Seller Moon (Cake)
ร้านขนมไหว้พระจันทร์สูตรโบราณ เจ้าเก่าบางลำพู ที่เปิดร้าน 20 วันต่อปี คนสั่ง 1 นาที 500 ข้อความ
เมื่อพูดถึงผู้ประกอบการที่มีลักษณะธุรกิจแบบ Seasonal Business เรานึกถึงขนมไหว้พระจันทร์เป็นอย่างแรก ที่ถ้าไม่มีหน้าร้านขายขนมปัง ขนมเปี๊ยะ ร่วมด้วย ร้านขนมที่เปิดเตาเฉพาะช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์อย่างเดียว เพียงหนละ 20 วันต่อปี เขาทำกันยังไงให้อยู่ได้ยาวนาน
“จนป่านนี้เรายังกังวลทุกครั้งที่เปิดเตา”
จุฬาภา พฤกษ์ชัยกุล และ บุญชัย พฤกษ์ชัยกุล สองพี่น้องทายาทรุ่นที่สามของธุรกิจขนมไหว้พระจันทร์สูตรโบราณ เจ้าเก่าบางลำพู ยืนยันกับเราว่าการทำธุรกิจตามฤดูกาลนั้นไม่ง่าย แต่อาจด้วยความผูกพันจากการคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก พวกเขาจึงยังอยากที่จะทำต่อ

ขนมไหว้พระจันทร์สูตรโบราณ เจ้าเก่าบางลำพู คือธุรกิจของครอบครัวที่ทำขนมไหว้พระจันทร์สูตรไหหลำมาอย่างยาวนานถึงสามรุ่น และยังคงความดั้งเดิมทุกอย่างไว้ด้วยวัตถุดิบหลักเพียง แป้ง น้ำเชื่อม และธัญพืช แถมหนักแน่นด้วยการมีเพียง 4 ไส้ โหงวยิ้ง (ธัญพืช 5 อย่าง) เม็ดบัว งาดำ และทุเรียน
ขนมไหว้พระจันทร์ของที่นี่บรรจุในกล่องกระดาษสีแดงทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส หากจะพูดอย่างตรงไปตรงมา คือ กล่องหน้าตาธรรมดาที่มีฟังก์ชั่นเพียงบรรจุขนม ไม่มีหีบห่อที่หรูหราสวยงาม ไม่มีไส้ขนมหลากหลายให้เลือก ไม่มีการทำการตลาดใดๆ มีเพียงความเรียบง่ายและชัดเจนแบบนี้ แต่ขายดีชนิดที่หลายคนบ่นว่าซื้อไม่ทัน
ประตูบานเฟี้ยมไม้ของอาคารพาณิชย์สีขาวคูหาเดียวเปิดออกต้อนรับ ที่นี่เป็นสถานประกอบกิจการหรือ ‘หน้าร้าน’ ขายขนมไหว้พระจันทร์ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ เมื่อพ้นช่วงเทศกาลไปก็จะกลับกลายมาเป็นบ้านตึกแถวธรรมดาหลังหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว
เรานั่งคุยกับจุฬาภา และบุญชัย สองทายาทผู้รับหน้าที่สานต่อเรื่องราวการทำขนมของที่บ้าน ท่ามกลางวงล้อมของครอบครัวอันเป็นกำลังสำคัญในการทำขนมไหว้พระจันทร์

ธุรกิจ (และ) ครอบครัว
“จุดเริ่มต้นก็เหมือนกับครอบครัวคนจีนทั่วไป เริ่มจากรุ่นอากงอาม่าย้ายจากเมืองจีนเข้ามาตั้งรกรากที่ไทย และด้วยความที่เป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกหลานเยอะ พอจะกินอะไรก็ต้องซื้อทีละจำนวนมาก อาม่าเลยเริ่มหัดทำขนมเพื่อกินกันในครอบครัว พวกโดนัท จินเด (ขนมทำจากแป้งข้าวเหนียวทอด คลุกด้วยงา จินเดในภาษาจีนไหหลำหมายถึงถุงอัญมณี) และขนมไหว้พระจันทร์ ลงมือทำทีนึงก็ต้องทำเยอะๆ ให้ลูกหลานกิน แจกญาติ แจกเพื่อนบ้าน ซึ่งอาม่าไม่เคยทำขนมมาก่อนและไม่ได้เรียนจากที่ไหน ทุกอย่างมาเรียนรู้แบบครูพักลักจำที่เมืองไทย” จุฬาภาเล่าถึงที่มาของธุรกิจด้วยรอยยิ้ม
