The People of Double Goose
The People of Double Goose
ตลอดระยะเวลาที่คุณากร ธนสารสมบัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานไทยแลนด์นิตติ้ง จำกัด ทำงานที่ห่านคู่มากว่า 15 ปี เขาเจองานยากและโจทย์ที่เข้ามาท้าทายฝีมืออยู่โดยตลอด ตั้งแต่การพาแบรนด์เข้าไปอยู่ในโมเดิร์นเทรด พัฒนาระบบการทำงานภายในให้ทันสมัย ปรับตัวเข้าสู่ช่วงออนไลน์ ทำให้แบรนด์ยังคงยืนระยะมาได้แม้จะเจอกับวิกฤตโรคระบาดซึ่งทำให้โรงงานต้องหยุดผลิตเป็นครั้งแรก
แต่เมื่อถามในบรรดาโจทย์ที่ท้าทายทั้งหลายเหล่านี้ งานไหนเป็นงานที่ยากที่สุดสำหรับเขา คุณากรกลับตอบมาว่า “ผมว่าเรื่องคนนี่ยากที่สุดแล้ว”
ด้วยความเป็นองค์กรที่มีอายุเกือบ 70 ปี คนที่อยู่ในองค์กรจึงมีตั้งแต่รุ่นใหม่ รุ่นกลาง ไปจนถึงรุ่นใหญ่ การจะนำพาให้คนหลากหลายเจเนอเรชั่นที่มีจำนวนเกือบๆ 500 คนให้ปรับตัวเดินหน้าไปพร้อมกับองค์กรจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าคุณากรก็สามารถทำงานที่เขาว่ายากนี้ให้สำเร็จได้ สะท้อนได้จากการที่แบรนด์ยังสามารถคงอยู่มาได้–ไม่ใช่แค่การอยู่นิ่งๆ แต่อยู่อย่างปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้อยู่เสมอ
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มี ‘คนในองค์กร’ คอยเป็นผู้ขับเคลื่อน
“ผมมองว่าการที่สินค้าจะออกมามีคุณภาพ จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ มันต้องเกิดขึ้นมาจากการที่เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราจะทำออกมาก่อน แล้วคุณค่านี้มันไม่ได้สร้างมาจากผม แต่สร้างมาจากทีมงาน ผมเลยให้คุณค่ากับเรื่องของการบริหารคนมากๆ อีกอย่างต่อให้เรามีเครื่องจักรที่ดีแค่ไหนถ้าไม่มีคนที่เห็นคุณค่ามาใช้ มันก็เปล่าประโยชน์”
เมื่อการดูแลมนุษย์นั้นไม่ง่ายเหมือนกับการดูแลเครื่องจักรในโรงงานเย็บผ้า ที่เพียงป้อนคำสั่งลงไปในระบบก็สามารถทำงานออกมาได้ดั่งใจ ยิ่งกับในยุคสมัยปัจจุบันที่บริบทการทำงานระหว่างหัวหน้าและลูกน้องเปลี่ยนไปจากอดีตเป็นอย่างมาก การบริหารคนของคุณากรจึงเป็นเรื่องที่อาศัยทักษะการจูงใจ ทักษะการโค้ชการพัฒนาคน รวมไปถึงทักษะความอดทนในระดับที่ไม่น้อยเลย
“การบริหารคนไม่ได้เริ่มจากการไปสั่งเขา แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าตัวพนักงานและงานที่เขาทำเป็นยังไง เมื่อเข้าใจก็จะทำให้เราคุย เริ่มเข้าไปเวิร์กกับเขาได้ พอเวิร์กกับเขาได้เราก็ต้องให้ทีมงานแต่ละคนเชื่อมต่อกัน วิธีการเชื่อมต่อก็ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวคุณไปคุยกับคนนู้นไปแผนกนี้นะ แต่เราเองในฐานะผู้บริหารก็ต้องใส่กิจกรรม ใส่เครื่องมือบางอย่างลงไปเพื่อให้พวกเขามาทำงานร่วมกันได้ และการจะทำให้พนักงานก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน เราในฐานะผู้บริหารก็ต้องทำให้เขาดู อย่างเช่นที่เคยเล่าไปว่าการไปจับมือคอลแล็บกับแบรนด์อื่น ผมไม่ได้คาดหวังเรื่องยอดขายเป็นหลัก แต่อยากทำให้ทีมงานเห็นว่าแบรนด์ที่อยู่มานานอย่างห่านคู่ยังสามารถทำอะไรใหม่ๆ ได้อีกมากมาย
