สำนักงานศิลปะ

Xspace โชว์รูม 7 ชั้นของแบรนด์ WURKON ที่โชว์เฟอร์นิเจอร์สำนักงานพร้อมงานศิลปะ

โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ที่ดีต้องมีหน้าตาเป็นยังไงxspace

โชว์สินค้าได้ครบถ้วน เห็นภาพการใช้งานจริง สวยงามโชว์รสนิยมของแบรนด์​ หรือเดินทางสะดวก เข้าถึงง่าย

ทั้งหมดที่ว่ามา คือคุณสมบัติของโชว์รูมสินค้าแบรนด์ WURKON แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สำนักงานที่เปิดตัวในปี 2015 ด้วยความตั้งใจอยากใช้งานดีไซน์สร้าง new lifestyle of work หรือวิถีการทำงานแบบใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย

แต่มากไปกว่าคุณสมบัติด้านบน WURKON เพิ่มความสนุกลงไปอีก 1 ข้อ ด้วยการทำโชว์รูมเป็น ‘แกลเลอรีศิลปะ’ ไปในตัวและทำธุรกิจด้านศิลปะอย่างจริงจัง

โชว์รูมของพวกเขาจึงมีชื่อว่า Xspace หรือจุดตัดระหว่างงานดีไซน์กับศิลปะ หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และแกลเลอรี

จากความเชื่อเรื่อง new lifestyle of work พวกเขาสร้าง new style of showroom ขึ้นมาได้ยังไง และทำไมถึงจำเป็นต้องทำ สิริมาดา และ สุทธิลักษณ์​ ศุภองค์ประภา กรรมการผู้จัดการและรองกรรมการผู้จัดการของ WURKON พร้อมพาทัวร์โชว์รูมและเล่าให้ฟัง

Showroom

อาคาร 1

อาคารชั้น 1 แกลเลอรี, พื้นที่มัลติฟังก์ชั่น, โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์หมวด Hospitality
ห้องชั้น 2 โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์หมวด Working Office
ชั้น 5 โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์
ชั้น 6 โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์หมวด Workstation

อาคาร 2

ชั้น 1 แกลเลอรี
ชั้น 2 แกลเลอรี, โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์

Show เฟอร์นิเจอร์

นอกจากจะนำเข้าเฟอร์นิเจอร์สำนักงานและพื้นที่สาธารณะอย่างแบรนด์ ACTIU, Andreu World, หรือ Nestnordic แล้ว WURKON ยังมีบริการดีไซน์เซอร์วิส รับงานออกแบบให้องค์กรไทยมาแล้วจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Ogilvy, Google, TCDC จนถึงโรงพยาบาลศิริราช

แต่แม้จะมีครบทั้งสินค้าและบริการ กว่าแบรนด์จะมีโชว์รูมสินค้าของตัวเองก็เป็นช่วงปลายปี 2020 เข้าไปแล้ว นับเป็นช่วงเวลา 5 ปีที่พวกเขาใช้วิธีการขายแบบอาศัยแค็ตตาล็อกสินค้า งานเรนเดอร์สามมิติ และจินตนาการของลูกค้าเป็นหลัก

“เมื่อก่อนวิธีการขายของเราคือการส่งเซลส์เข้าไปรับบรีฟที่บริษัท คาแร็กเตอร์ของลูกค้าที่เป็นออฟฟิศเขาจะไม่ค่อยออกมาข้างนอกเพราะเขาต้องดูและตัดสินใจเป็น committee ไม่เหมือนลูกค้าที่เป็นบ้าน ที่เสาร์-อาทิตย์ก็ไปเดินโชว์รูม การขายแบบนี้ทำได้ในระดับหนึ่ง เช่น เขาอยากดูตัวอย่างสินค้าเราก็ยกไปถึงหน้างาน” สิริมาดาย้อนเล่าถึงการทำงานที่ผ่านมา

“แต่เพราะเราเน้นขายงานเป็นโปรเจกต์คือขายเฟอร์นิเจอร์หรือดีไซน์สำหรับทั้งสเปซ พอหยิบเฟอร์นิเจอร์ไปให้ดูแค่หนึ่งตัวเขาก็ไม่เห็นภาพทั้งหมด หรือในดีไซน์มี phone booth สำหรับเข้าไปนั่งทำงาน คุยโทรศัพท์ พอวางในสถานที่ของลูกค้าแล้วดูไม่เข้ากับพื้นที่เขาก็จะนึกไม่ออกว่าเฟอร์นิเจอร์แบบนี้จะช่วยสร้างบรรยากาศยังไง เราก็รู้อยู่ในใจแล้วว่าวิธีขายแบบนี้ไม่ค่อยตอบโจทย์ ถ้าเรามีสเปซของตัวเองเพื่อให้ลูกค้าดูเป็นตัวอย่างเขาจะนึกภาพออก เห็นประโยชน์ และกล้า invest มากขึ้น”

