Wealth-done

อ่านแผนการงาน การเงิน และความรัก ผ่านนามบัตรทั้ง 6 ใบของสุวภา เจริญยิ่ง

สุวภา เจริญยิ่ง คือนักการเงินมากประสบการณ์ ผู้รักการค้นหาเป้าหมาย คำนวณเส้นทางสร้างโอกาส หาความเป็นไปได้ วางแผนและลงมือทำโดยไม่ตามใคร

เธอคือผู้อยู่เบื้องหลังการพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์มากมาย เช่น บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และบริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

สุวภายังเป็นแฟนตัวยงของกิจการไทย ทุกครั้งที่เจอเธอ เราจะได้ยินได้ฟังเรื่องราวของบริษัทดีๆ หรือกลยุทธ์มากมายในมุมที่เราไม่เคยได้ยินจากที่ไหน เป็นเรื่องราวจริงๆ ที่เธอได้สัมผัสเมื่อทำงานร่วมกับผู้บริหารและบริษัทเหล่านั้น ซึ่งเราจะไม่คุยเรื่องนั้นกันในวันนี้

นอกจากที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ และอุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย

ปัจจุบันเธอเป็นกรรมการอิสระในบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง คอยช่วยให้ทิศทาง ช่วยให้ไอเดีย ช่วยสนับสนุนความคิดที่ดีของ CEO ล่าสุดสุวภาเป็นหนึ่งในบอร์ดของ AirAsia Aviation Group Limited (AAAGL) เป็นครั้งแรกที่ไปนั่งบอร์ดต่างประเทศ เป็นผู้หญิงคนเดียว และเป็นคนไทยคนเดียวในบอร์ดนี้

ตามเราไปอ่านแผนและสำรวจเส้นทางการทำงานที่เต็มไปด้วยความหลงใหล ผ่านนามบัตรทั้ง 6 ใบ ตัวแทน ‘ณ บัตรนั้น’ ของ สุวภา เจริญยิ่ง 

01

สุวภา เจริญยิ่ง
ผู้ช่วยหัวหน้าส่วน กลุ่ม 8
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ธนาคารกสิกรไทย

“หลังเรียนจบด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) เราเริ่มต้นงานแรกในชีวิตที่ฝ่ายต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทย เพราะคิดว่าจะได้ใช้ภาษาอังกฤษมากที่สุด แต่จริงๆ ต้องมานั่งพิมพ์ใบ letter of credit (LC)  สำหรับการออกวงเงินสินเชื่อ LC/TR (มาจาก letter of credit และ trust receipt) เพื่อทำธุรกรรมสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งธนาคารจะออก LC ว่าบริษัทต้องการซื้อสินค้าและรับรองว่าจะจ่ายเงินอย่างแน่นอน เพื่อให้บริษัทนำไปยื่นแก่ธนาคารของคู่ค้าที่ต่างประเทศ จากนั้นธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อและเมื่อของถูกส่งถึงมือแล้ว ธนาคารจะจ่ายเงินล่วงหน้าให้ไปก่อน

“ต่อมาเริ่มค้นพบว่างานในแผนกสินเชื่อของธนาคารดีที่สุด จึงไปขอทำเรื่องย้ายแผนกซึ่งตอนนั้นแผนกสินเชื่อของกสิกรไทยอยู่ในชื่อฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ยุคนั้นสัดส่วนพนักงานชายต่อพนักงานหญิงคือ 4 : 1 ผู้หญิงน้อยมาก แล้วยังได้ทำสินเชื่ออีก ในที่สุดก็ได้อยู่ในพัฒนาธุรกิจกลุ่ม 8 ดูแลธุรกิจในอุตสาหกรรมหนัก ธุรกิจเกี่ยวกับเหล็ก เคมีภัณฑ์ เรื่องราวครั้งนั้นบอกเราว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเราตั้งใจ ร้องขอ และสู้เพื่อมัน แต่ถ้าเราปล่อยทุกเรื่องไปตามเรื่องราวเราก็อาจจะไม่มีโอกาสอย่างนี้

