What’s next in e-Commerce

สินค้าจีนมาแรงเกินต้าน ปี 2024 ถึงเวลาคนไทยปรับตัวกับ 3 เทรนด์สำคัญในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

เคยนับไหมว่าใน 1 เดือน คุณใช้บริการเดลิเวอรี หรือซื้อสินค้าออนไลน์กี่ครั้ง เราเชื่อว่าหลายคนอาจไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ส่วนหนึ่งต้องบอกว่ามาจากพฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป เริ่มคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น รวมถึงเหล่าพ่อค้าแม่ค้า และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซพัฒนาเพื่อเข้าสู่การค้าออนไลน์อย่างเต็มตัว

อย่างที่รู้กันว่าเวลานี้การช้อปปิ้งออนไลน์ได้กลายเป็นกิจวัตรปกติสำหรับทุกคนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ ของถูกหรือของแพง ทุกอย่างสามารถสั่งได้จากออนไลน์ เราจึงได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาแนวทางหรือเป็นคู่มือสำหรับผู้ประกอบการไทยในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ว่าจะทำยังไงให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน และเอาชนะคู่แข่งจากจีนที่หลั่งไหลเข้ามามากมาย

ในช่วงเริ่มต้นปี 2024 เราจึงชวน ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย และ CEO & Co-founder บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด มารีแคปและคาดการณ์เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่จะเกิดขึ้น โดยได้สรุปออกมาเป็น 3 เทรนด์ที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อคนทำธุรกิจ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการช่องทางออนไลน์และออฟไลน์แบบบูรณาการ การทำธุรกิจข้ามพรมแดน หรือแม้กระทั่งการทำคอนเทนต์ให้ไร้รอยต่อและเข้าถึงทุกแพลตฟอร์ม

ธุรกิจที่มีหน้าร้านกลับมาผงาดอีกครั้ง

ในปีที่ผ่านมา แม้ไม่ใช่คนช่างสังเกตเราย่อมเห็นว่าผู้คนกล้าออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น มีงานอีเวนต์นอกสถานที่จำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นปีที่แทบจะกลับไปเหมือนช่วงก่อนมีโควิด ทำให้ยอดขายธุรกิจค้าปลีกฝั่งหน้าร้านกลับมาเติบโตอีกครั้ง

“ปี 2023 เป็นปีที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซบ้านเรายังโตอยู่ โดยเฉพาะบทบาทของธุรกิจค้าปลีกหรือหน้าร้านแบบดั้งเดิมที่กลับมาเติบโตอย่างชัดเจน ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีช่องทางออนไลน์เพื่อรองรับความต้องการลูกค้า แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่โหมดปกติ การมีหน้าร้านแบบออฟไลน์จึงกลายเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง ทำให้ในปี 2023 ช่องทางการขายฝั่งออนไลน์ และออฟไลน์อยู่ในจุดที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน” ธนาวัฒน์ฉายภาพธุรกิจอีคอมเมิร์ซบ้านเราในปีที่ผ่านมา

สำหรับมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2023 ธนาวัฒน์มองว่า เติบโตประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 8 แสนล้านบาท สำหรับปี 2024 คาดว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยยังโตอยู่ และอาจไปที่ 9 แสนล้านบาท เป็นผลสืบเนื่องจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และวิถีชีวิตของผู้คนที่เริ่มใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ 

War of e-Marketplace

หลังจาก JD Central ประกาศยุติการให้บริการในไทยในช่วงต้นปี หลายคนอาจมองว่าผู้เล่นรายใหญ่จะเหลือเพียง Shopee และ Lazada เท่านั้น จริงๆ แล้วยังมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่มาแรงสุดๆ อย่าง TikTok ที่เข้ามาสร้างความดุเดือดให้การแข่งขันในสงครามนี้

ธนาวัฒน์บอกว่า ปี 2023 เป็นปีที่ตลาดอีคอมเมิร์ซกลับมาแข่งขันอย่างดุเดือดมากขึ้นเทียบกับปีที่แล้ว และเป็นปีที่ Shopee และ Lazada เริ่มทำกำไรหลังจากที่ขาดทุนมาหลายปี

“ผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาสร้างสีสันให้ตลาดอีคอมเมิร์ซคือ TikTok เป็นการกระตุ้นให้ผู้เล่นรายเดิมต้องงัดกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้ เช่น Shopee ต้องกลับมาใช้กลยุทธ์เรื่องโปรโมชั่นและส่วนลดมากขึ้น จากเดิมที่พยายามจะไม่เผาเงิน ก็ต้องใช้วิธีนี้เพื่อดึงดูดผู้บริโภค ซึ่งการมาของ TikTok ถือว่ารุกหนักพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการส่งฟรี ที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าผ่าน TikTok Shop เป็นครั้งแรก”

ในมุมของผู้บริโภคที่มีงบในการใช้จ่ายเท่าเดิม ความท้าทายของแพลตฟอร์ม e-Marketplace จึงอยู่ที่ว่า ใครจะแย่งเงินในกระเป๋าผู้บริโภคที่มีอย่างจำกัดได้มากกว่ากัน

“ด้วยสภาพเศรษฐกิจและหนี้สินครัวเรือน ทำให้เวลานี้ผู้บริโภคมีงบเท่าเดิม การจะใช้เงินแต่ละบาทก็ต้องคิดมากขึ้น และมองหาความคุ้มค่าที่สุด ทำให้แพลตฟอร์ม e-Marketplace ต้องใช้กลยุทธ์ digital transformation ในการทำตลาด ที่เห็นได้ชัดคือ ส่วนลด และส่งฟรี ซึ่งในช่วงแรกของการทำตลาด TikTok ก็ใช้วิธีนี้ และเชื่อว่าออร์เดอร์แรกของหลายๆ คนที่ซื้อของผ่าน TikTok คือ ทิชชู่เปียกราคาห่อละไม่ถึง 10 บาทเป็นออร์เดอร์เปิดใจ เพราะได้ทั้งของถูกและส่งฟรี ทำให้แพลตฟอร์มอื่นๆ ต้องออกโปรโมชั่นมาแข่งขันให้ได้” 

เมื่อ TikTok ชูจุดเด่นเรื่องค่าส่งหรือโปรโมชั่นแล้ว แพลตฟอร์มที่เหลือมีจุดเด่นอะไรที่จะสร้างความได้เปรียบให้ตนเอง

“ผมมองว่า Shopee ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แต่ยังมี Shopee Food เพราะฉะนั้นเขาก็แข่งกับ Grab, Robinhood และ LINE MAN ด้วย เพราะ Shopee มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว การเพิ่มอีกหนึ่งบริการจึงไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนเรื่องการขายของในแพลตฟอร์ม Shopee จะเน้นสินค้าในตลาดแมส มีสินค้าจากผู้ขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะคล้ายกับ Taobao ของจีนที่มีสินค้าราคาไม่สูงเป็นล้านๆ ชิ้น ในขณะเดียวกัน Lazada ใช้กลยุทธ์ที่ต่างไป เน้นการสร้างความน่าเชื่อถือ ร้านค้าส่วนใหญ่จะเป็นร้านออฟฟิเชียลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าว่าสินค้าที่ซื้อไปจะเป็นของจริงแท้แน่นอน”

จะถูก จะแพง ก็ช้อปออนไลน์ไว้ก่อน

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยอาจไม่โตไปมากกว่าเดิม แต่ถ้าดูในมุมของเวลาที่อยู่กับโลกออนไลน์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน ลดลงจากปีก่อนหน้า (2022) เล็กน้อยที่เฉลี่ยประมาณ 9 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากตอนนี้ผู้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตและมีสังคมนอกบ้านมากขึ้น

แต่กับอีคอมเมิร์ซสำหรับคนไทยถือว่ายังเติบโตอยู่ เพราะคนไทยคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์แล้ว ที่น่าสนใจคือ คนไทยช้อปออนไลน์บ่อยขึ้น และมูลค่าการซื้อของออนไลน์ก็แพงขึ้น จากเดิมที่ซื้อแค่ของกินของใช้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือของแต่งบ้านที่ราคาไม่สูง ตอนนี้คนไทยสามารถซื้อของที่มีมูลค่าสูงอย่างทองคำ เพชร หรือแม้แต่แบรนด์ Cartier ที่ราคาหลักแสนบาทก็ซื้อผ่านออนไลน์ได้ สะท้อนให้เห็นว่าจริงๆ แล้วกลุ่ม Upper หรือคนมีกำลังซื้อกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพียงแต่คนกลุ่มนี้อาจอยู่ต่างจังหวัด หรืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถเดินทางมาหน้าร้านได้ บวกกับการขนส่งในปัจจุบันที่เร็วขึ้น ยิ่งผลักดันให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย 

