‘Coffee Meets Bagel’ แอพฯ หาคู่ที่ปฏิเสธดีลพันล้านจาก Shark Tank เพื่อสร้างรายได้ 5,000 ล้านบาทด้วยตัวเอง

อยากเจอคนจริงใจมีมั้ยแถวนี้ อยากเจอคนดีๆ แถวนี้มีมั้ยเอ่ย?

ไม่ใช่แค่เดือนแห่งความรัก หรือเทศกาลแห่งความรักเท่านั้นที่คนโสดหลายๆ คนต่างกำลังตามหาความสัมพันธ์ในแบบที่ตรงใจกันอยู่ แต่ลำพังการตามหาคนที่ถูกใจและมองถึงจุดหมายปลายทางเดียวกันกับเรา มันก็อาจจะดูยากแท้หยั่งถึง

ด้วยความสัมพันธ์ที่ก็มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบแอบแซ่บ ความสัมพันธ์แบบหาเพื่อนคุย ความสัมพันธ์แบบไม่รีบเร่ง หรือจะความสัมพันธ์แบบชั่วข้ามคืน (one-night stand) ทั้งยังมีความสัมพันธ์แบบที่ต่างฝ่ายต่างยินยอมที่จะมีคนรักได้หลายๆ คน (polyamory) และความสัมพันธ์ที่อาจยังไม่มีชื่อเรียกในหลายๆ สถานการณ์อีก จึงทำให้ทางเลือกหนึ่งในการหาคู่รักที่ตรงใจของผู้คนในสมัยนี้ คือการใช้แอพพลิเคชั่นเดตออนไลน์ที่สามารถเลือกระบุความสัมพันธ์ในแบบที่เราต้องการได้ตั้งแต่ในขั้นตอนของการสมัคร รวมไปถึงฟีเจอร์ของแอพพลิเคชั่นที่ก็ถูกพัฒนามาให้เข้ากับสไตล์ของผู้ใช้งานแต่ละกลุ่มอีกด้วย 

หากใครที่เป็นคนช่างสังเกต ก็อาจจะเห็นได้ว่าในทุกๆ แอพพลิเคชั่นนั้น มักมีคำบรรยายคอยระบุให้ด้วยว่าเป็นแอพฯ สำหรับใครและเพื่ออะไร ตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่นยอดฮิตทั่วโลก Tinder: Dating, Make Friends & Meet New People หรือแอพพลิเคชั่นหาคู่ที่ผลักดันให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายทักหาก่อนอย่าง Bumble | Date, Chat, Meet New People & Network Better ก็ต่างระบุว่าสามารถแชต แมตช์คู่ ทำความรู้จัก หรือออกเดตได้ นอกจากนี้ยังมี  TanTan: Asian Dating App แอพพลิเคชั่นที่ตั้งใจเจาะทาร์เก็ตเฉพาะกลุ่มสำหรับคนเอเชีย และ Grindr: Gay Dating & Chat เพื่อ LGBTQ+ เป็นต้น

แล้วแอพพลิเคชั่นไหนที่เหมาะกับคนที่กำลังมองหาความสัมพันธ์แบบผูกมัด ความสัมพันธ์แบบระยะยาว และจริงจัง?

วันแห่งความรักทั้งทีเราจึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับแอพพลิเคชั่นเดตออนไลน์ที่เน้นหาความสัมพันธ์แบบจริงจัง (Dating app for serious daters) อย่าง ‘Coffee Meets Bagel’ (CMB) แอพฯ หาคู่ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นเพียงแค่ธุรกิจสตาร์ทอัพของสามสาวพี่น้องชาวเกาหลีใต้ที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง ดาอุน (Dawoon), อารัม (Arum) และซู คัง (Soo Kang) สู่แอพฯ หาคู่ที่เคยปฏิเสธดีลมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1,000 ล้านบาทไทยจากมาร์ก คิวบาน (Mark Cuban) นักธุรกิจ นักลงทุนชาวอเมริกัน ดีกรีเจ้าของทีมบาสเก็ตบอล NBA Dallas ได้รับการขนานนามว่าเป็นเศรษฐีพันล้านในรายการ Shark Tank และพวกเธอจะยังสามารถพัฒนาแอพฯ ให้มีมูลค่าบริษัทได้ถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5,000 ล้านบาทไปในปี 2023 อีกด้วย