จากความตั้งใจจะทำขนมให้พอกินในครอบครัว แบ่งปันให้ญาติสนิทและเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนบ้าน ขนมของบ้านหลังนี้ก็เริ่มออกเดินทางแบบปากต่อปากจนในที่สุดเมื่อทนเสียงเรียกร้องไม่ไหวก็ต้องทำขายด้วยการต่อยอดจากธุรกิจเดิม
“ธุรกิจดั้งเดิมของที่บ้านคือขายเม็ดบัว เราทำหน้าที่จัดหาเม็ดบัวส่งให้กับโรงงานและห้างร้านของคนจีน พูดได้ว่าไส้เม็ดบัวในขนมไหว้พระจันทร์หลายเจ้าในยุคนั้นมาจากการซัพพลายของที่บ้านเรานี่แหละ ใครจะทำขนมไหว้พระจันทร์ก็ต้องใช้วัตถุดิบนี้จากเรา ทีนี้อาม่าเองเขาคงเห็นว่าเมื่อเรามีวัตถุดิบอยู่ในมือแล้ว ทำไมไม่ลองทำดู นอกจากทำให้ลูกหลานกินและแจกจ่ายอย่างที่เล่าไป ก็ต่อยอดด้วยการทำขาย และทำไปตลอดชีวิตของอาม่าก่อนส่งต่อให้กับรุ่นคุณพ่อ”
ระหว่างที่จุฬาภากำลังเล่า บุญชัยผู้เป็นพี่ชายก็ส่งนามบัตรเคลือบพลาสติกใบหนึ่งให้กับเรา
“อันนี้เป็นนามบัตรสมัยที่ทำธุรกิจเม็ดบัว อาม่าให้ผมเก็บไว้”

จากปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่น
พ้นจากรุ่นแรก ผ่านมายังรุ่นสอง และคาบเกี่ยวกับรุ่นที่สาม จุฬาภาและบุญชัยเข้ามาช่วยสานต่อด้วยการเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ ขยายช่องทางจัดจำหน่าย และต้องการจะสื่อสารกับลูกค้าให้มากขึ้น โดยยังมีคนรุ่นสองลงแรงทำขนมอยู่เบื้องหลัง
“รุ่นคุณพ่อท่านทำแบบ old generation ที่ไม่ได้คิดว่าอยากจะได้อะไรเพิ่ม ไม่ได้สนใจออฟไลน์ออนไลน์ใดๆ ทั้งสิ้น ท่านอยากขายให้กับลูกค้าเดิมของท่าน สิ่งที่เราเข้ามาทำคือการเปิดเพจขึ้นมาเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นความตั้งใจในทีแรก แต่เพราะมีการตามหาขนมไหว้พระจันทร์ของร้านเราในเว็บบอร์ดพันทิป ตอนนั้นเราเรียนอยู่อเมริกา เพื่อนก็ส่งมาให้ดูว่านี่ขนมบ้านแกหรือเปล่า เขาตามหากันอยู่ว่ามันซื้อที่ไหน” จุฬาภายิ้ม
บุญชัยช่วยน้องสาวของเขาขยายเรื่องเล่านี้ “เมื่อก่อนขนมของเราไม่มีกล่อง แต่จะใช้วิธีห่อด้วยกระดาษ เอาขนมสี่ห้าชิ้นมาเรียงต่อกันแล้วม้วนตามรูปทรงของมัน เป็นห่อทรงกระบอก ปิดห่อ แปะป้ายด้วยแป้งเปียกที่เคี่ยวเอง”
เราฟังแล้วเกิดคำถามว่ากระดาษห่อยุคนั้นไม่มีรายละเอียดของร้านค้าเลยหรือ
“ไม่เชิงว่าไม่มี แต่ป้ายที่แปะอยู่บนแพ็กเกจขนมยุคนั้นเป็นภาษาจีนล้วน บางคนไม่ใส่ใจที่จะเก็บไว้หรือไม่พลิกดูด้วยซ้ำ และส่วนหนึ่งอาจจะอ่านภาษาจีนไม่ได้ด้วย ห่อขนมเลยมีฟังก์ชั่นแค่เอาไว้ห่อเท่านั้น ใครได้รับไปก็คงฉีกออกเพื่อกินแล้วก็ทิ้งกระดาษเหล่านั้นไป” จุฬาภาช่วยคลายความสงสัยนี้


ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ในยุคสมัยของรุ่นหนึ่งและสอง ลูกค้าที่เดินทางมาบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยแม่ค้าจากต่างที่หลากถิ่นเข้ามารับขนมไหว้พระจันทร์จากที่นี่ไปขายในจังหวัดของตัวเอง เป็นการกระจายสินค้าสู่พื้นที่อื่น โดยมีแม่ค้าชาวจีนไหหลำเป็นจุดเชื่อมเรื่องราว
“ตอนนั้นผมอายุ 6-7 ขวบยังจำบรรยากาศได้ ลักษณะของการซื้อ-ขายสมัยนั้นมีเครือข่ายวัฒนธรรมของคนจีนไหหลำเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม่ค้าจากต่างหวัดที่มารับขนมไปขายส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเพเดียวกัน พวกเขายังสื่อสารกันด้วยภาษาจีนไหหลำ ร้านเราอาศัยความเป็นชุมชนและต่อยอดมาเรื่อยๆ ธุรกิจก็เลยอยู่ได้มาเรื่อยๆ” บุญชัยย้อนความหลังในสมัยที่ตัวเองวิ่งเล่นอยู่ในบ้านที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวกำลังลงแรงทำขนม ก่อนส่งต่อให้จุฬาภาช่วยเล่า
“แม้ในช่วงเทศกาล เราก็ไม่คิดว่าที่นี่เป็นร้านค้า บรรยากาศเป็นเหมือนบ้านมากกว่า เพราะระหว่างรอขนมทุกคนก็มานั่งคุยกัน มากินข้าวกัน อาม่าจะทำกับข้าวไว้ให้แม่ค้าที่มารอรับขนมด้วย ถ้ารอนานก็มีกับข้าวให้กินตลอด บางคนก็มาช่วยเราพับกล่อง เหมือนทุกคนกำลังมาสังสรรค์กันมากกว่ามารับของไปขาย เหมือนครอบครัวใหญ่ที่เจอกันปีละครั้งโดยใช้เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นจุดนัดพบ
“กาลเวลาผ่านไป แม่ค้าบางท่านเสียชีวิต บางท่านเลิกทำ ลูกค้าที่เคยได้กินก็เหมือนกับจะหวนรำลึกถึงขนมแบบนี้ อยากจะหามาทานอีก คนที่เคยได้กินขนมของบ้านเราในวัยเด็กเขาก็เริ่มตามหาว่าขนมไหว้พระจันทร์หน้าตาแบบนี้มันซื้อได้ที่ไหน ซึ่งโซเชียลมีเดียก็ทำให้คอนเนกต์กันมาเรื่อยๆ จนลูกค้าหาเราเจอทั้งที่ร้านเราตั้งอยู่ในหลืบแบบนี้ พอกลับมาเมืองไทยเราเลยเปิดเพจเพื่อที่จะสื่อสารกับลูกค้า แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ขายออนไลน์ แค่อยากสื่อสารว่าเปิดเตาทำวันไหน เพราะวันไหว้พระจันทร์แต่ละปีไม่ตรงกัน”

เปิดร้าน 20 วันต่อปี โพสต์สเตตัสปีละครั้ง
“ทั้งที่เพจเราไม่เคยจ่ายเงินให้เฟซบุ๊กโปรโมตเลยด้วยซ้ำ แต่ลูกค้าก็หลั่งไหลกันมาจากทุกจังหวัด มีข้อความเข้ามาเยอะมาก แบบหนึ่งนาทีห้าร้อยข้อความ ซึ่งเราเองก็ไม่ได้มีเวลาตอบมากนักเพราะทำงานอื่นไปด้วย บางคนต้องรอไปถึง 3-4 วัน ยิ่งเมื่อก่อนเราอัพเดตแค่ปีละครั้งเท่านั้น แต่ตอนนี้ก็พยายามไม่หายไปนานเกิน” จุฬาภาขำเล็กน้อยเมื่อเล่าถึงความห่างไกลในการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง
เราสงสัยต่อไปอีกว่า ด้วยตัวขนมที่นิยมกินและซื้อฝากกันในช่วงเทศกาลอาจจำกัดให้ต้องขายในฤดูกาลเฉพาะก็จริง แต่เราก็เห็นว่าหลายร้านมีขนมไหว้พระจันทร์ขายตลอดปี (แสดงว่านอกเทศกาลก็ขายได้) ยิ่งเมื่อหนึ่งในทายาทยืนยันกับเราว่าขนมที่พวกเขาทำไม่เคยพอกับความต้องการของลูกค้า เราเลยอยากรู้ว่าอะไรคือเหตุผลที่ร้านขนมไหว้พระจันทร์สูตรโบราณนี้ไม่เพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอ
“ร้านเราเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ทำกันในครอบครัว คนทำขนมก็อยู่ในช่วงของรุ่นที่สอง มีคุณลุง คุณพ่อ และคุณอาเป็นหลัก แบ่งหน้าที่เวียนกันทำแบบครัวเรือน จะมีตำแหน่งที่คุมเรื่องการผลิต คุณภาพ วัตถุดิบ และรสชาติ คือคุณลุง แต่ทุกคนสามารถทดแทนกันได้ สลับหน้าที่กันได้ เพราะคลุกคลีกับสิ่งนี้มาด้วยกัน ก็เป็นคำตอบได้ว่าทำไมขนมของเราถึงทำได้จำนวนจำกัด
“เพราะคุณภาพต้องมาก่อนเป็นอย่างแรก กำลังแรงของเราทั้งหมดคือแรงคนทุกขั้นตอน ไม่ได้ใช้เครื่องจักร ทำให้ทำได้ทีละไม่มาก และไม่เคยพอกับความต้องการของลูกค้า แต่เราทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นกำลังหลักในการทำเขาอายุ 70 กว่ากันแล้ว แต่เขาก็ยังยืนยันจะทำด้วยตัวเองอยู่ ยังนวดแป้งด้วยมือเพื่อความเหนียว ตีแป้งผสมกับน้ำตาลที่เราเคี่ยวไว้ ทุบกัน ปัง ปัง ปัง ทุกเทศกาล ตอกขนมจากตัวพิมพ์ไม้ด้วยมือ ผู้ใหญ่เขาไม่ได้อยากจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักร เขาบอกว่าค่อยๆ ไปดีกว่า ซึ่งความเรื่อยๆ ของมันก็เป็นรูปแบบของธุรกิจไปเลย”

จุฬาภาและบุญชัยอธิบายให้เราเข้าใจว่าไม่ใช่ไม่อยากขาย แต่กับรูปแบบที่เป็นอยู่นี้ จะทำยังไงไม่ให้จำนวนงานมากเกินกำลังของคนรุ่นพ่อแม่ ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าไปด้วย
“รุ่น 2 เขารอคอยที่จะได้เห็นลูกค้าเก่าแก่ของเขากลับมาซื้อ แม้กระทั่งกับทีมงานของเขาที่มาช่วยทำขนมปีละครั้งจนกลายเป็นเหมือนพี่น้องลูกหลาน ตอนเด็กๆ ผมกับน้องสาวก็วิ่งเล่นกับลูกของทีมงาน พวกเราเห็นกันมานาน ทั้งลูกค้าและทีมงานเป็นเหมือนคนในครอบครัวจริงๆ”
ทีมงานที่ว่าคือเหล่าลูกมือที่ช่วยกันทำขนมมาตั้งแต่รุ่นอาม่า ในช่วงนอกเทศกาลลูกมือเหล่านี้อาศัยอยู่ตามจังหวัดทางภาคอีสาน แต่เมื่อใกล้ถึงวันจงชิวหรือเทศกาลไหว้พระจันทร์ พวกเขาก็จะเดินทางมาช่วยกัน กระทั่งหอบลูกหลานมาวิ่งเล่นกันจนกลายเป็นครอบครัวเดียวกัน

ธุรกิจที่พึ่งพิงฤดูกาล