หรือสินค้าจีนจะครองโลก

การเข้ามาของสินค้าจีนเป็นปัญหาที่หลายคนกังวล ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานานจนทำให้หลายคนบอกว่า สินค้าจีนกำลังกินรวบอีคอมเมิร์ซไทย โดยเฉพาะอาลีบาบาและ Lazada ที่มีคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในไทย นี่จึงกลายเป็นแต้มต่อที่ทำให้สินค้าจีนเข้าสู่ไทยได้เต็มที่   

“สินค้าจีนค่อนข้างน่ากังวล และน่ากังวลขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าก่อนหน้านี้สินค้าที่คนไทยจับจ่ายกันอยู่ล้วนเป็นสินค้าที่นำเข้าจากจีน หรือถ้าดูไลฟ์ใน TikTok ตอนนี้ก็จะเห็นคนจีนไลฟ์ขายของโดยพูดภาษาไทย ไม่ต้องพูดชัดเหมือนคนไทยก็ขายของได้

“มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการไลฟ์ของจีนคือ ปัจจุบันใน TikTok จะมีการไลฟ์ขายของประมาณ 9 แสนครั้งต่อเดือน ในจำนวนนี้ 60% เป็นคนจีนที่ไลฟ์ขายให้คนไทย ส่วนอีก 40% เป็นคนไทยที่ไลฟ์ขายของในไทย แสดงให้เห็นว่าจีนมีศักยภาพในการไลฟ์ขายของ และเขามองเห็นช่องทางการเปิดตลาดใหม่อยู่ตลอด ซึ่งตอนนี้คนจีนไม่ได้แค่ผลิตสินค้าแล้วขายให้คนไทย แต่เขายังร่วมงานกันคนไทย เป็นพาร์ตเนอร์กันในการนำสินค้าจีนมาขาย โดยจะแบ่งค่าคอมมิชชั่นให้”

จากโมเดลธุรกิจดังกล่าว สะท้อนหลักคิดในการทำธุรกิจของคนจีนได้ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อต้องการเจาะตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะทำธุรกิจใดก็ตาม มักจะไม่ลุยเดี่ยวหรือเริ่มต้นคนเดียว แต่จะหาคู่ค้าหรือพาร์ตเนอร์เข้ามาสนับสนุนให้ธุรกิจเดินหน้าได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้น

จึงนำมาสู่เทรนด์อีคอมเมิร์ซ 2024 ที่น่าจับตาดังต่อไปนี้

1. Cross Border e-Commerce ค้าขายไร้พรมแดน

จีนเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าออนไลน์มากกว่า 800 ล้านคน และมูลค่าการซื้อ-ขายผ่านอีคอมเมิร์ซราว 40 ล้านหยวน ดังนั้นการเจาะตลาดจีนผ่านช่องทางออนไลน์จึงทำให้จีนเป็นตลาดที่หอมหวานอย่างยิ่ง

ทางจีนเองก็มีนโยบายที่สนับสนุนผู้ประกอบการจากทั่วโลกให้นำสินค้าไปขายในจีนได้ง่ายขึ้นคือ Cross Border e-Commerce (CBEC) หรือการค้าอีคอมเมิร์ซไร้พรมแดน สำหรับในประเทศไทยแม้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะโตแต่ส่วนใหญ่เป็นการซื้อ-ขายในประเทศเป็นหลัก ในรูปแบบ B2B และ B2G ขณะที่ CBEC ในรูปแบบ B2C ยังมีไม่มากนัก นี่จึงเป็นช่องว่างที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้สินค้าจีนหลายแบรนด์ก็มีร้านค้าทางการบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของไทย เป็นการขายตรงจากผู้ผลิตไม่ผ่านพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง แน่นอนว่าผู้ซื้อย่อมได้ของราคาถูก แต่ในขณะเดียวกันผู้ค้ารายย่อยในไทยก็จะสูญเสียรายได้ไปด้วย

“ประเทศจีนมีเส้นทางชัดเจนในเรื่องการนำสินค้าออกสู่ตลาดโลก ซึ่งไม่ใช่แค่ในเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ต้องการไปสู่ตลาดโลก ในยุโรปก็มีสินค้าจีนเยอะมาก อย่างในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Amazon ในสหรัฐฯ ผู้ขายระดับท็อปส่วนใหญ่เป็นคนจีนที่มีหน้าร้านออนไลน์

