How work works

90,000 ชั่วโมงคือเวลาในชีวิตที่เราใช้ไปกับการทำงาน

‘หนึ่งในอาการใกล้สติแตกคือความเชื่อที่ว่างานของตัวสำคัญเสียเหลือเกิน’
– เบอร์แทรนด์ รัสเซลล์

“ฉันรู้นะว่าตัวเองอาจจะฟังดูน่ารำคาญมาก” เธอว่า “แต่นี่คือฉันทำงานแรกหลังเรียนจบ เป็นงานประจำแบบเข้าออฟฟิศ 9 โมงถึง 5 โมงเย็น ฉันต้องเดินทางเข้าเมือง ใช้เวลาเดินทางนานมาก แต่ย้ายไปอยู่ในเมืองยังไม่ไหว เรื่องนั้นไม่ต้องพูดถึงเลย”

“ขึ้นรถไฟเที่ยวเจ็ดโมงครึ่งตอนเช้า กว่าจะกลับถึงบ้านเร็วสุดก็หกโมงสิบห้า ไม่มีเวลาทำอะไรเลย ได้แค่อาบน้ำ กินข้าวเย็น แล้วก็นอน ไม่มีเวลาหรือพลังงานจะทำอาหารเองหรือออกกำลังกายด้วยซ้ำ น่าหงุดหงิดมาก ไม่ได้พูดถึงแค่งานฉันเองนะ แต่การทำงาน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นนี่มันบ้ามาก”

“เข้าใจนะว่ามีงานที่ชั่วโมงยาวกว่านี้ แต่คนที่ทำงานแบบนี้ พวกคุณมีพลังงานเหลือได้ยังไง มีเพื่อนได้ยังไง มีเวลาที่ไหนไปหาแฟน หรือเดต ฉันไม่มีเวลาทำอะไรเลย เครียดมาก”

@brielleybelly123 อัพโหลดคลิปนี้ขึ้นบน TikTok ในวันที่ 19 ตุลาคม 2023 ปัจจุบันมีผู้ชมคลิปแล้วมากกว่า 3.3 ล้านครั้ง คลิปของเธอถูกนำไปเป็นข่าวที่ถูกพาดหัวแบบมีน้ำเสียง ‘สาวน้ำตาแตกเพราะทำงานแบบ 9-5’ จากคอมเมนต์ ความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่ายชัดเจน ฝ่ายหนึ่งมองว่าเธอเป็นตัวตลก ‘ตื่นเหอะเจ้าหญิง ขอต้อนรับสู่โลกแห่งความเป็นจริง’ หรือ ‘สมัยฉันยิ่งกว่านี้อีก’ ‘พวกเจนฯ Z นี่มันจะเอาทุกอย่างจริงๆ’ ส่วนอีกฝ่ายเข้าใจและเห็นด้วยกับสิ่งที่เธอพูดทุกอย่าง ‘เหมือนเธอมาอ่านไดอารีฉันเลย’ ‘การทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นี่มันล้าสมัยไปแล้ว ที่เธอรู้สึกน่ะถูกแล้ว’ ‘ทุกคนรู้สึกแบบนี้แหละแค่ไม่มีใครพูดอะไร’

สำหรับคุณแล้ว งานคืออะไรกันแน่

ตรงไปตรงมาที่สุด เราอาจตอบว่างานคือแหล่งรายได้ งานมาเงินไป ทำงานเพื่อเงิน เป็นการแลกเปลี่ยนตามข้อตกลงระหว่างคุณกับนายจ้างหรือลูกค้า (ข้อตกลงที่ยุติธรรมหรือไม่–ไว้ว่ากันอีกที)  ถอยมาอีกนิดงานอาจเป็นแหล่งสังคม มันให้สภาพแวดล้อม โจทย์ร่วม โอกาสในการผูกมิตรและให้ความท้าทายในแต่ละวัน และในระดับที่ลึกที่สุด งานอาจมอบความหมายในแต่ละวันและความหมายของชีวิตให้กับเรา

มีผู้แบ่งวิธีที่เรามองงานไว้เป็น 3 ระดับ คือ job, career และ calling

job คือระดับที่มองว่างานคือเงิน คือความมั่นคง คือสวัสดิการ ถ้าคุณไม่คิดว่างานเป็นแหล่งในการเรียนรู้ เติบโต สั่งสมประสบการณ์แล้ว มันเป็นแค่สิ่งที่ทำไปในแต่ละวันแล้วแค่รอรับเงินเดือนหรือค่าแรง คุณอาจจะมองงานว่าเป็น job

career คือระดับที่มองงานว่าเป็นความก้าวหน้า มองหาโอกาสเลื่อนขั้นในที่ทำงาน เห็นภาพอนาคตของตนเองในตลาดแรงงานว่าทำอย่างนี้ เพื่อที่ตัวเองจะไปอยู่ในจุดไหน 

