Think In-N-Out of the Box

ทำไมขายแค่ 4 ชั่วโมง? คุยกับผู้อยู่เบื้องหลังและฟังเรื่องราวกว่าจะมาเป็น In-N-Out Burger

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องกินนั้นอยู่ในสายเลือดนักชิมชาวไทย โดยเฉพาะกับความพยายามในการลิ้มลองรสชาติของกินแบรนด์ใหม่ๆ ตัวอย่างที่ผ่านมาก็มีทั้งโดนัทแบรนด์ดังจากอเมริกาอย่าง Krispy Kreme หรือขนมปังอบสัญชาติมาเลเซียอย่าง Rotiboy ก็เคยสร้างความสั่นสะเทือนและพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าคนไทยไม่ลดราวาศอกให้ใครทั้งสิ้นถ้าเป็นเรื่องการต่อคิวเพื่อซื้อของอร่อย

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ชั้น G ของห้าง Siam Discovery เราได้เห็นปรากฏการณ์การต่อคิวแบบนั้นอีกครั้ง กับการเปิดป๊อปอัพสโตร์ของ ‘In-N-Out Burger’ แบรนด์เบอร์เกอร์ชื่อดังจากฝั่งเวสต์โคสต์ของอเมริกา

การเปิดป๊อปอัพสโตร์คราวนี้ของ In-N-Out Burger นั้นไม่ธรรมดา เพราะพวกเขาเลือกเปิดในวันและเวลาที่ถือว่าปราบเซียน โดยเปิดในวันธรรมดาช่วงกลางสัปดาห์และเปิดเพียงแค่ 4 ชั่วโมง ตั้งแต่ 12:00-16:00 น. เท่านั้น

เราไปถึงที่หน้าร้านประมาณ 14:00 น. แต่ปรากฏว่าเบอร์เกอร์ทั้งหมดที่เตรียมมาขายหมดเสียแล้ว เป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ข้อสันนิษฐานที่ว่า วงการการต่อคิวซื้อของกินของคนไทยไม่แพ้ชาติใดจริงๆ  

เท่ากับว่า In-N-Out Burger ขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง แถมยังมีผู้เดินทางมายังหน้าร้านอย่างไม่ขาดสาย แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะนำเชือกกั้นมากั้นทางเข้าร้านแล้วก็ตาม

ถึงจะผิดหวังจากการได้ชิมเบอร์เกอร์ แต่อย่างน้อยวันนี้เราก็ได้พบกับชาวแคลิฟอร์เนียน ลูอิส เออร์นานเดซ (Luis Hernandez) ผู้จัดการฝ่ายอีเวนต์ต่างประเทศของ In-N-Out Burger อีกหนึ่งผู้อยู่เบื้องหลังป๊อปอัพสโตร์ที่เราเห็น

หลายคำถามที่ค้างคาใจจากปรากฏการณ์ตรงหน้าจึงคลี่คลายเมื่อเราได้สนทนากับเขา ซึ่งหลายคำถามเราเชื่อว่าน่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนสงสัยเช่นกัน

ลูกค้าชาวไทยมากันมากมาย อยากรู้ว่าทำไมตัดสินใจเปิดขายแค่ 4 ชั่วโมง

คือเราคิดว่ามันน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วนะ (ยิ้ม)

ความจริงก็คือว่า จำนวนคนที่เราพามาจากแคลิฟอร์เนียค่อนข้างจำกัด เราพามาได้เพียงแค่บางคนและบางส่วนเท่านั้น แถมวัตถุดิบบางอย่าง เช่น พวกขนมปัง ชีส พริกดอง และซอสต่างๆ เราก็ส่งตรงมาจากแคลิฟอร์เนีย ดังนั้นเราคำนวณแล้วว่าจากจำนวนคนที่เราพามาและจำนวนวัตถุดิบที่เรานำมา 4 ชั่วโมงน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสม และคุณลองดูสิ มันเป็นป๊อปอัพที่สวยงามและประสบความสำเร็จมากเลยนะวันนี้ คนเป็นร้อยๆ คนมาต่อคิวเพื่อรอกินเบอร์เกอร์เรา มันเป็นภาพที่งดงามมากนะ