แต่ดาอุน อารัม และซู คัง ทำได้ยังไง เราจะเล่าให้ฟัง

ย้อนกลับไปยังเดือนเมษายนปี 2012 ณ เมืองนิวยอร์ก ไอเดียของ CMB ได้ริเริ่มขึ้นจากบทสนทนาธรรมดาๆ ของสามสาวพี่น้องในช่วงพักกินอาหารกลางวัน 

บทสนทนาของดาอุน, อารัม และซู คัง ในวันนั้น คือการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการเดตและการแชร์ประสบการณ์การใช้งานแอพพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์ในท้องตลาดที่พวกเธอมักจะเจอปัญหาสุดจำเจและคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการไม่พบกับคนที่ตรงตามความต้องการของตัวเอง หรือเมื่อเจอแล้ว ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการพูดคุย เพราะมองหารูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนกัน และเมื่อพวกเธอพยายามที่จะดาวน์โหลดแอพฯ ใหม่ๆ เพื่อตัวเลือกใหม่ๆ มากเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนว่ายังไม่มีแอพฯ ไหนที่จะสามารถตอบโจทย์การมองหาความสัมพันธ์แบบจริงจังนี้ได้เลย

แล้วจะดีกว่าไหม ถ้าพวกเธอจะเริ่มทำเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นหาคู่กันขึ้นมาเอง?

หลังจากมื้ออาหารเที่ยงมื้อนั้น ดาอุนจึงตัดสินใจที่จะลาออกจากงานประจำในบริษัทเดิม ก่อนทั้งสามจะตัดสินใจย้ายไปอาศัยอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโกเพื่อเริ่มต้นพัฒนาเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ในภายหลัง 

แต่ส่ิงที่ทำให้พวกเธอทั้ง 3 คนตัดสินใจเริ่มต้นทำเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้ สาเหตุหลักก็เป็นเพราะพวกเธอคือพี่น้องที่สนิทสนมและรู้ใจกันมากที่สุด ส่วนเหตุผลอีกสองประการที่สำคัญไม่แพ้กันคือการที่พี่สาวคนโตของบ้าน ดาอุน มีความฝันที่อยากจะมีธุรกิจส่วนตัวเหมือนกับพ่อแม่ของพวกเธออยู่แล้ว และอารัม ผู้ซึ่งเป็นน้องสาว ก็กลับมองเห็นถึงช่องว่างในตลาดแอพพลิเคชั่นเดตออนไลน์อย่างอัตราส่วนของผู้ใช้งานผู้ชายที่มากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า โดยอัตราส่วนที่สูงขนาดนี้ทำให้พวกเธอได้คำตอบของคำถามที่ว่า ‘ทำไมผู้ใช้งานแอพฯ หาคู่ถึงไม่ประสบความสำเร็จในการพูดคุย’ เพราะในบางครั้งบางครา ผู้ชายบางกลุ่มก็อาจจะหลงคิดไปว่าตัวเองนั้น มีทางเลือกมากกว่าฝ่ายหญิง จึงก่อให้เกิดการทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือการพูดคุยแบบทีเล่นทีจริง สุ่มๆ ไม่ได้จริงจังอะไร ซึ่งด้วยอัตราส่วนที่ไม่เท่ากันนี้เอง ยังทำให้โอกาสในการพบคนที่ถูกใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย และตกลงคบกันในระยะยาวเกิดขึ้นได้ยากนั่นเอง

จากข้อสังเกตที่มี เทคสตาร์ทอัพของสามสาวพี่น้องจึงเริ่มก่อตั้งขึ้นด้วยการพัฒนาเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์อย่าง CMB ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อสร้างประสบการณ์ในการเดตออนไลน์ที่ดีขึ้น ตอบโจทย์ผู้ใช้งานผู้หญิงมากขึ้น และแพลตฟอร์มที่จะมอบบริการให้กับผู้ใช้งานทุกๆ เพศได้อย่างเท่าเทียมกันได้อีกด้วย

