2058
February 14, 2023

Passion in Food

คุยกับคู่รักผู้บริหารบาร์บีคิวพลาซ่า ถึงวิธีทำให้ความสัมพันธ์และธุรกิจเติบโตไปด้วยกันได้

บ่อยครั้งที่เราเห็น เป้–ชาตยา สุพรรณพงศ์ CEO และทายาทของ ‘ฟู้ดแพชชั่น’ บริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า, เรดซัน และ ฌานา ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าด้วยแนวคิดหรือกลยุทธ์ในการทำธุรกิจร้านอาหาร 

ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะเห็น ด๋อน–เรืองชาย สุพรรณพงศ์ COO หรือ Chief Operating Officer ของฟู้ดแพชชั่น ผู้เป็นเบื้องหลังคนสำคัญที่ทำหน้าที่วางระบบภายในบริษัทและในร้านอาหารมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ

และน้อยครั้งนักที่เราจะเห็นทั้งสองให้สัมภาษณ์พร้อมๆ กัน 

การสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นหนึ่งในนั้น

โดยชุดคำถามที่เราเตรียมมาพูดคุยกับทั้งสองในครั้งนี้ไม่ใช่ข้อสงสัยที่ว่าปีนี้บาร์บีคิวพลาซ่าจะเดินหน้าไปทางไหน มีสูตรการทำร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จยังไง แต่จะมุ่งเน้นไปยังสูตรการทำงานกับคนรักที่ทำให้ธุรกิจและความสัมพันธ์ ‘เดินหน้าไปพร้อมกันได้’ 

จากเพื่อนที่อยู่กลุ่มเดียวกันมาตั้งแต่สมัย ม.4 ค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์กลายมาเป็นคนรัก แต่งงานกัน จนกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงาน และกลายมาเป็นสองคนสำคัญที่ช่วยทรานส์ฟอร์มให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ได้

น่าสนใจยิ่งว่าพวกเขาทำได้ยังไง 

สำหรับเป้เรารู้กันเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่าเธอคือทายาทของบาร์บีคิวพลาซ่าจึงได้มาสานต่อธุรกิจของที่บ้าน ส่วนด๋อนแม้จะเรียนตรีและโทมาทางด้านวิศวะ เมื่อเรียนจบมาก็เลือกที่จะมาช่วยทำธุรกิจที่บ้านซึ่งเป็นอาหารแปรรูปที่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า‘ออริเชฟ’ ซึ่งเกิดมาจาก pain point สมัยที่เรียนอยู่ต่างประเทศแล้วเจอกับปัญหาที่ว่าการจะทำอาหารไทยแต่ละมื้อนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะต้องมานั่งหาส่วนผสมที่เป็นเครื่องแกงมากมาย เลยเกิดไอเดียในการทำเครื่องแกงบรรจุซองอย่างพะแนง แกงเขียวหวาน ต้มยำ แกงส้ม หรือมัสมั่น ที่สามารถฉีกซองแล้วเอามาปรุงได้ทันที โดยเป็นสินค้าที่เน้นส่งออกไปขายต่างประเทศเป็นหลัก 

หลังทำธุรกิจส่วนตัวได้ 10 ปีก็แต่งงานกับเป้ และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พาร์ตเนอร์ในชีวิต พัฒนาความสัมพันธ์ จนได้พ่วงตำแหน่งมาเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจอย่างในปัจจุบัน 

ตอนแรกคุณด๋อนก็มีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว ทำไมถึงตัดสินใจมาทำงานที่บาร์บีคิวพลาซ่า