ประเทศไทยเราก็เซ็นสัญญาเขตการค้าเสรี (FTA) กับจีนในเรื่องการตั้งกำแพงภาษี ทำให้ตอนนี้สินค้าไทยได้รับการยกเว้นภาษี แต่ต้องขายผ่านแพลตฟอร์มที่จัดตั้งขึ้นสำหรับ Cross Border e-Commerce เท่านั้น วิธีนี้จะช่วยลดความยุ่งยากในการจัดทำเอกสารต่างๆ 

ทว่าสิ่งสำคัญคือ คนไทยยังไม่มีสะพานสู่การค้าขายในจีน สะพานในที่นี้หมายถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น คนจีนมีสะพานมาสู่ประเทศไทยได้ด้วย Lazada, Shopee และ TikTok ที่มีบริษัทแม่อยู่ในจีน แต่คนไทยยังไม่มีสะพานที่เข้าไปบุกตลาดจีน อย่างที่บอกว่าปัจจุบันคนจีนก็แข่งกันดุเดือดอยู่แล้ว การที่คนไทยจะเข้าไปสู้ก็อาจต้องเลือกสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดจีน และหาสะพานของตัวเองให้เจอเร็วที่สุด”

ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมตัวยังไง?

“ในกรณีของพ่อค้าคนกลาง การนำเข้าสินค้าจีนเพื่อมาขายในไทย แล้วบวกราคาเพิ่มนิดหน่อย ถ้าทุกรายแข่งขันกันเรื่องราคาก็อาจไม่เวิร์ก คุณต้องสร้างแบรนด์ให้ชัดเจน เพิ่ม value ให้สินค้าและบริการ เช่น ขายประตูไม้จากจีน ลูกค้าที่ซื้อไม่ได้ต้องการแค่ประตู แต่เขาต้องการช่างติดตั้งด้วย เพราะฉะนั้นคนไทยที่นำสินค้าจากจีนเข้ามาขายต้องทำให้เป็น total solution ไม่ใช่แค่ขายประตู แต่มีทีมงานให้คำแนะนำได้ว่าประตูแบบไหนที่เหมาะกับบ้านที่สุด มีบริการติดตั้ง และบริการหลังการขาย ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ค้าจีนทำไม่ได้

“และสำหรับเจ้าของแบรนด์ที่ต้องการไปจีน สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างแบรนด์ให้แตกต่าง สินค้าต้องมีคุณภาพ เพราะตอนนี้ผู้บริโภคมีตัวเลือกเยอะมากอยู่แล้ว เช่น ถ้าจะขายครีม ต้องดีจริง เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะขายได้แค่ครั้งเดียว หรือถ้าจะส่งออกพืชผลทางการเกษตรก็ต้องเป็นของที่หาไม่ได้ในจีน และต้องทำการตลาดแบบออนไลน์และออฟไลน์เพื่อให้แต่ละช่องทางเติมเต็มซึ่งกันและกัน” 

อย่างไรก็ตาม การจะดำเนินธุรกิจ CBEC ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น 2 ปัจจัยสำคัญคือแพลตฟอร์มที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกและน่าเชื่อถือ ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในจีนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Taobao หรือ Tmall และการวางกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมกับแต่ละเป้าหมายที่มีความแตกต่างกันทั้งในเชิงประชากรศาสตร์และพฤติกรรมไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น มีการเปิดหน้าร้านออนไลน์ควบคู่ไปกับหน้าร้านออฟไลน์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วง Double Day เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ

2. ผสานช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ให้รวมเป็นหนึ่ง

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ผันตัวเข้าสู่โลกออนไลน์เต็มตัว บางคนเริ่มต้นธุรกิจจากการขายของออนไลน์เป็นหลัก ทำการตลาดแค่ในออนไลน์อย่างเดียว แต่สำหรับปี 2024 การตลาดออนไลน์แบบเดิมๆ อาจยังไม่เพียงพอต่อการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในยุคนี้

“ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของการโฟกัสแค่ช่องทางเดียว ถ้าคุณเป็นแบรนด์คุณต้องคิดว่าจะนำสินค้าออกสู่ตลาดได้ยังไงทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ในช่วงเริ่มต้นคุณอาจเริ่มจากออนไลน์ก่อนก็ได้ แต่ถ้าอยากเติบโตต้องให้ความสำคัญกับออฟไลน์ด้วย ปี 2024 จะชัดเจนเลยว่าธุรกิจที่ทำทั้ง 2 ทางจะส่งเสริมกัน เช่น สินค้าในกลุ่มบิวตี้ที่ทำทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทำโฆษณาให้คนรู้จักผ่านออนไลน์ แต่ยอดขายที่ได้มาจากออฟไลน์เป็นหลัก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ยอดขายสินค้าที่มาจากหน้าร้านอาจแซงหน้าฝั่งออนไลน์”

ถ้าธุรกิจที่ทำออนไลน์จนประสบความสำเร็จแล้ว จำเป็นต้องมีหน้าร้านหรือไม่

“การทำตลาดออนไลน์จะช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่วนการมีหน้าร้านในออฟไลน์จะทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้หลากหลายช่องทาง ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างแบรนด์ดิ้ง แต่เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและกระตุ้นยอดขายให้ธุรกิจได้มากขึ้น ซึ่งการมีทั้ง 2 ช่องทางเป็นการเชื่อมหน้าร้านในโลกออฟไลน์ เข้ากับเทคโนโลยีออนไลน์อย่างลงตัว” 

ไม่ว่าจะซื้อสินค้าออนไลน์หรือหน้าร้าน สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือ ประสบการณ์ของลูกค้า ที่เจ้าของธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันสมัยมากขึ้น หากลูกค้าเกิดความไม่ประทับใจก็อาจส่งผลเสียต่อธุรกิจได้ เราจึงอยากรู้ว่าในปี 2024 เส้นทางการเดินทางของลูกค้า หรือ customer journey จะเปลี่ยนไปไหม

“แต่ก่อนลูกค้าจะหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต แล้วไปช็อปเพื่อดูหรือเทสต์กับของจริง บางคนก็อาจซื้อเลย หรือบางคนอาจกลับไปซื้อออนไลน์เพราะต้องการใช้โค้ดส่วนลดต่างๆ แต่ตอนนี้เส้นทางการซื้อของลูกค้าเปลี่ยนไป ไม่ใช่เส้นตรง 5 ขั้นตอนแบบที่เรารู้จัก (การรับรู้ การค้นหา การซื้อสินค้า การซื้อซ้ำ และการสนับสนุน) แต่ทุกอย่างแทบไม่มีแบบแผนตายตัว ผู้บริโภคยุคนี้อาจเห็นสินค้าจากออนไลน์ ไปดูของจริงที่ช็อป แล้วกดสินค้าใส่ตะกร้าไว้ก่อน ยังไม่ซื้อแล้วรอช่วง double day รับโค้ดแล้วจ่ายเงิน ทำให้ยอดขายช่วงนี้มากกว่าช่วงปกติ 5-10 เท่า ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่หล่อหลอมให้ผู้บริโภคเฝ้ารอโปรโมชั่นช่วง double day ด้วยใจจดจ่อ”

หากใครยังนึกภาพไม่ออก ธนาวัฒน์ได้ยกตัวอย่างเคสของ Konvy แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่รวบรวมสินค้าเกี่ยวกับความงาม เครื่องสำอาง และสกินแคร์ต่างๆ ที่เริ่มต้นจากการขายออนไลน์ ก่อนจะประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนกระทั่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Konvy ได้เปิดหน้าร้านออฟไลน์สาขาแรกที่สยามเซ็นเตอร์ เพื่อขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มใหม่ๆ และเติมเต็มประสบการณ์การซื้อสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น จากตัวอย่างดังกล่าวก็ชัดเจนว่า ในปี 2024 เป็นยุคของการบูรณาการระหว่างออนไลน์และออฟไลน์

ดังนั้นปีนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเหมือนกลับไปในช่วงก่อนมีโควิด ที่ผู้ขายต้องทำทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ในช่วงที่ผ่านมาใครๆ ก็อยู่บนออนไลน์ เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็ควรมีช่องทางออฟไลน์เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า อีกทั้งยังสร้างฐานลูกค้าให้เหนียวแน่น และกระตุ้นยอดขายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

