242
May 10, 2023

KKP Research ชวนคนไทยตั้งคำถามก่อนเลือกตั้ง ‘นโยบายแจกเงิน’ เป็นคำตอบที่ใช่หรือไม่ มีอะไรที่รัฐบาลในอนาคตต้องระวัง

เข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ที่ 4 ปีจะมีเพียง 1 ครั้ง เราจึงได้เห็นบรรดาพรรคการเมืองต่างสาดนโยบายที่มองว่าจะถูกใจประชาชนคนไทยจนเป็น 1 เสียงที่เข้ามาสนับสนุนพรรคของตัวเอง

หลายๆ นโยบายที่ออกมาล้วนต้องคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เพื่อมองหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทย

แต่มีปรากฏการณ์หนึ่งในการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามานี้ที่เห็นได้อย่างชัดเจนและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง คือนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่หนักไปทางการแข่งขันกันด้วยตัวเลขการให้เงินสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินสวัสดิการ เงินอุดหนุน การแจกเงิน หรือการพักหนี้ 

ในขณะที่นโยบายประเภทที่จะแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและยกระดับรายได้ของประเทศและประชาชนได้จริงในระยะยาว กลับไม่ได้ถูกหยิบยกมาอภิปรายกันมากเท่าที่ควร

นี่เองทำให้นักวิชาการหลายภาคส่วนล้วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายนี้ ที่ดูจะตามมาด้วยต้นทุนมหาศาลทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คนไทยต้องร่วมกันแบกรับ ซึ่ง KKP Research ได้สรุปออกมาเป็น 3 เรื่องได้แก่

  1. ภาระทางการเงินการคลังที่จะสูงขึ้นจนเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจ และเป็นต้นทุนและข้อจำกัดต่อสวัสดิการของประชาชนในวันข้างหน้า เพราะทุกวันนี้รายจ่ายประจำและรายจ่ายชำระคืนเงินกู้ก็รวมกันเกือบ 80% ของงบประมาณรวมไปแล้ว
  2. การสูญเสียโอกาสที่จะลงทุนพัฒนาให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่และมีโอกาสที่ดีขึ้น 
  3. แรงจูงใจที่ถูกบิดเบือน ประชาชนหวังพึ่งพิงเงินอุดหนุนจากภาครัฐและการแทรกแซงกลไกตลาด ลูกหนี้ขาดวินัยทางการเงิน ขาดแรงจูงใจที่จะปรับตัว

ไม่แปลกที่หลายคนจะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเงินให้เปล่า เพราะแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2566 จะทยอยฟื้นตัวขึ้นหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย แต่สถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นกว่าปกติ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มต่อเนื่อง ในขณะที่รายได้ของคนในประเทศเติบโตได้ช้า กลายมาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนรายได้น้อยยังคงประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงิน หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย  

KKP Research ประเมินว่าปัญหารายได้เติบโตช้ากว่าค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ปัญหาแค่ในระยะสั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานับ 10 ปี สะท้อนจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่โตช้าลงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเทียบกับตัวเราเองในอดีต และเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค (แม้กระทั่งประเทศที่รวยกว่าเรา) นอกจากนี้ มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ในประเทศที่ชี้วัดโดยระดับรายได้ต่อหัว ก็โตช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน

เหล่านี้มาจากปัญหาของเครื่องยนต์ที่เคยขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างแข็งเกร่ง ไม่ว่าจะเป็น

  • การส่งออก ที่เริ่มอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด
  • การท่องเที่ยว ที่ในอนาคตอาจเติบโตได้ช้าลงและอาจไม่สามารถเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักได้ดีเท่าในช่วงที่ผ่านมา 
  • ภาคเกษตร ที่ประสบกับปัญหาผลิตภาพที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเหมาะสม

KKP Research ยังได้ประเมินว่า ความท้าทาย 8 ด้านหลักที่จะกระทบต่อความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และจะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อเศรษฐกิจไทย ดังต่อไปนี้

  • การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรจะทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
  • โลกที่กำลังเผชิญกับการทวนกลับของโลกาภิวัตน์ และการดึงกลับของฐานการผลิต จะทำให้ภาคการส่งออกไทยไม่ได้รับอานิสงส์เหมือนเดิม
  • การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี กลายเป็นความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมเก่าของไทย และทำให้เกิดความยากในการดึงดูดเงินลงทุนใหม่จากต่างชาติ
  • การแข่งขันในตลาดที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ธุรกิจไทยขาดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรม เกิดการกระจุกตัวของรายได้และกำไรของบริษัท
  • คุณภาพการศึกษาไทยที่ด้อยลง ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่สูงขึ้น กับโอกาสที่สูญเสียไปในการยกระดับคุณภาพบุคลากร
  • ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มขั้น ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาระบบสาธารณสุขและภาระสวัสดิการของภาครัฐ
  • ความมั่นคงทางพลังงานและการขาดดุลด้านพลังงานกำลังรุนแรงขึ้น
  • ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการขาดมาตรการรับมือที่เหมาะสมของไทย

