Shell อัพเกรดโรงงานจาระบีครั้งใหญ่ ปั้นไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกในเอเชียแปซิฟิก พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีตามเทรนด์ความยั่งยืน
เมื่อพูดถึงธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น หนึ่งในบริษัทพลังงานชั้นนำระดับโลกที่ทั่วโลกจับตามองกลยุทธ์ธุรกิจคือเชลล์
ด้วยเชลล์ครองส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันหล่อลื่นอันดับ 1 ของโลกเป็นระยะเวลายาวนานถึง 17 ปีติดต่อกัน จำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นกว่า 5 พันล้านลิตรต่อปี ในตลาด 160 แห่งทั่วโลก ทั้งมีผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นมากกว่า 3,000 รายการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในอุตสาหกรรมใหญ่หลากหลายวงการ เช่น ธุรกิจขนส่ง ก่อสร้าง เหมืองแร่ เกษตรกรรม พลังงาน และการผลิต
เชลล์จึงมีห่วงโซ่อุปทานน้ำมันหล่อลื่นขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งโรงงานผสมสารหล่อลื่น โรงงานผลิต และแหล่งเก็บน้ำมันอื่นๆ ไปจนถึงเครือข่ายผู้กระจายสินค้าขนาดใหญ่จำนวนมากเพื่อรองรับดีมานด์ของน้ำมันทั่วโลก และการขยายโรงงานของเชลล์ในแต่ละครั้งก็เป็นที่น่าจับตามองเพราะการลงทุนในโรงงานไม่ใช่แค่การขยายฐานการผลิตเท่านั้นแต่ยังสื่อถึงทิศทางกลยุทธ์ของบริษัทพลังงานชั้นนำอีกด้วย
สำหรับไมล์สโตนสำคัญของเชลล์ ประเทศไทยในปีนี้คือการลงทุนอัพเกรดโรงงานจาระบีเพื่อปั้นให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตจาระบีอันดับหนึ่งของเชลล์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นการขยายโรงงานครั้งใหญ่หลังจากที่เชลล์ก่อตั้งโรงงานที่ไทยครั้งแรกเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
ในโอกาสการลงทุนครั้งสำคัญนี้ เจสัน หว่อง รองประธานบริหารธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น บริษัท เชลล์ จำกัด (Shell plc.) ได้เล่าถึงก้าวสำคัญของธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นในไทยและทิศทางการดำเนินธุรกิจของเชลล์ในระดับโลกซึ่ง Recap ในครั้งนี้จะสรุปให้ฟัง
1. ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านการกระจายสินค้าในเอเชียแปซิฟิก
สาเหตุสำคัญข้อแรกที่เชลล์เลือกประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในเอเชียแปซิฟิกเพราะสภาพภูมิศาสตร์ของไทยที่เหมาะกับการกระจายสินค้าแก่ทั้งภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมทั้งหมด 40 ประเทศ โดยมีตลาดหลักคืออินโดนีเซียและออสเตรเลีย
จาระบีเป็นน้ำมันประเภทที่ใช้เยอะในอุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง และน้ำตาล ในไทยเองก็มีความต้องการใช้น้ำมันในอุตสาหกรรมนี้อย่างมาก การอัพเกรดโรงงานจาระบีในครั้งนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตถึง 15,000 ตันต่อปี ซึ่งครอบคลุมมากกว่าครึ่งนึงของความต้องการในประเทศไทย
กำลังการผลิตจาระบีที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านซัพพลายและโลจิสติกส์แก่ทั้งเอเชียแปซิฟิก ทั้งลดต้นทุนการผลิต ผลิตได้เร็วขึ้น และยังทำให้ควบคุมระยะเวลาที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์จาระบีได้ตรงตามเวลา
2. customer-centric คือเบื้องหลังการขยายฐานการผลิตจาระบี
ในการผลิตของทุกอุตสาหกรรมมักมีการกล่าวถึงการคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (customer-centric) และธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นก็ต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมไม่ต่างกับธุรกิจประเภทอื่น
ลูกค้าของเชลล์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ลูกค้าอุตสาหกรรม, ลูกค้าที่ใช้น้ำมันในการขนส่งสำหรับการค้า และผู้ใช้รถยนต์ทั่วไป สิ่งที่เชลล์ให้ความสำคัญคือการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจลูกค้าแต่ละกลุ่มเหล่านี้ ตัวอย่างเช่นการผลิตน้ำมันจาระบีแบบ tailor-made ให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละธุรกิจ OEM ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้งานในรูปแบบท่ีแตกต่างกัน
อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชลล์อัพเกรดโรงงานจาระบีให้ผลิตตรงความต้องการได้คือการนำเทคโนโลยีจากเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และอินเดียมาใช้ ประโยชน์ที่ได้ตามมาคือการถ่ายทอดความรู้และพัฒนาทักษะแก่ช่างเทคนิคและทีมงานชาวไทยให้ใช้งานและดูแลเครื่องจักรตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันหล่อลื่นของไทยต่อไปในอนาคต
3. เป้าหมายต่อไปคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050
นอกจากจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ เชลล์ยังนำเทคโนโลยีมาช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยโรงงานจาระบีของเชลล์ดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ Powering Progress เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
เครื่องจักรภายในโรงงานถูกออกแบบมาให้ใช้พลังงานในการผลิตน้อยลง ลดการใช้น้ำมันร้อนของโรงงานและถ่ายโอนความร้อนได้ดี ลดการสูญเสียพลังงานและลดปริมาณของเสียจากการผลิต (zero grease waste) ส่งผลให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพดีขึ้น และยังใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในการดำเนินงานช่วงกลางวัน 100% ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 300 ตันต่อปี
4. เมื่อเทรนด์ EV เปลี่ยนแปลงเร็ว การพัฒนาควบคู่เพื่อความยั่งยืนถือเป็นกุญแจหลัก
เจสัน หว่องได้ทิ้งท้ายไว้ว่าความท้าทายที่สุดของเชลล์ในวันนี้คือการอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านพลังงานจาก ICE (เครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง) ไป EV (เครื่องยนต์ไฟฟ้า) ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าการเปลี่ยนผ่านนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วแค่ไหนทำให้ต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวในการลงทุนขยายธุรกิจอยู่เสมอ
ทั้งนี้เจสันคาดการณ์ว่าในปี 2028 จะยังคงอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านพลังงานทำให้เชลล์ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งสองรูปแบบควบคู่กันไป คือมีทั้งการพัฒนาสารหล่อลื่นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และยังต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนใน ICE โดยเฉพาะในตลาดที่เติบโตสูงอย่างเอเชีย
เหนือสิ่งอื่นใด ปัจจัยที่ทำให้เชลล์ประสบความสำเร็จจนเป็นผู้นำตลาดน้ำมันหล่อลื่นจนถึงทุกวันนี้มีหลายข้อ
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ให้มีชื่อเสียง การพัฒนาเทคโนโลยีผ่านการร่วมมือกับหลายประเทศ การมีฐานผลิตที่ใหญ่และสร้าง supply chain ระดับโลก ไปจนถึงการมีฐานลูกค้าใหญ่รองรับในการส่งออก
การขยายโรงงานจาระบีที่ไทยในครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการขยายขีดความสามารถการผลิตเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายใหญ่ของบริษัทด้านการเป็นพันธมิตรธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ และสร้างสรรค์นวัตกรรมน้ำมันหล่อลื่นอย่างยั่งยืนต่อไป