ในมุมมองของคนนอกธุรกิจ อาจเกิดคำถามว่าธุรกิจตามฤดูกาลแบบนี้อยู่รอดมาอย่างยาวนานได้ยังไง
ทั้งสองพี่น้องตอบตรงกันว่าพวกเขาไม่ได้มองยอดขายเป็นสำคัญ และนี่ไม่ได้เป็นการตอบแบบสวยงาม แต่ธุรกิจขนมไหว้พระจันทร์ของครอบครัวนี้ดำเนินมาได้ด้วยความกลมเกลียวของคนในบ้าน เมื่อทุกคนต่างมีหน้าที่การงานประจำ และเก็บวันลาพักร้อนเพื่อมาทำขนม! ลูกหลานคนไหนว่างหรือลางานได้ก็จะมาช่วยกันเท่าที่ทำได้
“รายได้ครอบคลุมการเปิดปีละหน ไม่ขาดทุน ได้กำไรนิดหน่อย เป็นเพราะลูกหลานทุกคนทำงานมีอาชีพอื่นเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว มันโอเคและพอดีกับร้านเรา อย่าเรียกว่ากำไรงาม เรียกว่าความสุขความพอดีในรูปแบบเรา
“ธุรกิจที่ขายเป็นซีซั่นอยู่รอดได้เพราะมันเริ่มต้นจากครอบครัวจริงๆ และเราไม่ได้มองแค่เรื่องยอดขาย แต่ดูคุณภาพเป็นหลัก คิดตลอดว่าทำยังไงให้มันดีขึ้น อะไรที่บกพร่องก็เอามาแก้ แต่อะไรที่ดั้งเดิมและดีอยู่แล้วก็ต้องคงไว้
“เช่นว่าร้านของเรายังแฝงตัวอยู่ในชุมชน ไม่ได้เป็นหน้าร้านที่ทุกคนรู้จัก ยิ่งในยุคก่อนแทบจะไม่มีการออกสื่อเลย เพิ่งมามีในช่วง 3-4 ปีหลังนี้เอง และที่เราค่อนข้างเก็บตัวเพราะผู้ใหญ่ก็มองว่าเขาอยากได้ยอดแค่ในกำลังที่เขาผลิตไหว เพราะสมัยนั้นเขาใช้เตาถ่านซีเมนต์ก่อขึ้นมาอบขนมได้ทีละ 4 ถาด ปัจจุบันใช้แก๊สมันก็เพิ่มกำลังการผลิตได้อีกนิดหน่อย
หรืออย่างไส้เราก็กวนด้วยมือในกระทะขนาดใหญ่ได้ทีละ 20 กิโล ขนมของเราทำแบบวันต่อวัน วงจรของขนมเลยอยู่ข้างนอกได้แค่ 3-4 วัน ถ้าแช่ตู้เย็นก็อยู่ได้สัก 7 วัน เพราะเราไม่มีสารกันบูด ถ้าไว้ข้างนอกเกิน 4 วันมันก็จะขึ้นรา”
เมื่อพี่ชายเอ่ยถึงเรื่องนี้ น้องสาวเลยขอเล่าเสริม “ขนมของเราทุกคนกินได้ปลอดภัย ไม่ใช่แค่ทำขนม แต่เป็นความไว้เนื้อเชื่อใจของลูกค้า เคยมีลูกค้าใหม่ๆ เขาสงสัยว่าร้านเราไม่ใส่สารกันบูดจริงไหม เขาเลยลองเอาขนมไว้ข้างนอกสามสี่วันแล้วราขึ้น เลยต้องมาซื้อใหม่และเล่าให้เราฟังด้วยความดีใจ กลายเป็นว่าราขึ้นแล้วแฮปปี้ มั่นใจที่จะกินเจ้านี้ หลังจากนั้นเขาก็มาซื้อทุกปี”
เล่ามาถึงตรงนี้ทั้งบ้านก็เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ

เราสงสัยต่อไปว่าเมื่อความยากของธุรกิจที่อิงกับเทศกาลคือยอดการสั่งซื้อที่เข้ามาจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน พวกเขามีวิธีรับมือยังไง