หมายความว่าคนที่อยู่ในครัวในร้านป๊อปอัพวันนี้ล้วนมาจากแคลิฟอร์เนีย

ใช่ พวกเขาถูกส่งตรงมาจากแคลิฟอร์เนีย เราเอาคนที่มีประสบการณ์สูงและสามารถทำเบอร์เกอร์ได้อย่างยอดเยี่ยมมาเพื่อวันนี้วันเดียวเลย

กำลังคนและวัตถุดิบที่เตรียมมาวันนี้ผลิตเบอร์เกอร์ได้มากแค่ไหน

เราเตรียมมาสำหรับผลิตเบอร์เกอร์ประมาณ 600 ชิ้น ทั้งเฟรนช์ฟรายส์ก็เช่นกัน ประมาณ 600 ชุด

แล้วทำไมเลือกเปิดวันธรรมดาซึ่งคนส่วนใหญ่ทำงาน

ผมว่าผลลัพธ์มันออกมาสวยงามนะ กับการมาเปิดวันธรรมดา ผมคิดว่าถ้ามาเปิดวันหยุดนี่สงสัยคนคงจะมากมายมหาศาลกว่านี้แน่เลย (ยิ้มกว้าง)

อะไรทำให้คุณตัดสินใจเลือกมาเปิดป๊อปอัพสโตร์ที่กรุงเทพ

แล้วทำไมเราจะไม่มาล่ะ (หัวเราะ) คือจริงๆ แล้วเราอยากออกไปท่องโลกกว้างอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ แล้วกรุงเทพก็เป็นเมืองที่ยอดเยี่ยม ยอดเยี่ยมทั้งอาหาร ทั้งผู้คน ดังนั้นเราแฮปปี้ที่จะมาที่นี่อยู่แล้ว

จากภาพที่เห็น คุณคิดยังไงกับลูกค้าชาวไทย

จากจำนวนคนวันนี้ ผมว่าพวกเขาดูรักเบอร์เกอร์ของเรานะ พวกเขาดูแฮปปี้มาก ยิ้มกว้างกันทุกคนเลยหลังกินเสร็จ ผมคิดว่าพวกเขาคงจะรู้สึกยอดเยี่ยม และนั่นคือความสำเร็จของผมและทีมแล้ว ผมนี่ซึ้งใจเลยตอนเห็นคนเป็นร้อยๆ มาต่อแถวเพื่อรอกิน Double Double 

สุดท้าย In-N-Out Burger มีแผนจะมาเปิดร้านที่เมืองไทยบ้างไหม

ณ ตอนนี้เรายังไม่มีแผนแน่นอนว่าจะมาเปิดร้านที่ไทยเมื่อไหร่ แต่วันนี้ที่เรามานี่เราลองมาทดลองตลาดดูก่อน ถือเป็นการวิจัยตลาดไปด้วย ซึ่งก็อย่างที่เห็นเลย การตอบรับดีมากเลยในวันนี้

หลังจบบทสนทนาสั้นๆ ทำให้เรานึกถึงการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลเป็นหลักหลายพันไมล์จากอเมริกามาถึงประเทศไทยเพื่อมาเปิดป๊อปอัพสโตร์ 

การที่ร้านเบอร์เกอร์จากแคลิฟอร์เนียนี้ได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามหาใช่ความบังเอิญ หากแต่มันเกิดจากการใส่ความตั้งใจในรายละเอียดและพิถีพิถันทุกขั้นตอนในการทำเบอร์เกอร์แต่ละชิ้น ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งแบรนด์

