Merger

ยุคแห่งการควบรวมกิจการ เปิดดีลใหญ่ในวงการธุรกิจ ผูกขาดหรือแข่งขัน

ในโลกของการทำธุรกิจ ไม่ว่าอุตสาหกรรมไหนก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภค การเข้ามาดิสรัปต์ของเทคโนโลยีต่างๆ หรือแม้แต่การถือกำเนิดของคู่แข่งทางธุรกิจรายใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาแทนที่และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ในปัจจุบันธุรกิจที่อยู่รอดได้ต้องปรับตัวเก่ง จับกระแสสถานการณ์ต่างๆ ให้ไว 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เราจึงคงได้เห็นการปรับตัวในรูปแบบของ ‘การควบรวมกิจการ’ ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยมีธุรกิจค่อนข้างเยอะ ถ้าต้องการควบรวมกิจการเพื่อโค่นล้มเบอร์หนึ่งในตลาด จำเป็นต้องมีเงินทุนจำนวนมหาศาล มีสรรพกำลังครบพร้อม การควบรวมกิจการจะช่วยเสริมเรื่องการแข่งขันแน่นอน

กลยุทธ์การควบรวมกิจการที่ได้รับความนิยมอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือ การควบรวมกิจการแนวราบ (Horizontal Integration) และการควบรวมกิจการแนวดิ่ง (Vertical Integration) ซึ่งทั้ง 2 วิธีมีรูปแบบและผลลัพธ์แตกต่างกัน

การควบรวมกิจการแนวราบ (Horizontal Integration) คือการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือเป็นคู่แข่งกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจุดประสงค์ของการควบรวมกิจการแบบแนวราบ เป็นการซื้อเพื่อเพิ่มขนาดกิจการ เพิ่มตลาดในการขายสินค้า หรือเพื่อทำลายคู่แข่ง ข้อดีของการควบรวมกิจการแนวราบอยู่ที่การขยายตลาดออกไปได้กว้างและเร็วขึ้น อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการเปิดกิจการหรือสาขาใหม่ 

ในต่างประเทศการควบรวมลักษณะนี้มักจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นการผูกขาดตลาด ที่ทำให้มีผู้เล่นแค่หนึ่งหรือสองราย ถ้าเป็นการควบรวมในอุตสาหกรรมเดียวกันที่อาจส่งผลเสียต่อลูกค้า เพราะการแข่งขันลดลง ความกระตือรือร้นในการพัฒนาสินค้าก็ลดลงไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการแนวราบ ก็มีข้อจำกัดในเรื่องการวางแผนดำเนินงาน แม้ว่าลักษณะของกิจการจะมีสินค้า/บริการที่เหมือนกัน แต่โครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรย่อมแตกต่างกัน หากไม่มีการวางแผนที่ดี อาจทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จนในบางครั้งไม่ก่อให้เกิดผลกำไร หรือกิจการอ่อนแอลงกว่าเดิม

หนึ่งในเคสที่ถูกหยิบยกมาเล่าเมื่อเกิดการควบรวมแบบแนวราบคือ True และ  DTAC ที่ทุกคนต่างทราบดีว่า การแข่งขันของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในไทยมีผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย คือ AIS, TRUE และ DTAC ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 100% และเมื่อ True ควบรวมกับ Dtac ที่ต่างก็เป็นผู้เล่นรายใหญ่กันทั้งคู่ ทำให้การแข่งขันในไทยเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 รายเท่านั้น ถือเป็นการควบรวมกิจการแนวราบที่ผูกขาดตลาด และส่งผลเสียต่อผู้บริโภคทันที

การควบรวมกิจการแนวดิ่ง (Vertical Integration) คือการควบรวมกิจการที่เกี่ยวข้องและอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น ธุรกิจผลิตแป้งสาลีสำหรับทำขนมปัง เข้าซื้อกิจการร้านเบเกอรี หรือธุรกิจขนส่งเพื่อกระจายสินค้า เป็นต้น โดยข้อดีของวิธีการนี้ก็คือ การช่วยลดต้นทุนการผลิต เพราะกิจการที่ซื้อมีความเกี่ยวข้องกันจึงทำให้ได้ราคาต้นทุนถูกกว่า

‘วงการพลังงานขยับ บางจากซื้อเอสโซ่’

