นจากปากของ ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิว เอ็นเนอร์จี พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ NEPS ผู้นำธุรกิจติดตั้งโซลาร์ของไทย คงทำใจเชื่อได้ยาก เพราะการที่ใครสักคนจะทำธุรกิจ ปัจจัยเรื่องกำไรขาดทุนต้องอยู่ในสมการเป็นพื้นฐาน
แต่ตลอดการสนทนา ไม่ใช่เพียงคำพูดที่ว่า “สำหรับผม สังคมมาหนึ่ง เศรษฐกิจมารอง” เท่านั้นที่ทำให้เริ่มเข้าใจเจตนารมณ์ของชายตรงหน้า แต่ยังเป็นเรื่องราวในอดีตที่เขาสร้าง และอนาคตที่เขาเห็นต่างหาก ที่ทำให้จากไม่ปักใจเชื่อในแรกได้ยิน กลับรู้สึกเอาใจช่วยให้ภาพที่เขาวาดไปถึงฝั่งฝัน
หากใครเป็นคนดนตรี อาจรู้จักตรีรัตน์ในนามศิลปินวงเอพริลฟูลส์เดย์ สังกัดอาร์เอส
หากใครเป็นคนที่สนใจการบ้านการเมือง อาจคุ้นหน้าคุ้นตาเขาในฐานะนักการเมืองที่พยายามผลักดันนโยบายพลังงานมาตลอด
และหากใครเป็นหนอนหนังสือ เชื่อไหมว่าเขาคือผู้นำเข้ากระดาษถนอมสายตา ‘Paper Green’ ด้วยต้องการสร้างความแตกต่างให้วงการหนังสือไทย และเพื่อนักอ่านชาวไทยได้อ่านหนังสือที่พิมพ์ด้วยกระดาษคุณภาพ ทั้งเบา ทั้งหอม และดีต่อสิ่งแวดล้อม
แม้เขาจะเปลี่ยนมือมาสร้างธุรกิจใหม่อย่างการทำธุรกิจติดตั้งโซลาร์ ความเป็น ‘ตรีรัตน์’ ที่นึกถึงผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง และต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมยังคงฝังแน่นไม่จางหาย วันนี้ NEPS เป็นมากกว่าผู้ติดตั้งโซลาร์ แต่ยังเป็นเบอร์ต้นและเป็นผู้บุกเบิกการให้บริการด้านพลังงานสะอาดแบบครบวงจรด้วย
เขาสร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการ เขาบุกเบิกบางสิ่งที่คนอาจว่าบ้า แต่เขามองว่าถ้าทำได้สังคมจะดีขึ้นอีกโข
บ่ายวันหนึ่งที่แสงแดดจ้า ส่งทั้งความร้อน และความสดใสไปยังทั่วทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ Capital สนทนากับตรีรัตน์ถึงทิศทางพลังงานสะอาด โอกาสของคนไทย และความตั้งใจที่อยากให้คนไทยผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ และความตั้งมั่นที่จะนำพาประเทศไทยให้ไม่ตกขบวนเทรนด์สำคัญแห่งอนาคต
“ผมมองว่าโซลาร์มันจะกลายเป็น new norm”
“รู้ไหมว่าการที่เราใช้ไฟจากการไฟฟ้าปัจจุบันนี้มันคือหนึ่งในต้นเหตุหลักของโลกร้อน” ตรีรัตน์เปิดบทสนทนาด้วยคำถามที่เชื่อว่าหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน
เขาอธิบายขยายความว่าโรงไฟฟ้าปกตินั้นใช้พลังงานฟอสซิลผลิตแก๊ส และนำความร้อนจากแก๊สมาปั่นเป็นไฟฟ้า นั่นคือการเพิ่มความร้อนไปในสภาพภูมิอากาศ เมื่อโลกมันร้อนขึ้นจึงก่อให้เกิดเหตุการณ์เอลนีโญ ปะการังฟอกขาว ฯลฯ