หากเปรียบเทียบประเทศไทยในวันนี้เป็นมนุษย์สักคน ก็อาจจะเป็น ‘คนป่วยเรื้อรัง’ ที่ยังไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอาการที่เป็นอยู่ก็อาจจะทรุดหนักลงไปอีก

และด้วยสถานการณ์ที่มีความท้าทายสูงที่ไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ KKP Research วิเคราะห์ว่า ‘ถ้านโยบายยังไม่เปลี่ยน คนไทยกำลังจะเจอกับอะไร’ โดยผลลัพธ์อย่างน้อยใน 4 ด้านที่ตามมานี้

คนไทยขาดความมั่นคงในรายได้ รายรับโตไม่ทันกับรายจ่าย เป็นหนี้เรื้อรัง : ความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงทั้งในภาคการผลิต การส่งออก การท่องเที่ยว และภาคการเกษตร จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยโตช้าลงเรื่อยๆ และมีความผันผวนสูงต่อปัจจัยภายนอก ในขณะที่ในด้านรายจ่ายมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเร็ว จากทั้งเงินเฟ้อและค่าใช้จ่ายราคา จะเข้ามาพอกพูนจนเป็นกับดักหนี้ที่คนไทยหลุดพ้นได้ยาก

โอกาสที่คนที่เกิดมาจนจะถีบตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางหรือคนรวย (economic mobility) จะเป็นไปได้ยากขึ้นมาก : ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และสินทรัพย์รุนแรงเป็นลำดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว เศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้าลงกำลังซ้ำเติมให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนยิ่งถ่างออกจากกันมากขึ้นไปอีก ในอดีตคนรวยสุด 20% แรกของประเทศมีการเติบโตของรายได้สูงกว่า GDP 1.4 เท่า หรือมากกว่านั้น ในขณะที่คนจนสุด 20% มีการเติบโตของรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 0.8 เท่าของ GDP หรือต่ำกว่า หากเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงจะยิ่งทำให้โอกาสในการเลื่อนชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมลดลงตามไปด้วย

คนไทยต้องแบกรับภาระภาษีมากขึ้น สวัสดิการจากภาครัฐอาจต้องลดลง : ด้วยสถานะของการคลังไทยในปัจจุบันและระดับหนี้สาธารณะที่อาจแตะขอบบนของเพดานได้หากเศรษฐกิจโตได้ช้าลง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ภาครัฐอาจจำเป็นต้องลดสวัสดิการของประชาชนลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับผู้จ่ายภาษีในระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ของภาครัฐให้ทันกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

ชีวิตเปื้อนฝุ่น ปัญหาสุขภาพ และข้อจำกัดในการใช้ชีวิต : ปัญหามลพิษของไทยกำลังรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากฝุ่น PM2.5 ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากจะสร้างข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของผู้คนแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้คนไทยเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 14% ผลกระทบต่อเด็กเล็กจะรุนแรงและอาจเป็นปัญหาในระยะยาวยิ่งกว่า ที่สำคัญยังเข้ามาเป็นหนึ่งในปัจจัยซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

เพื่อไม่ให้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน บทบาทของนโยบายจึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเปลี่ยนไป เพื่อให้สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ต้องบอกว่านโยบายการแจกเงินให้กับประชาชนไม่ได้มีเพียงแต่ด้านลบ เพราะอีกมุมหนึ่งนี่เป็นสวัสดิการที่ประชาชนหลายกลุ่มพึงได้รับจากภาครัฐและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น

ส่วนในเชิงของเศรษฐกิจในระยะสั้นโยบายเหล่านี้เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฝืดเคืองให้มีความคล่องตัวได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยประคองคนที่กำลังล้มให้เริ่มกลับมาลุกขึ้นยืนด้วยตัวเองได้ หรือยังสามารถดึงธุรกิจที่อยู่นอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ขายหน้าปากซอยให้เข้ามาอยู่ในระบบได้มากกว่าเดิมด้วยเช่นกัน

ท้ายที่สุดแล้วนโยบายแจกเงินเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทำแล้ว ‘ได้คุ้มเสีย’ หรือไม่ จะเป็นการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้อีกครั้งหรือผลักลงไปในหุบเหวที่ลึกยิ่งกว่าเดิม ก็คงต้องไปดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละพรรคกันต่อด้วยว่า นอกจากนโยบายใช้เงินแล้ว จะมีนโยบายหาเงินแบบไหน เพื่อมาทดแทนให้บัญชีของประเทศไทยไม่ได้มีเพียงแค่รายจ่ายเท่านั้น 

เพราะหากไม่มีวิธีการหารายได้ที่สมเหตุสมผลมากพอแล้วนั้น นโยบายแจกเงินก็คงจะเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการหาเสียงที่ทำมาเพื่อเรียกคะแนนความนิยมให้กับพรรคตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนในระยะยาว

อ้างอิง:

– KKP Research : นโยบายที่หายไป ในวันที่เศรษฐกิจไทยไม่แกร่งเหมือนเดิม

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม ที่ชอบกินกาแฟดำเป็นชีวิตจิตใจ

You Might Also Like