วนศาสตร์

‘Won (วน)’ โปรเจกต์รีไซเคิลพลาสติกที่พยายามหาทางออกให้กับสิ่งที่ผู้คนมองว่าเป็นผู้ร้าย

ในวันที่ผู้คนและแบรนด์ตระหนักถึงผลกระทบของพลาสติกที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น–และยิ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน ผ่านการ reduce, reuse หรือ recycle ที่ลดปริมาณการใช้ นำมาใช้ซ้ำ และนำมาแปรรูปเป็นสิ่งใหม่

‘Won (วน)’ เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหลังนั่นคือการ recycle ที่นำเอาขยะมาแปรรูป จนกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่ทำให้สิ่งแวดล้อมและองค์กรเติบโตไปด้วยกันได้ 

อธิบายให้เข้าใจอย่างกระชับ Won คือโปรเจกต์ที่จะไปเก็บรวบรวมขยะพลาสติกเหลือใช้ของผู้คนตามจุดต่างๆ จากนั้นจะนำมันมาคัดแยก ทำความสะอาดเพื่อที่จะนำไปเข้าเครื่องที่ผ่านความร้อน จนถุงใบเก่าถูกหลอมละลายกลายมาเป็นเม็ดพลาสติกสีขาว ก่อนจะนำไปเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตพลาสติกขึ้นมาใหม่ที่เอามาใช้ ‘วน’ ไปได้อีกครั้ง

ฟังเผินๆ เหมือนทุกอย่างจะดูดี แต่พอได้มานั่งคิดดีๆ อีกทีทำให้เราเกิดคำถามขึ้นในใจว่า แล้วแบบนี้ต้นทุนของการนำพลาสติกเก่ามาทำใหม่นั้นแพงกว่าการผลิตใหม่หรือไม่ หากแพงกว่าในเชิงธุรกิจมันจะเป็นสิ่งที่ทำวนไปได้ในระยะยาวจริงหรือ หรือนี่เป็นเพียงโครงการ CSR ระยะสั้นหรือเปล่า และคำถามอีกมากมายที่เกิดขึ้นในหัว 

ซึ่งคงจะไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีไปกว่า กมล บริสุทธนะกุล ผู้ก่อตั้งโครงการ Won ขึ้นมา

เท้าความให้ฟังว่า ก่อนมาเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ Won กมลรับหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารการเงินและทายาทธุรกิจเจเนอเรชั่นที่สองของ TPBI  บริษัทที่เน้นผลิตถุงพลาสติกซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 

ด้วยความเป็นธุรกิจแบบ B2B หลายคนอาจยังไม่คุ้นชื่อ TPBI มากนัก แต่ความจริงแล้วสินค้าของ TPBI นั้นอยู่ใกล้ตัวผู้คนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นถุงที่ใช้ตามห้าง ถุงก๊อบแก๊บ ถุงบางๆ ที่ม้วนเป็นโรลสำหรับใส่ผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้กระทั่งถุงขยะก็ตาม 

ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ถุงพลาสติกจาก TPBI ยังถูกส่งออกไปขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในต่างประเทศด้วยเช่นกัน 

ด้วยความเป็นบริษัทผลิตพลาสติกรายใหญ่ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงแรกที่ปล่อยโครงการ Won ออกไป หลายคนมองว่ามันเป็นเพียงแค่โปรเจกต์ที่ทำมาเพื่อตอบสนองการเป็น CSR ของ TPBI ซึ่งกมลบอกว่าความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น 

เริ่มต้นจากความเชี่ยวชาญเดิม มาต่อยอดเป็นสิ่งใหม่ 

จุดเริ่มต้นของ Won เกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วโดยกมลและกลุ่มคนเล็กๆ อีกไม่กี่คนที่เขาเรียกว่า ‘ทีม Innovation’ งานของทีมนี้ก็ตามชื่อที่ตั้ง คือเป็นการมารวมกลุ่มกันเพื่อทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ

หนึ่งในผลลัพธ์ของการทดลองก็คือ การนำสิ่งที่ TPBI ถนัดอยู่แล้วนั่นคือการรีไซเคิลพลาสติก มาต่อยอดจนเป็น Won