ด๋อน : มันเริ่มมาจากตอนที่เราแต่งงานแล้ว แต่บ้านยังสร้างไม่เสร็จ ก็เลยต้องอยู่บ้านเราบ้างบ้านเป้บ้าง ซึ่งที่บ้านเป้ทั้งพ่อแม่และน้องของเขาทำงานด้วยกันอยู่แล้ว เวลากินมื้อเย็นมันก็จะมีความกึ่งๆ คุยงานกัน จากข้าวมื้อเย็นก็ลากไปถึงห้าทุ่มเที่ยงคืนกันอยู่บ่อยๆ แล้วเราเพิ่งแต่งงานมา จะให้กินข้าวเสร็จแล้วขึ้นไปดูทีวีบนห้องเลยก็คงไม่ใช่ (หัวเราะ) เลยนั่งฟังเขาคุยกัน แล้วจากนั่งอย่างเดียวหลังๆ ก็เลยเริ่มให้ความเห็นมากขึ้น ก็เป็นอย่างนี้อยู่ 3 ปี นั่งฟังจนเรารู้จักชื่อพนักงานแทบจะทุกคนแล้ว

เป้ : ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่เราตัดสินใจจะทรานส์ฟอร์มให้ธุรกิจดีขึ้น มันก็เลยมีการคุยกันเยอะมาก แล้วการทรานส์ฟอร์มธุรกิจเราทำคนเดียวไม่ได้ อย่างเป้นี่เป็นคนสายอาร์ตสุดขีด ทำงานเอเจนซีมาก่อน ก็เลยชวนน้องสาวที่เป็นสายไฟแนนซ์กับน้องชายที่จบทางด้าน Food Science มาทำด้วยกัน จากนั้นก็มาชวนด๋อนเพราะเขาเป็นคนมีความสามารถด้านวิศวะ และมาเติมเต็มสิ่งที่เรามองหาได้พอดี

โชคดีว่าตอนนั้นพี่สาวของด๋อนที่ทำงานอยู่ในบริษัทตัดสินใจจะลาออกแล้วจะกลับมาทำออริเชฟกับด๋อน พอด๋อนเห็นว่ามีคนมาช่วยดูแลธุรกิจเขาก็เลยมาทำงานกับเราได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดี เพราะถ้าวันนั้นไม่มีพี่สาวมาดูต่อ เขาก็คงอาจจะยังไม่มาทำกับเรา

เมื่อต้องมาทำงานด้วยกัน คุณกลัวว่ามันจะกระทบต่อความสัมพันธ์ไหม

เป้ : อาจจะเพราะด้วยความที่เป็นเพื่อนกันมาก่อน สนิทกันมาก นิสัยก็เหมือนกันมาก เพื่อนก็กลุ่มเดียวกัน เลยไม่ได้กังวลเรื่องนี้ แล้ววันนั้นเราก็มองแต่เป้าหมายในการทรานส์ฟอร์มองค์กร ก็รู้สึกว่าถ้ามีคนที่มีความสามารถแถมเป็นคนที่เราไว้ใจได้มาทำงานด้วยกัน ก็คงจะสนุกดี

ด๋อน : คือปกติเราไม่เคยทะเลาะกัน อาจเพราะคิดค่อนข้างเหมือนกัน 80% มี value ในชีวิตคล้ายกัน ตัดสินใจก็ไม่หนีกันมาก แล้วเราเหมือนได้ซ้อมทำงานกับเขามา 3 ปี บนโต๊ะอาหารที่บ้านเขานั่นแหละ เวลาเราแชร์ไอเดีย ที่บ้านเขาก็รับฟัง บางอันเอาไปใช้จริงด้วย เลยคิดว่าการมาทำงานกับเขาก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร 

แล้วแบ่งหน้าที่กันยังไง

เป้ : ตอนเข้ามาแรกๆ ตำแหน่งของพวกเราคือ Assistant Managing Director เป็นเหมือนผู้ช่วยคุณพ่อ ไม่ได้มีการแบ่งฝ่าย แต่มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานตามความถนัดของแต่ละคน น้องสาวดูไฟแนนซ์ น้องชายดู Food Science เป้ดูโอเปอเรชั่น ส่วนด๋อนก็จะดูเรื่องไอทีและโรงงาน 