โดยชื่อ Coffee Meets Bagel มีที่มาจากความตั้งใจเริ่มแรกของสามสาวที่ต้องการเจาะตลาดผู้ใช้งานกลุ่มมิลเลนเนียล หรือเจนฯ วาย กลุ่มคนที่เกิดระหว่างระหว่างปี 1981-1996 (อายุ 28-43 ปี) และเมื่ออ้างอิงจากพฤติกรรมของผู้คนกลุ่มนี้ในนิวยอร์กแล้ว พวกเขาก็มักจะตั้งหน้าตั้งรอช่วงเวลากลางวัน หรือช่วงเวลาสำหรับการพักดื่มกาแฟ พร้อมๆ ไปกับการกินเบเกิลอุ่นร้อนสักชิ้นกันมากที่สุด

ไม่ใช่แค่ชื่อของเว็บไซต์ที่เธอทั้งสามคนได้ตัดสินใจตั้งมันขึ้นมา แต่เมื่อ Coffee ได้ Meets กับ Bagel แล้ว  ฟีเจอร์ของตัวเว็บไซต์ ก็ยังจะต้องเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาพักดื่มกาแฟด้วย โดยฟีเจอร์ที่ว่า นั่นก็คือการอัพเดตรายชื่อผู้ใช้งานใหม่ๆ ที่มีคาแร็กเตอร์ ความชอบ และมองหาความสัมพันธ์ในรูปแบบเดียวกันในช่วงตอนกลางวันของทุกๆ วันให้กับเหล่าผู้ใช้งานนั่นเอง

แล้ว CMB แตกต่างจากเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นหาคู่อื่นๆ ในท้องตลาดยังไง?

  1. CMB จะอนุญาตให้ผู้ใช้งานจะสามารถปัดเลือกผู้ใช้งานคนอื่นๆ ตามโควตาบีน (beans) ที่จำกัด โดยการปัดหนึ่งครั้ง ผู้ใช้งานจะเสียจำนวน 385 บีน ซึ่งด้วยจำนวนปัดที่จำกัด จึงทำให้เหล่าผู้ใช้งานต่างก็ต้องคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนจะเริ่มแมตช์และพูดคุยกับอีกฝ่ายอย่างจริงจัง
  2. CMB ถูกดีไซน์มาเพื่อกลุ่มคนที่ต้องการมองหาความสัมพันธ์แบบจริงจังหรือความสัมพันธ์แบบระยะยาว ผิดกับเว็บไซต์หรือแอพฯ อื่นๆ ที่มักจะเจาะกลุ่มผู้ใช้งานแบบ causal dating หรือการมองหาความสัมพันธ์ในระยะสั้นและความสัมพันธ์ที่ไม่ผูกมัด
  3. เพราะใส่ใจในคุณภาพมากกว่าปริมาณ ตัวเว็บไซต์จึงถูกพัฒนามาให้ผู้ใช้งานตอบคำถามเกี่ยวกับความชอบ งานอดิเรก และคาแร็กเตอร์ของตนเอง ตั้งแต่ในขั้นตอนของการสมัครโปรไฟล์ เพื่อให้ง่ายต่อการแมตช์กับผู้ใช้งานที่ต่างฝ่ายต่างก็มีสิ่งที่ชอบร่วมกัน

ด้วยความแตกต่างทั้งหมดนี้ จึงทำให้มันโดดเด่นและยูนีกกว่าแอพพลิเคชั่นในท้องตลาดทันที และถึงแม้ว่าผู้ใช้งานอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการคุยกับคู่แมตช์ตั้งแต่คู่แรกๆ แต่เชื่อเถอะว่า CMB นั้น กำลังมอบคอนเนกชั่นที่มีคุณภาพให้แก่คุณอยู่

แล้วพวกเธอเอาเงินลงทุนมาจากไหน?