“นอกจากได้รู้จักผู้ใหญ่ที่ภายหลังกลายเป็นคนสำคัญในวงการการเงินหลายคน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากฝ่ายสินเชื่อคือทักษะการเขียน จากการต้องเขียน call reports หรือรายงานการเยี่ยมเยียนลูกค้า ว่าลูกค้ามีความประสงค์อะไร ธุรกิจเขาเป็นยังไง วิเคราะห์หาความเป็นไปได้ที่ลูกค้าจะสามารถใช้คืนวงเงินที่ขอสินเชื่อ ปิดท้าย ‘จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาอนุมัติ’ ลงชื่อ Officer สุวภา เจริญยิ่ง ซึ่ง call reports ฉบับแรกของเรานายแก้ยับทุกบรรทัด คำเดียวที่ไม่โดนแก้คือ ‘จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาอนุมัติ’ งานนั้นสอนเราเขียนหนังสือเป็นครั้งแรกในชีวิตและติดตัวมาจนถึงวันนี้ กลายเป็นคนที่เขียนกระชับและจับใจความได้ ว่ากำลังขออนุมัติอะไร วงเงินเท่าไหร่ ใช้คืนแค่ไหน หลักประกันมีอะไร ใครเป็นผู้เซ็นอนุมัติ กำหนดการภายในวันที่เท่าไหร่ สิ่งสำคัญก็คือเวลาที่ต้องสื่อสารอย่าลืมวัตถุประสงค์ เพื่อที่คนอ่านจบจะได้เข้าใจสารนั้นชัดเจน เวลาบอกไม่ดีก็บอกไปเลยว่าแล้วที่ดีเป็นยังไง อย่ามานั่งตั้งความคาดหวังกัน ไม่งั้นเสียเวลาทั้งคู่

“เราเป็นคนที่หลงรักลูกค้าแล้วก็เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเรามีคติว่าทุกคนเป็นคนดี แต่ความจริงนั้นมีหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในอดีตนั้นการทำงบการเงินของกิจการมีหลายฉบับ ฉบับดูเอง ฉบับส่งธนาคาร และฉบับส่งสรรพกร ตัวเลขแตกต่างกัน งานของธนาคารคือต้องทำความรู้จักกิจการนั้นอย่างแท้ให้ได้ ผ่านการไปเยี่ยมกิจการ (company visit) ไปดูรายการสั่งซื้อ ดูเอกสารวงเงินสินเชื่อ LC/TR ดูความต้องการใช้วงเงินของลูกค้าในแต่ละวัน (working capital) จากนั้นวิเคราะห์ว่าเขาต้องการเงินเท่าไหร่ และจะหามาคืนพร้อมจ่ายดอกเบี้ยได้จริงไหม 

“เราเรียนรู้เรื่องนี้จากคุณเทพ รุ่งธนาภิรมย์ ซึ่งท่านเป็นผู้อำนวยการฝ่าย ณ ขณะนั้น และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสินเชื่อเล่มที่ดีที่สุดของเมืองไทย ท่านสอนวิธีการวิเคราะห์ลูกค้า ด้วยการมอง 5C’s ได้แก่ Characteristic–ตัวตนลูกค้า พื้นฐานนิสัย ลักษณะครอบครัว กิจกรรมที่ชอบทำ ชื่อเสียงในวงการเป็นยังไง คู่ค้าพูดถึงเขาว่าอะไรบ้าง, Capital–ทุนที่แสดงว่าบริษัทกำลังทุ่มสุดตัว หรือหลักการง่ายๆ เขามีทุนเท่าไหร่ก็ให้กู้เท่านั้น, Capacity–กำลังการผลิตว่าเป็นไปได้จริงไหม เช่นบอกว่าจะเติบโต 50 เปอร์เซ็นต์ ด้วยโรงงานขนาดเท่าเดิม แล้วมีลูกค้าที่ซื้อสินค้าจริงแค่ไหน, Collateral–หลักประกัน ถ้าเหตุการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คิด มีหลักประกันอะไรมายืนยันหรือสร้างความมั่นใจให้ธนาคารได้บ้าง และสุดท้าย Condition–เงื่อนไขและสถานการณ์ ณ ช่วงเวลานั้น สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงเงื่อนไขที่เกิดขึ้นทั้งจากธนาคารและหน่วยงานที่กำกับดูแล 

“ทำงานที่ฝ่ายสินเชื่อได้ 2 ปีกว่าเราก็สอบชิงทุนของธนาคารไปเรียนต่อปริญญาโท จากนั้นกลับไปทำงานฝ่ายวาณิชธนกิจ (Investment Bank หรือ IB) ของธนาคารกสิกรไทย ดู Project Finance หมายความว่า บริษัทไม่มีทุนเพียงพอหรือหลักประกันที่เพียงพอแต่อยู่ในโครงการที่ดีมาก จึงเอาโครงการมาทำสัญญา offtake ขอกู้ธนาคาร อย่างตอนนั้นทำโครงการ Eastern Seaboard