ทางออกดูเรียบง่าย แค่เปิดโชว์รูมก็แก้ปัญหาได้ทันที แต่ที่ทำไม่ได้สักที สิริมาดาบอกว่าเพราะพวกเขา ‘ไม่อยากขึ้นราคา’

“เราคิดมาหลายปีว่าอยากมีโชว์รูม แต่การโชว์เฟอร์นิเจอร์มันต้องโชว์แบบโล่งๆ ใช้สเปซเยอะซึ่งเราติดเรื่องค่าใช้จ่าย สมมติว่าไปอยู่ตามห้างเราจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเดือนละหลายแสน มันก็จะไปสะท้อนที่ราคาสินค้า ทำให้สินค้าราคาแพงอีก ถ้าเราขายแบบ luxury มากๆ ขายชิ้นหนึ่งแล้วอยู่ได้มันก็จบ แต่เราขายเป็นโปรเจกต์ เราต้องการขายปริมาณเยอะ ดังนั้นต้องเป็นต้นทุนที่ลูกค้าจ่ายไหว ก็เลยเหมือนว่าไม่ลงตัวสักที”

กระทั่งเมื่อแบรนด์เติบโต โกดังเก็บสินค้าในย่านพระขโนงก็เริ่มไม่ตอบโจทย์​ ด้วยความที่โกดังเป็นแนวตั้ง มีความสูง 7 ชั้น พื้นที่ใช้สอยเยอะก็จริงแต่ก็แลกมาด้วยการต้องรอลิฟต์โหลดของนาน วันหนึ่งพวกเขาจึงตัดสินใจย้ายโกดังสู่พื้นที่ขนาด 5 ไร่ เหลืออาคารเปล่าทิ้งไว้ให้ใช้งาน

และแล้วพวกเขาก็ได้พื้นที่สำหรับโชว์รูมที่ตามหามานาน

“ตอนนั้นคิดจะทำโชว์รูมแต่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำกี่ชั้น เพราะว่าสเปซมันเยอะ ตั้ง 5,000 ตารางเมตร” สิริมาดาเล่า

“เราทำรีเสิร์ชว่าคนทำธุรกิจหรือคนที่อยากใช้เฟอร์นิเจอร์เขาอยากได้อะไร เลยได้รู้ว่าสิ่งที่เมืองไทยยังไม่ค่อยมีในขณะที่ต่างประเทศมีแล้วคือการโชว์เฟอร์นิเจอร์ตาม work mode หรือการทำงานรูปแบบต่างๆ เราเลยใช้สิ่งนี้เป็นคอนเซปต์ตั้งใจจัดดิสเพลย์เพื่อโชว์ว่าการทำงานแต่ละประเภทเหมาะกับเฟอร์นิเจอร์แบบไหน”

แต่ละชั้นของโกดังจึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นโชว์รูมหมวดต่างๆ เริ่มจากชั้นล่างสุดที่เป็นโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์หมวด hospitality จากแบรนด์ ACTIU และ Andreu World, ชั้น 2 เป็นโชว์รูมแนว Working Office, ชั้น 5 เป็นแมสโชว์รูม เน้นโชว์สินค้าเป็นชิ้นๆ เช่น เก้าอี้ทำงาน โซฟา ส่วนชั้น 6 แสดง workstation แบบต่างๆ

โชว์เฟอร์นิเจอร์แล้ว ขั้นถัดไป พวกเขาเริ่มเลือกงานศิลปะมาตกแต่ง แต่กลับได้แกลเลอรีเป็นธุรกิจใหม่อย่างที่เห็น

Show รูป

ตอนจัดโชว์รูมเราต้องหางานศิลปะมาโชว์คู่กัน พอมีงานศิลปะพื้นที่มันก็ได้อารมณ์ ได้ความสวยงามขึ้นมาอีกแบบ จุดประกายให้คิดว่างานศิลปะกับเฟอร์นิเจอร์ไปด้วยกันได้” สิริมาดาเท้าความก่อนสุทธิลักษณ์จะเสริมเรื่องศิลปะที่ WURKON พูดถึงมาตลอด

“คอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียของเราพูดถึงคุณค่าของงานดีไซน์อยู่แล้ว ไปสัมภาษณ์ดีไซเนอร์ ศิลปะ มากมายเลย เพราะเราขายของที่เน้น design value เราต้องตอบคำถามว่าทำไมโต๊ะบางตัวราคา 2,000 แต่ตัวนี้ที่เราขายราคา 20,000 ซึ่งดีไซน์และงานศิลปะมันคาบเกี่ยว cross path กันอยู่แล้ว บางทีศิลปินกับดีไซเนอร์ก็เป็นคนคนเดียวกัน 