หลังจากเปิดตัวในรูปแบบของเว็บไซต์ไปได้สำเร็จ ดาอุน, อารัม และซู คัง ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากเหล่าผู้ใช้งาน จนสามารถพัฒนาเว็บไซต์เดตให้กลายมาเป็นแอพพลิเคชั่นหาคู่ที่เปิดให้ใช้งานฟรีได้ภายในระยะเวลาหนึ่งปี โดยแอพพลิเคชั่นฟรีที่ว่า จะเริ่มเก็บค่าบริการก็ต่อเมื่อผู้ใช้งานต้องการอัพเกรดเป็นยูเซอร์ระดับพรีเมียมในราคาเริ่มต้นที่ 65 บาทไทย หรือราวๆ 100 เมล็ดกาแฟ (ค่าเงิน beans ของแอพฯ) มาพร้อมกับฟีเจอร์ค้นหาคู่แมตช์เพิ่มเติมจากโควตาต่อวัน การกดไลก์แบบพิเศษ และการดูว่าผู้ใช้งานรายใดมากดไลก์ให้กับเราบ้าง

ทุกอย่างเหมือนจะไปได้สวย แต่เมื่อแอพพลิเคชั่นได้รับผลตอบรับที่ดีเกินคาด นำไปสู่การเติบโตของบริษัทที่จะต้องเร่งขยายและพัฒนาต่อไปอย่างรวดเร็วแล้ว เงินทุนกว่า 84 ล้านบาทที่ทั้งสามเคยได้รับมาจากบริษัทเงินทุนหลายๆ แห่งไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ส่งผลให้ในปี 2015 หรือ 3 ปีให้หลังจากการก่อตั้งเทคสตาร์ทอัพนี้ขึ้นมาดาอุน, อารัม และซู คัง กลับมองเห็นช่องทางในการขอเงินลงทุนใหม่ๆ ด้วยการไปพิตชิ่งในรายการ Shark Tank หรือรายการเรียลลิตี้สัญชาติอเมริกาที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพหรือธุรกิจหน้าใหม่ได้เข้ามาแข่งขันเพื่อพิชิตเงินลงทุนจากเหล่านักลงทุนตัวเป้งๆ กว่า 7 รายในแวดวงธุรกิจทั่วโลกที่จะหมุนเวียนมาเป็นผู้ตัดสินในการแข่งขันแต่ละครั้ง

โดยพวกเธอหวังที่จะระดมเงินลงทุนจากรายการ Shark Tank ให้ได้ราวๆ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (18 ล้านบาท) เพื่อแลกกับการถือหุ้นจำนวน 5% ในบริษัทนี้ ซึ่งถ้าหากดีลนี้ประสบความสำเร็จ พวกเธอก็ยังคาดการณ์ต่อไปว่า แอพพลิเคชั่นที่ตั้งใจทำขึ้นมาจะสามารถสร้างมูลค่าบริษัทไปได้ถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (360 ล้านบาท)ในอนาคต

เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักที่แอพพลิเคชั่นเดตออนไลน์ของพวกเธอไม่ได้รับข้อเสนอจาก Shark หรือนักลงทุนท่านใดในตอนแรก เพราะถึงแม้ตัวธุรกิจจะน่าสนใจเพียงใด แต่ระหว่างการพิตชิ่ง เหล่าสาวๆ กลับตอบคำถามทางธุรกิจที่สำคัญไม่ได้ในบางข้อ โดยเฉพาะคำถามหลักที่เกี่ยวกับจำนวนตัวเลขของผู้ใช้งาน ซึ่งพวกเธอก็ได้แค่เพียงตอบจำนวนคร่าวๆ อย่าง 100,000-500,000 รายออกไป นับเป็นจำนวนตัวเลขที่กว้างเกินไปสำหรับการพิตชิ่งธุรกิจของพวกเธอเอง