“ตอนที่ทำ IB ได้เรียนรู้จากคุณวีรวัฒน์ ชุติเชษฐพงศ์ (ปัจจุบันเป็นกรรมการที่ธนาคารเกียรตินาคินภัทร) ว่าเวลาไปขายงาน ถ้าลูกค้าอยากให้ทำอะไร ขอให้รับปากลูกค้ามาเลย แล้วเรากลับมาสู้กัน ยังไงก็ ‘ได้ค่ะ’ ไว้ก่อน เมื่อลูกค้ามีฝันสักอย่าง เรามีหน้าที่ต่อยอดความฝัน ต่อให้สุดท้ายแล้วฝันนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเขาพูดอะไร แล้วเราก็บอกอันนี้ไม่ได้ อันนั้นไม่ได้ แล้วมันจะเกิดครีเอทีฟได้ยังไง ครีเอทีฟที่สร้างมูลค่าให้แก่กิจการ ทำให้บริษัทแข็งแกร่ง มีเครื่องมือทางการเงิน ทำให้เรียนรู้ว่าคนที่มาจำกัดตัวเราได้ก็มีแต่ตัวเราเองเท่านั้น นอกจากนี้ สิ่งที่เรารู้สึกตลอดเวลาคือ ชีวิต IB ต้องกล้าฝัน กล้าจินตนาการ วันนั้นเราเจอเขาเป็นบริษัทมูลค่าสิบล้าน วันนี้หมื่นล้าน แสนล้าน ถ้ามันไม่เกิดขึ้นจากวันที่เขามีสิบล้านแล้วเรามีขวัญกำลังใจที่เขาเห็นว่าเขาจะโตได้เนี่ย มันก็จะไม่มีวันนี้” 

02

Suvabha Charoenying 
Vice President
Head of Corporate Finance
Morgan Grenfell Thai

“เป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานกับบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นต่างชาติ ที่ Morgan, Grenfell เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อเสียงในวงการมากมาย เป็นเฮาส์ที่เข้มแข็งมากในการพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ประมาณว่าทำงานจนไม่ได้นอน 4 วัน 4 คืน เพราะมีเคสให้ทำเยอะมาก วิ่งกันอุตลุด เป็นช่วงที่ตลาดกลับมาคึกคัก ได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศบ่อยมาก ไป-กลับสิงคโปร์เดือนละ 2-3 ครั้ง เป็นช่วงชีวิตที่ได้มีประสบการณ์กับบริษัทต่างประเทศจริงจัง

“การทำงานที่นี่สอนว่าทุกอย่างต้องมีหลักการ ทุกเรื่องต้องมีการจดบันทึก เคยได้ยินไหมว่า ก่อนจะพูดเราเป็นนาย แต่พูดไปแล้ว คำพูดกลายเป็นนายเรา แต่การทำงานที่นี่หากมีการประชุม หารือ หรือตกลงอะไรกันจะต้องมีการจดบันทึกเสมอ เพื่อไม่ต้องเสียเวลาคุยกันอีก เขาจะให้เราเซ็นเอกสารที่เรียกว่า LOI หรือ letter of intention คือจดหมายหมายแสดงเจตนารมณ์ หรือถ้าประชุมกันจนได้ข้อสรุปแล้วก็ทำ MOU หรือ Memorandum Of Understanding ซึ่งเป็นบันทึกข้อตกลง ทำให้เริ่มเข้าใจว่าทำไมเวลาประชุมกับคนต่างชาติเขาจะมีนักกฎหมายไปด้วย 

“อีกเรื่องที่ได้เรียนรู้คือ การทำงานไม่ใช่การวิ่งมาราธอนคนเดียว แต่เป็นการวิ่งผลัด 4×100 ฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่น คุณวิ่งแล้วต้องส่งไม้ ไม่เช่นนั้นงานก็เดินต่อไม่ได้ หรือถ้าคุณได้แต่ยืนรอให้คนอื่นส่งไม้มาให้ ไม่ตั้งท่าเตรียมรับไม้ให้ดีงานก็อาจจะสะดุด การทำงานที่ Morgan, Grenfell ให้ความรู้สึกแบบนี้เลย จะชนะหรือแพ้สู้กันด้วยความสามารถจริงจัง”

03

สุวภา เจริญยิ่ง
รองกรรมการผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์ เอกธำรง จำกัด

“ย้อนกลับไป ช่วงที่เรียนปริญญาโท เรามีช่วงเวลาว่างตอนกลางวัน จึงมาช่วยงานคุณภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายที่ธนาคารกสิกรไทย ออกมาตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เอกธำรง (S-ONE) ทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม ทำทุกอย่างที่นายสั่ง ได้ทำ Filing เอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในยุคแรกๆ เลย ไม่ว่าจะเป็น American Standard หรือ Land and House ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“สำหรับเรางานในส่วนสินเชื่อมีข้อจำกัดว่าลูกค้าจะนำเงินมาคืนได้ไหม มองทุกอย่างเป็นความเสี่ยงไปหมด ถ้าเป็นครูก็จะเหมือนครูปกครองที่จ้องจับผิด ขณะที่การเป็น IB พาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เหมือนครูแนะแนว ที่ช่วยแนะนำแนวทาง มองหาความน่าจะเป็นในอนาคตและการเติบโต 