California Burger

ปี 1948, บอลด์วินปาร์ก, แคลิฟอร์เนีย

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดมาจาก แฮร์รี่ สไนเดอร์ (Harry Snyder) ชายหนุ่มเชื้อสายแคนาเดียนวัย 35 ที่ย้ายถิ่นที่อยู่จากซีแอตเทิลมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย หลังแต่งงานกับภรรยา เอสเทอร์ จอห์นสัน (Esther Johnson) เขาหวังว่าวิชาความรู้ที่เขาเคยมีติดตัวมาจากการทำงานร้านเบอร์เกอร์ที่ซีแอตเทิลจะช่วยให้เขาสามารถเปิดร้านเบอร์เกอร์และเริ่มต้นชีวิตใหม่กับคนรักของเขาได้ที่นี่–แคลิฟอร์เนีย

ทุกๆ เช้าแฮร์รี่จะเดินไปจ่ายตลาดเพื่อเลือกซื้อเนื้อและผักด้วยตัวเอง เขาหยิบจับผักกาดทุกต้น พลิกมันไปมาเพื่อดูว่ามันสวยพอหรือยัง ยังสดดีอยู่ใช่ไหม ก่อนจะจ่ายเงินให้เจ้าของร้าน แฮร์รี่ทำแบบเดียวกันนี้เมื่อเดินเข้าไปในร้านขายเนื้อเช่นกัน แฮร์รี่พลิกดูเนื้อทีละชิ้นๆ ว่าสดที่สุดหรือเปล่า คุณภาพของเนื้อมันดีพอที่เขาจะเอามาทำเบอร์เกอร์ในร้านแล้วใช่ไหม ก่อนเขาจะหยิบแบงก์ดอลลาร์จ่ายเงินซื้อเนื้อกับพ่อค้า 

เมื่อกลับมาถึงที่ร้านแฮร์รี่จะเตรียมวัตถุดิบเพื่อให้พร้อมที่จะขายเบอร์เกอร์เองทุกอย่าง เนื้อทุกชิ้นที่ถูกปั้นจนเป็นก้อนก่อนย่างลงบนเตาก็มาจากการปั้นมือของแฮร์รี่ทั้งสิ้น ในขณะที่เอสเทอร์ ผู้เป็นภรรยาก็ขะมักเขม้นในการดูแลบัญชีค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้กับสามี 

อาจเพราะเงินทุนของแฮร์รี่ที่ยังมีไม่มากในตอนนั้น ด้วยทุนที่มีอย่างจำกัดและเขาเพิ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัว แฮร์รี่จึงต้องเปิดร้านขายเบอร์เกอร์ในพื้นที่เพียงแค่ประมาณ 10 ตารางฟุตในบอลด์วินปาร์ก แคลิฟอร์เนีย พื้นที่เพียงแค่ประมาณ 10 ตารางฟุตเท่านั้น หากจินตนาการตามคงนึกไม่ออกว่าพื้นที่เพียงเท่านั้นจะสามารถเปิดร้านอาหารได้ยังไง

การขายเบอร์เกอร์ในร้านที่มีพื้นที่จำกัดขนาดนี้จึงไม่สามารถมีโต๊ะอาหารบริการลูกค้าให้ลูกค้านั่งกินในร้านได้ เพราะด้วยลำพังส่วนหลังบ้าน ส่วนครัว ส่วนเคาน์เตอร์ของร้านก็กินพื้นที่ไปมากแล้ว แฮร์รี่จึงทำได้เพียงแค่ขายเบอร์เกอร์แบบ take away ก็คือลูกค้าต้องขับรถมาที่ร้าน จอดรถ แล้วเดินมาที่ร้านเพื่อซื้อเบอร์เกอร์ 

in-n-out.com

10 ตารางฟุต แห่งความท้าทาย

ด้วยหัวใจความเป็นนักธุรกิจและความเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ หรือถ้าเป็นศัพท์สมัยนี้ เราคงเรียกว่าแฮร์รี่เป็นคนที่มี growth mindset คือเชื่อในการทำงานหนัก ใส่ใจรายละเอียดและไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา ในเมื่อปัญหาที่เขาเผชิญอยู่คือพื้นที่อันจำกัด ทำให้ลูกค้าไม่มีที่นั่งกินในร้าน ไหนลูกค้าจะต้องจอดรถเพื่อเดินลงมาซื้อเบอร์เกอร์อีก มันดูเหมือนกับว่าลูกค้าต้องใช้ความพยายามหลายขยักเพื่อซื้อของของเขาเสียเหลือเกิน

