Cider Culture
วัฒนธรรมการดื่ม ‘ไซเดอร์’ จากโลกตะวันตกถึงไทย ทำไมวันนี้ไซเดอร์จึงเป็นเครื่องดื่มที่น่าจับตา
ถ้าพูดถึงผลไม้อะไรสักอย่างที่มีผลต่อวัฒนธรรมการกินอยู่ของชาวโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรฝั่งตะวันตก หลายคนน่าจะนึกถึง ‘แอปเปิล’ ขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ
อาจเพราะแอปเปิลเป็นผลไม้ที่ปลูกง่าย สามารถปลูกขึ้นได้ในหลากหลายภูมิภาคบนโลกใบนี้ ทั้ง อังกฤษ โปแลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และจีน ตลอดไปจนถึงความนิยมในรสชาติของแอปเปิลที่คนหลงรักได้ไม่ยาก มีรสหวานกลมกล่อม มีเนื้อมาก รับประทานง่าย อยากจะกัดกินเข้าไปทั้งเปลือกเลยก็ยังทำได้ แอปเปิลจึงเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีตย้อนไปตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จวบจนมาถึงยุคปัจจุบัน
นอกจากรสชาติและรูปลักษณ์ที่อำนวยให้กินง่าย เป็นผลไม้ที่ราคาจับต้องได้ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ตรงส่วนไหนของโลก แอปเปิลยังถือเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ในเชิงโภชนาการ เพราะถือเป็นผลไม้ที่มีไฟเบอร์และวิตามินซีสูง คนสมัยก่อนจึงมีกุศโลบายในการสั่งสอนลูกหลานให้กินอาหารที่มีประโยชน์ด้วยการดัดแปลงเอาแนวคิดนี้ผูกรวมเข้าไว้กับภาษา เพื่อให้จดจำและเข้าใจไปโดยปริยายว่า แอปเปิลเป็นผลไม้ที่มีคุณค่า เช่น ภาษาอังกฤษจะมีสำนวนที่ว่า ‘An apple a day keeps the doctor away’ แปลเป็นไทยแบบง่ายๆ คือ ‘กินแอปเปิลวันละผล เราก็จะไม่ต้องไปหาหมอ’ ถือเป็นหนึ่งในความเชื่อของคนฝั่งตะวันตกที่สืบต่อกันมาในรูปประโยคสั้นๆ
หรืออีกสำนวนหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ในเนื้อเพลง ในบทหนัง ในจดหมายรัก คือ ‘The apple of my eyes’ วลีที่เรียกคนที่คุณมีความรู้สึกรัก รู้สึกเสน่หา รู้สึกหวงแหน
นอกจากแอปเปิลจะเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมและแพร่หลายในการรับประทาน จึงเป็นธรรมดาของโลกใบนี้ที่มนุษย์มักจะสร้างสรรค์และดัดแปลงสิ่งที่ตัวเองชอบให้ไปปรากฏในเมนูอาหารที่หลากหลายเพื่อความวาไรตี้ของการใช้สอย เราจึงได้เห็นแอปเปิลเข้าไปอยู่ในเมนูอาหารต่างๆ มากมาย ทั้งพายแอปเปิล แซนด์วิชแอปเปิลกับไก่งวง บางคนชอบใส่แอปเปิลลงไปในสลัดเพื่อเพิ่มมิติในการกินให้จานผัก
หรือจะเป็นเครื่องดื่มที่ทำจากแอปเปิลอย่างน้ำแอปเปิลก็เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนชาวโลกไม่แพ้กัน ด้วยรสชาติที่กลมกล่อมครบรสในคราวเดียวกัน หากได้ดื่มกินน้ำแอปเปิลในวันที่อากาศร้อนๆ คงจะเย็นชื่นใจไม่น้อย แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่า การดัดแปลงพลิกแพลงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ถือเป็นพรสวรรค์ที่มนุษย์มีอยู่ในสัญชาตญาณ
นอกจากน้ำแอปเปิลแบบธรรมดาปกติ ยังมีเครื่องดื่มจากแอปเปิลที่เป็นที่นิยมและมาแรงในหมู่ชาวโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฟากฝั่งตะวันตก
นั่นคือ ‘ไซเดอร์’