“ยุคนั้นเวลาจะเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ทุกคนจะกลัวอาจารย์สังเวียน อินทรวิชัย มาก เพราะต้องไปสอบสัมภาษณ์กับอาจารย์ คำถามคลาสสิกของอาจารย์คือ ‘ท่านร่ำรวยอยู่แล้ว ธุรกิจก็ดีอยู่แล้วนี่ครับ ทำไมถึงอยากเข้าตลาดหลักทรัพย์’ สมัยก่อนมีความเชื่อว่า ธุรกิจที่ท่าจะไม่ดีหรือจะล้มเหลวเท่านั้นถึงจะเข้าตลาดฯ ธุรกิจดีๆ เก็บให้คนในครอบครัวไม่อยากแบ่งให้คนอื่นร่วมเป็นเจ้าของ ซึ่งบางธุรกิจก็ตอบว่า อยากเติบโต อยากเป็นที่รู้จัก อยากเอาระบบระเบียบที่ดี ซึ่งตอนนั้นคำว่าธรรมาภิบาลยังไม่เกิด หรือแม้แต่อยากทำโครงสร้างบริษัทให้ดีมี check and balance ที่ตรวจสอบได้ หรืออยากเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต้องบอกว่ายุคนั้นเงินที่ระดมทุนได้มันไม่ได้เยอะนะเมื่อเทียบกับวันนี้

“หลังจากไปทำงานต่างประเทศ คุณภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ชวนกลับมาทำงานฝ่ายวาณิชธนกิจ ที่ S-ONE ตอนนั้น S-ONE กำลังทำเคส Land and House พอดี ได้ทำเคส ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และอื่นๆ ยุคนั้นทีมเรามีกัน 40 คน ไม่เคยมีทีมใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ด้วยเคสต่างๆ มากมายทำให้ตอนนั้นเราขึ้นเป็นท็อปของสายวาณิชธนกิจ”

04

Suvabha Charoenying
Chief Executive Officer
Schroders Asset Management

“เนื่องจากโปรไฟล์การทำงานที่ Morgan, Grenfell ก็เลยมี Head Hunter ที่ต่างประเทศชวนไปเป็น CEO ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชโรเดอร์ส (Schroders) ตอนอายุ 33 พอดี นอกจากจะก้าวข้ามจากเบอร์ 2 เบอร์ 3 ขึ้นมาอยู่เป็นเบอร์ 1 แล้ว ยังเป็นการข้ามไปอยู่ฝั่ง buy side ครั้งแรก ที่ผ่านมาเราอยู่ฝั่ง sell side หรือทำของไปขาย ในความหมายของการพาบริษัทเข้าไประดมทุนขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยู่ฝั่งคนซื้อของ ในความหมายของ ลงทุนในบริษัทไหนดี ซึ่งเป็นการนำเงินเขามาบริหาร ดูแลผลประโยชน์ให้นักลงทุน

“เริ่มจากไปนั่งเรียนหนังสือที่อังกฤษ 2 เดือน เพื่อจะรู้ว่าผู้จัดการกองทุนต้องทำอะไร ทำให้เราเข้าใจคำว่า financial advisor ดีกว่าเดิม ที่ปรึกษาทางการเงินก็เหมือนหมอ จะรักษาได้ดีก็ต้องรู้อาการคนไข้ ซักประวัติว่าเขาเป็นอะไรมา เจ็บป่วยตรงไหน แต่ในชีวิตจริงคนไข้ไม่บอกอาการเขา แต่เดินมาหาหมอ เอาเงิน 10 ล้านมาให้ แล้วบอกว่า ผ่าตัดฉันหน่อยสิ เช่นกันกับที่เอาเงิน 10 ล้านมาให้แล้วบอกว่าบริหารให้หน่อย โดยไม่ได้คิดก่อนว่า ต้องการเงินไปทำอะไร หรือแม้แต่ความต้องการที่อยากจะเป็นแบบไหน รู้แค่คนอื่นลงทุน 10 ล้าน ได้ 10 ล้าน ก็อยากได้บ้าง แต่ไม่เคยรู้รับเรื่องความเสี่ยงที่เงิน 10 ล้านจะกลายเป็น 0