ทีนี้ เขาจะทำยังไงเพื่อให้ลูกค้าสะดวกและสบายกว่านี้ ในพื้นที่ที่ยังมีจำกัดอยู่เพียงแค่ 10 ตารางฟุต

แฮร์รี่ใช้เวลาในตอนเช้าไปจ่ายตลาด ตอนกลางวันทำเบอร์เกอร์ และตอนกลางคืนในโรงรถ สิ่งที่แฮร์รี่ทำในทุกค่ำคืนคือ เขาพยายามที่จะพัฒนาลำโพงให้เป็นลำโพงที่สามารถสื่อสารได้สองทาง พูดง่ายๆ คือลำโพงจะต้องทำหน้าที่ส่งเสียงออกมาได้เมื่อเขาพูด และลำโพงตัวเดิมนั้นเองจะต้องทำหน้าที่เป็นไมโครโฟนส่งเสียงกลับไปหาคนอีกฝั่งได้ด้วย

และแฮร์รี่ก็ทำสำเร็จ!

ใครจะไปคิดว่าชายหนุ่มที่หลงรักการทำเบอร์เกอร์จนเปิดร้านของตัวเอง จะสามารถดัดแปลงอุปกรณ์ในโรงรถให้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ต่อมากลายเป็นสิ่งที่พลิกโฉมหน้าวงการอาหารฟาสต์ฟู้ดและวงการ drive-thru ได้ไปตลอดกาล

in-n-out.com

เปลี่ยนข้อจำกัดให้เป็น drive-thru

สิ่งที่แฮร์รี่คิดค้นในวันนั้นมันอนุญาตให้เขาสามารถติดตั้งเจ้าลำโพงตัวนี้ไว้ที่บริเวณร้าน และปลายสายอีกข้างติดตั้งอยู่ในครัว ลูกค้าไม่จำเป็นที่จะต้องลงจากรถแต่สามารถสั่งเบอร์เกอร์จากคนในครัวได้ทันที ทั้งๆ ที่ยังนั่งอยู่บนรถ ลูกค้าเพียงแค่ลดกระจกลงเพื่อสั่งเบอร์เกอร์ จ่ายเงินและรับเบอร์เกอร์ไปกินอย่างอร่อยได้ ทั้งหมดนี้ลูกค้าไม่แม้แต่กระทั่งต้องดับเครื่องและลงจากรถเลย การขายแบบ drive-thru อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาในโลกยุคนี้แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 74 ปีที่แล้ว นี่คือเทคโนโลยีที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจของแฮร์รี่เลยทีเดียว

เราอาจพูดได้ว่า แฮร์รี่กำลังหาช่องทางเปลี่ยนวิกฤตของร้านเขาที่มีพื้นที่น้อย ไม่มีโต๊ะนั่งกิน ให้กลายเป็นโอกาส คือ ลูกค้าไม่ต้องนั่งกินในร้านก็ได้แต่คุณจะสะดวกสบายเมื่อขับรถมาซื้อเบอร์เกอร์ที่ร้านเรา

ด้วยความพิถีพิถันในการทำเบอร์เกอร์ของแฮร์รี่ที่ใส่ใจในรายละเอียด ด้วยนวัตกรรมลำโพงสื่อสาร 2 ทางที่ทำให้แฮร์รี่สามารถขายแบบ drive-thru ได้ และด้วยยุคนั้นที่สหรัฐอเมริกาเริ่มมีทางหลวงเกิดขึ้นมากมายในประเทศ นั่นหมายความว่า เหล่าอเมริกันชนสามารถเดินทางท่องเที่ยวข้ามเมืองข้ามรัฐกันได้อย่างสะดวกสบาย