ประเทศแถบเอเชียหรือในบ้านเราอาจจะยังไม่คุ้นชินกับเครื่องดื่มชนิดนี้นัก เนื่องด้วยเรายังคงคุ้นเคยกับแอลกอฮอล์ที่เราดื่มกินกันไม่กี่ชนิด เช่น เบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความขมเป็นรสชาติพื้นหลัก และอาจตามด้วยรสชาติติดปลายลิ้นเป็นรสและกลิ่นต่างๆ ตามแต่จะดัดแปลง อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในสังคมไทยว่าเบียร์คือเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูง จนมีแบรนด์เบียร์ของประเทศไทยไปตีตลาดโลก ดังนั้นความนิยมในการดื่มเบียร์ของคนไทยคงไม่เป็นที่สงสัย แต่หากพูดถึง ไซเดอร์ในโลกฝั่งตะวันตกเป็นอันรู้กันดีว่า มันหมายถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ให้ความรู้สึกซาบซ่า สดชื่น ที่ส่วนใหญ่ทำมาจากแอปเปิล แต่ในบางกรณีก็ผลิตมาจากผลไม้ชนิดอื่นบ้าง เช่น แพร์
กระบวนการผลิตที่เป็นหัวใจของไซเดอร์นั้นว่ากันที่ ‘การหมัก’ ถ้าอยากจินตนาการตามแบบเรียบง่ายด้วยการเทียบเคียงถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นที่นิยมโดยกว้างอย่างไวน์ เราคงนึกภาพออกว่าไวน์เกิดจากการใส่ยีสต์ลงไปหมักกับน้ำองุ่นจนเปลี่ยนน้ำตาลในองุ่นให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ ไซเดอร์ก็ใช้หลักการเดียวกัน นั่นคือการหมัก เพียงแต่เป็นการเอาน้ำแอปเปิลไปหมักและเติมยีสต์ลงไปหมักจนน้ำตาลในแอปเปิลเปลี่ยนแปลงไปเป็นแอลกอฮอล์
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการหมักน้ำองุ่นเพื่อมาทำเป็นไวน์ กับการหมักน้ำแอปเปิลเพื่อมาทำเป็นไซเดอร์ที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือ การหมักน้ำองุ่นจนกลายเป็นไวน์จำเป็นต้องนำองุ่นชนิดเดียวกัน สายพันธุ์เดียวกันมาหมักเพื่อให้ได้รสชาติที่คงที่ (แน่ล่ะ ต้องควบคุมตั้งแต่ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว การบ่มหมัก จนไปถึงการออกซิเดชั่น – ข้อมูลจาก American Journal of Enology and Viticulture) ส่วนการหมักแอปเปิลไซเดอร์ มีความเก๋ไก๋และหลากหลายในลูกเล่นมากกว่านั้น เพราะเราสามารถนำแอปเปิลหลายสายพันธุ์มาผสมผสานกันเพื่อหมักเป็นไซเดอร์ได้ สังเกตจากตอนที่เรากัดกินแอปเปิลแต่ละพันธุ์ เราทุกคนต่างคงสัมผัสได้ว่าแอปเปิลแต่ละสายพันธุ์มีความหวาน กลมกล่อม ละมุนแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อนำแอปเปิลที่มาจากหลายแหล่งเพาะปลูก และหลากหลายสายพันธุ์มาหมักรวมกัน และทำซ้ำจนเกิดรสชาติที่พึงใจ คุณก็จะได้แอปเปิลไซเดอร์ที่ไม่เหมือนใคร ที่ถูกใจคุณและเป็นความคิดสร้างสรรค์ของแบรนด์แอปเปิลไซเดอร์ของคุณเองได้ และนี่คือความเปิดกว้างที่แอปเปิลไซเดอร์อนุญาตให้คุณมีความคิดสรางสรรค์ได้อย่างไม่จำกัด
ส่วนของระยะเวลาในการหมักไซเดอร์ก็แล้วแต่ความสมัครใจของผู้ผลิตและรสชาติที่ปรารถนา คุณสามารถพบเห็นไซเดอร์ที่มีช่วงอายุของการหมักตั้งแต่หลักเดือน นานไปจนถึงหลักหลายปี นอกจากหมักแล้วการอัดแก๊สเข้าไปในไซเดอร์เพื่อให้เป็นเครื่องดื่มที่มีความซาบซ่าประกอบกันกับรสชาติที่หวานละมุนออกปลายฝาดเล็กๆ ก็เป็นการเพิ่มความบันเทิงในการดื่มให้กับผู้บริโภคเข้าไปอีกทาง
ย้อนกลับไปตรงจุดเริ่มต้นของต้นกำเนิดไซเดอร์ บางแหล่งข้อมูลบอกว่าไซเดอร์เกิดขึ้นมาบนโลกแล้วกว่า 2,000 ปี บ้างก็บอกว่าไซเดอร์เกิดขึ้นมาบนโลกกว่า 3,000 ปีแล้วต่างหาก ถึงแม้ว่าตัวเลขจะมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่จุดร่วมสำคัญที่ทุกแหล่งข้อมูลอ้างถึงจุดกำเนิดของไซเดอร์ คือไซเดอร์เป็นเครื่องดื่มโบราณที่มีมาช้านานตั้งแต่ยุคก่อนคริสต์ศักราช
แล้วไซเดอร์เกิดขึ้นมาตอนไหนบนโลกใบนี้?