จุฬาภารับหน้าที่แอดมินเพียงคนเดียวของร้านเล่าว่า “เรายังผลิตได้ไม่เคยพอความต้องการของลูกค้าอย่างที่เล่าไป แต่เราเชื่อว่าการสื่อสารที่ดีและมีคุณภาพจะช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ อย่างน้อยก็ให้ความเข้าใจกับเขา ขอโทษและขอบคุณที่อดทนรอคอย ซึ่งเหล่านี้ก็ได้โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยทำให้มันง่ายขึ้น และถ้าถามว่าทำไมต้องทำเอง เพราะการขายแค่ปีละครั้งมันไม่สามารถจ้างคนมาตอบได้ สถานการณ์มันเปลี่ยนไปเรื่อย ใครที่ไหนจะอยากมาเป็นแอดมินปีละครั้ง และใครจะสามารถตอบคำถามได้ละเอียดและมีความเข้าใจจริงๆ นอกจากตัวเรา
“แต่ทุกครั้งที่นึกอยากจะเพิ่มจำนวนการผลิต ก็จะมองกลับไปที่พ่อแม่เราซึ่งเหนื่อยมากในแต่ละปี คนอายุมากแล้ว เราก็คงไม่ได้อยากให้เขาเหนื่อยเกินไป พยายามคิดว่าทำยังไงให้มันสมบูรณ์ที่สุด แต่โลกนี้ก็ไม่มีอะไรสมบูรณ์ เราต้องปรับตัวตลอดเวลา” จุฬาภายังคงเล่าไปยิ้มไป
ระหว่างพี่น้องทั้งสองกำลังเล่าเรื่องราว คุณพ่อของพวกเขาก็เดินลงมาจากบนบ้านพอดี บุญชัยแนะนำกับเราว่าคนนี้คือคนลงแรงทั้งหมด คุณพ่อยิ้มรับและเดินเข้าไปหยิบไม้แกะสลักที่ใช้เป็นตัวพิมพ์ขนมออกมาจากครัวหลังบ้าน พร้อมสาธิตวิธีทำขนมแบบคร่าวๆ ด้วยความกระฉับกระเฉงให้เราดู จากนั้นไม่นานคุณอาและคุณลุงผู้เป็นกำลังหลักในการทำขนมก็เดินเข้ามาสมทบ
เราสังเกตเห็นว่าทุกคนอยู่ในละแวกเดียวกัน และยังไปมาหาสู่กันอยู่ด้วยการเดินถึง นับเป็นครอบครัวใหญ่ที่ยังอยู่กันอย่างแน่นแฟ้น เรื่องราวที่พี่น้องคู่นี้เล่าให้ฟังจึงไม่เกินความเป็นจริงแม้แต่น้อย
และทำให้เราที่นั่งอยู่ตรงนั้น ‘เห็นภาพ’ ได้ชัดมากๆ

ทำแบบเดิมให้ดีกว่าเดิม
ตลาดของขนมไหว้พระจันทร์มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ขณะที่แบรนด์อื่นพยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยหีบห่อบรรจุภัณฑ์ รสชาติที่หลากหลาย แต่ขนมไหว้พระจันทร์สูตรโบราณจากครอบครัวนี้มองว่าแทนที่จะไปสู้ด้วยไส้ใหม่ๆ หรือกล่องสวยๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนและเพิ่มรายจ่ายของลูกค้าที่สวนทางกับกำลังซื้อที่เปราะบางและการหดตัวทางมูลค่าของตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในช่วงปีที่ผ่านมา
พวกเขาเลือกที่จะ ‘ทำแบบเดิมให้ดีกว่าเดิม’ น่าจะถูกที่ถูกทางมากกว่า
“สถานการณ์โควิดปีที่แล้ว ทีมงานเก่าแก่ของเรามาช่วยได้ไม่ครบคน เลยเป็นหน้าที่ของลูกหลานรุ่นสามที่พยายามลางานเข้ามาช่วยกัน แต่เราบอกตลอดว่าได้เท่าไหนก็เท่านั้น มันควรต้องพอดี ไม่งั้นเราจะเหนื่อยเกินไปจนรู้สึกไม่สนุก
“เลยตกลงกันกับพี่ชายว่าลองเปิดพรีออร์เดอร์ล่วงหน้าสักสองเดือน เพื่อให้ทุกคนได้กิน และมีโควต้าให้ลูกค้าเก่าแก่ที่เขาไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียเช่นกัน การบริหารจัดการค่อนข้างยากในการเปิดเตาปีละครั้ง แต่ละปีก็ไม่เหมือนกัน ชีวิตของแต่ละคนก็เปลี่ยนไป แต่ยังไงเราก็จะพยายามจะบาลานซ์ให้ขนมของเรากลมกล่อมพอดีกับทั้งคนทำและคนกิน ให้สมกับที่ทุกคนรอคอยเพียงปีละครั้ง
“ปีที่ผ่านมาลูกค้าหลายคนมีกำลังซื้อน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด บางคนเกรงใจที่ขอซื้อจำนวนน้อยลง ซึ่งสำหรับเรามันไม่เป็นไรเลย กลายเป็นว่าใครซื้อน้อยเรากลับแถมให้ไปอีก เราเข้าใจดีถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้
“เรามีความสุขกับการพบเจอลูกค้าของเราปีละครั้ง และอัปเดตว่าชีวิตแต่ละคนเป็นยังไง พ่อแม่อากงอาม่ายังแข็งแรงดีไหม ดื่มชาและพูดคุยกินขนมกัน เรามองว่าเงินก็สำคัญนะ แต่อีกสิ่งที่สำคัญคือการได้พบเจอกับคนเก่าแก่ที่เหมือนครอบครัวมากกว่าจะเป็นลูกค้า เราซึมซับและเห็นสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก” จุฬาภาสรุปให้เราฟัง

และเมื่อเราถามถึงไส้ของขนมที่มีเพียง 4 ไส้ นั่นแปลว่าโปรดักต์ของพวกเขาแข็งแรงเพียงพอแบบไม่ต้องมีไส้แปลกใหม่มาดึงความสนใจจากลูกค้าหรือเปล่า จุฬาภาพยักหน้ารับ
“เราไม่จำเป็นต้องไปแข่งเรื่องความหลากหลายของไส้ เพราะสี่ไส้นี้ของเราแข็งแรงมากพอ ไม่รู้สึกว่าต้องเพิ่มไส้เลย แต่ละไส้ขายดีพอกัน และทุกไส้ทำสดใหม่วันต่อวัน ไม่มีการค้างคืน แม้กระทั่งแป้ง ตรงนี้คือจุดแข็งของร้านเรา
“ไม่ใช่ว่าไม่เคยลองทำนะ คุณพ่อเคยลองทำไส้ช็อคโกแลตมาชิม แต่พวกเรารู้สึกว่านี่มันไม่ใช่ขนมไหว้พระจันทร์ เพราะขนมไหว้พระจันทร์มันมีส่วนประกอบแค่แป้ง น้ำเชื่อม กับไส้จากธัญพืช มันคือแค่นี้ ถ้ามากกว่านี้มันไม่ใช่ เราไม่อยากให้มันไปไกลเกินกว่านี้โดยไม่จำเป็น
“อย่างเรื่องกล่องตอนแรกก็มีความคิดที่จะเปลี่ยน เราเคยเถียงกับคนรุ่นสองแบบหัวชนฝาเลยว่าทำไมร้านเราไม่ทำกล่องสวยๆ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ถามความต้องการของลูกค้าด้วย ซึ่งลูกค้าของเราชัดเจนว่าไม่ได้อยากให้เปลี่ยน เขาบอกเราเลยว่าเขากินขนม ไม่ได้กินกล่อง” จุฬาภาเล่ากลั้วหัวเราะ
“เราเลยคงกล่องกระดาษแบบเดิมไว้ เพื่อคุมราคาเดิมไว้ ไม่ได้ลงไปแข่งขันเรื่องบรรจุภัณฑ์ ขณะเดียวกันทำให้เรากลับมาเข้าใจ brand identity ของตัวเอง การต่อยอดของเราคือการคงความดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าความยูนีค ความมีเอกลักษณ์จะทำให้ลูกค้าพอใจในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยได้สัมผัสจากที่อื่น
“เราอยากจะต่อยอดทางวัฒนธรรมและประสบการณ์การกินขนมมากกว่า”

ช่องทางติดต่อ : ขนมไหว้พระจันทร์สูตรโบราณ เจ้าเก่าบางลำพู