Anti-work work club
ขบวนการไม่เอางาน (อย่างที่เป็น)
ไม่นานนี้ มีอะไรบางอย่างดลใจให้ผมหยิบหนังสือเล่มเล็กๆ ปกสีดำ เป็นหนังสือแปลของสำนักพิมพ์สมมติ แปลในสำนวนของปราบดา หยุ่น ขึ้นมาอ่านใหม่ หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องสั้นของนักเขียนนามอุโฆษ เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville) ผู้เขียนโมบี้ ดิ๊ก (Moby Dick)–แต่กับเรื่องนี้เขาผละจากทะเลและเสียงคลื่น มาเล่าเรื่องราวที่ผจญภัยน้อยกว่า (ในเชิงหนึ่ง) เป็นเรื่องในสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง มันคือ บาร์เทิลบี (Bartleby, the Scrivener)
‘บาร์เทิลบี’ เล่าเรื่องของ ‘ข้าพเจ้า’ ผู้ว่าจ้างชายชื่อบาร์เทิลบีเข้ามาทำงานคัดลอกเอกสาร คราวแรก บาร์เทิลบีดูไม่มีอะไรพิเศษ เขาถูกบรรยายว่า “แต่งกายสุภาพทว่าดูหม่นหมอง ภูมิฐานทว่าน่าสงสาร บุคลิกอ้างว้างโดดเดี่ยวของเขาดูเกินกว่าจะเยียวยา!” แต่ยิ่งนานวัน ความแปลก (หรือไม่แปลก!) ของตัวบาร์เทิลบียิ่งฉายออกมาให้เห็นชัดเจนขึ้น ผ่านข้อความปฏิเสธที่เข้มแข็งแต่นุ่มนวล ว่า “ผมไม่ประสงค์จะทำ” (I would prefer not to)
เขา-ไม่-ประสงค์-จะ-ทำ ประโยคนี้กลายเป็นหนึ่งในประโยคอมตะในวงการวรรณกรรม
ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ ‘ข้าพเจ้า’ ไหว้วาน อย่างให้เดินออกไปเอาของ ให้ช่วยตรวจตราเอกสาร หรือให้เดินเข้ามาคุยกันหน่อย บาร์เทิลบีก็ ‘ไม่ประสงค์จะทำ’ ทั้งสิ้น ความยืนยัน ยืนหยัดในหลักการของตัวเองที่ไม่ยอมงอนี้ขับเคลื่อนเรื่องราวไปจนถึงจุดสรุปอันเป็นธรรมชาติ บทสรุปที่กระแทกใจของ ‘ข้าพเจ้า’ อย่างลึกซึ้งจนต้องเปล่งเสียงออกมาว่า
“อนิจจา บาร์เทิลบี อนิจจา มนุษยชาติ”
อ่านจบอีกครั้งในรวดเดียว ผมพบว่าตัวเองอิจฉาบาร์เทิลบี–อิจฉาความกล้าหาญอย่างนั้น แต่จะให้ทำเอง ก็คงทำไม่ได้ บาร์เทิลบีไม่ยอมรอมชอม อ่อนข้อให้กับสังคม พูดด้วยมุมมองคนปกติก็คงต้องบอกว่าเป็นคนหัวรั้นหรือกระทั่งว่าเป็นคนบ้า แต่เขาก็ไม่เคยเป็นอื่น เขายึดแก่นที่ว่าเขาไม่ประสงค์ที่จะทำ (งานหรือสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย)
อ่านด้วยสายตาแบบหนึ่ง เราอาจมองบาร์เทิลบีเป็นปฏิกิริยาโต้กลับของสภาพการทำงาน เขาประสงค์ที่จะทำงานในส่วนที่พึงใจ ที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้าเท่านั้น เกินกว่านั้นเขาไม่ประสงค์ที่จะทำ เขาปฏิเสธการเอาหน่อยน่าช่วยหน่อยนิดทั้งหมด ด้วยความหนักแน่นแต่ไม่จองหอง