ส่วน calling คือการมองเห็นงานในตัวเอง และเห็นตัวเองในงาน มองความสัมพันธ์ระหว่างงานกับเราแนบสนิท รู้สึกว่าการทำงานมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน

ผมคิดว่าการแบ่ง 3 ระดับนี้ไม่ได้ตายตัวนัก ความคิดของเราลื่นไหลไปมา บางวันเราอาจมองงานเป็นแค่ job แต่บางวัน เราอาจอัพเกรดงานเป็น career หรือเป็น calling แต่พอโดนอะไรหนักๆ มันอาจกลับมาเป็น job เหมือนเดิม รวมถึงว่างานหนึ่งมีหลายด้าน เราอาจมองว่างานมุมหนึ่งเช่นการติดต่อกับผู้คนให้ราบรื่นเป็น calling–เป็นอะไรที่รัก ส่วนงานส่วนที่ต้องทำรายงานให้เจ้านายเอาไปขายชาวบ้านเป็น job–คือทำให้จบๆ ไป ไม่ได้อิน

หากลองเทียบการมองงาน 3 ระดับกับสิ่งที่งานมอบให้ อาจเทียบได้ว่า job–งานให้เงิน, career–งานให้ความท้าทายและจุดมุ่งหมายในเชิงอาชีพ, calling–งานให้ความหมาย

มีผู้แนะว่า การมองงานเป็น calling คือระดับที่พาให้ ‘พึงพอใจกับงาน’ ที่สุด อาจเหมือนคำพูดที่ว่า ‘ทำงานที่คุณรักแล้วคุณจะไม่รู้สึกว่าทำงานอีกเลยตลอดชีวิต’ 

แต่ความเป็นจริงอาจไม่ใช่อย่างนั้น การที่เรามอบตัวเองให้กับงาน กับเนื้องาน อาจทำให้เกิดความสัมพันธ์เหนียวแน่นและรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็จริง แต่นั่นย่อมแปลว่าวันที่งานไม่ได้ดังใจ ใจของเราก็จะไม่นิ่งตามไปด้วย เทียบกัน หากมองงานเป็น job และมีระยะห่างกับงานที่เหมาะสม งานไม่ใช่เราและเราไม่ใช่งาน ไม่เอาใจไปผูก วันที่งานทำร้ายเรา เราก็อาจไม่ถึงกับต้องดับดิ้นลงไป

ในการงานและอาชีพที่ผ่านมา ผม, เหมือนกับหลายคน, มีความสัมพันธ์กับงานทั้งสามระดับ–เป็นความสัมพันธ์ที่ถ้าตั้งบนเฟซบุ๊กคงเลือกออพชั่น It’s complicated–มันซับซ้อน มีทั้งช่วงที่รักงานปานจะกลืนกินและมอบทุกสิ่งในชีวิตให้กับมัน จนต้องอัญเชิญคำของเบอร์แทรนด์ รัสเซลล์ มาเตือนใจ และมีช่วงที่ไม่อินกับงานด้วยประการใดๆ และนั่งนับวันรอเก็บเงินได้ครบจะได้ลาออกเสียที มีทั้งความสัมพันธ์แบบที่เราเป็นนายงาน และงานเป็นนายเรา 

การครุ่นคิดเกี่ยวกับงานของผมเกิดขึ้นแทบตลอดเวลา เส้นทางอาชีพนำพาให้มีจุดสัมผัสกับงานต่างระยะกันตลอดวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เคยเป็นทั้งฝ่ายถูกใช้งานและฝ่ายใช้งาน เคยทั้งใช้เงินตัวเองและใช้เงินคนอื่นทำงาน เคยทำงานทั้งแบบอิสรเสรีที่สุดและทำงานในระบบที่ตึงที่สุด–ระบบที่ต้องยักยอกอิสระและเสรีภาพออกมาใช้เองในแต่ละวัน การพลิกผันมาทำงานคอร์เปอเรตในช่วงหลังทำให้ครุ่นคิดกับงานหนักขึ้น เพราะบ่อยครั้งคำถามก็ดังขึ้นมาว่า–สุดท้ายแล้ว, มันแค่นี้เหรอ

