(บัตรเครดิต) หนี้นี้ใครครอง

การวางแผนจัดการหนี้บัตรเครดิตในคนรุ่นใหม่ และคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปลดหนี้

Wealth Done ตอนนี้ มีคำถามจากผู้อ่านทางบ้านส่งมาถามเรื่องการจัดการหนี้มากมายของคนรุ่นใหม่ 

สำคัญที่สุด หนี้ของใครคนนั้นควรจะเป็นคนจัดการใช่ไหมคะ และหนี้ที่เป็นของเราคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ มักจะมีหนี้จากการใช้จ่ายเกินตัวนิดหน่อย ซึ่งวิธีการง่ายมากนั่นคือรูดจ่ายด้วยบัตรเครดิต แล้วหวังว่าเมื่อมีเงินเดือนหน้าเข้ามาค่อยนำออกมาจ่าย ไปเที่ยวก็รูดบัตรเครดิตผ่อนชำระ 10 งวด หรือตั้งใจซื้อของที่ชอบด้วยการผ่อนชำระ 5-6 งวด ส่งผลให้บัตรเครดิตใบนี้เต็ม ก็ไปเปิดบัตรที่ 2 บัตรที่ 3 

การที่บัตรเครดิตยอมให้จ่ายหนี้ขั้นต่ำแค่ 10% อาจจะฟังดูโอเค แต่ทราบหรือไม่ว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตนั้นมีมูลค่าเท่าไหร่ ข้อมูลดอกเบี้ยบัตรเครดิตวันนี้ สูงสุดคือ 28% เลยนะคะ 

ในบทความของ Wealth Done ตอนที่ผ่านๆ มา ถ้ายังจำกันได้ เรามักจะหยิบเรื่องสูตรมหัศจรรย์ตัวเลข 72 มาเล่าให้ฟัง เป็นสูตรการคำนวณดอกเบี้ยทบต้น เพื่อหาจำนวนปีที่ผลตอบแทนจะทบต้น

เช่น ในการลงทุนที่ผลตอบแทน 10% จะใช้เวลาเพียง 7 ปีกว่า (มาจาก 72 หารด้วย 10) เงินนั้นจะเพิ่มจำนวนเป็นอีกเท่า หรือหากนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจที่ได้กำไร 20% เท่ากับว่าใช้เวลา 3 ปีกว่า (มาจาก 72 หารด้วย 20) ที่เงินจะงอกเงยทบต้น 

ในทางเดียวกัน ถ้าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนหนี้บัตรเครดิตเท่ากับ 28% 

นำ 72 หารด้วย 28 แปลว่าใช้เวลาเพียง 2 ปีกว่าๆ จำนวนเงินนั้นจะทบต้น 

มันรุนแรงมากเลยใช่ไหมคะ และกลายเป็นว่าที่เราต้องจ่ายไปทุกเดือนไม่จบไม่สิ้นนั้นคือดอกเบี้ยล้วน ๆ เท่ากับว่าเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ที่จ่ายไปเป็นขั้นต่ำในแต่ละเดือนไม่พอจะทำลดเงินต้น ยิ่งจะทำให้ดอกเบี้ยเพิ่มพูนมากขึ้นไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกสุดเวลารายการบัตรเครดิตมาส่งที่บ้าน คือให้ถามตัวเองว่า นี่คือสิ่งที่ต้องใช้ (need) หรือมันคือสิ่งที่ต้องการ (want) ซึ่งคนที่ใช้บัตรเครดิตเกินตัวส่วนใหญ่มักจะพ่ายแพ้ให้กับคำว่า want ทั้งสิ้น

ในฐานะนักการเงินขอแนะนำให้แก้หนี้บัตรเครดิตของใบที่ดอกเบี้ยสูงสุดก่อน ซึ่งดอกเบี้ยของบัตรเครดิตแต่ละใบไม่เท่ากัน และเมื่อตั้งใจจะแก้หนี้ ลำดับแรกสุดคือต้องไม่สร้างเพิ่ม แม้ว่าจะดูเหมือนหักดิบเล็กน้อยถูกมั้ยคะ

จากนั้นมาพยายามลดอันที่ดอกเบี้ยสูงสุดกัน โดยค่าเฉลี่ยของดอกเบี้ยบัตรเครดิตวันนี้ถ้าเป็นของธนาคารใหญ่ๆ หรือธนาคารของรัฐจะอยู่ที่ 18% แต่ถ้าเป็นธนาคารขนาดเล็กหรือแหล่งเงินที่ไม่ใช่ธนาคารดอกเบี้ยอาจจะสูงถึง 28% ซึ่งหลักการคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่ไม่จ่ายหรือคงค้างคือ เขาจะคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรกที่คุณรูดใช้บัตรเครดิต ถ้าเป็นไปได้เราควรจ่าย 100% หรือจ่ายคืนให้ได้มากที่สุด แม้บัตรเครดิตบางใบยืดอายุชำระดอกเบี้ยได้ถึง 45 วัน ถึงเวลาครบกำหนดควรจ่าย 100% ให้ได้ 