จนพอปรับโครงสร้างองค์กรเป้ก็เป็น CEO ดูภาพรวม ส่วนด๋อนก็มาเป็น COO ดูเรื่อง IT, Standard ต่างๆ และสาขาหน้าร้าน

จากที่ซ้อมบนโต๊ะกินข้าว มา 3 ปี พอถึงวันทำงานจริงเป็นยังไง

ด๋อน : รู้สึกเซอร์ไพรส์ว่าทุกเรื่องที่อยู่บนโต๊ะอาหารกลายเป็นเรื่องใหญ่หมดเลย เพราะที่ผ่านมาเราอยู่กับธุรกิจ SME ที่ทำงานอยู่กับคนไม่กี่สิบคน จะทำอะไรก็ตัดสินใจได้เลย แต่กับที่นี่แม้แต่ทิชชู่ ตะเกียบ ช้อน ทุกอย่างเป็นเรื่องใหญ่ แต่ละเรื่องใช้เวลาตัดสินใจนานมาก คุยนานมาก เทสต์ก็นานมาก 

จนได้เข้าใจว่าเพราะนี่คือธุรกิจที่มีลูกค้าเป็นแสนๆ คน มีพนักงานอีกหลายพันคน การจะตัดสินใจทำอะไรแต่ละทีมันเลยต้องคิดเยอะในทุกรายละเอียด เพราะนี่คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้คนเยอะมาก 

อีกเรื่องที่รู้สึกเซอร์ไพรส์คือทำไมพนักงานที่นี่เขารักองค์กรขนาดนี้ พี่ๆ ที่อยู่มาตั้งแต่วันแรก ผ่านไป 20 ปีเขาก็ยังอยู่ แล้วไม่ใช่อยู่แค่คนสองคน แต่เป็นร้อยๆ คน 

ส่วนในเรื่องของเนื้องานไม่ต้องเรียนรู้มาก เราสามารถทำงานได้เลยแบบไม่ต้องเล่าแบ็กกราวนด์ เวลาเข้าประชุมก็จะไม่ได้มีว่าอ๋อ เขาทำแบบนี้กันด้วยเหรอครับ เพราะเราซ้อมทำงานบนโต๊ะกินข้าวที่บ้านมา 3 ปีแล้ว

เป้ : เหมือนเขามานั่งแอบอยู่ในห้องประชุมนานแล้ว (หัวเราะ)

งานแรกที่ทำด้วยกันคืออะไร 

ด๋อน : เป็นงานวางระบบที่เรียกว่า PMS (Performance Management System) เอาไว้ใช้วัดผลงานในการทำงาน คือเมื่อก่อนระบบวัดผลงานมันไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนัก เป็นเหมือนการให้คะแนนจิตพิสัยคล้ายครูให้คะแนนนักเรียน เราก็เลยเอาระบบเข้ามาช่วยทำให้การประเมินผลงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยิ่งทำได้ดีก็จะยิ่งมีรางวัลให้

เป้ : เราทำงานที่บาร์บีคิวพลาซ่ามาก่อนด๋อน 5 ปี ตลอดเวลานั้นก็เริ่มเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่างในองค์กรให้ซึ่งส่วนใหญ่จะทำด้วยตัวเอง แต่พอมีน้องๆ กับด๋อนเข้ามาช่วย การเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ มันก็เลยทำได้สนุกขึ้น มีคนมาช่วยแชร์ช่วยเบานซ์ไอเดียกัน พอคนอื่นเห็นว่าสองสามคนนี้ทำอะไรกัน ดูแล้วน่าสนุกจัง มันก็ยิ่งเป็นการสร้างอิมแพกต์เชิงบวกไปยังคนอื่นๆ ในวงกว้างมากขึ้น 