‘แค่นี้’ มันแค่ไหน และทำไมเราส่วนหนึ่งจึงเป็นทุกข์–หรือมีความสัมพันธ์แบบลุ่มๆ ดอนๆ กับงานนัก 

คำตอบที่ได้สุดท้ายอาจเป็น ‘แค่นี้ก็ดีพอแล้วนะ’ ก็ได้ แต่ที่สำคัญอาจเป็นกระบวนการคิดระหว่างทางที่ไปให้ถึงคำตอบนั้น

ผมคิดว่าปัญหาที่ @brielleybelly123 จุดพลุขึ้นมาให้เห็นนั้นจริงและจริงยิ่งขึ้นในปัจจุบัน งานแบบ 9-5 ทำให้เกิดคำถามว่าสุดท้ายแล้วมันแค่นี้จริงเหรอ–มันมีอะไรที่มากกว่านี้อีกไหม โดยเฉพาะกับที่ที่เราควบคุมอะไรได้น้อย ปัญหานี้เป็นจริงเพราะความคาดหวังในการมองงานที่ไม่เข้ากัน ทั้งความคาดหวังของนายจ้างหรือผู้ถือทุนต่อลูกจ้าง ความคาดหวังระหว่างคนต่างยุคที่เหลื่อมกันออกไปเรื่อยๆ และความคาดหวังต่อสิ่งที่ควรเป็นกับสิ่งที่เป็นอยู่จริง

ตัวอย่างเช่น นายจ้างส่วนหนึ่งอาจคิดว่าลูกจ้างควรยกให้งานเป็น calling – ควรถวายชีวิตให้งาน ถ้าฉันเรียก แม้จะอยู่ในช่วงพักเบรก หรือวันหยุด ก็ควรจะตอบรับทันที ในหัวของนายจ้างเหล่านี้ลูกจ้างคือหน่วยการผลิตที่มอบผลลัพธ์เป็นผลกำไรของบริษัท เขาอาจคิดว่าการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินเดือนหรือค่าแรงกับงานที่ลูกจ้างมอบให้นั้นจะยุติธรรมก็ต่อเมื่อลูกจ้างมอบงานให้อย่างคุ้มค่า (กับเงินที่เสียไป) 

กลับกัน ลูกจ้างอาจมองงานนี้เป็น job–เป็นเพียงงานที่จบแล้วจบกัน หาเลี้ยงชีพ the end ทำให้ตามเวลาแค่นั้น ไม่เกิน ไม่อยากได้ความรับผิดชอบเพิ่ม เพราะตอนที่สมัครงานมาก็บอกว่าสโคปของงานมีเท่านี้ ถ้าจะเอางานเพิ่มเงินก็ต้องเพิ่มด้วยและที่สำคัญที่สุดคือเขาควรมีสิทธิ์เลือกว่าจะไม่เอาหรือไม่เอา และแน่นอน เขามองว่าการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินเดือนหรือค่าแรงกับงานที่ตนมอบให้จะยุติธรรมต่อเมื่อเงินคุ้มค่า (กับแรงที่ลงไป)

จุดคุ้มค่าหรือจุดที่ต่างฝ่ายมองว่ายุติธรรมไม่ตรงกัน และก็อีกนั่นแหละครับ–มันไม่ตรงกันมากขึ้นเรื่อยๆ 

เป็นการมองไม่ตรงกันที่ไม่แฟร์นัก เพราะฝ่ายหนึ่งมีอำนาจน้อยกว่าอีกฝ่ายชัดเจน เพราะมีแค่อำนาจในการทำหรือไม่ทำ ซึ่งการไม่ทำอาจเท่ากับการลดคุณภาพชีวิตลงมาก

เรื่องคลาสสิก–รุ่นพ่อรุ่นแม่ของคุณทำงานประจำงานเดียว อาจมีคนทำงานคนเดียวในครอบครัวด้วยซ้ำ ก็ซื้อบ้าน มีลูกและเลี้ยงขึ้นมาได้อย่างดีสองสามคน เทียบกัน รุ่นคุณ ทำงานงานเดียวอาจไม่พอเลี้ยงชีพ ต้องหางานเสริม ต้องลดค่าใช้จ่าย และยังอาจถูกตัดสินอีกหากซื้อกาแฟแพงๆ ไหนจะความไม่มั่นคงที่ไม่รู้ว่างานนี้ออฟฟิศนี้จะเลี้ยงเราไปถึงเมื่อไร สภาพเศรษฐกิจแบบนี้เขาจะปรับคนออกไหมหรือมีโอกาสโตไหม ไหนจะต้อง relearn ต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต (เอาเวลาที่ไหนไปทำนะ–แต่ไลฟ์โค้ชเขาบอกว่าคนเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากันนี่นา–งั้นความผิดต้องอยู่ที่เราแน่เลย) ไหนจะปัญญาประดิษฐ์ที่จะมา ‘แย่งงาน’ อีก 