ที่ใช้คำว่า ‘ถนัดอยู่แล้ว’ นั่นเพราะว่าในรายได้ทุก 100 บาทของ TPBI มาจากการผลิตถุงพลาสติกประมาณ 70 บาท  แล้วในตัวเลข 70 บาทนั้น ราว 70 เปอร์เซ็นต์เป็นถุงที่ผลิตมาจากพลาสติกแบบ Post-Industrial Recycled (PIR) หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ มันคือการนำเศษพลาสติกที่เหลือจากกระบวน ‘การผลิต’ มารีไซเคิลและผลิตซ้ำจนกลายเป็นถุงใหม่ที่นำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง

แล้ว Won จะแตกต่างจากสิ่งที่ TPBI ทำอยู่แล้วยังไง

กมลอธิบายว่า ด้วยเทรนด์ที่เปลี่ยนไป คนให้ความสำคัญในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น–และยิ่งมากขึ้นทุกวัน เขาจำต้องขยับปรับอะไรบางอย่างให้เข้ากับผู้คนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“TPBI จะคอยรับเศษพลาสติกแบบ PIR เป็นหลัก ส่วน Won ถูกออกแบบมาให้แตกต่างด้วยการรับพลาสติกที่เป็น Post Consumer Recycled (PCR) อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ มันก็คือพลาสติกเหลือใช้จากผู้บริโภคทั่วไปนี่แหละ

“ซึ่งหากนำถุงหนึ่งใบมารีไซเคิลใหม่ ผลที่ได้ก็จะออกมาเป็นถุงใบใหม่ที่มีมวลเท่ากัน โดย 99 เปอร์เซ็นต์ในนั้นมาจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ส่วนอีก 1 เปอร์เซ็นต์คือพลาสติกใหม่ที่ต้องใส่มาเพื่อประคองให้มันสามารถขึ้นรูปมาเป็นถุงได้อีกครั้ง”

ในปัจจุบัน สายตาของใครหลายคนพลาสติกคือผู้ร้าย แต่สำหรับกมล พลาสติกในมุมมองของเขานั้นต่างออกไป 

“คงเป็นเพราะเราอยู่กับมันมาแต่เด็ก แล้วสิ่งที่ทำให้ผมเป็นตัวเป็นตนมาได้จนถึงตอนนี้ส่วนหนึ่งก็คือรายได้จากครอบครัวที่มาจากธุรกิจพลาสติก

“ผมคิดว่าจริงๆ แล้วเรามีวิธีดีลกับมันได้ เพราะ 20-30 ปีที่ผ่านมาก็เห็นว่าจริงๆ แล้วมันคือสิ่งที่รีไซเคิลมาได้อยู่ตลอด”

ฟังสิ่งที่กมลพูดทำให้เรานึกถึงเหตุผลในการเกิดขึ้นของถุงพลาสติก ที่ผู้คิดค้นอย่าง Sten Gustaf Thulin ตั้งใจว่าอยากจะให้มันเป็นสิ่งที่ใช้ซ้ำได้หลายๆ ครั้ง เพื่อจะได้ช่วยลดการใช้ถุงกระดาษ เและนำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าที่ลดลงได้

แพลตฟอร์มที่ช่วยหาทางออกให้กับขยะพลาสติก

ในฐานะที่อยู่กับการรีไซเคิลพลาสติกมานาน กมลอธิบายว่า ยังมีหลายคนคิดว่าพลาสติกรีไซเคิลนั้นจะต้องมีราคาถูกกว่าพลาสติกใหม่ เหมือนกับของมือสองหลายๆ อย่างที่มีราคาถูกกว่าสินค้ามือหนึ่ง

ทว่าในมุมของ Won ต้นทุนที่สูงไม่ได้อยู่ตรงขั้นตอนของการเอาพลาสติกเหลือใช้มาเข้าเครื่องจักร เพราะกระบวนการในการแปรรูปให้ถุงเก่าออกมาเป็นเม็ดพลาสติกนั้นใช้เวลาเพียงแค่วันกว่า ส่วนการนำเม็ดพลาสติกมาขึ้นรูปเป็นถุงอีกครั้งก็ใช้เวลาหลักชั่วโมงเท่านั้น 