เรื่องราวยังไม่จบลงเท่านี้ เพราะเมื่อพวกเธอหันหลังพร้อมที่จะเดินออกจากรายการ จู่ๆ มาร์ก คิวบาน ก็กลับเปลี่ยนใจ เห็นโอกาสในการเติบโตของแอพพลิเคชั่นนี้ขึ้นมาซะงั้น โดยเขาได้ยื่นข้อเสนอเป็นจำนวนเงิน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,000 ล้านบาท) แลกกับหุ้นทั้งบริษัทให้กับพวกเธออีกด้วย

แต่ข้อเสนอที่ต้องแลกกับหุ้นทั้งบริษัท ดันไม่ใช่ส่ิงที่พวกเธอทั้งสามคนนั้นคาดหวังไว้ตั้งแต่แรก ทำให้ในท้ายที่สุด ดาอุน, อารัม และซู คัง จึงตัดสินใจที่จะปฏิเสธดีลในครั้งนี้ เพราะพวกเธอเชื่อว่าแอพพลิเคชั่นของพวกเธอจะสามารถสร้างรายได้ที่มากกว่าดีลของมาร์ก คิวบาน

เมื่อปฏิเสธดีลจากรายการ Shark Tank แล้วพวกเธอหาเงินลงทุนต่อจากไหน?

ต้องอย่าลืมว่า Coffee Meets Bagel มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นเทคสตาร์ทอัพ และการระดมทุนนั้นก็เป็นเรื่องปกติที่พวกเธอเคยทำมาก่อน หลังจากรายการ Shark Tank ได้จบลง สามสาวพี่น้องตระกูลคังก็ได้กลับมาประกาศระดมทุนรอบ Series A โดยระดมทุนได้เป็นเงินจำนวน 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (270 ล้านบาท) นำทีมโดย DCM Ventures ธุรกิจเงินร่วมลงทุนเจ้าใหญ่ ก่อนจะประกาศการระดมทุนรอบ Series B อีกครั้ง ด้วยจำนวนเงิน 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (400 ล้านบาท) นำโดย Atami Capital บริษัทธุรกิจแบบกองทุนร่วมในปี 2018 นั่นเอง

บทสรุปของ Coffee Meets Bagel

ในปี 2019 หรือหนึ่งปีให้หลังกับการเปิดระดมทุนรอบ Series B ของแอพพลิเคชั่น Coffee Meets Bagel ดาอุนให้สัมภาษณ์กับสื่อ Ladders ถึงเหตุผลว่าทำไมพวกเธอถึงได้ตัดสินใจไปพิตชิ่งในรายการ Shark Tank ทั้งๆ ที่พวกเธอก็สามารถเปิดระดมทุนกันได้ด้วยตัวเองอย่างที่เคยทำก่อน

“ในช่วงเวลานั้น พวกเรากำลังมองหาข้อเสนอสุดพิเศษพร้อมๆ ไปกับโอกาสในการสร้างชื่อเสียงของแอพพลิเคชั่น โดยรายการ Shark Tank ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สามารถมอบโอกาสทั้งคู่ให้กับเราได้ในระยะเวลาเดียว” ดาอุนเล่า พร้อมทั้งเสริมด้วยประโยคเด็ดว่า ถ้าให้ย้อนเวลากลับไป พวกเธอก็คงเซย์โนกับดีลของมาร์ก คิวบาน เพื่อเติบโตด้วยตัวเองอยู่ดีนั่นแหละ

ด้วยเงินระดมทุนทั้งหมด จึงส่งผลให้สามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นและเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยมูลค่าบริษัทที่สูงถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5,000 ล้านบาทไทยในปี 2023 อีกด้วย

จริงอยู่ที่ว่าเรื่องของความรักและความสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ใครใคร่ชอบความสัมพันธ์แบบไหน ตราบใดที่ทุกฝ่ายต่างรับรู้ ยินยอม และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็ไม่ผิด 

ส่วนใครที่กำลังเล่นแอพพลิเคชั่นนี้อยู่ หรือได้หวานใจ ควงไปฉลองวาเลนไทน์จาก Coffee Meets Bagel แล้วมาแชร์ประสบการณ์กันได้นะ

อ้างอิง

Writer

นักเขียน ผู้ซึ่งมี ‘มัทฉะ’ เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]