“ถามว่าทำไมคนไม่อยากมีลูกกัน ก็เพราะเขาไม่รู้ว่ามีลูกแล้ว อนาคตของลูกจะเป็นยังไง” เขากล่าวว่าตนเองก็ยังนึกบทบาทความเป็นพ่อไม่ออกนัก
การที่ไฟฟ้ากว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ผลิตจากฟอสซิลที่เริ่มเหลือน้อยลงเรื่อยๆ นี้เอง เมื่อมีสงคราม ราคาแก๊สสูงขึ้น ค่าไฟก็ต้องผันผวนไปตามนั้น เป็นผลให้ค่าไฟแพง ตรงข้ามกับค่าแรงที่ยังคงไม่กระดิกไปไหนและเป็นสาเหตุที่ผู้คนเริ่มค้นหาพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ได้อย่างไม่รู้จบและยังเป็นพลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้
ด้วยเทคโนโลยีสมัยก่อนทำให้โซลาร์หนึ่งแผงผลิตไฟได้เพียง 200 วัตต์ แปลว่ากว่าจะคืนทุนก็อาศัยเวลาหลัก 10-20 ปี แต่วันนี้โซลาร์หนึ่งแผงกลับผลิตไฟได้ปริมาณมากขึ้นและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม ตรีรัตน์เอ่ยว่าไม่เกิน 4-5 ปีก็สามารถคืนทุนให้เจ้าของบ้าน เจ้าของโรงงาน หรือผู้ประกอบการได้แล้ว
แต่อีกเรื่องสำคัญที่ทำให้คนหันมาสนใจโซลาร์กันมากขึ้นมาจากกฎหมายระดับโลก หลังการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 21 เมื่อปี 2558 ก็ส่งผลให้การเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม
“รัฐบาลพยายามเจรจาอยากนำ data center มาลงในประเทศไทย ชวน Microsoft มาลงทุน ชวนอะไรมาลงทุน ใครๆ เขาก็บอกว่ามาลงทุนได้อยู่แล้ว แต่มีข้อแม้ว่าประเทศเราต้องมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มากกว่านี้
“คำถามคือเพราะอะไร ก็เพราะมันเป็น requirement ของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาที่ต้องมีแพลนเรื่องการรักษ์โลก การลดคาร์บอน” ฉะนั้นแล้วรัฐบาลไทยและหลายๆ ประเทศจึงต้องรณรงค์การเพิ่มสัดส่วน green energy ในประเทศตนเองเพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
“วันนี้ผมเลยมองว่าโซลาร์มันจะกลายเป็น new norm อย่างเราซื้อบ้านจัดสรรสมัยนี้ ผมว่า 80% เขาต้องมีแผงโซลาร์มาให้ลูกบ้าน มันเสมือนสมาร์ตทีวี เสมือนสมาร์ตโฟน เสมือนรถ EV ที่เริ่มเข้ามาเป็น new norm ในไทย”
การมาของรถ EV ยังถือเป็นอีกสิ่งที่ทำให้ธุรกิจโซลาร์บูม เพราะคนต้องการลดค่าไฟจากการชาร์จรถที่บ้านให้มากที่สุด การใช้โซลาร์ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทั้งฟรีและเป็นพลังงานของทุกคนจึงมีแต่ได้กับได้
“เราจ่ายเงินแค่ค่าแผง ค่า inverter และเราก็ดูเรื่อง maintenance ให้มันดี แค่นี้ก็สามารถผลิตไฟให้เราได้แล้ว ฉะนั้นนี่คือพลังงานที่ผมว่ามันยั่งยืนต่อทั้งโลกและต่ออนาคตของพวกเราทุกคน” เขายืนยัน
“ผมไม่ได้ทำโซลาร์เพราะผมอยากจะรวย แต่ผมอยากเชตตัวเองให้เป็นมาตรฐานที่ดี”