ด้วยทุกเหตุที่ว่า ทำให้ผลของมันเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ In-N-Out Burger 

ในยุคนั้นเองที่ธุรกิจ In-N-Out Burger กลายเป็นจุดพักผ่อนและพักรถของเหล่าบรรดาผู้ใช้ถนนและทางหลวง ด้วยเทคโนโลยีลำโพงสื่อสารสองทางและการสร้างช่องทางการซื้อ- ขายแบบ drive-thru ของแฮร์รี่

in-n-out.com

Double-Double ทุกอย่างต้องคิดแบบดับเบิล

แฮร์รี่และเอสเทอร์สามารถขยายธุรกิจ In-N-Out ได้เรื่อยๆ อย่างเนิบช้า อาจเป็นเพราะว่าสองสามีภรรยาพยายามทำให้ In-N-Out Burger เป็นธุรกิจที่บริหารกันเองและจัดการกันเองในครัวเรือนมากที่สุด ตั้งแต่วันแรกๆ หรือแม้ในวันที่สามารถขยายสาขาออกไปได้หลายต่อหลายสาขา ทั้งแฮร์รี่และเอสเทอร์ก็ยังคงตั้งใจและใส่ใจกับคุณภาพของเบอร์เกอร์อยู่เสมอ เพราะพวกเขาถือว่านี่คือหัวใจหลักของธุรกิจ In-N-Out Burger

และเบอร์เกอร์ที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้านที่ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1963 และยังคงขายดีในปัจจุบันทั้งในอเมริกาและทั้งป๊อปอัพสโตร์ที่เปิดที่ไทย คือ Double-Double 

เจ้าเบอร์เกอร์ Double-Double มีลักษณะตามชื่อแบบตรงไปตรงมา คือประกอบไปด้วยเนื้อสองก้อน อเมริกันชีสสองแผ่น ผักกาดแก้ว มะเขือเทศ หอมใหญ่ และซอส ทุกวัตถุดิบถูกจัดหนักจัดเต็มดับเบิลแบบคูณสองสมชื่อ

ถ้าตอนที่แฮร์รี่สร้างลำโพงสื่อสารสองทางในปี 1948 ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่เปิดทางให้ธุรกิจ In-N-Out Burger สามารถเปิดตลาดกับกลุ่มคนที่ขับรถมาซื้อเบอร์เกอร์และเป็นการอำนวยความสะดวกสบายให้กับลูกค้าแล้ว อีก 23 ปี ต่อมา ในขณะที่ In-N-Out เริ่มมีฐานแฟนเบอร์เกอร์มากมาย In-N-Out Burger สามารถขยายสาขาไปได้นับสิบสาขา แถม In-N-Out ได้กลายเป็นแบรนด์เบอร์เกอร์ที่สามารถแย่งชิงพื้นที่ในใจคอเบอร์เกอร์ในฝั่งเวสต์โคสต์ แฮร์รี่เองยังคงไม่หยุดความคิดสร้างสรรค์ของเขา

in-n-out.com

เมื่อเขารู้ดีแก่ใจว่าธุรกิจของเขาเกิดมาจากการขายแบบ drive-thru นั่นหมายความว่าลูกค้าของเขาจำนวนไม่น้อยคือลูกค้าที่ขับรถ ไม่ว่าจะขับมาจากพื้นที่ใกล้ๆ ร้าน In-N-Out Burger หรือลูกค้าที่มาจากต่างเมืองแล้วขับรถมาเที่ยว จึงจอดแวะพักผ่อนที่ In-N-Out Burger เพื่อกินเบอร์เกอร์