สำหรับใครที่บอกว่าจ่ายไม่ไหวๆ จริงๆ ก็ไม่อยากจะแนะนำทางนี้นะคะ แต่คนเรามีญาติพี่น้อง อาจจะไปยืมเงินคนสนิทมาปิดหนี้ส่วนนี้ก่อน อย่างน้อยก็ยังพอผ่อนๆ จ่ายได้ ทำยังไงก็ได้ให้ปิดหนี้ของบัตรที่ดอกเบี้ยสูงกว่าก่อน หรือถ้าไม่อยากรบกวนใคร และวงเงินยังพอเหลืออาจจะหยิบยืมเงินจากบัตรเครดิตใบที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า มาจ่ายดอกเบี้ยสูง แต่ต้องระวังว่าเวลาถอนเงินจากบัตรเครดิตแต่ละครั้งมีค่าธรรมเนียมในการถอน แถมยังอาจจะเจอดอกเบี้ย 28% และเวลาที่คืนเงินปิดยอดก็อาจจะมีค่าธรรมเนียมอีก มันจุกจิกมาก ทำให้ในความเป็นจริงคุณอาจจะเสียเงินเยอะกว่าเดิมเยอะมากๆ

นอกจากนี้เราจะพบว่าบัตรเครดิตมีรอบวันตัดยอดไม่เหมือนกัน บัตรบางใบตัดวันที่ 10 บางใบตัดวันที่ 20 วันที่ 30 หมายความว่า การใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 10 ฉันก็ใช้บัตรที่ตัดวันที่ 10 เพื่อเพิ่มเวลาจ่ายชำระซึ่งกว่าบิลจะมาเราจะมีเวลาประมาณ 45 วันในการเคลียร์ นี่คือวิธีการที่เราใช้เป็นประจำ ซึ่งอ่านแล้วไม่ต้องทำตามก็ได้

เรื่องที่น่าสนใจต่อมาคือ บัตรเครดิตบางใบมีสิทธิประโยชน์ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ เช่น ถ้าชอบกิน บัตรบางใบจะได้รับส่วนลด 10% จากร้านอาหาร หรือถ้าชอบเดินทาง บัตรบางใบเปลี่ยนคะแนนเป็นตั๋วเดินทางได้ หรือบัตร travel card ที่ให้อัตราแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าและใช้งานสะดวกเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ และล่าสุดมีบัตรประเภทที่ให้สิทธิการดูสตรีมมิงของ Netflix, WeTV, iQIYI ด้วยนะ

การใช้บัตรเครดิตที่ดีคือ พยายามจ่ายคืนทั้ง 100% เมื่อถึงเวลาปิดครบงวด และมีวินัย ไม่ใช้จนเกินความจำเป็น คุณอาจจะสร้างวินัยด้วยการตั้งเป้าว่าเดือนนี้ขอใช้บัตรเครดิตสำหรับซื้อของที่ชอบสัก 5,000 บาท เป็นต้น 

แล้วถ้าเป็นหนี้เยอะมาก ไม่สามารถหาเงินมาปิดได้ควรเริ่มจากอะไร

จริงๆ ไม่ได้อยากแนะนำอย่างนี้นะคะ แต่ถ้าสมมติว่าไม่ไหวจริงๆ วงเงินมันใหญ่จริงๆ วิธีแรกอาจจะนำบ้านไปวางเพื่อหาเงินมาปิดหนี้ เพราะยังไงแล้วดอกเบี้ยบ้านก็ถูกกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิต วิธีที่สองใช้สินเชื่อรถยนต์ ทั้งสองวิธีนี้ดอกเบี้ยอาจจะน้อยกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็จริงแต่จะทำให้หนี้กลายเป็นหนี้ที่ก้อนใหญ่ขึ้น และเมื่อถึงวันหนึ่งเราอาจจะรู้สึกว่าไม่ไหว จึงอยากแนะนำว่าหากเป็นไปได้ขอให้จำกัดอยู่ในบัตรเครดิตเพราะว่าวงเงินมันน้อยหน่อย แล้วก็ใช้ให้อยู่ในวงเงินให้ได้

เรื่องถัดไปคือการจัดการหนี้สินอย่างอื่น อย่างที่บอกว่าหนี้อะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะซื้อมาถูกหรือแพงไม่รู้แต่ขอให้ได้ใช้ เช่น ซื้อบ้านก็ต้องเป็นบ้านที่ตั้งใจจะอยู่ อย่าเพิ่งไปซื้อเพื่อเก็งกำไรว่าจะปล่อยเช่า ขอให้ลืมเรื่องนั้นไปก่อน