“ผมพูดเสมอนะว่าผมไม่ได้ทำโซลาร์เพราะผมอยากจะรวยกับโซลาร์ มันคือมายด์เซตที่ผมว่าผมต่างกับผู้ผลิตเจ้าอื่น”
จุดตั้งต้นของ NEPS ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ ตรีรัตน์เริ่มธุรกิจโซลาร์จากการซื้อมา-ขายไป ลูกค้ากลุ่มหลักไม่ใช่เจ้าของบ้าน หรือเจ้าของโรงงาน แต่เป็นผู้รับเหมาที่ซื้อโซลาร์จากเขาเพื่อไปติดตั้งอีกทอด
“สิ่งที่ผมเห็นคือเขาเริ่มลดสเปกของกันมากขึ้นเพื่อให้ได้งาน หลายครั้งของไม่ได้มาตรฐานแล้วในอนาคตเกิดบ้านไฟไหม้ แผงโซลาร์ปลิวหลุดจากหลังคาจะทำยังไง ผมเลยตัดสินใจคุยกับหนึ่งในผู้รับเหมาที่เขาทำงานดี มีคุณภาพว่าผมจะมาลุยตลาดเวนเดอร์แล้วนะ
“ผมอยากเชตตัวเองให้เป็นมาตรฐานที่ดี มาตรฐานที่ต่างประเทศใช้ มาตรฐานที่มีการให้บริการทั้งระหว่างการขายและหลังการขาย”
มาตรฐานและคุณภาพที่เขาหมายถึงมีหลายองค์ประกอบด้วยกัน ตั้งแต่การเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ เช่น โซลาร์ที่ต้องมีอายุรับประกันที่ 30 ปี หรือวัสดุติดยึดและสายไฟที่ต้องเป็นเกรดดีเท่านั้น ที่สำคัญ คุณภาพการติดตั้งต้องดีที่สุด
“ถ้าของดีแต่ติดตั้งห่วยมันก็จบ พนักงานของผมจึงเป็นทีมวิศวกรมืออาชีพที่มีประสบการณ์ด้านนี้มาเกิน 10 ปี และเขายังเป็น in-house อยู่ที่ช็อปเรา ถามว่า in-house มันดียังไง มันดีตรงที่ผมสามารถคุมคุณภาพได้ กลับกัน ถ้าผมจ้างซัพพลายเออร์ ผมจะมั่นใจได้ยังไงว่าของที่ได้ ทีมที่มีมันได้มาตรฐาน”
เขาเล่าประสบการร์การขายโซลาร์ก่อนหน้า ว่าผู้รับเหมาส่วนใหญ่มักแนะนำลูกค้าว่าหากมีหลังคาเท่าไหร่ ให้ติดโซลาร์เต็มพิกัด ซึ่งนี่คือการสร้าง norm ที่ไม่ถูกต้องจากความต้องการขายให้ได้จำนวน หรือบางคนก็เลือกลดสเปกวัสดุติดตั้งเพื่อลดต้นทุน และได้กำไรมากขึ้น
“ถ้าเกิดทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันคงไม่ยั่งยืนกับตลาดแน่นอน เชื่อไหมว่าวันนี้มีลูกค้าจำนวนมากมาขอให้ผมแก้งานเก่าที่ทำไว้กับเจ้าอื่นๆ เพราะไม่ได้มาตรฐาน”
“NEPS ไม่ได้จะขายแล้วจบ แต่มันคือการดูแลระยะยาว”
‘หน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมภาระอันใหญ่ยิ่ง’
คำพูดนี้คงไม่เกินจริงนัก นับแต่วันที่ตรีรัตน์ตั้งใจผันตัวจากการซื้อมา-ขายไป เป็น new energy solution และนี่เองคืออีกจุดต่างสำคัญที่ทำให้ NEPS ไม่เพียงเป็นหนึ่งในผู้เล่นของตลาดนี้แต่กลับทะยานขึ้นสู่การเป็นผู้นำของบริการด้านโซลาร์ของไทย
“แผงโซลาร์จะผลิตไฟได้ตามโฆษณามันต้องมีการดูแลรักษา เพราะแผงโซลาร์ก็เหมือนกระจกที่รับแสงอาทิตย์ ถ้ามันสกปรก มันก็รับแสงได้น้อย รับแสงได้น้อยก็ผลิตไฟไม่ได้ตามที่คาดหวัง สี่ปีที่โฆษณาว่าคืนทุนก็อาจขยายเป็นห้าปีก็ได้ ผมเลยบอกลูกค้าว่าผมดูแลคุณ 30 ปีเลย”