3. Social Commerce Seamless 

มาถึงเทรนด์อีคอมเมิร์ซข้อสุดท้าย ธนาวัฒน์บอกว่า จริงๆ แล้ว Social Commerce Seamless หรือ การค้าขายสินค้าหรือบริการผ่านโซเชียลมีเดียแบบไร้รอยต่อ เป็นเทรนด์ที่ได้ยินมานานแล้ว แต่ในปี 2024 รูปแบบจะเปลี่ยนไป เพราะถูกจุดกระแสโดย TikTok ที่นำความบันเทิง สนุกสนาน มารวมเข้ากับอีคอมเมิร์ซ ผู้ชมสามารถดูคลิปแล้วกดตะกร้าซื้อสินค้าได้เลย 

และคาดว่าปีนี้ YouTube ก็เตรียมเพิ่มฟีเจอร์ให้ YouTube Shorts ติดตะกร้าได้ และครีเอเตอร์ที่โพสต์คลิปแล้วติดตะกร้า รับค่านายหน้าจากการขายสินค้าได้ ซึ่งแปลว่า YouTube ตั้งใจสู้กับ TikTok ตรงๆ โดยเฉพาะโมเดล affiliate marketing ทำให้ในปี 2023 มูลค่าตลาด affiliate marketing เติบโตราวๆ 114% คิดเป็นมูลค่ากว่า 949 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2024 จะเติบโตเป็นเท่าตัว

สำหรับแพลตฟอร์มอื่นๆ ธนาวัฒน์บอกว่า อาจยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก มีเพียงแค่ YouTube เท่านั้นที่กระตือรือร้นมากเป็นพิเศษ เพราะในปีที่ผ่านมา TikTok แย่งชิงเวลาของคนดูไปค่อนข้างเยอะ ทำให้ในปี 2024 เราจะได้เห็นการปรับตัวแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียให้เอื้อต่อการช้อปออนไลน์แบบไร้รอยต่อมากขึ้น 

เมื่อแพลตฟอร์มปรับตัว ผู้ขายก็ต้องปรับตัวด้วย ธนาวัฒน์เล่าว่า “ถือเป็นความท้าทายของคนขายของออนไลน์เช่นกัน เมื่อ YouTube Shorts ติดตะกร้าได้ แพลตฟอร์มอื่นๆ ก็อาจตามมา ผู้ค้าและครีเอเตอร์ที่จะติดตะกร้าก็ต้องผลิตคอนเทนต์ให้เหมาะกับแพลตฟอร์มนั้นๆ”

นี่คือ 3 เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ และนี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ แต่เป็นช่วงเวลาที่ต้องลงมือทำแล้ว 

ธนาวัฒน์ย้ำว่า “ผู้ประกอบการที่อยากประสบความสำเร็จกับการทำธุรกิจออนไลน์ การรับสินค้ามาขายและแข่งขันกันด้วยการตัดราคาน่าจะไปไม่รอด คุณต้องสร้างแบรนด์ และทำสินค้าให้แตกต่าง ถ้าอยากขายของพรีเมียมและราคาสูง สิ่งที่คุณมอบให้ลูกค้าต้องพรีเมียมด้วย พยายามโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี ทำคอนเทนต์ให้โดดเด่น มี storytelling และการเล่าเรื่องที่ดี

“ปีนี้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะแตกกระจายมากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าคุณยังอยู่แค่แพลตฟอร์มเดียว หรือยังไม่มีทรัพยากรที่จะลุยทุกช่องทาง อยากให้หาช่องทางแรกให้เจอก่อน แล้วค่อยขยับขยายในอนาคต”

ปี 2024 อาจไม่ใช่ปีที่ง่ายสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคมีเท่าเดิม และทุกคนอยากได้ของที่คุ้มค่าคุ้มราคาที่สุด คู่แข่งจากจีนก็เข้ามาเยอะขึ้น แม้วันนี้เราจะพูดถึง 3 เทรนด์แต่ทุกอย่างก็ไม่แน่นอน หรือมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจนทำให้เทรนด์ที่คาดการณ์ไว้เกิดช้าลง เกิดเร็วขึ้น หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย สิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซคือ ต้องพร้อมปรับตัวตลอดเวลา

อย่าลืมว่าเราไม่ได้แข่งแค่คนไทยด้วยกันเท่านั้น แต่ยังแข่งกับผู้ขายในโลกใบนี้ด้วย

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด