ธุรกิจไหนน่าลงทุนในปี 2024 เปิด 10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง จากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

สำหรับปี 2023 ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงมากมาย มีหลายธุรกิจที่รุ่งโรจน์ และหลายธุรกิจก็ปิดตัวลงด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ โควิด กระแสความนิยมของผู้บริโภค และอื่นๆ หลายธุรกิจเริ่มนำเทคโนโลยีและ AI เข้ามาใช้เพื่อผลักดันธุรกิจให้อยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น

และคล้ายเป็นธรรมเนียมที่เมื่อเริ่มต้นปีจะมีการวิเคราะห์ว่าธุรกิจใดมีแนวโน้มเติบโตหรือธุรกิจใดต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดจากสถาบันต่างๆ ออกมาเพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละคนปรับตัว

สำหรับปี 2024 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เผย 10 ธุรกิจดาวรุ่งและดาวร่วงประจำปี 2024 ที่เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจ ให้คะแนน ยอดขาย ต้นทุน ผลกำไร สภาวะการแข่งขัน กระแสนิยม รวมถึงความต้องการของตลาด ดังนี้

10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง ประจำปี 2024

อันดับที่ 1 

  • กลุ่มธุรกิจ e-Commerce (ธุรกิจที่ทำการซื้อ-ขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์) เนื่องจากเวลานี้ผู้คนลดการใช้จ่ายผ่านหน้าร้าน หันมาซื้อสินค้าหรือใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ผู้ประกอบการที่ต้องการขายสินค้าก็ต้องมีช่องทางออนไลน์ของตัวเองเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า
  • ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจยูทูบเบอร์ การรีวิวสินค้า และอินฟลูเอนเซอร์ เหตุผลจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยนิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดเทรนด์การทำคอนเทนต์ที่ช่วยให้ธุรกิจนำเสนอสินค้าและบริการ รวมถึงโน้มน้าวใจผู้บริโภคมากขึ้น 

อันดับที่ 2

  • กลุ่มธุรกิจการแพทย์และความงาม เนื่องจากไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งคนในปัจจุบันมีความสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ และจากนโยบายของรัฐที่อยากให้ไทยเป็น medical hub จึงมีกระแสการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
  • ธุรกิจโฆษณาและออนไลน์ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้เวลาและใช้จ่ายผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น การผลิตสื่อออนไลน์จึงถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจนี้มีแววเติบโตได้ดีในปีนี้
  • ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสาร ประกอบไปด้วยธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือสัญญาณสื่อสารต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ Internet of Things และนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ประเทศเข้าสู่ระบบ smart solution มากขึ้น 

อันดับที่ 3

  • ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดีย และออนไลน์เอนเตอร์เทนเมนต์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทั้งการทำงาน การซื้อสินค้าออนไลน์ การเรียน รวมถึงเรื่องความบันเทิง ซึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ จากทั่วโลก
  • ธุรกิจด้านการเงินธนาคาร Fintech และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี ปัจจุบันผู้คนเริ่มใช้เงินสดน้อยลง หันมาชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นมากขึ้น ธนาคารต่างๆ ก็ปรับตัวด้วยการพัฒนาแอพฯ ให้รองรับการใช้งานและตอบโจทย์สังคมไร้เงินสด
  • ธุรกิจ cloud service และ ธุรกิจบริการ cyber security เมื่อข้อมูลทุกอย่างอยู่บนออนไลน์ สิ่งที่ตามมาคือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการโจรกรรมข้อมูล การหลอกลวงออนไลน์ จึงทำให้หน่วยงานต้องมีบริการ cyber security มากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

อันดับที่ 4

  • งานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้า และธุรกิจอีเวนต์ สังเกตว่าในปีที่ผ่านมาบ้านเรามีการจัดงานแสดงสินค้าและเทศกาลดนตรีต่างๆ จากทั่วโลก ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ในปีนี้ธุรกิจการจัดงานแสดงมีอัตราการเติบโตที่ดีและกระจายไปทั่วประเทศ ไม่ได้กระจุกอยู่แค่ในเมืองใหญ่อย่างเดียว
  • ธุรกิจความเชื่อ (สายมูฯ หมอดู ฮวงจุ้ย) คนไทยกับความเชื่อเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมานาน และในปีนี้ความเชื่อจะกลายเป็น soft power ที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้ ในขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจไม่มั่นคงหรือมีเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอน ประชาชนก็จะหันไปพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือความเชื่อเช่นกัน
  • ธุรกิจอัญมณี ทองคำ และเครื่องประดับ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย การซื้อเพื่อเก็งกำไรมากขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่ก็หันมาลงทุนกับทองคำ ทั้งการซื้อจากหน้าร้านและการซื้อแบบออนไลน์ ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ควรค่าแก่การลงทุนในระยะยาว

อันดับที่ 5 

  • ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต นับตั้งแต่โลกได้รู้จักโควิด ประชาชนก็ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิต มีการวางแผนเรื่องการเงิน ค่ารักษาพยาบาล และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัยมีความหลากหลาย มีแพ็กเกจที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่จึงทำให้ผู้คนสนใจทำประกันมากขึ้น
  • ธุรกิจ EV และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เทรนด์การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาหลายปีโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควันและมลพิษ การใช้รถยนต์สันดาป (รถยนต์ส่วนบุคคล) จะลดลง ผู้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น มีสถานีชาร์จไฟกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้ EV ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
  • ธุรกิจ soft power ไทย ธุรกิจด้านนี้ เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ ฯลฯ เพราะไทยมีวัฒนธรมที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งประวัติศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี และอาหาร กระแสเหล่านี้ถูกส่งต่อผ่านซีรีส์ ดนตรี ภาพยนตร์ และศิลปิน เช่น ลิซ่า BLACKPINK ใส่ผ้าไทยไปอยุธยา หลังจากนั้นก็เกิดกระแสใส่ผ้าไทยตามรอยทันที

อันดับที่ 6

  • ธุรกิจอาหารเสริม เมื่อดูจากอันดับต้นๆ พบว่าประชาชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้ธุรกิจอาหารเสริมเติบโตตามไปด้วย
  • ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (ที่ไม่มีแอลกอฮอล์) เป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติ สามารถจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ได้ ซึ่งแน่นอนว่าทุกงานต้องมีอาหารและเครื่องดื่ม
  • ธุรกิจเกี่ยวกับน้ำตาล แม้ในช่วงที่ผ่านมาผู้คนจะพยายามลดน้ำตาลหรือของหวานเพื่อสุขภาพ แต่ความต้องการบริโภคน้ำตาลของทั่วโลกกลับสูงขึ้น โดยใช้เพื่อบริโภคโดยตรงและนำไปแปรรูปเป็นสารปรุงแต่งรสในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องดื่มต่างๆ

อันดับที่ 7 

  • ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) สำหรับทุกธุรกิจนี้เติบโตได้จากนโยบาย digital wallet ของรัฐบาล ที่กระตุ้นให้ร้านค้าเข้าร่วมโครงการโดยเฉพาะร้านค้าปลีกรายย่อย ทั้งการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งในเฟสต่างๆ ทำให้ร้านค้าปลีกเหล่านี้สามารถแข่งขันกับธุรกิจ e-Commerce รายใหญ่ได้
  • ธุรกิจโลจิสติกส์ เดลิเวอรี และคลังสินค้า พฤติกรรมผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้มีบริการธุรกิจขนส่งของและคลังเก็บสินค้ามากขึ้น
  • ธุรกิจเงินด่วนและโรงรับจำนำ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายแก้หนี้นอกระบบภาคประชาชน อีกทั้งปัจจุบันธุรกิจโรงรับจำนำปรับตัวด้วยการให้บริการที่สะดวกมากขึ้น และเปิดสาขาครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มบริการประเมินราคาผ่านออนไลน์

อันดับที่ 8 

  • กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง เวลานี้ไม่มีใครปฏิเสธกระแสการเลี้ยงสัตว์ได้ ทั้งสุนัข แมว ปลา หรือแม้แต่ exotic pet ซึ่งเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่ได้เลี้ยงในมุมมองสัตว์เลี้ยง แต่เลี้ยงเหมือนสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง ทำให้สินค้าในกลุ่มนี้ต้องมีคุณภาพดีเหมือนซื้อให้คนในครอบครัว
  • ธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน ผับ บาร์ คาราโอเกะ หลังจากภาครัฐมีนโยบายผ่อนปรนขยายเวลาเปิด-ปิดสถานบันเทิง นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้าไทยมากขึ้น ซึ่งสามารถกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวให้ประเทศได้ต่อเนื่อง

อันดับที่ 9 

  • ธุรกิจ e-Sport และเกม ปัจจุบันจำนวนสตรีมเมอร์เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนสนใจตลาดเกมมากขึ้น มีการจัดการแข่งขันต่างๆ ทั่วโลก ในขณะที่ภาคการศึกษาของไทย สนับสนุนการสร้างทักษะแรงงานด้านนี้มากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยดึงดูดผู้เล่นเกมได้มากขึ้น
  • ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และทัวร์ ธุรกิจนี้ได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก soft power  และอินฟลูเอนเซอร์ด้านการท่องเที่ยว ที่มักรีวิวสถานที่ต่างๆ เช่น ยูทูบเบอร์ชาวเกาหลีที่ทำคอนเทนต์ท่องเที่ยวประเทศไทย จนทำให้เกิดกระแสการเที่ยวตามรอย ไปร้านอาหาร หรือพักโรงแรมเดียวกัน

อันดับที่ 10 

  • ธุรกิจพลังงานทดแทน เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานทดแทนมีมากขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์ เพราะราคาพลังงานทั้งก๊าซ และน้ำมันมีความผันผวน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาด อีกทั้งสถาบันการเงินมีนโยบายสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานทางเลือก
  • ธุรกิจยานยนต์ ต้องบอกว่าเวลานี้ไทยยังเป็นการผลิตสำคัญของรถยนต์สันดาป และแนวโน้มยังมีการฟื้นตัวดีในกลุ่มรถบรรทุก และรถจักรยานยนต์
  • ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้าง ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตอยู่ที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ  เช่น โครงการกู้ซื้อบ้านด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ, การขยายเส้นทางคมนาคมที่เอื้อต่อธุรกิจอสังหาฯ และการสร้างโครงการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า

10 ธุรกิจ (ที่คาดว่าจะเป็น) ดาวร่วง ประจำปี 2567 

อันดับที่ 1

  • โทรศัพท์พื้นฐาน, ร้านเช่าหนังสือ ซีดี หรือดีวีดี, สื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ ทุกวันนี้ผู้คนมีสมาร์ตโฟนของตัวเอง และทางผู้ผลิตก็แข่งขันกันด้วยราคาทำให้สมาร์ตโฟนราคาถูกลงทุกคนสามารถจับต้องได้ ส่งผลให้โทรศัพท์พื้นฐานหรือโทรศัพท์บ้านไม่ค่อยถูกใช้งานมากนัก

อันดับที่ 2

  • ผลิตซีดี ดีวีดี ที่จัดเก็บข้อมูลฮาร์ดไดรฟ์ หรือเมมโมรีการ์ด ต่อเนื่องจากอันดับที่ 1 เมื่อผู้คนไม่ดูซีดีหรือดีวีดีแล้ว การผลิตจึงไม่มีความจำเป็นมากเท่าเมื่อก่อน และในส่วนของการเก็บข้อมูลเชื่อว่าหลายคนคงเก็บข้อมูลบน Cloud หรือ Google Drive มากกว่า

อันดับที่ 3

  • ธุรกิจคนกลาง ปัจจุบันผู้ขายออนไลน์สามารถดีลตรงกับผู้ผลิตในประเทศนั้นๆ หรือเจ้าของแบรนด์ได้เลยโดยที่ไม่ต้องผ่านคนกลาง เพื่อลดต้นทุนการขาย

อันดับที่ 4

  • ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สำหรับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในที่นี้ อาจหมายถึงงานแฮนด์เมดที่ใช้เวลาและกำลังคนในการผลิตค่อนข้างเยอะ

อันดับที่ 5

  • ผลิตสารเคมี เนื่องจากเทรนด์เรื่องความยั่งยืนมาแรง ผู้คนต้องการเปลี่ยนโลก อยากเห็นโลกที่ดีขึ้น จึงมีการรณรงค์ให้ภาคอุตสาหกรรมหรือผู้ผลิตลดการใช้สารเคมี

อันดับที่ 6

  • ร้านถ่ายภาพ เมื่อสมาร์ตโฟนสามารถถ่ายภาพได้ มีโปรแกรมแต่งภาพให้สวยเหมือนถ่ายที่ร้าน ทำให้ธุรกิจร้านถ่ายภาพค่อยๆ ปิดตัวลง

อันดับที่ 7

  • ขายเครื่องเล่นเกม แผ่นเกม และตลับเกม เป็นผลมาจาก technology disrupt เช่นกัน ผู้คนหันมาเล่นเกมออนไลน์มากขึ้น จนทำให้เวลานี้ผู้ผลิตเครื่องเล่นเกมและตลับเกมเหลือเพียงไม่กี่รายเท่านั้น 

อันดับที่ 8

  • ถ่ายเอกสาร สำหรับธุรกิจร้านถ่ายเอกสาร ส่วนใหญ่เรามักเห็นร้านเหล่านี้อยู่ที่หน่วยงานราชการ ทว่าปัจจุบันหน่วยงานราชการได้ประกาศให้เลิกใช้กระดาษ หันมาใช้เอกสารระบบดิจิทัลมากขึ้น หรือแม้แต่ในกลุ่มการเรียนก็แทบไม่มีการแจกชีตเรียน แต่จะให้นักเรียนสแกน QR code เพื่อรับไฟล์ PDF แทน

อันดับที่ 9

  • เฟอร์นิเจอร์ไม้ ในช่วงหลายปีที่เทรนด์การตกแต่งบ้านได้ขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะการแต่งบ้านแบบเรียบง่ายและทันสมัย และผู้คนมักจะเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ปรับเปลี่ยนได้ มีหลายฟังก์ชั่น ผู้คนต้องการเปลี่ยนการตกแต่งจัดวางบ่อยๆ การใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เป็นชิ้นใหญ่ๆ ก็อาจไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่นัก

อันดับที่ 10

  • ร้านโชห่วย เป็นผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เคยชินกับการซื้อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ในบ้าน การซื้อออนไลน์อาจได้ราคาที่คุ้มค่ากว่า และมีการจัดส่งถึงบ้าน จึงสะดวกสบายต่อผู้บริโภคมากกว่า

ทั้งหมดนี้คือธุรกิจดาวรุ่งและดาวร่วงประจำปี 2024 หากใครยังนึกไม่ออกว่าจะทำธุรกิจอะไร ลองพิจารณาจาก 10 ธุรกิจดาวรุ่งได้ หรือหากใครอยู่ในธุรกิจ 10 ดาวร่วงอาจต้องปรับกลยุทธ์หรือนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันให้มากที่สุด