ช่วงเดือนที่ผ่านมาหลายคนคงเห็นโพสต์อำลาพี่เสือแห่งปั๊มเอสโซ่ ปิดตำนาน 129 ปี หลังบางจากทุ่มงบกว่า 22,000 ล้านบาท ซื้อหุ้น 65.99% ของเอสโซ่ในประเทศไทยทั้งหมดที่มีกว่า 830 สาขา

ดีลนี้ทำให้บางจากมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 75% และกลายเป็นผู้เล่นที่มีโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในไทย อยู่ที่ 294,000 บาร์เรลต่อวัน และมีจำนวนปั๊มน้ำมันรวมกันอยู่ที่ 2,200 สาขา ขึ้นแท่นเบอร์ 2 ในตลาดค้าปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันทันที แซงหน้าปั๊มพีที ที่มี 2,181 สาขา ส่วนอันดับ 1 ยังเป็นปตท.อยู่เหมือนเดิม 2,473 สาขา แต่เมื่อดูจำนวนสาขาของบางจากและ ปตท.นั้นต่างกันแค่เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในไม่ช้าเราอาจเห็นตัวเลขสาขาของบางจากตีตื้นขึ้นมาเรื่อยๆ 

การควบรวมลักษณะนี้ทำให้บางจากเติบโตขึ้นทั้งในแง่ของกำลังการผลิตและจำนวนปั๊มทั่วประเทศ โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนเพื่อขยายสาขาด้วยตัวเอง และที่สำคัญบางจากยังได้ฐานลูกค้ามากขึ้นโดยที่ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์

‘ปิดตำนาน Family Mart ในไทย’

เราเห็นสัญญาณการปลดป้าย Family Mart ในประเทศไทยมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ไม่มีการเปิดสาขาเพิ่มขึ้น และลดจำนวนสาขาลงทุกปี โดยในปี 2565 มีเพียง 415 สาขาเท่านั้น ซึ่งสวนทางกับร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ที่ตั้งเป้าเพิ่มสาขา ทำให้ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เซ็นทรัล รีเทล ทยอยเปลี่ยนป้ายร้าน FamilyMart เป็น Tops daily

ซึ่งก่อนหน้านี้ FamilyMart เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยโดยเป็นการร่วมทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด จนกระทั่งเซ็นทรัล รีเทลได้เข้ามาซื้อหุ้นในสัดส่วน 50.29% พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น Central FamilyMart จากนั้นในปี 2563 บริษัทย่อยของเซ็นทรัล รีเทลได้ทำการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มอีก 49% นั่นเท่ากับว่าเกือบ 100% เป็นหุ้นของเซ็นทรัล รีเทล แต่ยังใช้ชื่อ FamilyMart อยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน การแข่งขันของธุรกิจร้านสะดวกซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้เซ็นทรัล รีเทลต้องตัดสินใจครั้งใหญ่

ส่วนสำคัญที่ทำให้เซ็นทรัล รีเทล ตัดสินใจรีแบรนด์ FamilyMart อยู่ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ร้านค้าปลีกที่มีขนาดเล็ก 1-2 ห้อง ไม่ตอบโจทย์ลูกค้ายุคนี้ที่ต้องการร้านสะดวกซื้อที่มีขนาดใหญ่ มีสินค้าครบครันทั้งของสดของแห้ง ทำให้บริษัทตัดสินใจปลดป้าย FamilyMart ในไทยเพราะมองไม่เห็นวี่แววการเติบโต บวกกับสัญญาการบริหารของเซ็นทรัล รีเทลก็กำลังจะหมดลงในปีนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นการยกเครื่องครั้งใหญ่จาก FamilyMart สู่ Tops daily 

อย่างไรก็ตาม ชื่อของ Tops daily ก็ไม่ใช่แบรนด์ใหม่แต่อย่างใด Tops daily เป็นร้านค้าปลีกในรูปแบบของซูเปอร์มาร์เก็ตที่กระจายอยู่ในไทย มีสาขากว่า 100 แห่ง และคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มขึ้น

จากกรณีศึกษาที่เรานำมาเล่านี้ ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าทำไมบริษัทใหญ่ๆ ถึงตัดสินใจขยายธุรกิจด้วยกลยุทธ์การควบรวมกิจการ เพราะในมิติของการลงทุน การตลาด และโอกาสทางการขาย การควบรวมกิจการสามารถเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งให้ธุรกิจได้ทั้งหมด

อ้างอิง

  • thewindustry.com/columnist/%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B9%8C%20%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%20(Pich%20Rodpai)/detail/5444w

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]