ถ้าซื้อแล้วใช้อย่างน้อยที่สุดก็เป็นความสุขทางใจ ของหลายอย่างมีราคาเพิ่มขึ้นตามกาลเวลาหรืออย่างน้อยราคาก็ไม่ได้ลดลง การซื้อของเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรืออะไรก็ตาม จะยังไม่ค่อยน่ากลัว ขณะเดียวกันก็มีของหลายอย่างที่ซื้อแล้วราคาลดลงอย่างรวดเร็ว เราต้องศึกษาและทำความเข้าใจด้วยนะคะ

จะว่าไปเรื่องของหนี้บัตรเครดิตไม่ได้เกิดแค่ในคนรุ่นใหม่ และไม่ใช่เป็นเรื่องของเด็กๆ เลย ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังวนเวียนบัตรเครดิต ที่น่าตกใจมากก็คือหลายคนทำธุรกิจค้าขายแล้วใช้บัตรเครดิตเป็นเงินหมุน 

เรื่องนี้สำคัญมาก คุณต้องเข้าใจว่าทำไมเราจึงไม่ควรใช้บัตรเครดิตเป็นเงินหมุน เพราะดอกเบี้ยมันแพงมาก หากคิดจะค้าขายควรจะเริ่มจากทุนตัวเองก่อน ไม่ควรเอาอะไรมาเป็นภาระโดยเฉพาะดอกเบี้ยจากบัตรเครดิต เมื่อไหร่คุณไปรูดบัตรเครดิตมา 4 แสนแล้วพยายามเริ่มทำธุรกิจจาก 4 แสนบาท ลองคิดดูว่า 28% ของเงิน 4 แสนคือเท่าไหร่ นี่แทบจะเป็นเรื่องต้องห้าม ห้ามทำและไม่อยากให้ทำเลย ซึ่งหลายคนคิดว่าเขาทำ margin ได้ ก็อาจจะได้ แต่ถ้าคุณเจอเหตุการณ์อย่างโควิดคุณสะดุดทันทีเลย ร้านเปิดไม่ได้ทันที เพราะฉะนั้นหากคิดจะเริ่มธุรกิจอะไร เราอยากให้เริ่มจากทุนส่วนตัวก่อน

ก่อนจะจากกันไป ขอฝากเรื่องเครดิตบูโร อธิบายง่ายๆ ก็คือ คนที่เป็นหนี้บัตรเครดิตเยอะ ติดนาน ไม่ยอมจ่าย ซึ่งมีโอกาสที่ทางธนาคารจะฟ้อง ผลจากการติดเครดิตบูโรทำให้จากนี้ไปจะทำธุรกรรมอื่นๆ ในอนาคตไม่ได้ เช่น การขอกู้บ้าน หรือแค่เปิดบัญชีก็อาจทำไม่ได้เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่มีประวัติว่าไม่มีวินัยทางการเงิน 

มีกรณีศึกษาหนึ่ง เขาติดเครดิตบูโรตั้งแต่สมัยเด็กๆ โดยที่เขาก็ไม่รู้ตัว ต่อมาเขาเป็นเจ้าของธุรกิจจะมาทำธุรกรรมเช่าซื้อรถยนต์กับธนาคารปรากฏแบงก์ไม่ให้ผ่านเพราะติดเครดิตบูโร ถ้าจำไม่ผิดเป็นเงินกู้เพื่อการศึกษา ซึ่งเขาไม่จ่ายและทำตัวไม่รู้เรื่องไป ในที่สุดคือพอมากู้ซื้อรถก็ซื้อไม่ได้ ซึ่งหากมีชื่อติดเครดิตบูโรแล้วยังไงก็แก้ไขไม่ได้ 

สิ่งที่แก้ได้คือเขาต้องกลับไปคืนเงินกู้นั้น ซึ่งพอเวลาล่วงเลยมาเป็นสิบปี ทำให้ดอกเบี้ยมีจำนวนมหาศาลมาก นี่คือเรื่องที่คนไม่ค่อยทราบกัน แล้วหลายครั้งที่บางทีไม่ใช่แค่คดีเงินกู้ บางทีศาลฟ้องคุณเสร็จแล้วคุณไม่รู้ตัว คุณกลายเป็นคนติดแบล็กลิสต์แล้ว เงินจะคืนก็ไม่รู้อยู่ไหนแล้ว ก็ต้องคอยระวังไม่ให้เกิดเพราะมันจะติดตัวไปตลอดชีวิต


WEALTH DONE คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้นรอบตัวและสงสัยใคร่รู้เป็นพิเศษ ส่งมาบอกพวกเราได้ที่ [email protected] หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Capital แล้วรออ่านคำตอบพร้อมกันทุกวันพฤหัสบดี เว้นวันพฤหัสบดี ที่ capitalread.co

Writer

อุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย กรรมการอิสระ และที่ปรึกษาทางการเงินผู้อยากให้คนไทยหันมาวางแผนทางการเงิน ขณะเดียวกันเธอก็เชี่ยวชาญในการวางแผนอ่านหนังสือและดูซีรีส์อย่างไรให้จบภายในหนึ่งคืน

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์