“และสิ่งที่สั่นสะเทือนความเชื่อเรามากๆ เลย คือหลังจากพาโอเรียนเต็ลเข้าตลาดสำเร็จ วันหนึ่งก็ไปทำงานที่โรงแรมแล้วเจอสามีภรรยาชาวต่างชาติคู่หนึ่งพักที่โรงแรมโอเรียนเต็ล 1 เดือน ซึ่งค่าที่พักคืนละครึ่งแสน เราก็คิดว่าเขาคงเป็นมหาเศรษฐี เมื่อพูดคุยจึงได้รู้ว่าทั้งคู่เป็นครูวัยเกษียณที่วางแผนเก็บเงินตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาวเพื่อที่จะเดินทางเที่ยวรอบโลก นี่ไม่ใช่การหาเงินให้ได้มหาศาล แต่คือการตั้งเป้าหมาย คำนวณ และวางแผน เรื่องนี้เปลี่ยนความเชื่อเรามากๆ เป็นแรงบันดาลใจว่าทุกคนสามารถมีเงินร้อยล้านได้ มันคืออุปนิสัยในการเก็บเงินที่ต้องสร้างให้ได้

“เราจะพบว่าระหว่างหาเงินกับใช้เงิน ใช้เงินนั้นง่ายกว่า แต่ใช้ให้ถูกต่างหากที่สำคัญ ตลอดชีวิตเราเรียนรู้วิชาหาเงิน แต่ไม่เคยมีใครสอนวิชาใช้เงิน จะใช้หรือแบ่งส่วนไปลงทุนอะไร ลองเริ่มจากฝากประจำ 24 เดือนให้เกิดความสม่ำเสมอ อย่าให้เงินอยู่ใกล้มือมากเกินไป เมื่อครบกำหนดเราจะมีเงินก้อนไปลงทุน ซื้อกองทุน ซื้อหุ้น เริ่มเรียนรู้เรื่องขาดทุน และอาวุธที่ดีที่สุดคือความรู้ เมื่อมีความรู้ก็ลองตัดสินใจ

“การทำงานในฝั่งเดียวกับนักลงทุน ทำให้เรียนรู้ว่า wealth management ไม่ได้ยาก แต่คือการรู้จักคำนวนว่าต้องการอะไรแล้วตั้งเป้าหมาย สิ่งสำคัญคือความรู้เรื่องการวางแผน ยุคนั้นเราและ MD ของ บลจ. อีกทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ, คุณวิเชฐ ตันติวานิช และคุณธีระ ภู่ตระกูล ลุกขึ้นมาตั้งสมาคมนักวางแผนการเงินไทย Thai Financial Planners Association (TFPA) ทำเรื่องขอ license สอบใบอนุญาต CFP (Certified Financial Planner) เนื่องจากปัญหาของการวางแผนทางการเงิน ไม่ใช่เก็บเงินไม่เป็น แต่เขาไม่มีความรู้ ดังนั้นจำเป็นต้องมี money buddy หรือเพื่อนคู่คิดในการวางแผนทางการเงิน เช่น ถ้าวันนี้คิดว่าเริ่มวางแผนทางการเงินช้าไป เขาจะมาช่วยวางแผนสำหรับชีวิต ช่วยคิดแผนการหาเงิน เก็บเงิน ใช้เงิน บริหารเงินที่มี นอกจากนี้สมาคมนี้ยังบุกเบิกข้อเขียนและบทความเรื่องการเงินเป็นแห่งแรกๆ มีบทความ ‘ออมก่อน รวยกว่า’ และ ‘มั่นคง มั่งคั่ง’ เพราะอยากกระตุกให้คนรู้จักการออมหรือเก็บสตางค์

“ถึงกระนั้นงานนี้ก็มีความยากอยู่เหมือนกัน ด้วยความเป็นคนขายของเก่ง เราก็คิดถ้าสมมติระดมทุนได้สัก 2-3 พันล้าน ก็โอเคแล้ว แต่ตอนนั้นไปไกลถึงขั้นได้เงินมาบริหาร 15,000 ล้าน ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบเยอะมากเมื่อเทียบกับเมื่อก่อนตอนเป็น IB ที่พอดีลจบก็พาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ก็คือจบ เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ทำบริษัทที่ดี ให้เขาเป็นบริษัทที่ดี ทำธุรกิจที่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปขึ้นอยู่กับตลาด แต่งานผู้จัดการกองทุนนั้นจะทำดีมากี่ร้อยกี่พันวัน ถ้าเราทำลูกค้าเสียหายแค่วันเดียว ก็เท่ากับว่าวันที่ผ่านมาของคุณไม่มีความหมาย เวลาลูกค้าเอาเงินมาฝากให้เราดูแลผลประโยชน์ เขาก็คาดหวังว่าถ้ามีอะไรเสียหายเราต้องบอกเขาก่อน แต่อย่าลืมนะ คนอยู่เต็มห้องแต่มีประตูเท่านี้ มันออกได้ทีละคนเท่านั้น เรื่องราวเหล่าน้ีสอนเราว่าทุกอย่างมีบวกและลบเสมอ อย่าบอกแต่เรื่องที่ดี แต่ต้องบอกความเสี่ยง หรือโอกาสจะเจอเรื่องร้ายแรงด้วย เราไม่เชื่อว่าจะมีอะไรดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นแบบนั้นให้คุณมองในแง่ร้ายไว้ก่อนเลย กลับมาที่เนื้องาน แม้ว่างานจะกดดัน แต่เราก็เอนจอยที่จะเรียนรู้”