แพ็กเกจการดูแลแผงโซลาร์แตกต่างกันไปตามเลือกสรร แต่หลังจากจบการขายแล้ว NEPS ทุกๆ 4-5 เดือน จะมีพนักงานโทรสอบถามเรื่องการล้างทำความสะอาดแผง การตรวจเช็กอุณหภูมิของอุปกรณ์ และการดูแลขั้วสายไฟ
“หลายๆ ครั้งที่ NEPS เข้าไปเปลี่ยนอุปกรณ์ให้ลูกค้าก่อนที่วัสดุอุปกรณ์จะเสียอีก เพราะด้วยประสบการณ์ในการให้บริการของเรา ทำให้ทีมเรามีความชำนาญมาก หรืออาจเป็นเพราะอีกมุมหนึ่ง ผมเป็นตัวแทนโรงงาน เรามีเทรดดิ้ง ฉะนั้นพวกแบรนด์โซลาร์ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น LONGi จะเป็น Jinko Solar เราดูแลการเคลมให้เขาหมด”
NEPS ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายจึงมีของพร้อมเปลี่ยน พร้อมขายและพร้อมส่งตลอดเวลา ไม่ว่าจะเหนือ ใต้ ออก ตก หรือที่ไหนๆ NEPS ก็เคยไปปักหมุดมาแล้ว
“อาทิตย์ที่แล้ว ผมก็เพิ่งไปส่งของที่เกาะสมุยมา สองเดือนกว่าที่แล้ว ผมไปติดตั้งที่เกาะพงันมา แล้วไม่ว่าจะที่ไหนๆ มันไม่ใช่ว่าซื้อของแล้วจบไป แต่มันคือการดูแลระยะยาว มันคือการสร้างแบรนด์ มันคือการสร้างความเชื่อใจ”
“ไม่ได้ขายแบบเหมาเข่ง แต่หาสิ่งที่เหมาะให้ทุกคน”
“ลูกค้าของเราติดตั้งโซลาร์ไม่เหมือนกันสักหลังเลย และนี่แหละมันคือความมัน” เขาขยายความถึงความมันที่ว่าให้ฟังว่าพฤติกรรมการใช้ไฟของแต่ละบ้าน แต่ละบริษัท แต่ละโรงงานไม่เหมือนกันอยู่แล้ว หน้าที่ของ NEPS จึงคือการติดตั้งโซลาร์ตามพฤติกรรมของผู้ใช้งาน
“เหมือนคุณจะทำกับข้าว คุณไปตลาด คุณก็ต้องเลือกว่าจะใช้หมูกี่กรัม ผักกี่กรัม คุณก็เอาให้มันพอดีจะได้ไม่ต้องทิ้งและทำให้ต้นทุนแพง
“บางคนขายโซลาร์ให้ลูกค้า 5 กิโลวัตต์ 10 กิโลวัตต์ ผมบอก ไม่ ของคุณคือ 4.1 ของคุณคือ 9.8 ของคุณคือ 6.4 แต่แปลว่า NEPS ต้องใช้ทรัพยากรคนลงไปเยอะ ต้นทุนการดีไซน์แต่ละหลังอาจสูงกว่าชาวบ้าน แต่สุดท้ายปลายทาง เมื่อเราหาของที่มันเหมาะ ออกแบบให้มันเหมาะ ผู้บริโภคจะคืนทุนเร็วกว่า”
คำว่า ‘เหมาะ’ ที่ตรีรัตน์เอ่ยเป็นสารตั้งต้นที่เขาใช้ในทุกธุรกิจที่ถือ โดยเฉพาะกับการคัดเลือกโซลาร์รูปแบบใหม่เข้ามาจำหน่ายเป็นคนแรกๆ ที่แม้ไม่รู้ว่าตลาดต้องการแค่ไหน เขาจะเจ๊งหรือไปได้ไกล เขาก็ไม่ลังเลสักนิดที่จะนำเข้ามา
อย่างแรกคือการนำนวัตกรรม BIPV (Building-integrated photovoltaics) ของ LONGi ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านโซลาร์เข้ามาในไทย อธิบายง่ายๆ BIPV คือการนำโซลาร์ที่แต่ก่อนต้องติดตั้งบนหลังคามาติดบนกำแพงหรือส่วนต่างๆ ของบ้านได้ ทั้งหน้าต่าง ช่องกระจก หรือผนัง ซึ่งช่วยให้อาคารรับพลังงานแสงอาทิตย์ได้รอบด้านและประสิทธิภาพสูงมาก