ช่วงโรคระบาดกลืนกินโลกเป็นสิ่งเตือนใจให้หลายคนปรับจูนจีพีเอสของเส้นทางเสียใหม่ เป็นช่วงสุญญากาศที่ให้เวลาและหลักฐานแห่งความไม่แน่นอนของชีวิต หลายคนเลิก หลายคนเริ่มทำอะไรบางอย่าง หรือมองสิ่งที่ทำอยู่ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป โควิดเองเปลี่ยนแปลงธรรมชาติการทำงานในวงกว้าง งานบางงานถูกขยับจากออฟฟิศมาทำที่บ้าน งานบางงานทวีความสำคัญขึ้น (เป็น ‘essential worker’ ที่ไม่รู้ว่าได้รับค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อกับคำว่า essential ไหม) งานบางงานสูญเสียความหมาย
ในช่วงนั้น มีชุมชนหนึ่งที่เฟื่องฟูขึ้นมาอย่างทบเท่าทวีบนเว็บ Reddit–เป็นชุมชนที่เป็นคล้ายปฏิกิริยาโต้กลับของการทำงานเช่นกัน คล้ายกับบาร์เทิลบี
ชุมชนที่ผมพูดถึงนี้คือซับเรดดิต Antiwork ที่ปัจจุบันมีสมาชิกถึง 2.8 ล้านคนจากทั่วโลก ชุมชนนี้มีสโลแกนว่า Unemployment for all, not just the rich (การว่างงานสำหรับทุกคน ไม่เพียงแต่คนรวยเท่านั้น!) ล้อเลียนกับสโลแกนหาเสียง Employment for all
นี่เป็นชุมชนที่เติบโตแบบพุ่งกระฉูดในช่วงโควิด, ช่วงที่คนเริ่มตั้งคำถามกับการทำงานและชีวิตอย่างจริงจัง คอนเทนต์ในชุมชนนี้ส่วนใหญ่เป็นการบ่นถึงสภาพที่ทำงาน เจ้านายที่เอารัดเอาเปรียบ ใช้งานเกินค่าแรง หรือไม่มีความเห็นอกเห็นใจ
ในกรณีสุดขอบ สมาชิกคนหนึ่งแคปเจอร์เมสเซจแลกเปลี่ยนระหว่างเธอกับเจ้านายออกมาให้เห็น เธอขอลางานเพราะต้องเอาสุนัขที่ป่วยหนักไปจบชีวิต เจ้านายบอกว่า วันนั้นคนงานไม่พอ เธอเลื่อนกิจนี้ไปไม่ได้หรือ
ในส่วนอธิบาย พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็น “ซับเรดดิตสำหรับคนที่ต้องการจบสิ้นการทำงาน (end work) หรือสงสัยเกี่ยวกับการจบสิ้นการทำงาน ต้องการได้ประโยชน์จากชีวิตที่ไร้งาน ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดต่อต้านงาน และต้องการความช่วยเหลือส่วนตัวเพื่อแก้ความทุกข์ทนในงานของตน”
คำถามจากส่วน ‘คำถามที่ถามบ่อย’ หนึ่ง ถามว่า ‘ทำไมคุณถึงการจบสิ้นการทำงาน’ (why do you want to end work?) คำตอบที่ปรากฏคือ ‘เพราะที่ทำงานสมัยใหม่เป็นที่ที่คุณถูกคาดหวังให้ทำงานโดยไม่สนความต้องการหรือความปรารถนาส่วนตัว การทำงานวางความต้องการและความปรารถนาของผู้จัดการและบริษัทเหนือคนทำงาน มักไปถึงระดับการคุกคามผ่านการสั่งงานหนักเกินไปและให้ค่าตอบแทนน้อยเกินไป’
นอกจากโพสต์บ่นเรื่องงานบนเว็บไซต์แล้ว พวกเขายังเคยจัดการบอยคอตต์หรือกิจกรรมในโลกจริงหลายต่อหลายครั้ง (ส่วนใหญ่เป็นการจัดการแบบหลวมๆ เกิดขึ้นอย่างออร์แกนิก) เช่นในปี 2021 สมาชิกของชุมชนจัด ‘Blackout Black Friday’ เพื่อนัดหยุดงานช่วงแบล็กฟรายเดย์ที่มักใช้พนักงานเกินควร แต่กิจกรรมครั้งนั้นก็ถูกขยายผลไปเป็นการบอยคอตต์จากฝั่งผู้บริโภคด้วย หรือการเรียกร้องให้แมคโดนัลด์จ่ายค่าแรงให้เป็นธรรม (ตั้งเป้าไว้ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อชั่วโมง) ในเดือนพฤศจิกายนปี 2021
ที่เป็นข่าวดังคือกรณีของเคลล็อกส์ ในเดือนธันวาคมปี 2021 เมื่อเคลล็อกส์ประกาศแผนจ้างคนงานเพื่อทดแทนคนงานที่นัดประท้วงหยุดงาน 1,400 ตำแหน่ง ก็มีกระทู้ในชุมชน Antiwork ที่บอกให้สมาชิกร่วมกันส่งใบสมัครปลอมๆ เข้าไปทำให้เว็บไซต์จ้างงานของเคลล็อกส์ล่ม
หรืออีกครั้ง กลุ่มสมาชิกก็แฮ็กเครื่องพิมพ์ใบเสร็จทั่วอินเทอร์เน็ต ที่ไม่ได้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเพียงพอ เพื่อพิมพ์ถ้อยแถลงของขบวนการออกมา “ค่าจ้างของคุณต่ำเกินไปหรือเปล่า คุณมีสิทธิทางกฎหมายในการพูดถึงเรื่องค่าจ้างกับเพื่อนร่วมงาน [..] ค่าจ้างที่ต่ำจนถึงเส้นยากจนอยู่ได้เพียงเพราะคน ‘ยอม’ ทำงานที่อัตรานั้นเท่านั้น”
สิ่งที่ชุมชน Antiwork แสดงให้เห็นชัดคือมีอะไรผิดแปลกเกี่ยวกับระบบการทำงานปกติ มีอะไรผิดแปลกในระบบทุนนิยมแบบที่เป็นอยู่ จนเกิดอาการอักเสบและการโต้กลับ
เดิมทีตัวชุมชนนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดต่อต้านงานในอนาธิปไตยหลังฝ่ายซ้าย (post-left anarchism) โดยหนึ่งในผู้ก่อตั้งอ้างแนวคิดของ บ๊อบ แบล็ก (Bob Black) นักปรัชญาอนาธิปไตยซึ่งเขียนความเรียงชื่อ The Abolition of Work ในปี 1985 โดยอิงจากนักปรัชญากรีกอย่างเพลโตและเซโนฟอน
การวิพากษ์ระบบการทำงานเป็นสิ่งที่มีมาเนิ่นนานแล้วในวงปรัชญา นิตเช่ก็ปฏิเสธการเชิดชูการทำงาน โดยบอกว่าเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาความเป็นปัจเจก
แก่นของชุมชน Antiwork บนเรดดิตเป็นอย่างนั้นเอง แต่ครั้งเมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น ชุมชนนี้ก็รวมกลุ่มคนกว้างขึ้นเข้ามา จนเป็นตัวแทนที่ควบรวมการเมืองฝ่ายซ้ายและการรณรงค์เรื่องแรงงานไปแทน
การขยายขนาดของ Antiwork สู่จำนวนสมาชิกหลักล้านมาพร้อมกับปัญหา–เมื่อมากคนเข้า ความเข้มข้นของแกนก็ลดลงจากที่เคยจับต้องได้ ก็กลายสภาพเป็นหมอก
ปัญหาใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งคือการออกรายการให้สัมภาษณ์ในช่อง Fox ของโดรีน ฟอร์ด (Doreen Ford) หนึ่งในผู้ก่อตั้งชุมชน Antiwork โดยมีพิธีกรคือ เจสซี วัตเตอร์ส (Jesse Watters) ระหว่างสัมภาษณ์บนหน้าจอปรากฏข้อความพาดหัวจาก Fox ตามสไตล์ของช่องว่า ‘The War Against Working’ (สงครามต่อต้านการทำงาน) ซึ่งเอาเข้าจริง–ก็พานให้คนเข้าใจชุมชนนี้ผิดเปล่าๆ–ไม่ว่านั่นจะเกิดขึ้นอย่างจงใจหรือไม่ก็ตามแต่