05

สุวภา เจริญยิ่ง
Suvabha Charoenying
กรรมการผู้จัดการหลักทรัพย์ธนชาต

“หลังจากทำงานที่ชโรเดอร์ส 6 ปี คุณสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ชวนกลับมาทำ IB อีกครั้ง เป็นกรรมการผู้จัดการที่บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต”

“ระหว่างรอไปเริ่มงานที่ธนชาต มีช่วงว่างๆ อยู่ ได้เขียนหนังสือ ‘Show Me The Money’ ให้กับสำนักพิมพ์เนชั่น จากนั้นคุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ชวนไปเป็นบรรณาธิการของหนังสือการ์ตูนจากเกาหลีสอนวางแผนทางการเงิน ชื่อ ครอบครัวตึ๋งหนืด เรื่องราวของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตปี 1997 ทั้งครอบครัวต้องย้ายบ้าน พ่อออกจากงาน แม่เปิดร้านอาหาร ลูกๆ รู้จักวิธีหาเงิน ทำงานเสริม เก็บออม มีเรื่องราวเกี่ยวกับการเล่นหุ้นด้วย เรามีโอกาสทำหนังสือชุดนี้ทั้งหมด 7 เล่ม นอกจากนี้มีหนังสือ อายุเท่าไรก็รวยได้ ถ้าใช้เงินเป็น กับ มีลูกกี่คนก็รวยได้ ถ้าใช้เงินเป็น กับสำนักพิมพ์อมรินทร์ เป็นบรรณาธิการให้หนังสือของซูซี่ ออร์มัน (Suze Orman) เรื่อง ‘ผู้หญิงกับการออมเงิน’ ทั้งหมดในชีวิตน่าจะประมาณ 13-14 เล่ม เล่มที่ชอบคือ นิทานชาวยิว แล้วก็ สอนลูกให้รวย สไตล์เกาหลี เล่มนั้นดีมาก

“อยู่ที่นี่ทั้งหมด 16 ปีเต็ม คิดว่าจะเกษียณที่นี่แล้ว เหลือเชื่อมาก พอเข้าสู่อายุ 52 วันหนึ่งหลังประชุมเคสเคสหนึ่ง กลับบ้านมาปวดหัวไม่ไหวจนต้องเข้าโรงพยาบาล ระหว่างเข้าอุโมงค์สแกนสมองก็เกิดคำถามว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่เนี่ย ที่ผ่านมาไม่เคยมีคำถามนี้เลย เหนื่อยแค่ไหนก็ช่างมัน เพราะชอบและเอนจอยกับงานมาก

“สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น เราจะต้องเจองานที่เราไม่ชอบมากกว่างานที่เราชอบ เราชอบทำงาน IB ชอบเจอผู้คน แต่เมื่อต้องคอยจ้ำจี้จำไชระบบ ต้องเป็นผู้คุมกฎ ต้องเซ็นเอกสารเป็นตั้งๆ ทุกวัน ต้องดุลูกน้อง ต้องเอาคนออก ต้องพูดให้เจ็บใจ เรากำลังทำอะไรอยู่ ทำไมต้องมาเครียดเรื่องของคนอื่น นาทีนั้นคิดว่าต้องหยุดพักแล้วจึงไปขอลาออก ซึ่งคุณสมเจตน์ก็ให้ความกรุณาให้เป็นที่ปรึกษาต่ออีก 3 ปี ถึงอายุ 55 แต่ว่าดรอปฟูลไทม์ตั้งแต่อายุ 52 ถือเป็น early retire ที่จริงจังที่สุด ต้องขอบคุณวิชาวางแผนทางการเงินที่ทำให้เราเลือกเส้นทางเดินแบบนี้ได้”

06

สุวภา เจริญยิ่ง
Executive Director
กรรมการบริษัท

“มีโอกาสเจอบริษัท ก็รับเป็นบอร์ดหรือกรรมการบริษัทบ้าง มีหลักการเลือกบริษัทง่ายมาก ชอบอะไร อยากเป็นอะไร ก็จะพาตัวเองไปใกล้ๆ คนเหล่านั้น เช่น ที่ ที.เค.เอส.เทคโนโลยี หรือ TKS ผู้นำธุรกิจ Security Printing หรือธุรกิจการพิมพ์เอกสารปลอดการปลอมแปลง จากนั้นเป็นบอร์ดให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (Grammy) เพราะอยากดูหนังฟังเพลง ชอบอ่านหนังสือก็เลยไปเป็นบอร์ดที่อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ต่อมาทั้งแกรมมี่และอมรินทร์ยื่นดิจิทัลทีวี ก็เลยต้องออกจากการเป็นบอร์ด (เนื่องจากมีบอร์ดซ้ำกันไม่ได้) จากนั้นมาเป็นบอร์ดให้ไมเนอร์กรุ๊ป (Minor) แล้วก็มีทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM), เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) และล่าสุดรับเป็นบอร์ดให้ AirAsia Aviation Group Limited (AAAGL) เป็นครั้งแรกที่ไปนั่งบอร์ดต่างประเทศ เป็นผู้หญิงคนเดียว และเป็นคนไทยคนเดียวในบอร์ดนี้

“งานของบอร์ดคือ Director is the one who give direction for the company. เป็นคนช่วยให้ทิศทาง ถ้า CEO ไม่เหยียบคันเร่งบ้าง บอร์ดก็ต้องช่วยกระตุ้น มันต้องเร่งกว่านี้นะ คู่แข่งเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้า CEO ไปเร็วไปบอร์ดก็ต้องคอยเบรก เป็น check and balance และมีไว้ปรึกษาหารือ เวลาที่ CEO หรือเบอร์ 1 ของบริษัทต้องการ ช่วยให้ไอเดีย ช่วยสนับสนุนความคิดที่ดีของ CEO เช่น ปีนี้บริษัทอยากจะทำการควบรวม (M&A) ลักษณะไหน ใช้เงินเท่าไหร่ หาเงินจากไหน ผลตอบแทนการลงทุนควรอยู่ประมาณนี้นะ หรือถ้าอยากจะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาด งั้นเอาข้อมูลมาวิเคราะห์สิเราขึ้นเป็นเบอร์ 1 ได้ไหม วิธีการทำงานเป็นยังไง มานั่งดูกันว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ เป็นต้น

“ในฐานะเป็นบอร์ดอิสระ เป็นกรรมการอิสระ เรารู้สึกชอบและเป็นเกียรติมากๆ ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการบริษัท เราอยากเข้าไปเรียนรู้จริงๆ อย่างบอร์ด TQM เราไม่เคยรู้ว่าโบรกเกอร์ประกันเป็นยังไง ทุกคนก็จะคิดว่าวันหนึ่งโบรกเกอร์จะหายไปเพราะเป็นคนกลาง เรากลับเรียนรู้ว่าธุรกิจประกันเนี่ย เป็นธุรกิจที่คนซื้อกับคนขายไม่ได้อยากเจอกัน คือการเจอกันนั่นหมายความว่าต้องเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เพราะฉะนั้นถ้าคนกลางทำหน้าที่ของคนกลางได้ดีที่สุดก็ย่อมจะมี value อยู่แล้ว และ TQM ก็เป็นองค์กรที่เซอร์วิสลูกค้าได้ยอดเยี่ยมมาก ทุกคนถาม ทำไมบริษัทประกันไม่ขายเอง คำตอบคือ บริษัทประกันจะมีสาขาทั่วประเทศไปทำไมในเมื่อมีคนขายของตรงนี้ให้ สิ่งที่ประกันทำได้ดีและควรทำคือทำโปรดักต์ให้ดีที่สุด แล้ว TQM ขายให้ เป็นวิธีที่น่ารักมาก

“อย่างการนั่งเป็นบอร์ดไมเนอร์ ในปีที่ยากลำบากแบบนี้ จากที่เคยกำไรหมื่นล้าน ปีต่อมาขาดทุนหมื่นล้าน แต่ว่าเขาก็สู้ขาดใจ ไมเนอร์คือ last man standing เราชอบวิธีการที่เขาไม่รอให้เหตุการณ์เกิด หลังจากมีโควิด ไมเนอร์ระดมทุนมากมายมหาศาล ออกหุ้น ออกหุ้นกู้ เตรียมกระเป๋าตังค์ให้พร้อม ทำให้บริษัทมีเงินสด 27,000 ล้านตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร อุตสาหกรรมโรงแรมไม่ดีก็จริง แต่มันมี asset ในวันข้างหน้า ถ้าสถานการณ์คลี่คลายกลับขึ้นมามันก็เป็นทรัพย์สินที่มีค่า พร้อมกับบุกธุรกิจอาหาร ซึ่งตอนหลังเดลิเวอรีเขาทำได้ดีที่สุด