“พอถึงจุดที่ทำโชว์รูม เราเลยมีไอเดียขึ้นมาอัตโนมัติเลยว่าเราอยากจะผสมอาร์ตเข้าไปด้วย”

โชว์รูมก็เพิ่งเปิด แกลเลอรีก็เพิ่งเคยทำเป็นครั้งแรก ทั้งคู่จึงนิยามการดิสเพลย์สินค้าในช่วงแรกว่าเป็นการทดลอง โดยเฉพาะการออกแบบสัดส่วนการโชว์เฟอร์นิเจอร์และงานศิลปะให้ลงตัว

“บางคนคอมเมนต์มาว่าเวลาเอางานศิลปะกับงานเฟอร์นิเจอร์มาอยู่ด้วยกันเขาไม่รู้ว่าเราจะขายอะไร อะไรคือไฮไลต์ หรือเราได้เรียนรู้ว่าคนที่มาเดินแกลเลอรีเขาต้องการบรรยากาศแบบหนึ่ง ส่วนคนที่มาชมโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์เขาก็ต้องการอีกบรรยากาศหนึ่ง”

โดยภาพรวม โชว์รูมของพวกเขาจึงเป็น Xspace ของศิลปะและดีไซน์จริงๆ โดยพื้นที่บางส่วนยกให้เป็นแกลเลอรีแสดงงานศิลปะเพียงอย่างเดียว บางส่วนเน้นโชว์เฟอร์นิเจอร์เป็นพระเอก และมีพื้นที่อย่างโถงชั้น 1 ของอาคารหลัก และชั้น 2 ของอาคาร 2 ที่แสดงงานศิลปะควบคู่กับเก้าอี้ที่คิวเรตมาให้ส่งเสริมกัน 

คำว่าแกลเลอรีของพวกเขาไม่เพียงเป็นคำเรียกพื้นที่จัดแสดงแต่ยังเป็นธุรกิจที่ทำอย่างจริงจัง ทั้งมีนิทรรศการหมุนเวียนไม่ขาดและเป็นตัวกลางขายงานศิลปะให้นักสะสมและผู้ที่สนใจ

ที่สนุกคือนอกจากจัดแสดงเก้าอี้ร่วมกับงานศิลปะ พวกเขายังพยายามทำให้ธุรกิจทั้งสองส่งเสริมกัน ด้วยการหยิบงานศิลปะที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการไปดิสเพลย์ต่อท่ามกลางเฟอร์นิเจอร์ในโชว์รูม

“เราเป็นซีเรียสอาร์ตแกลเลอรีนะ” สุทธิลักษณ์ยืนยัน “เราเป็น commercial gallery ขายงาน จัดนิทรรศการ พยายามส่งเสริมวงการศิลปะไทย บางทีศิลปินใช้เวลาสร้างงานตั้งนานแต่ได้โชว์ในนิทรรศการแค่ช่วงสั้นๆ เราอยากให้เขามีเวลาจัดแสดงเพิ่มอีกนิด ดังนั้นแทนที่จะเก็บงานศิลปะเข้าห้องเก็บของเราก็เอาไปโชว์ในโซนอื่น คนที่มาดูนิทรรศการแล้วอยากดูงานศิลปะเพิ่มก็ขึ้นไปดูต่อข้างบนได้”

“เราอยากให้มันยั่งยืน” สิริมาดาเสริม “การทำธุรกิจแกลเลอรีให้ไปต่อได้มันต้องเกิดการขาย เราจึงต้องคิดระบบ คิดกลยุทธ์ว่าทำยังไงให้งานของศิลปินขายได้ มีรายได้อย่างต่อเนื่องไม่ใช่โชว์ครั้งเดียวจบ เราเพิ่มทราฟิกให้คนเห็นงานศิลปะ จากบางคนไม่เคยดูศิลปะเลยจะมาซื้อเฟอร์นิเจอร์ก็เริ่มรู้จักศิลปะไปด้วย”

Show ความเป็นไปได้

ด้วยระบบขยายเวลาแสดงงาน แถมยังนำไปจัดแสดงร่วมกับเฟอร์นิเจอร์ ทำให้ลูกค้าเห็นภาพการจัดแสดงในพื้นที่ชนิดต่างๆ ไม่แปลกที่ศิลปินจะติดต่อมาแสดงงานกับ Xspace เป็นจำนวนมาก ทำให้พวกเขาเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของธุรกิจมากมาย รวมถึงเห็นลูกค้าที่หลากหลายขึ้นด้วย

“งานดีไซน์กับงานศิลปะมันเฉียดกันไปมา แต่ถามว่าทาร์เก็ตเป็นคนคนเดียวกันไหม ไม่ใช่” สุทธิลักษณ์กล่าว

“ตอนเริ่มต้นเราอยากให้ทาร์เก็ตของเฟอร์นิเจอร์กับงานศิลปะเป็นคนคนเดียวกัน เช่น ดีไซเนอร์ที่ออกแบบโครงการอพาร์ตเมนต์หรือคอนโด แต่ทำไปทำมาทาร์เก็ตของงานศิลปะกับงานเฟอร์นิเจอร์เป็นคนละคนเพราะในกระบวนการออกแบบภายใน เฟอร์นิเจอร์อาจอยู่ในสเตจแรกๆ แต่งานศิลปะอาจอยู่ในสเตจท้ายๆ เลย แต่เราก็ยังมีหวัง พยายามทำการตลาดให้ดีไซเนอร์รู้ว่าถ้าอยากจะหางานศิลปะให้มาที่ Xspace” สิริมาดาอธิบาย

ถึงจะพูดอย่างนั้น แต่ที่ผ่านมาทั้งคู่ก็เห็นว่ามีคนซื้อทั้งงานดีไซน์และศิลปะติดมือไปพร้อมกันไม่ใช่น้อย ยังไม่นับว่าที่ผ่านมาเป็นช่วงโควิดที่ทำให้พวกเขามองไม่เห็นดีมานด์ที่แท้จริง ส่วนศิลปินเอง หลายคนก็ชอบที่ได้โชว์งานพร้อมเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้นสำหรับสิริมาดาและสุทธิลักษณ์ อนาคตยังเต็มไปด้วยโอกาสให้คว้า และพวกเขาก็พร้อมจะปรับตัวเสมอ ไม่ต่างจากปรัชญาในการออกแบบของ WURKON อย่างที่สุทธิลักษณ์เล่า

“เราทำงานเกี่ยวกับพื้นที่ ถ้าเราเห็นสเปซที่ไม่เวิร์กเราจะปรับเปลี่ยนมัน กระทั่งออฟฟิศของเราเองก็ปรับอยู่ตลอดเวลา เช่น ทีมนี้ทำไมทำงานด้วยกันแล้วไม่เวิร์ก มันขึ้นอยู่กับวิธีการนั่งทำงานด้วย การนั่งเป็นทีม นั่งหันหลังชน หันหน้าชน หรือนั่งแยกกันผลงานก็ออกมาไม่เหมือนกัน สิ่งที่ไม่เวิร์กมันอาจไม่เวิร์กเพราะไทม์มิ่งด้วย เวลาผ่านไปมีแผนกเพิ่ม มีคนเพิ่ม สเปซก็ต้องปรับ

“หัวใจของโชว์รูมจึงคือ flexibility เราทำให้มันเกลี้ยงที่สุดเพื่อการปรับเปลี่ยน มีโปรเจกต์ใหม่ๆ เข้ามาก็โชว์ได้ทันทีไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ seasonal หรืองานอาร์ต สมมติศิลปินอยากได้พื้นที่ทำอะไรใหม่ๆ แต่แกลเลอรีอื่นมีพื้นที่ไม่พอ ตึกนี้มีพื้นที่ 5,000 ตารางเมตรเราก็ยืดหยุ่นให้เขาทำงานได้ นี่คือข้อดีของการที่โชว์รูมไม่อยู่ในห้างหรือใจกลางเมือง และสมัยนี้เราคิดว่าคนที่อยากดูเฟอร์นิเจอร์หรืองานศิลปะเขาตั้งใจมาดูงานแบบเฉพาะเจาะจงอยู่แล้ว ที่นี่ก็เดินทางไม่ลำบากมากดังนั้นเขาตั้งใจมาที่นี่ที่เดียวได้”

สำหรับในอนาคตอันใกล้ Xspace วางแผนว่าจะพาธุรกิจแกลเลอรีไปให้ไกลกว่านี้ ไม่ว่าจะด้วยการพางานศิลปินไทยออกสู่สายตานานาชาติมากขึ้น หรือการแสดงงานร่วมกับแกลเลอรีในต่างประเทศ แชร์ดาต้าเบสระหว่างกันเพื่อพัฒนาวงการศิลปะไทย

ส่วนอนาคตอันไกลจะเป็นยังไง ด้วยหัวใจคือการปรับเปลี่ยน สิริมาดาทิ้งท้ายว่า WURKON ยังมีรูปฟอร์มใหม่ได้อีกไม่รู้จบ

“การทำธุรกิจทำให้เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้อยู่แล้ว เหมือนกับวันนี้ที่เราเจอธุรกิจใหม่ซึ่งเหมาะกับสเปซของเรามากๆ ในอนาคตหากเราเจออะไรใหม่ๆ อีกจะให้เราปรับเชิงธุรกิจอีกครั้งยังได้เลย”

Writer

Lifestyle Editor ชอบคุย ชอบรู้จัก และชอบอุดหนุนแบรนด์สร้างสรรค์ที่รัก

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

Photographer

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone

You Might Also Like