จุดตั้งต้นมาจากประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่นที่เมื่อที่ดินแพง ทุกตารางเมตรที่มีอยู่จึงต้องทำให้เกิดประโยชน์ เปลี่ยนจากฟาซาดทึบๆ ที่ร้อนและอาจไม่สร้างคุณค่าให้เป็น BIPV ที่ทั้งสวย ดีต่อโลก และประหยัดพลังงาน ตัว BIPV ยังเหมาะกับการติดตั้งอาคารที่สูงมากกว่า 50 เมตร หรือก็คืออาคารสูงๆ ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ นี่เอง
ข้อดีของ BIPV จาก LONGi คือสามารถคัสตอมสีตามอาคารได้ ไม่ก่อให้เกิดควัน ความชื้น หรือความร้อน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ ก็ Beijing Workers Stadium ที่สั่งทำสีทองพิเศษ จนกลมกลืนกับตัวอาคาร แถมยังผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ได้ตลอดวัน
“สิ่งที่ผมทำวันนี้ ผมรู้ว่ามันขายโคตรยากเลย แต่ทำไมผมกล้าทำ เพราะผมไม่อยากให้เราเป็นผู้ตาม ผมอยากบุกเบิก ผมคิดว่าประเทศไทยมีตึกสูงมากขึ้น คนที่ใช้พลังงานเยอะที่สุดในประเทศไทยก็คือคนบนตึกสูง ฉะนั้นแล้ว เรายิ่งต้องทำให้ตึกนี้เป็นตึกที่มันกรีนและรักษ์โลกให้ได้
“แล้วรู้ไหมว่าตัว BIPV นี้ LONGi เขาติดต่อมาหาผมนะ ไม่หาคนอื่นเลย ผมถามว่าทำไมเขาถึงมาที่ผม เขาบอกว่าเขาเชื่อในตัวผม เขาเชื่อว่าวิธีการขายของผมมันนำเสนอความตั้งใจในการสร้าง green building ของแบรนด์ได้ ไม่ใช่การนำเสนอว่ามันคืนทุนเร็วเท่าไหร่”
อีกนวัตกรรมระดับโลกที่ NEPS นำเข้ามา ทั้งยังเป็นตัวแทนรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยของ LONGi คือ Ultra Black Solar รุ่น HI-MO X6 Ultra Black ที่มีดีไซน์สีดำสวยงามช่วยดูดซับแสงได้ดีกว่า มาพร้อมเทคโนโลยี BC เซลล์ประสิทธิภาพสูงกว่าแผงโซลาร์ 25% ทั้งยังรับประกันประสิทธิภาพ 30 ปี รับประกันคุณภาพ 25 ปี ขณะที่แผงทั่วไปรับประกันประสิทธิภาพ 25 ปี และคุณภาพที่ 12 ปี
“เรียกว่ามันจิ๋วแต่แจ๋ว แล้วเชื่อไหมว่า Ultra Black นี้ ญี่ปุ่นเหมาเกือบหมด ผมเป็นหนึ่งในคนที่ขอแบ่งตลาดญี่ปุ่นมาขายในเมืองไทย ซึ่งตอนเปิดตัวเมื่อเดือน 8 เราเอาเข้ามาหนึ่งตู้เพราะไม่รู้จะขายได้ไหม แต่ไม่เกิน 2 อาทิตย์ผมขายหมด
“ผลตอบรับตรงนี้ยิ่งทำให้ผมคิดว่าวันนี้โซลาร์ไม่เพียงต้องมีประสิทธิภาพดีเท่านั้น แต่มันต้องมาพร้อมความสวยงาม ยิ่งไปกว่านั้นมันต้องเหมาะกับแต่ละอุตสาหกรรมจริงๆ อย่าง Ultra Black ที่เหมาะกับบ้าน หรือ BIPV ที่เหมาะกับอาคารสูง สิ่งที่ผมทำคือผมไม่ขายแบบเหมาเข่ง แต่ผมหาสิ่งที่เหมาะเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกประเภท”
การเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำระดับโลกครั้งนี้เองที่ยิ่งส่งให้ NEPS เป็นผู้นำเบอร์ต้นของธุรกิจติดตั้งโซลาร์ได้ไม่ยาก
“เราคือโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ทั้งหมดเลย”