เบานซ์ไอเดียกันบ่อยไหม

เป้ : ตลอดเวลา ทั้งที่ทำงาน ที่บ้าน หรือตอนอยู่ในรถ พอเป็นเพื่อนกันมาก่อน คิดอะไรคล้ายๆ กัน มันเลยสนุกเวลาเราได้แชร์ไอเดียกับเขา หรือตอนที่เขาไม่เห็นด้วยกับไอเดียของเราก็ยิ่งสนุกไปใหญ่เพราะมันจะมีการ disscuss กันแล้วทำไอเดียเดิมที่เราคิดมาดียิ่งขึ้นไปอีก 

ด๋อน : ที่บ้านเราจะมีกระดานอยู่ ถ้าคิดอะไรได้ขึ้นมา ก็จะบอกเป้ว่าเรามีไอเดียแบบนี้ มาที่หน้ากระดานแป๊บนึง ก็แชร์ไอเดียกันบนกระดาน เติมอันนู้นเพิ่มอันนี้ คุยเสร็จแล้วก็ถ่ายรูปเก็บไว้ ถ้ามันเวิร์กก็เอาไอเดียไปขายกับคนอื่นต่อ ซึ่งการได้เบานซ์ไอเดียกับเป้ก็เป็นเรื่องที่ดี นอกจากสนุกแล้ว บางเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นไอเดียที่ต้องใช้งบในการทำเยอะ แล้วต้องเข้าบอร์ดบริหาร เป้เขาก็จะเป็นเหมือนคนช่วยกลั่นกรองก่อนเอาเรื่องเข้าบอร์ดอีกทีนึง 

พอเบานซ์ไอเดียเรื่องงานกันตลอด แล้วทำยังไงไม่ให้เรื่องงานมากระทบกับเวลาส่วนตัว 

ด๋อน : กับที่บ้านแรกๆ เรามีปัญหาแบ่งเวลาไม่ได้เหมือนกันนะ คือคุยงานกันที่บ้านเยอะเกินไป จนหน้าตาน้องดูไม่แฮปปี้เท่าไหร่ ถามว่าเป็นอะไรเขาบอกว่ามันเครียด ทุกอย่างมันดูปนกันไปหมด พอเป็นแบบนี้เราก็เลยรีบเปลี่ยนกันใหม่ ไม่มีแล้วที่มานั่งกินข้าวเย็นแล้วคุยเรื่องงานจนลากไปเที่ยงคืน  

เป้ : ถ้ามีเรื่องอะไรต้องคุยหรือมีไอเดียอะไรป๊อปขึ้นมาจริงๆ เรากับที่บ้านก็จะบอกว่า โอเคงั้นเดี๋ยวจะนัดคุยเรื่องนี้กันแบบจริงๆ จังๆ นะ คุยตอนนี้ไปยังไงก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะรายละเอียดมันเยอะ ถึงจะคุยบนโต๊ะกินข้าวที่บ้านเหมือนกัน แต่จะมีการยิงนัดเหมือนเวลานัดประชุม เตรียมข้อมูลมาคุยกัน ที่สำคัญคือมีเวลาที่ชัดเจนว่าจะคุยกันกี่ชั่วโมง ไม่คุยไหลไปเรื่อยๆ 

ด๋อน : อีกอย่างคือสวมหมวกให้ถูกต้อง เมื่อก่อนเราก็แยกหมวกไม่เป็นนะ เรื่องงานเรื่องส่วนตัวปนกันมั่วไปหมด เราอยากคอมเมนต์งานน้องแต่ก็ไม่รู้จะทำดีไหมเพราะกลัวน้องเสียใจ ดังนั้นเราเองก็เลยต้องค่อยๆ ฝึกสวมหมวกให้ถูก วิธีการสวมหมวกของเราคือถ้าจะคอมเมนต์งาน เราก็จะบอกเขาเลยว่าอันนี้เราขอคุยในฐานะแมเนจเมนต์นะ ถ้าคุณคือทีมเดียวกับเรา เราต้องการสิ่งนี้จากคุณ แบบนี้เราเลยสามารถพูดได้ตรงๆ โดยที่น้องไม่เสียใจ แต่ในหมวกพี่น้องเราก็ยังรักกันอยู่เหมือนเดิม 