“ตามมาด้วยบอร์ด ONEE ซึ่งดิจิทัลทีวีคือธุรกิจที่ทุกคนว่ายาก ยากที่สุด ทุกคนเหนื่อยหมดกับดิจิทัลทีวี แต่เราว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ content is king ถ้าคุณทำคอนเทนต์ดี ไม่ว่าอยู่ตรงไหนคนก็จะยังมาซื้อคอนเทนต์คุณอยู่ดี ถามว่าวันนี้ทำไม ONEE ถึงแตกต่าง เพราะเขารวมยอดฝีมือคนทำคอนเทนต์ ช่องทีวีอื่นค่าโฆษณา 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่อง ONEE ค่าโฆษณาแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือมาจากการขายคอนเทนต์ เป็นเพราะโครงสร้างที่แข็งแกร่งมากๆ แล้วที่ตามมาก็คือดารารุ่นใหม่ก็อยู่ตรงนี้ทั้งนั้น นี่คือสิ่งที่เราก็ชอบมาก

“และที่เราไปเป็นบอร์ดเลิร์น คอร์ปอเรชั่น (Learn Corporation) เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ ก็เห็นว่าการศึกษาเราเป็นยังไง มีอะไรที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้บ้างไหม เราคงจะรอภาครัฐหรืออะไรไม่ได้ ไม่เป็นไร เป็นเอกชนเราก็ทำได้ บริษัทนี้น่าสนใจมาก เต็มไปด้วยคนหนุ่มคนสาวทำงานร่วมกัน ซึ่งนอกจากนี้เราก็ยังเป็น Facilitator ให้สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors หรือ IOD) ตามด้วยสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) เพื่อแชร์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุน

“จะเห็นว่า ชีวิตในแต่ละช่วงวัยเต็มไปด้วยตัวตน บทบาทและโอกาสที่จะทำสิ่งต่างๆ มากมาย เราในวัย 0-20 อยากเป็นอะไรก็เป็น อยากทำอะไรก็ทำ พอเข้าสู่อายุ 20-30 เป็นช่วงค้นหาตัวเอง บางคนค้นพบความถนัดของตัวเอง เราเองก็มีความฝันเหมือนหนุ่มสาวทั่วไป อยากเขียนนิยาย อยากเป็นแอร์โฮสเตส อยากทำนู่นทำนี่

“อายุ 30-40 เป็นช่วงที่เราได้โฟกัสตัวเองมากๆ ได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ อายุ 40-50 เป็นช่วงที่เริ่มรู้ว่าอะไรคือจุดที่แข็งแกร่งและทำได้ดีที่สุด ซึ่งสำหรับเรา 50 เป็นเวลาที่ดีมากที่เราจะตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต เราโชคดีที่พออายุ 52 มีโอกาสถอดตัวเองลงมาก่อน เลยได้ทำสิ่งที่ชอบอย่างวันนี้

“นามบัตรสุดท้ายของเราจะเป็นอะไรเราตอบไม่ได้ เราสนุกกับการเป็นกรรมการ สนุกกับการเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ใครหรือองค์กรที่กำลังมีความฝันได้เข้าใกล้สิ่งที่เขาฝันมากที่สุด และวันนี้ก็ได้รู้ว่าสิ่งที่สำคัญอาจจะไม่ใช่นามบัตร แต่คือเราในวันนี้มีคุณค่าแค่ไหน

“ขอโทษนะคะที่วันนี้อาจจะไม่มีนามบัตรมาแลก ขออนุญาตแลกเป็นเบอร์โทรศัพท์แทนได้ไหม หรือถ้าไม่ว่าอะไร ขอยื่นนามบัตรนักเขียนและคอลัมน์นิสต์ที่ capital ไว้ล่วงหน้าเลยจะได้ไหมคะ”

Writer

บรรณาธิการ ผู้หลงใหลการเล่าเรื่องธุรกิจ ใช้เวลางานตีสนิทแบรนด์ไทย นอกเวลางานเป็นนักธุรกิจออนไลน์ฝึกหัด จริงจังจนได้ดิบได้ดีในวงการห้องลองเสื้อ

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like