ยิ่งทำยิ่งลงลึก ยิ่งลงลึกยิ่งได้ยินเสียงของผู้บริโภค วันนี้ NEPS ไม่ได้หยุดอยู่แค่การขายหรือการติดตั้งโซลาร์เท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจย่อยในมืออีกมากเพื่อสร้างให้ NEPS เป็น one-stop service solution ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้แบบครบจบ
ทั้ง Solar Rooftop ที่เกิดจากลูกค้าหลายคนต้องการติดตั้งโซลาร์แต่ติดปัญหาว่าหลังคานั้นเก่าเกินไป ตรีรัตน์เข้าไปอุดช่องว่างนี้ด้วยมีบริการติดโซลาร์พร้อมทำหลังคาใหม่ ที่สำคัญยังเป็นช่างภายใน ไม่ใช้ซัพนอกตามคอนเซปต์ เพื่อให้มั่นใจว่าการบริการมีคุณภาพ และราคาที่ลูกค้าจ่ายก็ไม่แพงจนเกินไป
“บางทีสร้างโครงสร้างหลังคาให้เลยก็มี เช่นหลายๆ ไซต์เราก็ทำหลังคาลานจอดรถและติดโซลาร์บนหลังคาลานจอดรถให้เขาเลย และไม่บวกกำไรค่าหลังคาด้วย”
นอกจากนั้น ตรีรัตน์ยังลุยอีกธุรกิจที่เกิดจาก pain poin ของลูกค้าคือแบตเตอรีและชาร์จเจอร์ EV เกิดจากว่าลูกค้าในปัจจุบันไม่จำกัดเฉพาะลูกค้าโรงงานที่ใช้ไฟตั้งแต่เช้าถึงเย็นเท่านั้น แต่ยังมีลูกค้าบ้านพักอาศัย หรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก-กลาง อย่างเจ้าของร้านกาแฟ โชว์รูมรถยนต์ โรงเรียนมากขึ้น
“เทรนด์โซลาร์มันมาตอน work from home ข้อดีคือคนไม่ต้องออกไปไหน แต่ค่าไฟ ค่าแอร์ ค่าเน็ต เราต้องจ่ายเอง คนก็เริ่มติดโซลาร์กันมากขึ้น แต่พอกลับไปทำงานตามปกติแล้ว บางวันไม่ได้อยู่บ้านนานขนาดนั้น ไฟฟ้าที่ผลิตได้มันก็ไม่ถูกใช้
“วิธีการคือการใช้เทคโนโลยีแบตเตอรีมาเก็บไฟที่ผลิตได้เพื่อให้คนได้ใช้ไฟในตอนที่เขาอยู่บ้านแล้ว เราเลยเป็นผู้บุกเบิกแบตเตอรีคนแรกๆ เหมือนกัน แบตเตอรียังช่วยเรื่องอะไรอีก มันช่วยเรื่องทำหน้าที่เหมือนระบบกักสำรองไฟยามฉุกเฉิน”
แบตเตอรีที่ NEPS บุกเบิกทำงานภายใน 0.03 วินาที ชนิดที่ไฟดับแล้วแต่เจ้าของบ้านแทบไม่รู้ตัว เพราะไฟที่กักเก็บไว้จะถูกปล่อยออกมาใช้งานทันที ไม่ต้องห่วงว่าของในตู้เย็นจะเสีย ไม่ต้องห่วงว่าเจ้าหมาขนฟูที่เลี้ยงไว้จะร้อน หรือหากมีผู้พิการหรือผู้สูงอายุติดเตียงที่ต้องใช้เครื่องมอนิเตอร์หัวใจ อุปกรณ์เหล่านี้ก็ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
“มันคือความมั่นคงในบ้าน เราถึงบอกว่าวันนี้ NEPS ไม่ได้เน้นแค่ขายโซลาร์ แต่เราคือโซลูชั่นที่คุณอยากได้อะไร คุณมาบอกเราสิ เราตอบโจทย์ได้ทั้งหมดเลย”
“สำหรับผม สังคมมาที่หนึ่ง เศรษฐกิจมารอง”
“ก่อนผมทำโซลาร์ผมทำกระดาษ Paper Green มาก่อนนะ” ตรีรัตน์เอ่ยถึงกระดาษรักษ์โลกถนอมสายตา ที่เข้ามาปฏิวัติวงการหนังสือและสมุดในไทย