แฮร์รี่จึงมีไอเดียว่า มันคงจะดีไม่น้อยถ้ากระดาษที่เสิร์ฟบนถาดรองจะเป็นมากกว่ากระดาษรองถาดเพียงเพื่อกันถาดเลอะ แฮร์รี่จึงตัดสินใจเปลี่ยนลายพิมพ์บนกระดาษรองถาดให้เป็นแผนที่ หมายความว่า หากลูกค้าคนไหนขับรถมาจากต่างเมืองแล้วมองหาแผนที่คุณสามารถหยิบกระดาษรองถาดไปเป็นแผนที่เที่ยวเมืองที่คุณไปอุดหนุน In-N-Out Burger ได้เลย

แฮร์รี่เสียชีวิตในปี 1976 ในขณะที่แฮร์รี่เสียชีวิต In-N-Out Burger สามารถขยายสาขาไปได้ถึง 18 สาขา หลังจากนั้น ริช สไนเดอร์ (Rich Snyder) ลูกชายคนเล็กของเขาก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้สืบทอดกิจการและสามารถขยาย In-N-Out Burger ออกไปได้จนถึง 93 สาขาในปี 1993 แต่ริชก็ต้องมาเสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุทางเครื่องบิน 

ต่อมาทั้งเอสเทอร์และกาย (Guy Snyder) พี่ชายของริช จึงเข้ามาบริหารกิจการแทนและนำพา In-N-Out Burger ขยายสาขาได้ถึง 140 สาขา และมีมูลค่ามากกว่า 200 ล้านดอลลาร์

ต่อมาเมื่อทั้ง 2 เสียชีวิต กิจการทั้งหมดจึงถูกส่งต่อไปยังมาร์ก เทย์เลอร์ (Mark Taylor) ผู้มีศักดิ์เป็นญาติของตระกูลสไนเดอร์ จนกระทั่งปี 2010 ลินซี สไนเดอร์ (Lynsi Snyder) หลานแท้ๆ ของแฮร์รี่จึงมารับหน้าที่ดูแลกิจการทั้งหมดของ In-N-Out Burger ด้วยวัย 27 ปี ในขณะนั้น In-N-Out Burger มีอยู่ทั้งหมด 251 สาขาและมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 550 ล้านดอลลาร์ และลินซียังคงดูแล In-N-Out Burger อยู่จนถึงปัจจุบัน

in-n-out.com

เบอร์เกอร์และเงินเฟ้อ

คำถามสำคัญที่ทุกคนสงสัยเกี่ยวกับ In-N-Out Burger คงหนีไม่พ้นเรื่องราคาขายของเบอร์เกอร์ที่ดูไม่สัมพันธ์กับค่าเงินเฟ้อเอาเสียเลย

ในขณะที่เงินเฟ้อมากขึ้นทุกปี และราคาเบอร์เกอร์จากแบรนด์อื่นปรับตัวสูงขึ้นตามค่าเงินเฟ้อ แต่ In-N-Out Burger กลับปรับราคาขึ้นเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเงินเฟ้อในประเทศ

คำถามสำคัญคือ In-N-Out Burger ยังคงรักษามาร์จินกำไรไว้ได้ยังไง?

Forbes เคยวิเคราะห์คำตอบของคำถามนี้เอาไว้ว่า น่าจะเกิดจากการขายเมนูอันจำกัดของ In-N-Out Burger เมื่อ In-N-Out Burger มีเมนูไม่มาก นั่นหมายความว่าแบรนด์สามารถซื้อวัตถุดิบล็อตใหญ่มากๆ ในราคาต่ำได้ แถม In-N-Out Burger ยังทำการหาวัตถุดิบและดูแลการขนส่งวัตถุดิบไปยังสาขาต่างๆ ด้วยตนเอง ตรงนี้เองที่ค่าใช้จ่ายน่าจะลดลงประมาณ 3-5% ต่อปี ต่อมาคือเรื่องสถานที่ที่ In-N-Out Burger ไปตั้งร้านอยู่ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่ที่ In-N-Out Burger เป็นเจ้าของเอง ตรงนี้ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายรายปีไปได้อีกประมาณ 6-10% ต่อปี