อันนั้นคือกับที่บ้าน แต่ถ้าส่วนตัวเรากับเป้ไม่มีปัญหาเรื่องนี้เลย เราสองคนเซียนเรื่องนี้กันมาก สามารถคุยงานกันได้ตลอด ไม่ต้องนัดเวลา ทริคส่วนตัวของเราสองคนมีแค่เคารพซึ่งกัน

เป้ : และอย่าใช้ความใกล้ชิดมองข้ามกันไป

ยังไง

เป้ : พอคนเราใกล้กันมากๆ ก็จะมีความเกรงใจให้กันน้อยกว่าเมื่อเทียบกับความเกรงใจที่มีให้คนอื่น

จริงๆ ไม่ใช่แค่กับคนรัก แต่หมายรวมไปถึงการทำงานกับคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน ถ้าเราไม่อยากทำให้คนอื่นเสียหน้าในที่ประชุม เราก็ไม่ควรทำให้คนที่เรารักต้องเสียหน้าด้วยเช่นกัน 

ด๋อน : อย่างเวลาเป้คอมเมนต์งานเรา เขาก็จะบอกว่า “เราไม่รู้ว่าด๋อนทำไปหรือยังนะ แต่มาเตือนไว้เผื่อด๋อนลืม” แต่จะไม่มีการมาแทรกแซงหรือก้าวก่ายในขอบเขตความรับผิดชอบของเรา 

ในวันที่คิดไม่เหมือนกัน ทำยังไง

 เป้ : เราก็จะฟังเขาอธิบายว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ แล้วก็ค่อยอธิบายความเห็นในมุมมองของเราไป 

ด๋อน : มันขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นมีอำนาจตัดสินใจตรงไหนด้วย เรารับฟังแต่ไม่จำเป็นต้องทำตามทั้งหมดก็ได้ อาจจะทำตามมากหน่อยน้อยหน่อยก็แล้วแต่เรื่องไป 

ทำยังไงให้ความใกล้ชิดส่วนตัวไม่ไปข้ามเส้นการทำงานของอีกฝ่าย

เป้ : มันคือการให้เกียรติและเคารพอีกฝ่าย เพราะแต่ละคนก็มีหน้าที่ของตัวเองที่ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่กับคู่รัก แต่การให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกันมันคือพื้นฐานที่เราควรมีในทุกความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง คนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานก็ตาม 

แล้วเราว่าพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีก็มาจากการที่เรามีทรัสต์ต่ออีกฝ่าย เชื่อมั่นในความสามารถว่าเขาจะทำงานออกมาได้ดี ถ้ามีทรัสต์ต่อกันแล้วเราว่าพวกวิธีการพูดที่สื่อออกไปมันแทบไม่ต้องแต่งเติมหรือพยายามอะไรมากเลย 

มนุษย์คนนึงมีการทำผิดและถูกอยู่เสมอ ไม่มีใครที่ทำให้เราถูกใจได้ตลอดเวลา ในวันที่คนคนนั้นทำผิด เราก็จะรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วเขาจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะความเชื่อใจที่เรามีต่อเขา แต่ถ้าเขาทำดี มันก็จะยิ่งเป็นอะไรที่ดีขึ้นไปอีก

การได้ทำงานกับคนในครอบครัวก็ถือเป็นโชคดีอย่างหนึ่ง เพราะเรารู้จักกันมานาน หยอดกระปุกของความเชื่อใจกันมาเยอะกว่าคนอื่น วันนึงหากมีอะไรกระทบกระทั่งกันก็ถอนความรู้สึกออกไป แต่ก็ไม่หมดกระปุกหรอก เพราะเราหยอดกระปุกนี้มาเป็นสิบๆ ปีแล้ว 

ด้วยความที่คุณทำงานกับคนในครอบครัวมาโดยตลอด เลยอยากรู้ว่าการเลือกคนเข้าทำงานของคุณนั้นดูเรื่องความใกล้ชิดสนิทสนม หรือความสามารถก่อนกัน

เป้ : ดูความสามารถก่อน แต่โชคดีว่าตอนที่เรากำลังจะทรานส์ฟอร์มธุรกิจน้องสาวก็เก่งไฟแนนซ์ น้องชายก็เก่ง Food Science ส่วนด๋อนก็เก่งด้านวิศวะ ซึ่งทั้ง 3 เป็นทักษะที่เราอยากได้มาช่วยองค์กรพอดี เมื่อความสามารถตรงตามที่ต้องการ แถมเป็นคนที่เรารู้จักนิสัย เข้ากับคัลเจอร์ขององค์กรได้ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ 

กลับกันถ้าด๋อนไม่ได้รู้เรื่องวิศวะ จบผู้กำกับหนังมา แล้วบริษัทยังไม่ได้มีที่ให้สำหรับโปรดิวเซอร์ เราก็คงจะไม่ชวนด๋อนมาทำงาน อาจจะเป็นการขอคำแนะนำแทนถ้าหากวันนึงบริษัทต้องการทำหนังโฆษณา 

สรุปก็คือในฐานะ CEO การจะชวนใครเข้ามาทำงานเราจะดูเรื่องของคุณสมบัติก่อน แล้วหากคนที่มีคุณสมบัติเป็นคนที่เรารู้จักและไว้ใจอยู่แล้วด้วย นั่นถือเป็นกำไร 

ตั้งแต่ทำงานด้วยกันมา งานไหนเป็นงานที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด

เป้ : คืองานทรานส์ฟอร์มองค์กร ถ้าไม่มีด๋อนกับน้องๆ เราคงไม่สามารถทรานส์ฟอร์มธุรกิจในตอนนั้นได้ (เสียงสั่นเครือ) เราภูมิใจมากที่บาร์บีคิวพลาซ่าเดินทางมาได้จนถึงทุกวันนี้ แล้วมันเป็นงานที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรอีกหลายๆ อย่างมากมาย  

ด๋อน : ของเราก็งานเดียวกับเป้เลย ตอนนั้นมันเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อมาก มานั่งย้อนคิดตอนนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนั้นทำไปได้ยังไง มันเหมือนเราเอาก้อนหินเป็นล้านก้อนมาช่วยเรียงต่อกัน ไม่รู้ด้วยซ้ำนะว่าปลายทางรูปร่างมันจะออกมาเป็นแบบไหน แต่สุดท้ายมันก็ออกมาเป็นอนุสาวรีย์อันนึง

ความรู้สึกที่ได้ทำงานด้วยกันเป็นยังไง

ด๋อน : สนุกมาก มันระเบิด อันนี้พูดแบบจริงๆ ไม่เสแสร้งเลย

เป้ : สนุกมากจริงๆ รู้สึกโชคดีมากที่ได้ทำงานกับด๋อน เพราะมีคนคอยรับฟังไอเดียเรา ทำให้เราไม่ต้องคิดวนอยู่คนเดียว แล้วเวลาเสนอไอเดียไปเขาไม่เคยตัดสินว่าไอเดียเราไม่ดี มีแต่จะช่วยต่อยอดให้สิ่งที่เราคิดมันดีขึ้นไปอีก 

ในฐานะ business partner ที่ทำงานร่วมกันมาเป็นสิบปี ใครเป็นผู้นำ ใครเป็นผู้ตาม

เป้ : สลับกันไปแล้วแต่บทบาท บางเรื่องด๋อนนำ บ้างเรื่องเราเป็นคนนำ 

ด๋อน : สุดท้ายเราก็เดินไปพร้อมกัน

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

You Might Also Like