“จำได้เลยว่าผมเดินไปหาเจ้าของสำนักพิมพ์ต่างๆ ผมบอกว่าผมไปเมืองนอกมา ผมเข้าร้านหนังสือในสนามบินที่เมืองนอก แล้วเห็นเขาใช้กระดาษถนอมสายตาที่กลิ่นหอม น้ำหนักเบาด้วย ทำไมประเทศไทยมีแต่กระดาษปอนด์ขาวๆ ที่หนักแล้วก็บาดมือ มันน่าเบื่อนะ ลองใช้กระดาษพวกนี้ไหม
“มันไม่ใช่ของถูกๆ หรอกแต่มันเป็นของที่ยั่งยืนกว่า ช่วยโลกได้มากกว่า สุดท้ายเขาก็ใช้กระดาษผมจนติด แล้วมันก็บูมขึ้นมา สมัยก่อนคนอ่านนิยาย อ่านซีรีส์ก็ไม่อยากพกไปไหนมาไหนเพราะมันหนัก แต่พอเราหาสิ่งที่มันเหมาะมาให้ วันนี้สิ่งที่มันเหมาะก็อยู่เต็มงานสัปดาห์หนังสือไปหมด” มายด์เซตในการผลักดันกระดาษ Paper Green ครั้งนั้น ไม่ต่างไปจากการพยายามผลักดันให้สังคมไทยเกิดการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นในครั้งนี้
“99% ของคนขายโซลาร์ประเทศไทยต้องการขายของถูก เพราะมันคืนทุนเร็ว สิ่งที่ผมขาย สิ่งที่ผมทำ บริการทั้งหมดที่ออกแบบขึ้น มันอาจจะคืนทุนช้ากว่าก็จริง แต่ระยะยาวมันคุ้มค่ากว่า ผมเลยคิดว่าการพยายามนำของดีและของที่เหมาะเข้ามาให้คนไทยครั้งนี้คือการที่ผมกำลังปฏิวัติอุตสาหกรรมโซลาร์”
หากสังเกตวิธีการสื่อสารการตลาดกับลูกค้า ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนของ NEPS คือการสื่อสารถึงความคุ้มค่า คุณค่า และความยั่งยืนที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีสักครั้งที่ NEPS จะพูดถึงการคืนทุนหรือการประหยัดสตางค์ในกระเป๋า
“ผมไม่อยากขายคําว่าเศรษฐกิจมานำหน้า ผมอยากใช้ความฟีลกู๊ดด้านสังคมสิ่งแวดล้อมมานำหน้าก่อน แล้วการคืนทุนเร็ว การลดค่าไฟ หรือประโยชน์อื่นๆ มันคือโบนัส เพราะถ้าวันหนึ่งมีสินค้าที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า รักษ์โลกมากกว่า แต่คืนทุนช้ากว่าคนก็คงไม่ใช้
“สิ่งที่เราทำเสมอมาจึงคือการสื่อสารถึงการพยายามเปลี่ยนสังคมของประเทศไทยสู่สังคมสะอาด เราพยายามเป็นผู้บุกเบิกด้าน new energy solution อยากให้เชื่อใจว่าเราเลือกสิ่งที่ดีที่สุดมาให้คุณแล้ว แบตเตอรีผมมีหลายยี่ห้อมาก แผงโซลาร์ผมก็มีสองยี่ห้อ เพราะแต่ละยี่ห้อมันเหมาะกับลูกค้าคนละแบบ”
การพยายามเปลี่ยนสังคมของ NEPS ยังไปไกลกว่าการเฟ้นหาสินค้าใหม่ๆ และผลักดันเรื่องพลังงานสะอาดกับลูกค้า แต่ยังเป็นการทำโครงการ CSR ที่ยั่งยืน อย่างการทำกฐินโซลาร์ เพื่อผลักดันให้วัดนั้นๆ กลายเป็นวัดที่ green energy ในอนาคต เขายังวางแผนติดตั้งโซลาร์เพื่อให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงไฟฟ้าได้ฟรี
“ผมเป็นผู้บุกเบิกตลาด แน่นอนว่าเดี๋ยวคนก็ทำตาม แต่ว่าไม่เป็นไร เราถือว่าเราช่วยเหลือสังคม เราอยากให้โซลาร์มันมีมากกว่าแค่แบบเดิมๆ เพราะสำหรับผม สังคมมาที่หนึ่ง เศรษฐกิจจะตามมาหลังจากนั้น เพราะเมื่อสังคมมันดี มันก็ช่วยเหลือคนในเศรษฐกิจด้วย” ตรีรัตน์ทิ้งท้ายความตั้งใจ