“ส่วนที่บอกว่าเรื่องคนเป็นงานที่ยากที่สุดสำหรับผม ก็เพราะการบริหารคนในยุคสมัยนี้เราไม่สามารถสั่งเขาอย่างเดียวได้ มันไม่ใช่แบบเมื่อก่อน แต่เราต้องไปสอนเขา ซึ่งการสอนมันเป็นอะไรที่ยากและต้องใช้ความอดทนมากกว่าการสั่งเป็นอย่างมาก” คุณากรพูดถึงวิธีบริหารทรัพยากรที่มีค่าในองค์กรอย่างมนุษย์
จึงไม่แปลกใจว่าในบรรดาโจทย์ธุรกิจที่ท้าทายทั้งหลาย โปรเจกต์ที่กลายเป็นไวรัลมากมาย แต่ทำไมงานที่คุณากรรู้สึกภูมิใจที่สุดกลับเป็นงานในการ ‘พัฒนาคน สร้างทีมงาน’ ขึ้นมา
และการบริหารคนของเขาก็ทำให้แบรนด์เก่าแก่อย่างห่านคู่ยังสามารถทำกำไรมาได้อยู่ทุกปี
ธรรมดาที่ทำงานดี
ชื่อ : ติมเฮียง ศรีพิมล
ตำแหน่งงาน : หัวหน้าแผนกเย็บ G
วันที่เริ่มงาน : 1 กันยายน 2554
อายุงาน : 11 ปี
ความชำนาญพิเศษ : เย็บเสื้อห่านคู่แบบใหม่
“เรามาเริ่มงานที่นี่ด้วยตำแหน่งหัวหน้าแผนกตัวอย่าง ถึงเคยทำงานเย็บมาก่อน แต่พอมาทำงานที่ห่านคู่ก็ต้องใช้เวลาเกือบปีเลยกว่าจะฝึกฝนจนชำนาญมือกว่าจะเย็บออกมาสวยได้ เพราะงานตราห่านคู่นั้นมีความละเอียดอ่อนมากๆ เสื้อตัวนึงผ่านการเย็บ 10 กว่าขั้นตอนเลย ตะเข็บต้องให้ได้ 12 ฝีเข็มต่อ 1 นิ้ว ตัวตะเข็บต้องแบนเรียบ ฝีด้ายต้องเต็มตะเข็บ ด้ายกับผ้าอยู่ชิดกัน ปลายแขนเสื้อพับแล้วต้องเสมอกัน ตะเข็บปลายท้องแขนต้องตรงกันเป๊ะๆ สปริงคอต้องไม่ตึงหรือย่นจนเกินไป
“จนตอนนี้มาเป็นหัวหน้าแผนกเย็บ การทำงานในวันๆ นึงก็จะต้องดูแลลูกน้องตั้งแต่ความปลอดภัย ดูให้ใส่ถุงมือตัดเย็บ วันไหนมีงานตัวอย่างก็ลองให้ลูกน้องเย็บเพื่อค่อยๆ ฝึกฝนเขา
“ส่วนที่อยู่ที่นี่มาได้สิบกว่าปี เพราะทั้งเจ้านายและผู้จัดการเขาใจดี ถ้าเราทำผิดเขาจะให้โอกาสเราแก้ตัวใหม่ ไม่ว่าไม่ซ้ำเติมเรา”
ชื่อ : นิวัฒน์ ไสยสิทธิ
ตำแหน่งงาน : หัวหน้าแผนกเย็บ P
วันที่เริ่มงาน : 2 ตุลาคม 2529
อายุงาน : 36 ปี
ความชำนาญพิเศษ : เย็บเสื้อห่านคู่แบบดั้งเดิม
“พี่ทำงานที่นี่มาตั้งแต่อายุ 25 งานแรกที่ทำก็คืองานเย็บ วันนึงเคยเย็บเสื้อคอกลมได้ประมาณ 1,800 ตัว จนตอนนี้ได้ขยับมาเป็นหัวหน้า งานส่วนใหญ่จึงเป็นการจัดโฟลว์ลูกน้อง แต่ถ้าช่วงไหนไม่ทันจริงๆ ก็ต้องไปช่วยลูกน้องเย็บด้วยเหมือนกัน แล้วก็ต้องคอยตรวจดูด้วยว่าเสื้อแต่ละตัวเป็นตามมาตรฐานที่ห่านคู่กำหนดไว้ไหม
“ที่อยู่ที่นี่มาได้นานเพราะเจ้านายเขาใจดี เป็นกันเอง แล้วเราก็รักในผลิตภัณฑ์ของเรา ทำแล้วดีใจเพราะไปไหนก็มีแต่คนรู้จัก เวลาไปเดินห้างเขาไม่รู้จักเราหรอก เขาไม่รู้ว่าเสื้อที่เขาซื้อเราเป็นคนทำ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ดีใจนะ”