สัญญาที่งานมอบให้จึงเป็นสัญญาที่อย่างน้อยหลายคนรู้สึกว่าไม่จริงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกระดับ ทั้งระดับเงิน ที่งานก็ไม่ได้มอบเงินพอที่จะเก็บหรือสร้างอนาคตแล้วเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ระดับความเติบโตก้าวหน้า ที่เหมือนเป็นเกมแข่งขันที่มีผู้ชนะจำกัด และระดับความหมายที่รู้สึกว่าคุณค่าเจือจางลง ทั้งด้วยการแบ่งงานเป็นส่วนย่อยจนไม่เห็นภาพใหญ่ (จนมนุษย์หลายคนกลายเป็นส่วนที่ถูกทดแทนได้) และด้วยการเข้ามาของระบบอัตโนมัติ

ทั้งหมดยังถูกซ้ำอีกทีด้วยความเชื่อแบบ meritocracy–ค่าของคนคือผลของงาน ผสมกับแนวคิดแบบ neoliberalism–โลกคือการแข่งขัน จะดีจะชั่วอยู่ที่ตัวทำ–ที่นอกจากจะไม่ช่วยแล้วยังซ้ำอีก เหมือนโดนพร่ำบอกข้างหูตลอดว่า ‘ที่ชีวิตไม่ดีน่ะเพราะตัวแกเองไม่ใช่คนอื่น’ 

ผลลัพธ์ของความคลาดเคลื่อนในความคาดหวังกลายสภาพเป็นสนามรบย่อยๆ ที่เราเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน เช่น

การต่อสู้ระหว่างการทำงานที่บ้าน (สงบกว่านะโว้ย ขอเวลาให้ตัวเองหน่อย ไม่ต้องเดินทางนะโว้ย) VS การกลับเข้าออฟฟิศเดี๋ยวนี้เถอะ (งานวิจัยบอกว่าประสิทธิภาพของทีมดีกว่านะ ต้องมีการแลกเปลี่ยน คุยกันแบบแคชชวล เดินไปคุยที่โต๊ะได้มันดีกว่าต้องคอลนะ) VS ทางสายกลาง (เข้าออฟฟิศ 3 วัน ทำงานที่บ้าน 2 วันได้ไหม) 

การลดเวลาทำงานเหลือ 3-4 วันต่อสัปดาห์ หรือระบบการทำงานแบบไม่ยึดเวลา VS ระบบทำงานแบบ 996 ของจีน (ทำงาน 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม 6 วันต่อสัปดาห์) หรือความเชื่อที่ว่าคนเราควรทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ VS ทางสายกลาง (‘มันแล้วแต่ประเภทงานน่ะพวก’)

สนามรบแห่งการ quiet quitting (มันไม่ได้เรียกว่าลาออกเงียบ มันเรียกว่าทำงานตามหน้าที่ที่สมัครเข้ามาทำแต่ไม่ต้องทำเกิน) VS ‘คนรุ่นใหม่ทำไมเป็นแบบนี้’

สนามรบแห่งการ quitting จริงๆ ไปเลย เช่น ลัทธินอนเฉยๆ ในจีน (ไม่ไหวแล้ว โลกนี้ทำไมไม่แฟร์ ทำไปก็ไม่ได้อะไร งั้นขอเป็น ‘ลูกมืออาชีพ’ แล้วกัน อยู่กับพ่อแม่ ดูแลแกไป) VS ‘ทำไมคนรุ่นใหม่เป็นแบบนี้’

ความคิดเรื่อง universal basic income–เงินเดือนพื้นฐานเพื่อให้ดำรงชีวิตได้ เป็นรัฐสวัสดิการ VS ‘ทำไม่ได้จริงหรอก คนจะขี้เกียจเอา เอาเงินจากไหนมาทำ ประชานิยมเปล่า’

work-life balance VS work-life integration

แนวคิด postwork (งานคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์จริงหรือ มีวิธีมอบเงิน / สังคม / ความหมาย ให้กับมนุษย์ด้วยเครื่องมืออื่นไหม มาหาทางอื่นกันเถอะพวกเรา) VS workism (นอกจากงานจะเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจแล้ว มันยังมอบตัวตนและความหมายให้มนุษย์ด้วย มาทำงานกันเถอะพวกเรา)

ความคลาดเคลื่อนในความคาดหวังทำให้เราต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าสำหรับเราแล้วงานคืออะไรกันแน่ มันอาจเป็นแค่เครื่องมือเพื่อนำไปสู่อะไรบางอย่าง แต่ ‘บางอย่าง’ นั้นคืออะไร และได้มาด้วยเครื่องมืออื่นได้ไหม 

เราเห็นวิธีการต่อกรของมนุษย์งานด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งต่อสู้ฟาดฟันในระบบ (ในเมื่องานเป็นแบบนี้ ฉันจะเล่นเกมนี้ให้ชนะด้วยวิธีการของฉัน) หาวิธีเปลี่ยนนิยามของงานในใจ หาวิธีเปลี่ยนนิยามของงานในสังคมวงกว้าง หรือออกจากระบบงานไปเลย (ทั้งปั่นเงินจนออกอย่างรวดเร็วอย่างขบวนการ FIRE–อิสระทางการเงินรีไทร์เร็ว หรือเป็นลัทธิ ‘นอนเฉยๆ’ อย่างในจีน)

ที่จริงแล้ว เป็นไปได้ว่าการต่อสู้ทั้งหลายไม่ได้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน แต่เป็นสเปกตรัมของความคิด ที่สำคัญเราไม่จำเป็นต้องเกาะแน่นอยู่กับจุดหนึ่งของแนวคิดตลอดเวลา แนวโน้มที่เป็นไปได้คือเราจะกระโดดไปมา ตามแต่ว่าจุดนั้นรับใช้เราในสถานการณ์หนึ่งๆ แค่ไหน

บางขณะ  เราอาจมองเห็นว่างานเป็นเกมบางอย่างที่ต้องเอาชนะ มีการอัพเลเวล มีการสั่งสมประสบการณ์ มีการเมืองในออฟฟิศ เป็นสิ่งที่ถ้าวางแผนให้ดี ก็ ‘ชนะ’ ได้ แต่เส้นตรงไหนที่เราจะไม่ข้าม เราจะชนะไปพร้อมกับคนอื่นๆ ได้ยังไง 

บางขณะ เราอาจมองเห็นว่างานเป็นสิ่งแปลกปลอม ไม่แนบสนิทกับชีวิตที่เหลือ รู้สึกเป็นอื่น เป็นเหมือนบทบาทที่ต้องสวมแต่ไม่ใช่ตัวเอง–มีวิธียังไงที่เราจะอยู่กับความเป็นอื่นนี้ มีวิธีประนีประนอมไหม หรือไม่ควรประนีประนอมเลย

บางขณะ เราอาจจินตนาการถึงอนาคตที่ไร้งาน ในวันนั้นเราจะกลายเป็นคนที่มารู้คุณของงานทีหลังไหม เมื่อไม่มีอะไรมามอบความหมายและมอบกิจกรรมให้ต้องทำในแต่ละวัน หรือเราจะเชื่อมั่นว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่รู้จักปรับตัว สุดท้ายมันก็มีทางไป และงานในความหมายปัจจุบันก็ไม่ใช่งานในความหมายที่เคยเป็นมาในอดีตอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ผมคิดว่าการสำรวจเพื่อมองเห็นภาพรวมเพื่อมองเห็นทางเลือกและเห็นกรอบคิดที่แตกต่างนี้เอง ที่จะทำให้เรามีเครื่องมือเพื่อจัดการกับตัวเองในการวางระยะความสัมพันธ์กับงาน (และในทางที่เป็นไปได้ยากกว่า แต่ก็ไม่ควรละทิ้งความหวัง–จัดการกับสังคม) 

เราจะเลือกทางที่ไม่เหมือนกัน และคำตอบอาจสั่นคลอนหรือเปลี่ยนแปลงไป นั่นไม่ผิดอะไร อย่างน้อยมันจะเป็นชุดคำตอบที่เราเลือก เป็นคำตอบที่เป็นส่วนตัวอย่างถึงที่สุด เป็นคำตอบที่จะช่วยให้เราผ่านเวลาประมาณ 90,000 ชั่วโมงในชีวิตที่ใช้ไปกับการทำงาน อย่างไม่สร้างบาดแผลให้กับตัวเองและคนอื่นเกินไปนัก

อ้างอิง

Writer

นักเขียน นักวาด อดีตผู้ทำงานด้านการตลาดที่ Amazon สิงคโปร์

Illustrator

แล้วแต่จะคิด ชีวิตคนละแบบ

You Might Also Like