ครั้งนั้นโดรีน ฟอร์ด ให้สัมภาษณ์ได้ไม่ดีเลย ด้วยการยั่วยุของพิธีกรอย่างวัตเตอร์สเองด้วย ที่สัมภาษณ์อย่างมีธงชัดเจนว่าจะถล่มขบวนการหรือชุมชน Antiwork ลงด้วยการแปะป้ายว่าเป็นพวกขี้เกียจ ไม่ยอมทำงาน วัตเตอร์สเริ่มต้นบทสัมภาษณ์ด้วยการถาม (เชิงไม่ต้องการคำตอบ) ว่า “โอเค วัตเตอร์ส ทำไมคุณถึงชอบแนวคิดการอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องทำงาน แต่ยังได้รับเงินจากคอร์เปอเรตอเมริกานะ”
ระหว่างสัมภาษณ์ พิธีกรนายนี้แทรกในตอนหนึ่งว่า “อเมริกาเป็นประเทศเสรี (free) ไม่ใช่ทุกอย่างจะฟรีหรอก แต่มันเป็นประเทศเสรี” และจบด้วยการยิงอีกหนึ่งดอก “ขอบคุณมาก เราหมดเวลาแล้ว พอดีเราต้องทำงานจ่ายบิลล์น่ะ”
ธงของเขาชัดขนาดนั้น เป็นเหมือนการล่อเหยื่อมาเชือดแบบนิ่มๆ และเหยื่อรายนั้นก็ไม่ได้ทำการบ้านไปดีพอสำหรับกับดักที่รุนแรงอย่างนี้
ฟอร์ดตอบคำถามของวัตเตอร์สที่ว่าชุมชนนี้สนับสนุนให้คนขี้เกียจหรือไม่ โดยพูดถึงคุณค่าของความขี้เกียจว่า “ผมคิดว่าความขี้เกียจเป็นคุณค่าในสังคมที่คนต้องการให้คุณโปรดักทีฟตลอดวันตลอดเวลา และการพักผ่อนก็เป็นเรื่องดี ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องพักตลอดหรอก หรือไม่ต้องพยายามอะไรเลยที่จะให้ได้สิ่งที่ต้องการ”
อันที่จริง ผมก็เห็นด้วยกับฟอร์ดเรื่องคุณค่าของความขี้เกียจหากใช้ในระดับที่เหมาะสม แต่คุณค่านี้ถูกบิดหรือกรอบให้เสียหายได้ง่ายมาก โดยเฉพาะกับการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ที่กลเกมของผู้สัมภาษณ์เหนือกว่าผู้ถูกสัมภาษณ์อย่างเทียบไม่ติด
The Guardian เรียกการสัมภาษณ์ครั้งนี้ว่าเป็น “การรังแกในสนามเด็กเล่น”
หลังการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ชุมชน Antiwork แทบแตก สมาชิกหลายคนเคืองฟอร์ดที่เตรียมตัวไปไม่ดี พูดจาได้ไม่สะท้อนจุดยืนของชุมชน (ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นงานยากโหดหินที่คุณต้องเป็นตัวแทนคนหลักล้าน) มีกระทั่งคนที่บอกว่า “การสัมภาษณ์ครั้งนี้ทำให้ผมอยากกลับไปทำงานเลยว่ะ โคตรน่าอาย” หรือ “แม่ผมถามเลยว่าผมอยู่ใน ‘ขบวนการขี้เกียจ’ ที่ออกข่าวหรือเปล่า ผมโคตรอาย”
คืนนั้นซับเรดดิต Antiwork ปิดเป็นไพรเวต และเมื่อเปิดอีกครั้ง ฟอร์ดก็ไม่อยู่ในฐานะโมเดอเรเตอร์ของชุมชนแล้ว
ชุมชน Antiwork เกิดขึ้นมาเพื่อบอกว่าปัจจุบันสภาพการทำงานไม่ดีพอ จนต้องรวมตัวกันเพื่อต่อต้าน แรกเริ่มเดิมทีมันอาจมีข้อเสนอที่ชัดว่าต้องการอะไรกันแน่ ชุมชน ‘ประสงค์’ อะไร แต่เมื่อผ่านนานไป เมื่อชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้น