เชื่อกันว่าเครื่องดื่มหมักแอลกอฮอล์ที่ทำจากน้ำแอปเปิลชนิดนี้มีขึ้นตั้งแต่ยุคของจักรวรรดิโรมันในสมัยที่จูเลียส ซีซาร์ เป็นแม่ทัพ จุดเริ่มต้นคือช่วงประมาณ 55 ปีก่อนคริสต์ศักราชขณะที่กองทัพของจูเลียส ซีซาร์ เดินทางมายังบริเตน เมื่อทหารของซีซาร์ได้ชิมกับเครื่องดื่มของคนพื้นเมืองบริเตนที่มีรสชาติหวานกลมกล่อมแถมยังทำให้มึนเมาชนิดนี้ ก็เกิดความรู้สึกชอบและติดใจจนนำพาไซเดอร์กลับไปยังโรมันด้วย
จากนั้นมาไซเดอร์จึงเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายในยุโรปทั้งผ่านการนำพาและเดินทางของทหารจากกองทัพของซีซาร์และจากคุณสมบัติส่วนตัวของไซเดอร์เองที่มีความเอร็ดอร่อยชื่นใจ แถมยังสามารถทำให้มึนเมาได้อีก จึงเกิดเป็นความนิยมไซเดอร์ในหมู่คนยุโรปในพื้นที่ใดก็ตามที่ไซเดอร์เดินทางไปถึง
พูดถึงความนิยมในการผลิตไซเดอร์ที่แพร่หลายในยุโรป เราจึงมักนึกถึงอังกฤษ ฝรั่งเศส ตอนเหนือของสเปน และไอร์แลนด์ ในช่วงยุคศตวรรษที่ 18-19 ไซเดอร์เคยถูกใช้เป็นค่าแรงในการจ้างแรงงานให้กับชาวไร่ชาวนาในอังกฤษอีกด้วย จากข้อมูลนี้เราจึงเห็นว่าไซเดอร์เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับทั้งความนิยมจนแทบจะเป็นเครื่องดื่มที่ถูกบริโภคกันจนเป็นปกติของคนจากฟากฝั่งตะวันตกของโลก
ในศตวรรษที่ 21 ยุคที่โลกใบนี้ดูจะแคบลงและหมุนเร็วขึ้นกว่าเมื่อ 2,000-3,000 ปีที่แล้ว เพราะเทคโนโลยีการสื่อสาร อาหาร และเครื่องดื่มมากมายถูกสร้างสรรค์ให้แปลกใหม่ คนบนโลกออนไลน์พากันชื่นชอบและพร้อมเปิดใจโอบรับสิ่งต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำวัตถุดิบแปลกใหม่มาทำอาหาร ขนม เครื่องดื่ม แต่ไซเดอร์ก็ยังคงยืนหยัดและยังเป็นที่นิยมในหมู่คนที่นิยมความสดชื่นจากน้ำผลไม้ที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นอกจากฟากฝั่งตะวันตก ในไทยเองก็มีความนิยมของเครื่องดื่มไซเดอร์มากขึ้นเรื่อยๆ และมีไซเดอร์สัญชาติไทยแท้เกิดขึ้น ตัวอย่างที่น่าสนใจคือผู้ผลิตไซเดอร์เจ้าแรกของไทยอย่าง ‘Moose’ ที่พิถีพิถันตั้งแต่วัตถุดิบตั้งต้น ด้วยความเชื่อที่ว่าวัตถุดิบที่ดีจะนำพาไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี
Moose เองเป็นแบรนด์ไซเดอร์ที่เลือกที่จะกลัดกระดุมที่ถูกต้องตั้งแต่เม็ดแรก นั่นคือการเลือกแอปเปิลที่มีคุณภาพเพื่อนำมาคั้นให้เป็นสารตั้งต้นที่ดีในการทำไซเดอร์นั่นเอง