ทั้งหลายทั้งมวลที่เกิดจากการวิเคราะห์คงไม่สู้การได้ฟังปากคำจากปากของคนที่นั่งแท่นบริหารสูงสุดของ In-N-Out Burger ว่าเธอมีมุมมองยังไงในการนำพา In-N-Out Burger ให้เดินไปข้างหน้าในสมรภูมิธุรกิจฟาสต์ฟู้ด

“ฉันคิดว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับการคิดโปรดักต์ใหม่ๆ นะ…เราทำเบอร์เกอร์แบบเดิม สูตรเดิม เฟรนช์ฟรายส์ก็สูตรเดิม…แต่เราดูแลทุกอย่างแบบละเอียดยิบ และเรามีกลยุทธ์ เราไม่ประนีประนอมในเรื่องนี้”

ลินซี สไนเดอร์ หลานสาวแท้ๆ ของแฮร์รี่ผู้สืบทอดเจตนาของคุณปู่ให้สัมภาษณ์กับ Forbes ถึงการบริหารบริษัทมูลค่า 30,000 ล้านในยุคที่การแข่งขันธุรกิจอาหารช่างเข้มข้น

In-N-Out คือหนึ่งในชาวฮอลลีวูด

นอกจากการเป็นแบรนด์เบอร์เกอร์ขวัญใจชาวเวสต์โคสต์แล้ว In-N-Out Burger ยังอาจถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของแคลิฟอร์เนีย จนหลายต่อหลายปีที่ In-N-Out Burger ได้ถูกนำไปเสิร์ฟให้กับเหล่าคนดัง ดารา ทีมงานที่ได้เข้าขิงรางวัลออสการ์และเข้าร่วมงานประกาศผล

เช่นในปี 2014 Vanity Fair บันทึกสถิติไว้เลยว่ามีการเสิร์ฟ In-N-Out Burger ถึง 1,424 ชิ้นในงานปาร์ตี้หลังประกาศผลรางวัลออสการ์ หรือจะในปี 2022 ที่ In-N-Out Burger ยังคงได้รับเชิญให้ไปเสิร์ฟเบอร์เกอร์ในงานปาร์ตี้หลังประกาศรางวัลจนนักแสดงชื่อดังชาวออสเตรเลีย Rebel Wilson ถึงกับเอ่ยปากว่า

“ฉันว่างานปีนี้ที่น่าสนใจนี่เพราะว่ามี In-N-Out Burger มาเสิร์ฟในงานเลยนะ…ฉันรัก In-N-Out เพราะมันช่างแคลิฟอร์เนีย และมันช่างฮอลลีวูดเอาเสียเหลือเกิน”

นอกจากจะเป็นแบรนด์เบอร์เกอร์ขวัญใจชาวเวสต์โคสต์ของอเมริกา ดูเหมือนกับว่าวันนี้ In-N-Out Burger ได้กลายเป็นตัวแทนฝั่งอาหารจากรัฐแคลิฟอร์เนีย 

คิดถึงแคลิฟอร์เนีย คิดถึง In-N-Out Burger

ถือเป็นแบรนด์เบอร์เกอร์ที่สร้างทั้งรอยยิ้มและความอิ่มเอมในหัวใจและในกระเพาะของชาวฮอลลีวูด ชาวเวสต์โคสต์ รวมถึงวันนี้ที่ In-N-Out Burger เดินทางมาเสิร์ฟรอยยิ้มไกลถึงใจชาวกรุงเทพฯ 

แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้นก็ตาม

อ้างอิง

Writer

อาจารย์ผู้สอนวิชา Introduction to World Cuisine ในมหาวิทยาลัย หญิงสาวผู้หลงรักอาหาร และโฮสต์รายการพอดแคสต์ชื่อ 'Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว'

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม ที่ชอบกินกาแฟดำเป็นชีวิตจิตใจ

You Might Also Like