“สิ่งที่นานคือขั้นตอนก่อนหน้าที่กว่าจะรวบรวม ขนย้าย คัดแยกเพื่อที่จะเอามันมารีไซเคิลได้ เป็นเรื่องที่ใช้ทั้งต้นทุนของเงิน คน และเวลาไม่ใช่น้อยเลย เพราะมันคือการเก็บรวบรวมพลาสติกแบบ PCR จากครัวเรือนต่างๆ ที่อยู่อย่างกระจัดกระจาย และไม่ใช่ว่าพลาสติกทุกชนิดจะสามารถเอามารีไซเคิลได้ทั้งหมด เราก็เลยต้องใช้แรงมือของคนในการช่วยคัดเลือกมันก่อน”

แม้ในช่วงเริ่มต้น Won จะได้รับเงินสนับสนุนจาก TPBI ในการก่อร่างสร้างโปรเจกต์ให้เกิดขึ้นมา ทว่าการจะทำให้โปรเจกต์ที่ตั้งใจทำเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ได้อย่างยั่งยืน CSR อาจไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้

นั่นจึงจำเป็นต้องมีการหารายได้มาเพื่อประคองให้ Won สามารถอยู่วนไปได้ด้วยตัวมันเอง อย่างในตอนนี้ก็มีถุงพลาสติกจาก Won ส่งไปขายตามที่ต่างๆ รวมถึงการไปคอลแล็บกับหลายๆ แบรนด์เพื่อผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมออกมาจำหน่าย 

กมลไม่ได้มองว่า Won จะทำหน้าที่แค่รวบรวมขยะ นำมารีไซเคิล แล้วทำของออกมาขายเท่านั้น แต่ความคาดหวังของเขาคือการผลักดันให้ Won กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยหาทางออกให้กับขยะพลาสติก ผ่านการไปจับมือกับแบรนด์หรือองค์กรต่างๆ ใครมีปัญหาก็มาร่วมหาทางออกกับ Won ได้ เพราะมี know-how ในการแก้ไขปัญหาพร้อมสรรพ

“เพราะการจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ลำพังแล้วการขับเคลื่อนของ Won เพียงคนเดียวก็คงไม่อาจทำให้มันกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ ทว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็ก องค์กรใหญ่ รวมถึงผู้คนด้วยเช่นกัน เหมือนอย่างตอนนี้ที่ awareness ของการใช้ถุงพลาสติกนั้นเริ่มดีขึ้น ก็เพราะมาจากความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ทั้งแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่หันมาให้ความสนใจและออกมา take action บางอย่างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม” 

เมื่อแบรนด์เดินมาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง

ในเชิงสิ่งแวดล้อม แม้ว่าต้นทุนของพลาสติกรีไซเคิลจะแพงกว่า แต่มันก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในวันที่ภาวะโลกร้อนเขยิบใกล้ตัวเราขึ้นมาทุกวัน 

คำถามที่น่าสนใจและหลายคนอาจสงสัยคือ ในโลกของธุรกิจหากต้นทุนของถุงสูงขึ้น มันจะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับโลกในระยะยาวหรือไม่ 

“ตอนนี้กระแสสังคมเริ่มบีบให้แบรนด์เดินมาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง เพราะการทำธุรกิจให้อยู่รอดในยุคนี้และอยู่ต่อไปในอนาคตได้มันไม่ได้มีแค่เรื่องของกำไร แต่ยังต้องเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาคิดคำนวณในการทำธุรกิจด้วยเช่นกัน เป็นเหมือนการจ่าย environment tax ทางอ้อม และในอีกแง่มุมหนึ่งการลงทุนหันมาใช้ถุงรีไซเคิลก็สะท้อนความรับผิดชอบบางอย่างของแบรนด์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเหมือนกัน”

เมื่อฟังที่กมลพูดก็ทำให้เรานึกถึงข่าวคราวในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ที่หลายแบรนด์ระดับโลกต่างออกมาให้คำสัญญาที่จะลดการใช้พลาสติกแบบ single-use ภายในปี 2025 และเมื่อแบรนด์ใหญ่ขยับก็มักจะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้อีกหลายๆ ธุรกิจต้องปรับตัวตามอยู่เสมอ 

“ผมคิดว่าถ้าธุรกิจเอาแต่ผลิต มุ่งเน้นแต่กำไร โดยไม่ได้คิดถึงคนอื่นที่อยู่รอบข้าง สุดท้ายผู้บริโภคก็จะไม่เลือก แล้วแบบนี้แบรนด์จะอยู่ต่อไปได้ยังไง” กมลทิ้งท้าย 

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

You Might Also Like