นอกจากนั้นความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ไซเดอร์ของ Moose น่าสนใจ หรือหากจะใช้คำให้ถูกอาจจะต้องเรียกว่า น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น ไซเดอร์รส Indie Summer ที่มีการผสมผสานเอาใบเตยและกระเจี๊ยบลงไปในไซเดอร์ที่มีเบสเป็นน้ำแอปเปิลที่เป็นแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเราอาจจะเทียบเคียงได้กับคำว่า East meets West คือซีกโลกฝั่งตะวันออกและซีกโลกฝั่งตะวันตกโคจรมาพบกัน หรือนั่นก็คือการเอาส่วนผสมที่เป็นวัตถุดิบแบบไทยๆ มาผสมลงในเครื่องดื่มสัญชาติฝรั่งอย่างไซเดอร์ หรืออย่างรส Original ของ Moose ก็เป็นไซเดอร์ที่รุ่มรวยไปด้วยกลิ่นหอมของแอปเปิลชั้นดีที่มาในเรตแอลกอฮอล์ 5%
ในเมืองที่มีอากาศร้อนเป็นทุนเดิมอย่างประเทศไทย การหยิบจับเครื่องดื่มอะไรสักอย่างที่ให้ความสดชื่นมาคลายร้อน ถือเป็นทางเลือกในการให้รางวัลตัวเองในแต่ละวันแบบเรียบง่ายและทำได้ในทุกวัน โดยเราจะเห็นว่าวันนี้ในกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่หรือในแวดวงคนทำงานสร้างสรรค์จำนวนไม่น้อยจะเลือกไซเดอร์เป็นเครื่องดื่มคู่ใจทั้งในช่วงเวลาว่างหลังเลิกงานหรือยามออกเดินทางท่องโลกกว้างที่ต้องการความสดชื่น
ไม่แน่วันนี้ตอนเย็นๆ หลังเลิกงาน คุณอาจจะเปลี่ยนจากเครื่องดื่มธรรมดามาให้รางวัลตัวเองบ้างก็เป็นทางเลือกที่สดชื่นดีไม่น้อย
อ้างอิง
- moosecider.com/our-cider-en/
- sciencedirect.com/topics/food-science/cider
- britannica.com/topic/cider
- smithsonianmag.com/smart-news/ancient-origins-apple-cider-180960662/
- nationalapplemuseum.com/about/
- nationalgeographic.com/culture/article/history-of-apples#:~:text=An%20apple%20(cunningly%20labeled%20%E2%80%9Cto,owed%20their%20immortality%20to%20apples.
- theguardian.com/science/brain-flapping/2016/nov/29/drink-and-be-merry-why-alcohol-makes-us-feel-good-then-doesnt
- washingtonpost.com/lifestyle/wellness/history-behind-an-apple-a-day/2013/09/24/aac3e79c-1f0e-11e3-94a2-6c66b668ea55_story.html
- worldpopulationreview.com/country-rankings/apple-production-by-country
- newint.org/features/1990/10/05/simply
- sciencedirect.com/topics/food-science/fermented-beverage#:~:text=Wines%20are%20among%20the%20oldest,earlier%20(Tucker%2C%202011).
- sandfordorchards.co.uk/blog/the-history-of-cider/#:~:text=The%20first%20recorded%20reference%20to,it%20back%20across%20the%20empire.
- wondriumdaily.com/roman-conquest-of-britain-caesars-expedition-to-hadrians-wall/
- J.W. Buechsenstein, C.S. Ough. SO2 Determination by Aeration-Oxidation: A Comparison With Ripper. Am J Enol Vitix. January 1978 29: 161-164.
ขอบคุณสถานที่ : The COMMONS