ความต้องการหลากหลายในระดับชั้นที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับของการปรับสวัสดิการพนักงาน, หาวิธีจัดการบอสที่ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ไปจนถึงอยากขับเคลื่อนในระดับสังคมซึ่งอาจจะไปลงในแนวทางของสังคมนิยมหรืออนาธิปไตย เมื่อขบวนการหรือชุมชนใหญ่ขึ้นเช่นนี้ การนิยามว่าชุมชน ‘ประสงค์’ อะไรร่วมกันจึงเป็นเรื่องยาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น ชุมชน Antiwork เลยถูกโจมตีได้ง่ายในฐานะกลุ่มคนที่ ‘ไม่ประสงค์’ ที่จะทำงาน ไม่ต่างจากบาร์เทิลบี แต่เมื่อจะกรอบให้ชัดว่า แล้ว ‘ประสงค์’ อะไรล่ะ กลับกรอบได้ยาก
นี่เป็นปัญหาโดยรวมของขบวนการที่เกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านอะไรสักอย่าง ที่ภาพชัดคือการไม่เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ภาพที่ไม่ชัดคือสิ่งที่สมาชิกขบวนการฝันเห็นร่วมกัน : เมื่อ ‘ต่อต้านงานในปัจจุบัน’ สำเร็จแล้ว ภาพที่เราวาดฝันร่วมกันได้ เป้าหมายคืออะไร มันคือการให้เงินเดือนพื้นฐาน (UBI) เหรอ? หรือมันคือการเก็บภาษีคนร่ำรวยเพื่อพัฒนาภาวะความเป็นอยู่ของคนที่เหลือ? หรือมันคือการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำ? หรือเป็นเป้าแบบผสมผสานก็ยังได้ คุณ ‘ประสงค์’ อะไร?
เป้าหมายระยะยาวนี้เองที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงให้ขบวนการยืนระยะและมีหลักยึดที่แม่น
ขบวนการเช่นนี้มีหน้าที่ มีที่ทางของมัน อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว มันเป็นตัวแสดงอาการทางสังคม เป็นเสียงร้องเตือนปัญหา เป็นการขับเคลื่อนให้เกิดความสนใจ แต่ในฐานะการขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายสักอย่าง มันอาจยังไม่ได้ทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มที่ ยังไม่มอบคำตอบให้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง
แต่นั่นเอง นั่นอาจเป็นคำตอบที่ต้องรอการถกเถียง, ขีดฆ่า, แล้วเขียนใหม่ ตราบใดที่ปัญหายังคงอยู่ ตราบใดที่เรายังมีเวลา และตราบเท่าที่สังคมพร้อมจะใช้เวลานี้ผ่านกระบวนการไปด้วยกัน
Resources
- ปราบดา หยุ่น กับบาร์เทิลบี ตัวละครอมตะในโลกวรรณกรรม
- sm-thaipublishing.com/content/6046/bartleby-prabda-yoon
- bbc.com/worklife/article/20220126-the-rise-of-the-anti-work-movement
- bigthink.com/the-present/Antiwork-movement/
- vice.com/en/article/qjbb9d/hackers-are-spamming-businesses-receipt-printers-with-Antiwork-manifestos
- linkedin.com/pulse/what-makes-bad-interview-fox-news-anti-work-movement-/
- theguardian.com/global/2022/jan/31/fox-news-jesse-watters-Antiwork-subreddit-interview